ปัจจัยที่ทำให้นักการเมืองก้าวขึ้นสู่อำนาจรัฐผ่านการเลือกตั้งได้สำเร็จคือ ทุนซึ่งมีอยู่ 2 ประการคือ
1. ทุนเงิน อันได้แก่เงินตรา ซึ่งมีค่าในการซื้อขายและทรัพย์สินอื่นใด ซึ่งสามารถเปลี่ยนตัวเงินได้
2. ทุนทางสังคม อันได้แก่ความเป็นผู้มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ ซึ่งเป็นผลมาจากการทำประโยชน์ให้แก่สังคมโดยรวม
ในบรรดาทุนสองประการข้างต้น ทุนเงินนับได้ว่ามีความสำคัญเหนือทุนทางสังคมในเขตการเลือกตั้ง ซึ่งผู้มีสิทธิออกเสียงส่วนใหญ่มีการศึกษาน้อย และมีฐานะยากจน อันได้แก่พื้นที่ห่างไกลความเจริญ และพื้นที่ย่านชุมชนแออัดในเขตเมืองใหญ่
ส่วนทุนทางสังคมจะใช้ได้ผลกว่าทุนเงินในเขตการเลือกตั้งที่ผู้มีสิทธิออกเสียงส่วนใหญ่มีการศึกษาดี และมีฐานะทางการเงินอยู่ในระดับปานกลางถึงระดับสูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ในเขตเมือง และเป็นย่านธุรกิจหรือเป็นย่านที่อยู่อาศัยของคนชั้นกลางถึงชั้นสูง
ตัวอย่างของการใช้ทุน 2 ประเภทนี้แล้ว ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง จะเห็นได้จากการเลือก ส.ส.ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ทุกครั้งพรรคที่ใช้ทุนเงินเช่นพรรคไทยรักไทย เป็นต้น ซึ่งเป็นพรรคที่มีกลุ่มนายทุนมากกว่าพรรคอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคคู่แข่งทางการเมือง และผลที่ปรากฏพรรคที่มีทุนเงินมากเช่น พรรคไทยรักไทย เป็นต้น ชนะการเลือกตั้งเหนือพรรคประชาธิปัตย์ในภาคเหนือ และภาคอีสานทุกครั้ง
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งดูเหมือนจะเป็นพรรคการเมืองเดียวที่เน้นการใช้ทุนทางสังคม ทั้งในส่วนที่เป็นของพรรคและของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งได้รับชัยชนะในภาคใต้และภาคกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุงเทพมหานคร
จากปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าอำนาจของทุนเงินย่อมครอบงำสังคมไทยในพื้นที่ห่างไกล และเป็นส่วนใหญ่ของประเทศ
ดังนั้น ถ้าต้องการจะยกระดับคุณภาพของการเมืองไทยให้สูงขึ้น สิ่งแรกที่จะต้องแก้ไขคืออำนาจทุนเงินที่ครอบงำการเมืองไทย และทำให้คุณภาพทางการเมืองลดลง และก้าวไปในทำนองถอยหลังเข้าคลอง
ทำไมต้องลดอำนาจทุนเงินลง และจะลดได้อย่างไร?
เพื่อให้การตอบปัญหาข้างต้นมีความชัดเจนเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านลองย้อนไปดูปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นโดยมีบุคลากรทางการเมือง และข้าราชการประจำซึ่งมีความสัมพันธ์กับนักการเมือง ก็จะพบว่าปัญหาเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีสาเหตุมาจากการถอนทุนของนักการเมืองที่เข้าสู่อำนาจรัฐ โดยการใช้ทุนเงินทั้งสิ้น
ส่วนประเด็นที่ว่าจะลดอำนาจทุนเงินได้อย่างไรนั้น ถ้าพิจารณาจากสภาพปัญหาที่เป็นอยู่ และมาตรการป้องกันที่มีผลบังคับใช้อยู่แล้ว น่าจะป้องกันปัญหานี้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ที่ป้องกันไม่ได้ไม่น่าจะเป็นเพราะกฎหมายของประเทศไทยย่อหย่อน แต่น่าจะเป็นเพราะบุคลากรผู้รักษากฎหมายขาดศักยภาพในการบังคับใช้กฎหมาย
ดังนั้น ถ้าจะแก้ไขเรื่องนี้จะต้องดำเนินการทั้งในส่วนของการบังคับใช้กฎหมาย และการปรับปรุงกฎหมายให้เกื้อหนุนการทำงานของผู้รักษากฎหมายทำงานได้ง่ายขึ้น ซึ่งน่าจะดำเนินการดังต่อไปนี้
1. ลดจำนวน ส.ส.เขตให้น้อยลงเพื่อให้จำนวนผู้ที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งต่อ ส.ส.หนึ่งคนเพิ่มขึ้น เพื่อให้การใช้เงินซื้อเสียงต้องใช้เงินมากขึ้น และทำได้ยากขึ้นด้วย
2. ยกเลิก ส.ส.บัญชีรายชื่อ และให้มีการสรรหา ส.ส.แทน ทั้งนี้เพื่อเป็นการตัดโอกาสการก้าวขึ้นสู่อำนาจของผู้มีทุนเงิน แต่ไม่มีทุนทางสังคมเป็นที่ยอมรับ เนื่องจากมีอาชีพหรือพฤติกรรมไม่โปร่งใส เป็นภัยต่อศีลธรรมอันดีของสังคม และในขณะเดียวกัน เพื่อถ่วงดุลอำนาจกับ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง
3. ให้ยกเลิกข้อกำหนดที่ให้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ต้องสังกัดพรรค ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้นักการเมืองซึ่งมีความคิดอิสระ และไม่ต้องการให้ความคิดของตนถูกครอบงำด้วยมติพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคที่ถูกครอบงำด้วยกลุ่มทุนของพรรค
4. เปิดโอกาสให้การเมืองภาคเอกชนมีความเข้มแข็งเพื่อถ่วงดุลกับการเมืองในระบบ
จากมาตรการ 4 ประการดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนเชื่อว่าจะทำให้การเมืองไทยมีคุณภาพ มีคุณธรรม และจริยธรรมมากขึ้น
แต่ไม่ว่าจะใช้มาตรการใด และเข้มงวดขนาดไหนถ้าประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ ความเข้าใจในระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยดีพอแล้ว ประชาธิปไตยก็คงจะมีอยู่แต่ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายเลือกตั้งเท่านั้น จะก้าวไกลไปกว่านี้ไม่ได้ ดังที่เป็นมาแล้ว 80 กว่าปี และมีรัฐธรรมนูญมาแล้วนับสิบฉบับ แต่ก็ไม่เคยมีฉบับใดทำให้ประชาธิปไตยของประเทศไทยมีความสมบูรณ์เทียบเท่าอารยประเทศทั้งหลายได้
ด้วยเหตุนี้ คนไทยไม่ควรฝากความหวังไว้กับการปฏิรูปการเมืองที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้เพียงอย่างเดียว แต่ควรพัฒนาตนเองให้มีความเป็นประชาธิปไตยแล้วแลกเปลี่ยนความคิดกับญาติมิตรเพื่อปลูกฝังความคิดในความเป็นประชาธิปไตยให้กว้างขวางออกไป ก็จะช่วยให้การปฏิรูปสมบูรณ์ ทั้งในด้านเนื้อหาและแนวทางที่จะนำไปใช้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติยิ่งๆ ขึ้นไป
อีกประการหนึ่ง นอกเหนือจากมาตรการลดทุนเงินแล้ว คนไทยทุกคนจะใช้โอกาสและเวลาในการเลือกตั้งทุกครั้ง โดยการไปลงคะแนนเลือกตั้ง และจะต้องไม่ลืมเลือกคนดีมีชื่อเสียง หรือคนที่มีทุนทางสังคมเข้าไปเป็นผู้แทน ถ้าทำได้เช่นนี้ ท่านก็จะได้ชื่อว่าเป็นคนพัฒนาประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
1. ทุนเงิน อันได้แก่เงินตรา ซึ่งมีค่าในการซื้อขายและทรัพย์สินอื่นใด ซึ่งสามารถเปลี่ยนตัวเงินได้
2. ทุนทางสังคม อันได้แก่ความเป็นผู้มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ ซึ่งเป็นผลมาจากการทำประโยชน์ให้แก่สังคมโดยรวม
ในบรรดาทุนสองประการข้างต้น ทุนเงินนับได้ว่ามีความสำคัญเหนือทุนทางสังคมในเขตการเลือกตั้ง ซึ่งผู้มีสิทธิออกเสียงส่วนใหญ่มีการศึกษาน้อย และมีฐานะยากจน อันได้แก่พื้นที่ห่างไกลความเจริญ และพื้นที่ย่านชุมชนแออัดในเขตเมืองใหญ่
ส่วนทุนทางสังคมจะใช้ได้ผลกว่าทุนเงินในเขตการเลือกตั้งที่ผู้มีสิทธิออกเสียงส่วนใหญ่มีการศึกษาดี และมีฐานะทางการเงินอยู่ในระดับปานกลางถึงระดับสูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ในเขตเมือง และเป็นย่านธุรกิจหรือเป็นย่านที่อยู่อาศัยของคนชั้นกลางถึงชั้นสูง
ตัวอย่างของการใช้ทุน 2 ประเภทนี้แล้ว ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง จะเห็นได้จากการเลือก ส.ส.ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ทุกครั้งพรรคที่ใช้ทุนเงินเช่นพรรคไทยรักไทย เป็นต้น ซึ่งเป็นพรรคที่มีกลุ่มนายทุนมากกว่าพรรคอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคคู่แข่งทางการเมือง และผลที่ปรากฏพรรคที่มีทุนเงินมากเช่น พรรคไทยรักไทย เป็นต้น ชนะการเลือกตั้งเหนือพรรคประชาธิปัตย์ในภาคเหนือ และภาคอีสานทุกครั้ง
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งดูเหมือนจะเป็นพรรคการเมืองเดียวที่เน้นการใช้ทุนทางสังคม ทั้งในส่วนที่เป็นของพรรคและของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งได้รับชัยชนะในภาคใต้และภาคกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุงเทพมหานคร
จากปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าอำนาจของทุนเงินย่อมครอบงำสังคมไทยในพื้นที่ห่างไกล และเป็นส่วนใหญ่ของประเทศ
ดังนั้น ถ้าต้องการจะยกระดับคุณภาพของการเมืองไทยให้สูงขึ้น สิ่งแรกที่จะต้องแก้ไขคืออำนาจทุนเงินที่ครอบงำการเมืองไทย และทำให้คุณภาพทางการเมืองลดลง และก้าวไปในทำนองถอยหลังเข้าคลอง
ทำไมต้องลดอำนาจทุนเงินลง และจะลดได้อย่างไร?
เพื่อให้การตอบปัญหาข้างต้นมีความชัดเจนเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านลองย้อนไปดูปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นโดยมีบุคลากรทางการเมือง และข้าราชการประจำซึ่งมีความสัมพันธ์กับนักการเมือง ก็จะพบว่าปัญหาเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีสาเหตุมาจากการถอนทุนของนักการเมืองที่เข้าสู่อำนาจรัฐ โดยการใช้ทุนเงินทั้งสิ้น
ส่วนประเด็นที่ว่าจะลดอำนาจทุนเงินได้อย่างไรนั้น ถ้าพิจารณาจากสภาพปัญหาที่เป็นอยู่ และมาตรการป้องกันที่มีผลบังคับใช้อยู่แล้ว น่าจะป้องกันปัญหานี้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ที่ป้องกันไม่ได้ไม่น่าจะเป็นเพราะกฎหมายของประเทศไทยย่อหย่อน แต่น่าจะเป็นเพราะบุคลากรผู้รักษากฎหมายขาดศักยภาพในการบังคับใช้กฎหมาย
ดังนั้น ถ้าจะแก้ไขเรื่องนี้จะต้องดำเนินการทั้งในส่วนของการบังคับใช้กฎหมาย และการปรับปรุงกฎหมายให้เกื้อหนุนการทำงานของผู้รักษากฎหมายทำงานได้ง่ายขึ้น ซึ่งน่าจะดำเนินการดังต่อไปนี้
1. ลดจำนวน ส.ส.เขตให้น้อยลงเพื่อให้จำนวนผู้ที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งต่อ ส.ส.หนึ่งคนเพิ่มขึ้น เพื่อให้การใช้เงินซื้อเสียงต้องใช้เงินมากขึ้น และทำได้ยากขึ้นด้วย
2. ยกเลิก ส.ส.บัญชีรายชื่อ และให้มีการสรรหา ส.ส.แทน ทั้งนี้เพื่อเป็นการตัดโอกาสการก้าวขึ้นสู่อำนาจของผู้มีทุนเงิน แต่ไม่มีทุนทางสังคมเป็นที่ยอมรับ เนื่องจากมีอาชีพหรือพฤติกรรมไม่โปร่งใส เป็นภัยต่อศีลธรรมอันดีของสังคม และในขณะเดียวกัน เพื่อถ่วงดุลอำนาจกับ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง
3. ให้ยกเลิกข้อกำหนดที่ให้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ต้องสังกัดพรรค ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้นักการเมืองซึ่งมีความคิดอิสระ และไม่ต้องการให้ความคิดของตนถูกครอบงำด้วยมติพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคที่ถูกครอบงำด้วยกลุ่มทุนของพรรค
4. เปิดโอกาสให้การเมืองภาคเอกชนมีความเข้มแข็งเพื่อถ่วงดุลกับการเมืองในระบบ
จากมาตรการ 4 ประการดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนเชื่อว่าจะทำให้การเมืองไทยมีคุณภาพ มีคุณธรรม และจริยธรรมมากขึ้น
แต่ไม่ว่าจะใช้มาตรการใด และเข้มงวดขนาดไหนถ้าประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ ความเข้าใจในระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยดีพอแล้ว ประชาธิปไตยก็คงจะมีอยู่แต่ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายเลือกตั้งเท่านั้น จะก้าวไกลไปกว่านี้ไม่ได้ ดังที่เป็นมาแล้ว 80 กว่าปี และมีรัฐธรรมนูญมาแล้วนับสิบฉบับ แต่ก็ไม่เคยมีฉบับใดทำให้ประชาธิปไตยของประเทศไทยมีความสมบูรณ์เทียบเท่าอารยประเทศทั้งหลายได้
ด้วยเหตุนี้ คนไทยไม่ควรฝากความหวังไว้กับการปฏิรูปการเมืองที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้เพียงอย่างเดียว แต่ควรพัฒนาตนเองให้มีความเป็นประชาธิปไตยแล้วแลกเปลี่ยนความคิดกับญาติมิตรเพื่อปลูกฝังความคิดในความเป็นประชาธิปไตยให้กว้างขวางออกไป ก็จะช่วยให้การปฏิรูปสมบูรณ์ ทั้งในด้านเนื้อหาและแนวทางที่จะนำไปใช้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติยิ่งๆ ขึ้นไป
อีกประการหนึ่ง นอกเหนือจากมาตรการลดทุนเงินแล้ว คนไทยทุกคนจะใช้โอกาสและเวลาในการเลือกตั้งทุกครั้ง โดยการไปลงคะแนนเลือกตั้ง และจะต้องไม่ลืมเลือกคนดีมีชื่อเสียง หรือคนที่มีทุนทางสังคมเข้าไปเป็นผู้แทน ถ้าทำได้เช่นนี้ ท่านก็จะได้ชื่อว่าเป็นคนพัฒนาประชาธิปไตยอย่างแท้จริง