xs
xsm
sm
md
lg

สั่งลุยต่อสินบนใบสั่ง “สมยศ” หักหน้า “ศรีวราห์” เปิดศึกงัดข้อ “โผนายพัน”

เผยแพร่:   โดย: นพรัตน์/ศักรภพน์ *-*

พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง ผบ.ตร.
ความเห็นต่างกันคนละมุมแบบสุดขั้วของ 2 ตำรวจใหญ่นี้ ถือเป็นการเริ่มต้นทำงานที่น่าจับตามองยิ่งนัก เพราะ “ความเห็นต่าง” ในการปฏิบัติหน้าที่นี้ มันมีเบื้องหน้าเบื้องหลังอันมาจากเหตุการแต่งตั้งโยกย้ายระดับนายพลตำรวจที่ผ่านมา

โครงการรางวัลนำจับสินบนจราจรทำท่าจะเป็นความขัดแย้งของ 2 บิ๊กสีกากีเสียแล้ว เมื่อ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร.ยังยืนกรานสนับสนุนปฏิบัติการนี้ต่อไป

โดยวันตำรวจ (13 ต.ค.) ที่ผ่านมา พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร.กล่าวถึง นโยบายตั้งรางวัล 1 หมื่นบาทให้แก่ตำรวจจราจรที่จับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายจราจรและพยายามติดสินบนตำรวจ ว่าตนเห็นด้วยกับนโยบายของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่ให้รางวัลกับตำรวจที่สามารถจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายจราจร และพยายามติดสินบนเจ้าหน้าที่ โดยจะช่วยทำลายวัฒนธรรมการรับส่วย จึงจะให้ดำเนินการต่อเนื่องทั่วประเทศเกี่ยวกับสินบนทุกกรณีไม่เฉพาะงานจราจร

โดยจะไม่เป็นเพียงการจ่ายรางวัลนำจับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น แต่หากประชาชนมีพยานหลักฐาน จนถึงขั้นแจ้งความดำเนินคดีต่อตำรวจที่เรียกรับสินบน ตนเองจะมอบเงินรางวัล 10,000 บาทให้กับประชาชนเช่นกัน ทั้งนี้ยอมรับว่านโยบายดังกล่าวจะทำให้เกิดความหวาดระแวงระหว่างกัน แต่จะทำให้ทุกฝ่ายระวังไม่กระทำผิดกฎหมาย และช่วยทำให้การเรียบรับสินบนหมดไป

“การให้ส่วยและสินบนนั้นถือว่าผิดทั้งผู้ให้และผู้รับ เสมือนการปรบมือ การปรบมือข้างเดียวย่อมไม่ดัง ผู้ให้อยากให้ ผู้รับก็อยากรับ คนให้ไม่อยากเสียค่าปรับอยากทำผิดกฎหมายได้เรื่อยๆ ส่วนผู้รับเกิดความโลภ เปรียบได้กับผีเน่ากับโลงผุ ซึ่งที่ผ่านมาเรียกได้ว่าสินบนกลายเป็นวัฒนธรรมของตำรวจไปแล้ว แต่อยากให้มองว่าเจ้าหน้าที่รัฐหลายส่วนมีการกระทำในลักษณะนี้ทุกกระทรวงทบวงกรมมีหมด อยากให้สื่อได้ให้ความเป็นธรรม แต่ตำรวจมักถูกเพ่งเล็งเพราะว่าทำงานแบบใกล้ชิดประชาชนมากกว่า ทั้งที่ตำรวจถือเป็นผู้รักษากฎหมาย” ผบ.ตร.กล่าว

ก่อนหน้าเพียงวันเดียว พล.ต.ต.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รรท.ผบช.น.เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าได้ทำหนังสือหารือกรณีดังกล่าวแล้วโดยหาก สตช.เห็นชอบกับนโยบายดังกล่าวเห็นควรให้สนับสนุนเงินงบประมาณ เพราะขณะนี้กองบัญชาการตำรวจนครบาล มีงบประมาณในการจัดทำโครงการเพียง 1 แสนบาทเท่านั้น ซึ่งการชะลอโครงการไม่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายแต่เป็นเรื่องงบประมาณที่นำมาจ่าย

ส่วนกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรางวัลนำจับ การติดกล้องแอบถ่ายประชาชนเพื่อใช้เป็นหลักฐานเป็นเรื่องไม่เหมาะสมนั้นขอตรวจสอบเรื่องนี้กับ พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รอง ผบช.น.รับผิดชอบงานจราจรก่อนว่าจะคงนโยบายนี้ต่อไปหรือให้ยุติ

พล.ต.ต.ศรีวราห์ ยังแสดงความเห็นว่าการนำกล้องไปถ่ายประชาชนตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ยกเลิกไปแล้วนั้นถือว่าละเมิดสิทธิแต่ตอนนี้ไม่มีรัฐธรรมนูญและใช้ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เท่าที่ดูไม่น่าขัดกับประกาศ คสช.แต่ต้องตรวจสอบถึงความเหมาะสม

“ส่วนตัวประเมินแล้วเห็นว่าควรเลิก ไม่ใช่แค่ชะลอเท่านั้น เพราะกระแสสังคมไม่ยอมรับ แต่ขอดูเรื่องเดิมก่อนว่าเป็นนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือไม่ อย่างไรเพราะ พล.ต.ต.อดุลย์ น่าจะดำเนินการตามเรื่องเดิมก่อนผมมารับตำแหน่ง”

2 บิ๊กตำรวจ 2 จุดยืนมองปัญหาไปคนละทาง โดยฝ่าย พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ในฐานะผู้นำองค์กรมีความต้องการสร้างภาพลักษณ์น่าเชื่อถือแก่สังคมตำรวจ แต่อาจขัดต่อความรู้สึกของประชาชนซึ่งนับแต่มีโครงการกระทั่งจับกุมผู้ต้องหาให้สินบนเจ้าหน้าที่ไปแล้ว 2 รายเกิดกระแสทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

แต่ตำรวจกลายเป็นหมู่บ้านกระสุนตก ถูกด่าฟรีทั้งขึ้นทั้งล่อง

จนมีคำสั่งจากกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ลงมายังตำรวจทางหลวงห้ามกระทำตามโครงการ “จับผิดประชาชน” เช่น ตำรวจนครบาล อย่างเด็ดขาด ทั้งนี้มีการอ้างเหตุผลไม่ต้องการขัดแย้งหรือสร้างความหวาดระแวงแก่ประชาชนมาเป็นที่รองรับ

ขณะที่โครงการชวนทะเลาะระหว่างตำรวจจราจรกับชาวบ้านกำลังเจอแรงเสียดทาน เจียนอยู่เจียนไปนั้น พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ ก็ออกมาสำทับว่า โครงการดังกล่าวยังเดินหน้าต่อไปจนถึงสิ้นเดือนตุลาคมนี้ แต่อีกเพียงวันเดียวเจ้าตัวก็ออกมาบอกว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไม่มีกำหนดท่ามกลางความสับสนของสื่อมวลชนและผู้เกี่ยวข้องตามๆ กัน

สำหรับปัญหาเรื่องงบประมาณที่นำมาใช้เป็นรางวัลนำจับรายละ 1 หมื่นบาทและได้รับการเปิดเผยว่าได้รับการสนับสนุนมาเพียง 1 แสนบาท และทำท่าจะไม่พอ หรือทำกันอย่างไฟไหม้ฟางในระยะสั้นๆ จน พล.ต.ต.ศรีวราห์ต้องทำหนังสือของการสนับสนุนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้น รายงานข่าวแจ้งว่านับเป็นภาพสะท้อนอย่างตรงไปตรงมาว่างบประมาณต่างๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้นส่วนใหญ่เป็นงบประจำไม่เพียงพอต่อการทำโครงการในเชิงรุก หรือแม้กระทั่งนำมาใช้กับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม จนกลายเป็นข้ออ้างของส่วยอันเป็นรายได้นอกระบบที่เข้ามาเสริมการทำงาน และนำไปเสวยสุขต่อผู้มีอำนาจหน้าที่บางคน

จากความเห็นต่างกันคนละมุมแบบสุดขั้วของ 2 ตำรวจใหญ่นี้ถือเป็นการเริ่มต้นทำงานที่น่าจับตามองยิ่งนัก เพราะ “ความเห็นต่าง” ในการปฏิบัติหน้าที่นี้ มันมีเบื้องหน้าเบื้องหลังอันมาจากเหตุการแต่งตั้งโยกย้ายระดับนายพลตำรวจที่ผ่านมา

ข่าวแจ้งว่า การแต่งตั้งเฉพาะในส่วนของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่ผ่านมา พล.ต.ต.ศรีวราห์ มีบทบาทเด่นชัดเป็นอย่างมากซึ่งในตำแหน่งหลักระดับ ผบก.อย่างน้อย 4-5 ตำแหน่งอยู่ในโควตาของ น.1 ในฐานะคนทำงานเจ้าของพื้นที่ แต่ก็มีแบ่งไปให้สายอื่นๆ บ้าง แต่ก็ฝากความแค้นให้กับ “อดีตนายตำรวจ” คนหนึ่งซึ่งมีสมัครพรรคพวก และต้องการครอบงำพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นอย่างยิ่ง มีการต่อรองเก้าอี้ผ่าน “บิ๊กทหาร” และ “บิ๊กสีกากี” แต่ พล.ต.ต.ศรีวราห์ไม่ยินยอมจึงเกิดอาการกินใจกันไปยกแรก

และในระหว่างนี้อยู่ในช่วงพิจารณาย้ายนายตำรวจระดับ พ.ต.อ. อันหมายถึงบรรดาหัวหน้าสถานีทั่วประเทศ ไม่เว้น กทม.อันเป็นพื้นที่เศรษฐกิจอันดับ 1 ของประเทศซึ่งแน่นอนว่าบรรยากาศวิ่งเต้น ทุกฝ่ายจ้องประโยชน์ให้พวกพ้องโดยเจ้าของพื้นที่คือ รรท.ผบช.น.ต้องทำหน้าที่คัดสรรคนของตนเข้ามาให้ได้

หากการแบ่งเค้กไม่ลงตัวเป็นรอบสอง ไม่ใครก็ใครอาจโดนน็อกหล่นจากเก้าอี้ไปได้ง่ายๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น