xs
xsm
sm
md
lg

แฉ “ส่วยลิขสิทธิ์” ขูดรีดประชาชน “ตำรวจ-ตัวแทนฯ” ใช้กฎหมายปล้น!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

กรจับกุมซีดีละเมิดลิขสิทธิ์ที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง
สัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวร็อกรุ่นใหญ่ “แมว จีระศักดิ์ ปานพุ่ม” โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเปิดโปงการจับละเมิดลิขสิทธิ์ของเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบหมายจากบริษัทฯ และตำรวจ โดยอาศัยช่องทางกฎหมายนำไปหากินอย่างน่ารังเกียจ

“แมว จีระศักดิ์” ระบุว่า “วันหนึ่งผมเคยขำคำถามเพื่อนนักดนตรีท่านหนึ่งว่า พี่ผมสามารถเอาเพลงพี่ไปเล่นได้มั้ย ผมได้แต่ขำและตอบว่า ได้สิครับ ทำไมเหรอ ไม่ต้องมารยาทดีกับพี่ขนาดนั้นก็ได้ นักดนตรีท่านนั้นก็ตอบว่า ผมเคยเล่นเพลงของค่ายหนึ่ง พอลงจากเวทีโดนจับเลยโทษฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ครั้งนั้นผมมองเป็นเรื่องตลกที่มาขอเพลงผมไปเล่นเพราะกลัวผมจับเรียกค่าลิขสิทธิ์

แต่คราวนี้เหตุการณ์ที่เกิดไม่ใช่กับตัวผม แต่เป็นกับวงเด็กๆ ที่เพิ่งหัดเล่นดนตรี ได้ค่าตัวแค่คนละ 500 บาท พอน้องๆ เล่นเสร็จลงมาจากเวทีโดนจับทันทีเพราะไม่จ่ายค่าลิขสิทธิ์

เด็กอายุแค่ 18-20 เพิ่งหัดเล่นดนตรี มีงานแรกโดนเรียกค่าลิขสิทธิ์ 20,000 บาทต่อเพลง น้องเล่นเพลงของค่ายนั้นไป 2 เพลง รวมเป็น 40,000 บาท ถ้าไม่จ่ายตำรวจรอทำหน้าที่อย่างจดจ้อง”

รายละเอียดบางตอนที่ทำให้คนที่รู้เรื่องราวต่างตั้งคำถามว่า อะไรกำลังเกิดขึ้นกับสังคมไทย เพราะไม่เพียงลิขสิทธิ์ค่ายเพลง ปัจจุบันมีผู้นำช่องทางกฎหมายลิขสิทธิ์ไปหากินอย่างแพร่หลาย

และตัวการหลักก็คือตำรวจ บวกกับตัวแทนบริษัทฯต่างๆ ที่มอบอำนาจให้

จากการสอบถามไปยังผู้ทำมาค้าขายในระดับต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ระดับล่างต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าได้รับความเดือดร้อนจากการจับแล้ว “ตบทรัพย์” ของบุคคลในเครื่องแบบเป็นอย่างยิ่ง

เจ้าของตลาดนัดรายหนึ่งบอกว่า ช่วงนี้ตำรวจเข้ามารบกวนพ่อค้าแม่ขายกันมาก สินค้าทีถูกกวดขันมีแทบทุกประเภทตั้งแต่เสื้อผ้าแฟชั่น เสื้อผ้ากีฬา รองเท้า กระเป๋า เครื่องสำอาง ของเล่น แผ่นซีดี ผ้าเช็ดตัวตลอดจนสินค้าทุกชนิดเลยก็ว่าได้

เจ้าของตลาดรายเดียวกันบอกอีกว่า ตำรวจที่มาตรวจจับส่วนใหญ่เป็นตำรวจท้องที่กับตำรวจปราบปรามเศรษฐกิจ (กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หรือ บก.ปอส.) ซึ่งในการทำงานตำรวจพวกนี้จะมากับตัวแทนบริษัทฯที่ได้รับมอบอำนาจ เมื่อก่อนเขาจะมากันแค่ชุดสองชุด จับแล้วเรียกเอาเงินบ้างเอาไปดำเนินคดีบ้าง แต่เดี๋ยวนี้มากันเยอะมาก วิธีการจะลุยหน้ากระดานแบ่งกำลังเป็นด้านหน้า ช่วงกลางและด้านหลังไม่มีผู้ค้ารายใดหนีรอดไปได้

“ผมว่าตำรวจกับตัวแทนบริษัทเขารู้กัน เพราะส่วนใหญ่ตอนจับก็จะบอกให้เลือกระหว่างดำเนินคดีกับปรับกันตรงนี้คือรายละ 8 หมื่นบาทขาดตัว หากตกลงกันได้เขาจะออกใบเสร็จให้แค่ 5,000 บาท ของกลางต้องยึดเอาไปเก็บที่หน่วยแต่อีก 4-5 เดือนเอาใบเสร็จไปแสดงขอรับคืนได้

แรกๆ ผู้ค้าเขาก็ตกใจยอมเสียเงินกันเกือบแสน แต่ตอนนี้เขาเลือกให้จับดำเนินคดีไปเลยเพราะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าแต่ไม่วายตำรวจจะขู่ว่าถ้ามีประวัติโดนรอบสองอาจติดคุกได้อะไรทำนองนี้”

นี่คือความจริงอีกด้านหนึ่งที่กำลังเกิดวิกฤตโดยฝีมือของเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย

จากการตรวจสอบไปยังสถานีตำรวจ 2-3 แห่งในพื้นที่นครบาล เพื่อขอทราบความชัดเจนมีคำตอบว่าเรื่องการจับกุมสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์นั้นมีคำสั่งลงมาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ห้ามมิให้ตำรวจที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องไปตรวจจับอย่างเด็ดขาดเว้นแต่จะมีตัวแทน หรือทนายของบริษัทผู้ถือลิขสิทธิ์มาขอความร่วมมือ หรือมาระบุให้ตำรวจท้องที่เป็นผู้ดำเนินการจึงสามารถทำได้ ในส่วนของตำรวจจาก บก.ปอส.ก็ต้องมีตัวแทนร่วมทุกครั้งเช่นกัน

คำตอบนี้จึงยืนยันได้ว่าถ้าตำรวจจะจับลิขสิทธิ์จะต้องมีตัวแทนผู้รับมอบอำนาจตามไปด้วย ส่วนการเรียกรับเงินหรือตบทรัพย์จากพ่อค้าแม่ค้านั้นเป็นเรื่องสมรู้ร่วมคิดระหว่างตำรวจกับตัวแทน และน่าจะรวมไปถึงผู้บังคับบัญชาระดับสูงชึ้นไปของหน่วยงานเกี่ยวข้องด้วยทำนอง “หัวไม่ส่าย หางไม่กระดิก”

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่าสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์นั้นบางแห่งก็สามารถวางขายได้อย่างอิสระโดยไม่มีเจ้าหน้าที่เข้าไปวุ่นวาย เช่น ย่านคลองถม สะพานเหล็กอันเป็นพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างสน.พลับพลาไชย เขต 1 กับสน.จักรวรรดิ์ ยังรวมไปถึงห้างสรรพสินค้าประเภทไอที เช่น ศูนย์การค้ามาบุญครอง พันธ์ทิพย์พลาซ่า ประตูน้ำ ห้างฟอร์จูน พระราม 9 ห้างตะวันนา บางกะปิ เป็นต้นโดยห้างใหญ่เส้นหนามีชื่อเจ้าของธุรกิจน้ำเมา และเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นเจ้าของคาดว่ามีการเคลียร์รายเดือนให้กับผู้มีอำนาจ รวมทั้งบารมีเจ้าของกิจการทำให้ตำรวจไทยเกรงอกเกรงใจเป็นพิเศษ
กำลังโหลดความคิดเห็น