xs
xsm
sm
md
lg

ขรก.-ลูกจ้างเฮ ขึ้นค่าครองชีพ แตะหลักหมื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ข้าราชการและลูกจ้างประจำระดับล่างรับอานิสงส์ได้ค่าครองชีพเพิ่มเป็น 2,000 บาท ข้าราชการฯได้เพิ่มรวมเงินเดือนไม่เกิน 13,285 บาท ส่วนลูกจ้างชั่วคราว ทหารกองประจำการ ได้ค่าครองชีพรวมไม่เกินเงินเดือน 10,000 บาท บังคับใช้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 57 “วิษณุ” เผยยังไม่พิจารณาปรับโครงสร้างเงินเดือน ขรก.4% นายกฯปัดประชานิยม ด้านกสร.เตรียมปรับโครงสร้างเงินเดือนให้รัฐวิสาหกิจ ขณะที่ คสรท.เล็งยื่นหนังสือ รมว.แรงงาน ให้บอร์ด ทบทวนการปรับค่าจ้างอีกครั้ง

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.ได้มีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของข้าราชการและลูกจ้างชั่วคราวในส่วนราชการ โดยให้ระเบียบมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไป และมีการปรับเพดานเงินเดือนขั้นสูงจาก 12,285 บาท เป็น 13,285 บาท และปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวเพิ่มขึ้นจากอัตราเดือนละ 1,500 บาท เป็น 2,000 บาท แต่เมื่อรวมกับเงินเดือนแล้วต้องไม่เกินเดือนละ 13,285 บาท

และกรณีที่มีรายได้ไม่ถึงเดือนละ 10,000 บาท ให้ได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวเพิ่มขึ้นอีกจนถึงเดือนละ 10,000 บาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นชอบกับแนวทางตามที่สำนัก ก.พ. เสนอ

กำหนดให้ลูกจ้างชั่วคราวที่กำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งต้องใช้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ที่มีค่าจ้างไม่ถึงเดือนละ 10,000 บาท ให้ได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างอีกจนถึงเดือนละ 10,000 บาท

ให้ทหารกองประจำการที่ได้รับเงินเดือนในระดับ พ.1 ที่ได้รับเงินเดือนไม่ถึงเดือนละ 10,000 บาท ให้ได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวเพิ่มขึ้นจากเงินเดือนอีกจนถึงเดือนละ 10,000 บาท

***ขรก.รอเก้อ ครม.ยังไม่ถกปรับโครงสร้างเงินเดือน

อนึ่งในการประชุมครม.วานนี้ (18 พ.ย.) ได้พิจารณาปรับเพิ่มค่าครองชีพข้าราชการชั้นผู้น้อย ทั้งนี้ จะครอบคลุมข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐชั้นผู้น้อย 380,000 คน ตามข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ซึ่งการประชุม ครม.จะยังไม่มีการพิจารณาการปรับโครงสร้างบัญชีเงินเดือนเพิ่ม 4% ตามที่เป็นข่าว

***นายกฯปัดประชานิยมขึ้นค่าครองชีพขรก.

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กล่าววภายหลังประชุม ครม.ว่า ครม.เห็นชอบปรับเพิ่มค่าครองชีพข้าราชการชั้นผู้น้อย ตามข้อเสนอสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) แต่ไม่ใช่เป็นการขึ้นเงินเดือน เป็นการเพิ่มเงินค่าครองชีพให้กับผู้ที่มีรายได้ไม่ถึง 10,000 บาท ให้เพิ่มอีก 1,000 บาท ขณะที่ข้าราชการที่มีรายได้เกิน 10,000 บาท ต่อเดือน เมื่อรับเงินเพิ่มค่าครองชีพเพิ่ม แต่รวมแล้วไม่เกิน 13,285 บาท โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา เป็นการใช้เม็ดเงินที่มีอยู่แล้ว ถือว่ารัฐบาลต้องดูแลข้าราชการผู้น้อย เพราะเราดูแลทั้งชาวนา เกษตรกร ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องประชานิยม

***เล็งยื่นหนังสือให้บอร์ดทบทวนค่าจ้าง

วานนี้( 18พ.ย.) ตามมติคณะรัฐมนตรี ปรับขึ้นค่าครองชีพข้าราชการระดับล่าง 4 เปอร์เซ็นต์ โดยคาดการณ์ว่าจะส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น กระทบต่อผู้ใช้แรงงาน นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ตนมั่นใจกระทรวงพาณิชย์ จะมีมาตรการรับมือ รวมถึงควบคุมราคาสินค้าเพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ใช้แรงงาน

ด้านนายปัณณพงศ์ อิทธิ์อรรถนนท์ กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า เรื่องการควบคุมราคาสินค้าเป็นความท้าทายของรัฐบาล ซึ่งมาตรการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดแต่ละสถานประกอบการ ต้องมีโครงสร้างค่าจ้างเอง และให้ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเพียงค่าจ้างแรกเข้า หรือกระทรวงแรงงาน ต้องแก้กฎหมาย บังคับให้ทุกสถานประกอบการต้องมีโครงสร้างค่าจ้าง

นายเฉลิมทัต ตันโสภณ ผู้อำนวยการกลุ่มงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือ กสร. กล่าวถึงผลการประชุมคณะอนุกรรมการ พิจารณาสภาพการจ้างของรัฐวิสาหกิจว่า ที่ประชุมได้พิจารณาปรับโครงสร้างเงินเดือนค่าจ้าง ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ ตามที่สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์หรือ สรส.และกลุ่มประสานงานบุคคลรัฐวิสาหกิจ หรือ กบร. เสนอมา โดยสรส.เสนอให้ยึดโครงสร้างเงินเดือน 58 ขั้น เริ่มที่อัตรา 9 พัน 40 บาท ถึง 1 แสน 8 หมื่น 9 พัน 330 บาท เฉลี่ยปรับขึ้นขั้นละ 4.3 เปอร์เซ็นต์

ส่วน กบร. เสนอโครงสร้างเงินเดือน 70 ขั้น เริ่มที่อัตรา 5 พัน 780 บาท ถึง 2 แสน 3 หมื่น 1 พัน 280 บาท โดยขั้นที่ 1 - 40 จะให้คงบัญชีเงินเดือน 58 ขั้น ส่วนขั้นที่ 40.5 - 58 เสนอปรับเพิ่ม 5 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเงินเดือนเกิน 5 หมื่นบาท สำหรับขั้นที่ 58.5 - 70 เสนอปรับขึ้น 2.8 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ให้เจ้าหน้าที่ไปศึกษาหาข้อมูลถึงผลกระทบ จำนวนเงินที่ต้องใช้ และจำนวนคนที่ได้รับผลกระทบแล้ว โดยให้มีการทำแบบสำรวจไปยัง 35 รัฐวิสาหกิจที่ยึดถือโครงสร้างเงินเดือน และค่าจ้าง 58 ขั้น นอกจากนี้ มีการหารือถึงการโอนภารกิจที่เกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจ ให้กระทรวงการคลังดูแลแทนด้วย หากสองฝ่ายเห็นตรงกัน ก็จะแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ต่อไป

ด้าน น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าครองชีพของข้าราชการทำให้หันกลับมามองว่าแล้วภาคเอกชนที่ คณะกรรมการค่าจ้าง(บอร์ดค่าจ้าง) รับปากว่าจะปรับค่าจ้างให้ในปี 2558 หรือจะพิจารณาเมื่อมีเหตุความผันผวนทางเศรษฐกิจ เหมือนกับว่าคำสัญญาที่ให้ไว้ไม่ได้หยิบมาทบทวน ตนมองว่า พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและบอร์ดค่าจ้างควรหาทางช่วยเหลือแรงงานให้สามารถอยู่ได้ในปัจจุบัน อีกทั้งเมื่อมีการปรับขึ้นค่าครองชีพหรือเงินเดือนข้าราชการเมื่อใด ราคาสินค้าก็จะขยับขึ้นอีกแล้วลูกจ้างเอกชนจะอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นได้อย่างไร

“แรงงานเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่สำคัญของประเทศ อยากให้ รมว.แรงงานให้ความสำคัญ ปรับค่าจ้างให้บ้าง เพื่อให้แรงงานมีสภาพชีวิตที่ดีขึ้น ” น.ส.วิไลวรรณ กล่าวและว่า ที่ผ่านมาจากการสำรวจพบว่าหากแรงงานจะอยู่ได้ต้องมีรายได้วันละประมาณ 460 บาท แต่ก็เข้าใจว่าอาจเป็นเรื่องที่ยาก ก็ต้องมาหารือกันว่าจะสามารถปรับขึ้นได้เท่าไหร่ นอกจากนี้นายชาลี ลอยสูง ประธาน คสรท.เตรียมยื่นหนังสือเพื่อขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานภายในเดือนพฤศจิกายนนี้เพื่อยื่นหนังสือขอให้ บอร์ดค่าจ้างพิจารณาทบทวนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ

***แจกแจงนักธุรกิจเยอรมัน

วานนี้ (18 )พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กล่าวถึงการต้อนรับคณะนักธุรกิจชาวเยอรมัน ที่เข้าเยี่ยมคารวะ ว่า คณะดังกล่าวจะมาสอบถามเรื่องการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต เพื่อที่จะได้มาร่วมการค้าการลงทุนกับเรา และนักธุรกิจเหล่านี้ให้ความสนใจประเทศไทยอยู่แล้ว เพราะเห็นบ้านเมืองสงบ จึงอยากให้ตนยืนยันว่า สถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป จะไปสู่โรดแมปอย่างไร หรือเราต้องการที่จะให้ประเทศลงทุนอะไรบ้างที่จะเน้นเป็นพิเศษ อะไร คือกฎระเบียบการค้าการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วบ้าง เรื่องสิทธิประโยชน์ การสร้างความเชื่อมั่น ความมีเสถียรภาพของรัฐบาล ซึ่งตนจะยืนยันว่าเรารักษาผลประโยชน์ของเขาเสมอ อยากให้มาลงทุนในบ้านเรามากขึ้น

ส่วนกรณีที่คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ คาดการณ์เศรษฐกิจในปี 57 จะขยายตัวที่ระดับ 1 เปอร์เซ็นต์นั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ต้องดูและศึกษาภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ ด้วย เช่น สหภาพยุโรปคาดการณ์ว่าจะขยายตัวที่ระดับ 1.1 เปอร์เซ็นต์ ไม่ควรดูเฉพาะประเทศที่รวยโลดโผน ตัวเลขนั้นตนมีอยู่แล้ว ถามว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่จะโต 1 เปอร์เซ็นต์ บวกด้วยอะไรบ้าง ค่าใช้จ่ายครัวเรือน การลงทุน การค้าต่างประเทศ การส่งออก ตัวเลขยึดโยงกันทั้งหมด ซึ่งตัวเลขในนี้มีส่วนที่ดีขึ้นจากเดิมที่ติดลบ และส่วนด้อยก็มีโดยเราต้องไปดูว่าเกี่ยวข้องกับอะไร โดยเฉพาะด้านการส่งออก อาจเป็นเพราะต่างชาติชะลอตัว เราต้องมองภาพแบบนี้อย่ามองเป็นจุดๆ ไม่ใช่ตัวเลขออกมาก็ตื่นตระหนกตกใจไปหมด
กำลังโหลดความคิดเห็น