xs
xsm
sm
md
lg

แรงงานซับคอนแทรคนับ 100 คน ร้อง กสร.นายจ้างละเมิดสิทธิแรงงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชาลี ลอยสูง (แฟ้มภาพ)
แรงงานซับคอนแทรคร้อง กสร. ถูกนายจ้างปฏิบัติไม่เป็นธรรม หลังเรียกร้องให้เพิ่มค่าจ้าง - สวัสดิการ พนักงานฟ้องศาลถูกส่งเดินทางทำงานในหลายจังหวัด จี้ ก.แรงงาน ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจดูแล ชี้หากปล่อยไว้ปัญหาเพิ่มขึ้น

วันนี้ (28 ต.ค.) นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เปิดเผยว่า คสรท. พร้อมด้วยเครือข่ายแรงงานได้นำแรงงานรับเหมาช่วง (ซับคอนแทรค) 4 บริษัท ซึ่งทำงานในบริษัทอุตสาหกรรมยานยนต์ใน จ.สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา และบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในกรุงเทพฯ รวม 100 คน เข้าร้องเรียนต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เนื่องจากได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมและละเมิดสิทธิแรงงาน เช่น ค่าจ้างและสวัสดิการต่างๆไม่เท่าเทียมกับพนักงานประจำ พนักงานซับคอนแทรคที่ตั้งครรภ์ แรงงานผู้พิการทางสายตาก็ให้ลาออกจากงาน และเมื่อพนักงานซับคอนแทรคเรียกร้องค่าจ้างและสวัสดิการเพิ่มขึ้นก็ให้ย้ายไปทำงานโรงงานแห่งอื่นในจังหวัดเดียวกันแต่ระยะทางไกลกว่าเดิม ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแต่ไม่ได้เพิ่มค่าจ้าง และคืนตัวพนักงานซับคอนแทรคแก่บริษัทต้นสังกัดโดยจ่ายเงินชดเชยเพียง 15 วัน ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้มีกว่า 70 คน

“อยากให้กระทรวงแรงงานตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ ซึ่งประกอบด้วย ฝ่ายรัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง เพื่อแก้ปัญหาแรงงานซับคอนแทรคในเชิงรุกมากกว่าตั้งรับเช่นในปัจจุบัน เชื่อว่า หลังจากนี้ ปัญหาแรงงานซับคอนแทรคจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ” นายชาลี กล่าว

ด้าน นายยงยุทธ เม่นตะเภา อดีตประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สาเหตุที่แรงงานซับคอนแทรคถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้น เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจของประเทศไทยยังไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์มียอดการผลิตลดลง ทำให้ผู้ประกอบการหาทางลดจำนวนแรงงานโดยเฉพาะแรงงานซับคอนแทรค รวมทั้งกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาตามมาตรา 11/1 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่ให้ผู้ประกอบการดูแลลูกจ้างซับคอนแทรคให้ได้รับค่าจ้าง สิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่างๆเท่าเทียมกับพนักงานประจำ ทำให้แรงงานซับคอนแทรคถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการรถยนต์หลายค่ายก็ทยอยบรรจุแรงงานซับคอนแทรคเป็นลูกจ้างประจำ แต่บางค่ายรถยนต์ก็เลิกจ้าง ปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหานี้อยากให้รัฐบาลชุดนี้ซึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จมีนโยบายที่ชัดเจนและเด็ดขาด โดยแก้ไขกฎหมายหากยังใช้แรงงานซับคอนแทรคก็ให้ทยอยบรรจุแรงงานกลุ่มนี้เข้าเป็นพนักงานประจำโดยยึดตามอายุงาน แต่ถ้าเลิกจ้างก็ต้องจ่ายเงินชดเชยและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และจากการสอบถามจากแรงงานที่เข้าร้องเรียนพบว่าบางรายมีอาการตาอักเสบมาก จึงแจ้งหัวหน้างงานขอลางาน 1 เดือนไปรักษาตาแต่เมื่อกลับมาทำงานโดยยื่นใบรับรองแพทย์ทางบริษัทได้ให้ลาออกโดยไม่ได้เงินชดเชยใดๆ บางรายไปยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้พนักงานซับคอนแทรคในบริษัทได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเท่าเทียมกับกับพนักงานประจำ ต่อมาบริษัทให้ถอนฟ้องแต่ยืนยันไม่ถอนฟ้อง ทางบริษัทจึงคืนตัวให้แก่บริษัทซับคอนแทรคต้นสังกัด และบริษัทต้นสังกัดได้ให้ตระเวนทำงานในจังหวัดต่างๆ เช่น ขอนแก่น บุรีรัมย์ นครนายก ปราจีนบุรีในรอบ 1 เดือน

ด้านนายสุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดี กสร. กล่าวว่า กสร. จะช่วยเหลือแรงงานซับคอนแทรคโดยให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดต่างๆ ใช้วิธีการเจรจากับนายจ้างก่อน หากไม่ต้องการจ้างแรงงานซับคอนแทรคก็ให้ประกาศเลิกจ้างและจ่ายเงินชดเชยและสิทธิประโยชน์ต่างๆตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แต่หากยังต้องใช้แรงงานซับคอนแทรคก็ให้ทยอยบรรจุแรงงานกลุ่มนี้เข้าเป็นพนักงานประจำโดยยึดตามอายุงาน ส่วนกรณีแรงงานที่พิการทางสายตานั้นบริษัทสามารถจ้างงานต่อไปโดยเป็นการจ้างผู้พิการทำงาน และกรณีแรงงานตั้งครรภ์นั้นตามกฎหมายบริษัทไม่สามารถเลิกจ้างได้ ซึ่งเร่งช่วยเหลือแรงงานทั้งสองรายนี้ก่อน

รองอธิบดี กสร. กล่าวอีกว่า ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวนั้นที่ผ่านมาตนได้พูดคุยกับนักลงทุนชาวต่างชาติขอให้ดูแลแรงงานไทยเท่าเทียมกับแรงงานชาติของตนเอง และเป้าหมายของ กสร. จะแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานเพื่อให้ในอนาคตแรงงานซับคอนแทรกหมดไปจากประเทศไทย เพราะที่ผ่านมาแรงงานซับคอนแทรคได้รับค่าจ้างและสวัสดิการต่างๆไม่เป็นธรรมมาโดยตลอด แม้ กสร. จะแก้กฎหมายมาหลายครั้งแต่ก็ยังมีปัญหานี้
 
 
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่

กำลังโหลด

อย.ทลายแหล่งผลิต-ร้านขายเครื่องสำอางปลอม

ดูบน Instagram




กำลังโหลดความคิดเห็น