xs
xsm
sm
md
lg

คสรท.ขอพบ “บิ๊กเต่า” สางปัญหาแรงงาน-ชี้ กสร.เปลี่ยนชื่อไม่ช่วยอะไร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คสรท. ยื่นหนังสือขอเข้าพบ “บิ๊กเต่า” เร่งแก้ปัญหาแรงงาน เนื่องจากมีอำนาจดูแลแค่ 1 ปี แย้ง กสร. เปลี่ยนชื่อเป็นกรมคุมครองแรงงาน ชี้เปลี่ยนชื่อไม่ได้ช่วยอยากให้เน้นบทบาทการทำงาน ปฏิรูปการบริหาร

วันนี้ (15 ก.ย.) น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 กันยายน ที่ผ่านมา นายชาลี ลอยสูง ประธาน คสรท. ได้ยื่นหนังสือขอเข้าพบ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและปลัดกระทรวงกลาโหม ผ่านสำนักปลัดกระทรวงแรงงาน เพื่อยื่นข้อเรียกร้องของเครือข่ายแรงงานจำนวน 11 ข้อ ที่มีสาระสำคัญเรื่องการละเมิดสิทธิ การปฏิรูปโครงสร้างประกันสังคม การรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 และ 98 เรื่องการรวมตัวและเจรจาต่อรอง

อยากให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเฉพาะการรับอนุสัญญาไอแอลโอ ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งที่ผ่านมา อาจมีข้อท้วงติงจากหน่วยงานความมั่นคง แต่อยากให้ พล.อ.สุรศักดิ์ มองถึงประโยชน์เรื่องการส่งเสริมพลังในการเจรจาต่อรองของแรงงานกับของนายจ้างมากกว่า และขอให้ทุ่มเทเรื่องการแก้ปัญหาแรงงานแม้ช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคมนี้จะต้องอำลาตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม เพราะเวลาทำงานของรัฐบาลชุดนี้มีอายุเพียง 1 ปี” รองประธาน คสรท. กล่าว

น.ส.วิไลวรรณ ยังกล่าวถึงกรณีที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเปลี่ยนชื่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ไปเป็นกรมคุ้มครองแรงงาน เนื่องจากชื่อเดิมสื่อความหมายไม่ครอบคลุม โดยคล้ายคลึงกับชื่อของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งอาจก่อให้เกิดความสับสน ว่า ตนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว เพราะชื่อของ กสร. มีความหมายที่ดีและครอบคลุมในการดูแลสวัสดิการของแรงงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ส่วนคำว่าคุ้มครองแรงงานงานนั้นก็มีความหมายเรื่องการคุ้มครองแรงงาน หากเปลี่ยนเป็นกรมคุ้มครองแรงงานอย่างเดียวก็จะไม่ครอบคลุมเรื่องการดูแลสวัสดิการแรงงาน

ไม่อยากให้มองเรื่องชื่อแม้จะสร้างความสับสน แต่อยากให้เน้นเรื่องบทบาทของ กสร. ที่ต้องมีการปฏิรูปการทำงานทั้งด้านการบริหารและการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งปัจจุบันยังมีบางปัญหาที่ติดขัดเรื่องกฎหมาย เช่น การเลิกจ้าง การละเมิดสิทธิ การปิดงาน และข้อพิพาทแรงงาน ซึ่งอำนาจในการเรียกนายจ้างมาเจรจายังเป็นเพียงการขอความร่วมมือทำให้บางครั้งนายจ้างไม่มาเจรจา รวมถึงระยะเวลาในการดำเนินการตามข้อเรียกร้องต่างๆยังมีระยะเวลานานเกินไป” รองประธาน คสรท.กล่าว
 
 

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น