คสรท. ร่วมสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ จัดงานวันกรรมกรสากล 1 พ.ค. นี้ ที่หน้ารัฐสภา ยันจัดงานแยก ก.แรงงาน ทั้งไม่เสนอรัฐบาลที่หมดความชอบธรรมแล้ว เดินหน้าล่ารายชื่อเสนอแก้ไขข้อเรียกร้องที่ถูกเพิกเฉย
วันนี้ (10 เม.ย.) เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุมสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย สวนรถไฟ กรุงเทพฯ มีการแถลงข่าวจัดงานวันกรรมกรสากล 1 พฤษภาคม 2557 ภายใต้คำขวัญ “สามัคคีกรรมกร ต้านทุนนิยมครอบโลก สร้างสังคมใหม่ ประชาธิปไตยประชาชน” โดยมีนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองคณะกรรมการ คสรท. และนายอำพล ทองรัตน์ รองเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เข้าร่วม
นายชาลีกล่าวว่า ในปีนี้ยังคงแยกการจัดงานกับกระทรวงแรงงานเช่นเดิม เพื่อความเป็นเอกเทศของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งจะเป็นการตอกย้ำสถานการณ์แรงงานในปัจจุบันที่มีภาวะการกดขี่ ขูดรีดที่รุนแรง สลับซับซ้อนกว่าเดิม ภายใต้ระบบทุนนิยมแบบใหม่ที่ต้องได้รับการแก้ไข โดยในปีนี้จะจัดงานวันกรรมกรสากลประจำปี 2557 บริเวณหน้ารัฐสภา ถนนอู่ทองใน ตั้งแต่เวลา 9.00 - 14.00 น. โดยมีมติร่วมกันว่าจะไม่ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลรักษาการเพราะขาดความชอบธรรม ไม่มีความจริงใจในการบริหารประเทศ แต่จะนำเสนอข้อมูลต่อสาธารณะ แบ่งเป็นข้อเสนอปี 2557 1. ให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง 2. ยุตินโยบายและกฎหมายที่ละเมิดสิทธิแรงงาน ที่ขัดต่ออนุสัญญาไอแอลโอ ฉบับที่ 87 และ ฉบับที่ 98 เช่น กรณีผู้นำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย 13 คน 3. สร้างระบบสวัสดิการสังคม เช่น มีมาตรการควบคุมราคาสินค้า ลดค่าครองชีพ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม 4. ยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ หรือการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ ยุติการแทรกแซงการบริหารงานรัฐวิสาหกิจ โดยขาดความเป็นธรรม และ 5. ต้องเร่งปฏิรูประบบประกันสังคม ประกันสุขภาพคนทำงานถ้วนหน้า ให้โครงสร้างเป็นอิสระตรวจสอบได้ ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม 6. ขอให้งดนำเข้าและยกเลิกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบแร่ใยหินและไคโซไทล์
นายชาลีกล่าวต่อว่า นอกจากนี้มีข้อเรียกร้องที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1. ต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม รวมถึงทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 ที่ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ในปี 2557 และ 2558 2. แก้กฎหมายเลือกตั้งทุกระดับ ให้แรงงานที่ทำงานในสถานประกอบการในพื้นที่ ตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป มีสิทธิเลือกตั้งและลงสมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่นั้นๆ 3. เร่งพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ์ การบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 อย่างจริงจัง 4. จัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน เพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เมื่อมีการเลิกจ้างหรือเลิกกิจการไม่ว่ากรณีใดก็ตาม และเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง 5. สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กหรือศูนย์พัฒนาเด็ก ในเขตพื้นที่อุตสาหกรรม 6. รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการคุ้มครองสิทธิแรงงานและสวัสดิการสังคมของแรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ 7. รัฐต้องยกเว้นภาษีกรณีเงินก้อนสุดท้ายของแรงงานที่เกษียณอายุ
ด้าน น.ส.วิไลวรรณ กล่าวถึงข้อเรียกร้องวันแรงงาน 14 ข้อ ที่เตรียมเปิดเผยต่อสาธารณชนว่า ข้อเรียกร้องส่วนใหญ่ยังเป็นข้อเรียกร้องเดิมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขจากรัฐบาล พร้อมมองว่าที่ผ่านมาร่างกฎหมายต่างๆ ของผู้ใช้แรงงานถูกมองข้าม จนไม่นำเข้าสู่การพิจารณาของสภา โดยเฉพาะร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับของผู้ใช้แรงงาน หากข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานไม่ได้รับการแก้ไข ก็ยังจะยื่นข้อเรียกร้องเหล่านี้ในทุกปี และจะเปิดเผยต่อสาธารณชนให้ได้รับทราบปัญหาของผู้ใช้แรงงานที่ไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งนี้เครือข่ายแรงงานจะยังเดินหน้าล่ารายชื่อแรงงาน เพื่อเสนอกฎหมายประกันสังคม กฎหมายคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภาอีกครั้ง หากมีรัฐบาลใหม่ หลังจากที่ผ่านมาเคยมีการเสนอกฎหมายดังกล่าวเมื่อรัฐบาลที่แล้วและถูกปัดตกไป อีกทั้งยังมี พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ ที่มีผลบังคับใช้แล้วแต่ยังไม่มีการบังคับอย่างเต็มที่ อย่างการจัดตั้งสถาบันความปลอดภัยฯตามที่กำหนดไว้