รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. เข้ารับฟังยุทธศาสตร์การดำเนินงานของ ก.แรงงาน ยืนยันไม่มีมอบนโยบายพิเศษ
วันที่ (30 พ.ค.) เวลา 09.30 น. ที่กระทรวงแรงงาน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะรองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินทางมารับฟังยุทธศาสตร์การดำเนินงาน (โรดแมป) ของกระทรวงแรงงาน โดยมี นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงานพร้อมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงานให้การต้อนรับ
ภายหลังจากเข้าร่วมประชุมรับฟังยุทธศาสตร์ของกระทรวงแรงงานแล้ว ผู้สื่อข่าวหลายสำนักพยายามขอสัมภาษณ์ พล.อ.ฉัตรชัย ถึงนโยบายและการดำเนินงานของกระทรวงแรงงาน แต่ พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวสั้นๆ ว่า วันนี้เป็นการรับฟังภารกิจของกระทรวงเท่านั้น ยังไม่ได้พิจารณาเรื่องใดเป็นพิเศษ เนื่องจากต้องศึกษารายละเอียดต่างๆ ก่อน หลังจากนั้นได้เดินทางไปที่กระทรวงพาณิชย์ทันที
ด้าน นายจีรศักดิ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการรายงานขอบเขตภารกิจของกระทรวง ข้อขัดข้อง แนวทางแก้ไขปัญหาตามนโยบาย 4 ด้านของ คสช. คือ 1. แก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน 2. งานพื้นฐานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 3. ปรับปรุงโครงสร้างของระบบราชการเพื่อให้สามารถดำเนินงานได้รวดเร็วยิ่งขึ้น 4. แนวทางการสร้างความปรองดอง ยังไม่ได้มีการมอบนโยบายใดเป็นพิเศษ แต่เน้นให้ข้าราชการมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ในขอบเขตของกระทรวงแรงงาน หากเป็นภารกิจที่อยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ก็ให้เสนอต่อ คสช. เป็นกรณีไป
นายจีรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนนโยบาย 4 ข้อเร่งด่วน คือ 1. การแก้ไขภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเรื่องการถูกประเทศอเมริกาจัดอันดับเป็นประเทศเฝ้าระวังด้านการค้ามนุษย์ 2. การเฝ้าระวังสถานการณ์การจ้างงานและเลิกจ้างซึ่งภายใน 6 เดือนข้างหน้า หากเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวคาดว่าจะมีแรงงานถูกเลิกจ้างจำนวนมาก รวมทั้งขอให้เร่งฟื้นฟูธุรกิจด้านท่องเที่ยวและโรงแรม จะช่วยให้ประเทศมีรายได้และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 3. การขยายเวลาให้แรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายหลายแสนคนซึ่งทำงานในไทยครบ 4 ปีสามารถทำงานในไทยต่อไปได้ และ 4. การพิจารณาเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2558 ซึ่งคณะกรรมการค่าจ้างมีมติให้คงค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ไว้ 2 ปี ตั้งแต่ 2557-2558 ว่าควรจะมีการทบทวนหรือไม่ ยังไม่ได้มีการรายงาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการร่วมประชุม นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธาน คสรท. ได้มาเตรียมยื่นหนังสือถึง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ศสช.) เพื่อขอให้พิจารณานำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคมของผู้ใช้แรงงาน รวมถึงร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ไปพิจารณา และขอให้รับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 ขณะเดียวกัน ขอให้พิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นธรรมให้ผู้ใช้แรงงานสามารถเลี้ยงดูตนเองและคนในครอบครัวได้อีก 2 คน พร้อมทั้งทบทวนมติคณะกรรมการค่าจ้างที่ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปถึงปี 2558 แต่ไม่ได้มีการยื่นหนังสือแต่อย่างใด
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ "Quality of Life" ได้ที่