ปลัดแรงงาน มั่นใจ ก.พาณิชย์ คุมราคาสินค้าได้ ไม่กระทบค่าครองชีพผู้ใช้แรงงาน ด้าน กสร. เตรียมปรับโครงสร้างเงินเดือนให้รัฐวิสาหกิจ ขณะที่ คสรท. เล็งยื่นหนังสือ รมว.แรงงาน ให้บอร์ด ทบทวนการปรับค่าจ้างอีกครั้ง
วันนี้ (18 พ.ย.) ตามมติคณะรัฐมนตรี ปรับขึ้นค่าครองชีพข้าราชการระดับล่าง 4 เปอร์เซ็นต์ โดยคาดการณ์ว่าจะส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น กระทบต่อผู้ใช้แรงงาน นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ตนมั่นใจกระทรวงพาณิชย์ จะมีมาตรการรับมือ รวมถึงควบคุมราคาสินค้าเพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ใช้แรงงาน เนื่องจากมีตัวแทนจากกระทรวงพาณิชย์ มาเป็นกรรมการค่าจ้าง และรับทราบปัญหานี้ด้วย
ด้านนายปัณณพงศ์ อิทธิ์อรรถนนท์ กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า เรื่องการควบคุมราคาสินค้าเป็นความท้าทายของรัฐบาล ซึ่งมาตรการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดแต่ละสถานประกอบการ ต้องมีโครงสร้างค่าจ้างเอง และให้ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเพียงค่าจ้างแรกเข้า หรือกระทรวงแรงงาน ต้องแก้กฎหมาย บังคับให้ทุกสถานประกอบการต้องมีโครงสร้างค่าจ้าง เพระทุกวันนี้ สถานประกอบการเกินครึ่ง รอค่าจ้างขั้นต่ำ จากรัฐบาลประกาศเท่านั้น
นายเฉลิมทัต ตันโสภณ ผู้อำนวยการกลุ่มงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือ กสร. กล่าวถึงผลการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาสภาพการจ้างของรัฐวิสาหกิจ ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาปรับโครงสร้างเงินเดือนค่าจ้างของพนักงานรัฐวิสาหกิจ ตามที่สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ หรือ สรส. และกลุ่มประสานงานบุคคลรัฐวิสาหกิจ หรือ กบร. เสนอมา โดย สรส. เสนอให้ยึดโครงสร้างเงินเดือน 58 ขั้น เริ่มที่อัตรา 9 พัน 40 บาท ถึง 1 แสน 8 หมื่น 9 พัน 330 บาท เฉลี่ยปรับขึ้นขั้นละ 4.3 เปอร์เซ็นต์
ส่วน กบร. เสนอโครงสร้างเงินเดือน 70 ขั้น เริ่มที่อัตรา 5 พัน 780 บาท ถึง 2 แสน 3 หมื่น 1 พัน 280 บาท โดยขั้นที่ 1 - 40 จะให้คงบัญชีเงินเดือน 58 ขั้น ส่วนขั้นที่ 40.5 - 58 เสนอปรับเพิ่ม 5 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเงินเดือนเกิน 5 หมื่นบาท สำหรับขั้นที่ 58.5 - 70 เสนอปรับขึ้น 2.8 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ ให้เจ้าหน้าที่ไปศึกษาหาข้อมูลถึงผลกระทบ จำนวนเงินที่ต้องใช้ และจำนวนคนที่ได้รับผลกระทบแล้ว โดยให้มีการทำแบบสำรวจไปยัง 35 รัฐวิสาหกิจที่ยึดถือโครงสร้างเงินเดือน และค่าจ้าง 58 ขั้น นอกจากนี้ มีการหารือถึงการโอนภารกิจที่เกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจ ให้กระทรวงการคลังดูแลแทนด้วย หากสองฝ่ายเห็นตรงกัน ก็จะแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ต่อไป
ด้าน น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าครองชีพของข้าราชการทำให้หันกลับมามองว่าแล้วภาคเอกชนที่ คณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) รับปากว่าจะปรับค่าจ้างให้ในปี 2558 หรือจะพิจารณาเมื่อมีเหตุความผันผวนทางเศรษฐกิจ เหมือนกับว่าคำสัญญาที่ให้ไว้ไม่ได้หยิบมาทบทวน ตนมองว่า พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและบอร์ดค่าจ้างควรหาทางช่วยเหลือแรงงานให้สามารถอยู่ได้ในปัจจุบัน อีกทั้งเมื่อมีการปรับขึ้นค่าครองชีพหรือเงินเดือนข้าราชการเมื่อใด ราคาสินค้าก็จะขยับขึ้นอีกแล้วลูกจ้างเอกชนจะอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นได้อย่างไร
“แรงงานเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่สำคัญของประเทศ อยากให้ รมว.แรงงาน ให้ความสำคัญ ปรับค่าจ้างให้บ้าง เพื่อให้แรงงานมีสภาพชีวิตที่ดีขึ้น หรือหากไม่สามารถปรับค่าจ้างได้ก็ขอให้จัดการเรื่องสวัสดิการเพื่อให้แรงงานอยู่ได้” น.ส.วิไลวรรณ กล่าวและว่า ที่ผ่านมา จากการสำรวจพบว่าหากแรงงานจะอยู่ได้ต้องมีรายได้วันละประมาณ 460 บาท แต่ก็เข้าใจว่าอาจเป็นเรื่องที่ยาก ก็ต้องมาหารือกันว่าจะสามารถปรับขึ้นได้เท่าไหร่ โดยอาจนำเรื่องอายุงาน ฝีมือ ฯลฯ เข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ นายชาลี ลอยสูง ประธาน คสรท. เตรียมยื่นหนังสือเพื่อขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อยื่นหนังสือขอให้บอร์ดค่าจ้างพิจารณาทบทวนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่
กำลังโหลดเครื่อง oncothermia ความหวังใหม่รักษามะเร็งเต้านม-ตับระยะท้าย ใช้คลื่นวิทยุยิงเฉพาะจุดมะเร็งจนเกิดความร้อน เอื้อยาเคมีบำบัดเข้าถึงมะเร็งง่ายขึ้น ผลศึกษาก้แนมะเร็งเต้านมยุบทั้งหมด 22% ผู้ป่วยมะเร็งตับอายุยืนขึ้น