ห่วงขึ้นเงินเดือน ขรก. กระทบค่าครองชีพสูงขึ้น เชื่อสถานประกอบการฉวยโอกาสปรับราคาสินค้า นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ชี้หากขึ้นราคาสินค้าต้องปรับค่าแรงตาม จี้รัฐออกมาตรการควบคุม
นายสุรเดช ชูมณี กรรมการค่าจ้างฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า ตนเป็นห่วงการปรับขึ้นเงินเดือนของข้าราชการที่มีแนวโน้มจะพิจารณาขยับขึ้นในไตรมาสแรกปีหน้า และอาจกระทบให้ค่าครองชีพสูงขึ้น ซึ่งมั่นใจว่า ปีหน้าผู้ประกอบการจะปรับขึ้นราคาสินค้าอย่างแน่นอน เนื่องจากอัดอั้นจากการแบกรับภาระต้นทุนของค่าจ้างมานาน และหากราคาสินค้าขยับขึ้นแล้ว นายจ้าง และผู้ประกอบการ ก็ไม่สามารถแช่แข็งค่าจ้างขั้นต่ำให้อยู่ที่วันละ 300 บาทได้ เพราะในเงื่อนไขระบุว่า หากเศรษฐกิจผันผวน สามารถพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำได้
ด้าน นายแล ดิลกวิทยรัตน์ นักวิชาการจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ผู้ประกอบการที่ฉกฉวยโอกาส ปรับขึ้นราคาสินค้า หลังประกาศปรับขึ้นเงินเดือนของข้าราชการ ถือว่าไม่มีความชอบธรรม เพราะการขึ้นเงินเดือนของข้าราชการ ไม่เกี่ยวพันกับต้นทุนในการผลิตสินค้า รวมทั้งหากมีการขยับราคาสินค้าขึ้นจริง ก็ต้องปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามกลไกด้วย ซึ่งค่าจ้างของแรงงาน คิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนสินค้า
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า เชื่อว่า การปรับเพิ่มเงินเดือนให้ข้าราชการร้อยละ 4 และการเพิ่มค่าครองชีพให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยจะทำให้ค่าครองชีพและราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น จึงอยากให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการควบคุมราคาสินค้า หากไม่ควบคุมไว้ลูกจ้างแย่แน่ เพราะรายได้น้อยกว่ารายจ่าย ทั้งนี้ คสรท. จะสำรวจค่าครองชีพแรงงานในช่วงเดือน ม.ค.- มี.ค. 2558 เพื่อนำข้อมูลมาประกอบในการเสนอให้คณะกรรมการค่าจ้างทบทวนมติที่ให้คงค่าจ้างขั้นต่ำไว้จนถึงปี 2558 โดยอยากให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 320 บาท ซึ่งตัวเลขนี้ประเมินอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี รวม 2 ปีอยู่ที่ร้อยละ 6 บวกกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยภาพรวมอยู่ที่ 20 บาท ดังนั้น จึงขอปรับเพิ่มเป็นวันละ 320 บาท ทั้งนี้ ตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำที่ทำให้แรงงาน1คนเลี้ยงครอบครัวได้ 2 คน อยู่ที่วันละ 460 บาท แต่ขณะนี้นายจ้างคงไม่มีกำลังจ่าย
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่