xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

อนาถ...ส่วยโฆษณาป้อมยามตำรวจ “ฉ้อราษฎร์ –บังหลวง”ขนานแท้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ป้ายโฆษณาที่ติดตามป้อมตำรวจ
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กระแสต่อต้านการทุจริตประพฤติชอบที่สังคมไทยกำลังตื่นตัว ผนวกกับเป็นนโยบายหลักของ คสช.และรัฐบาล นั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่กำลังถูกสื่อ และประชาชนร่วมกันตรวจสอบอย่างเข้มข้น

ล่าสุดเกิดกรณี ส่วยป้ายโฆษณา หรือป้ายโฆษณาจอแอลอีดี ที่เห็นติดบนป้อมยามตำรวจ หน้าสถานีตำรวจและบนทางเท้าต่างๆทั่วกรุงเทพมหานคร จนปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีคำสั่งของ พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพรหมณกุล ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ไปยัง ผบก.น.1-9 ให้ตรวจสอบพร้อมกับตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงตามมาตรา 72 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2557 กรณีผู้กำกับการสถานี (ผกก.สน.)คนปัจจุบันและในอดีต มีพฤติการณ์ให้บริษัทเอกชนเข้ามาประกอบธุรกิจหาผลประโยชน์บนที่ราชพัสดุ แต่ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือยินยอม และมีหลักฐานเป็นหนังสือยินยอม แต่ไม่ถูกดต้องตามระเบียบราชการ โดยมีนายตำรวจระดับ ผกก.สน.ถูกตั้งคณะกรรมการสอบทั้ง 2 กรณีร่วม 50 นาย และมีนายตำรวจระดับรองผกก. (รองผู้กำกับ) ถึงสารวัตร (สว.)อีกจำนวนหนึ่ง

หลังข่าวแพร่สะพัดออกมา นอกจากสื่อสิ่งพิมพ์เดลินิวส์ จะให้ความสำคัญพาดหัวยักษ์หน้า 1 แล้วยังมีสื่อออนไลน์ ASTVผู้จัดการติดตามอย่างต่อเนื่องจนมีการระบุถึงบริษัทที่เกี่ยวข้องคือ บริษัทบางกอกไตรวิชั่น หรือ Hello Bangkok กับบริษัทแพลน บี มีเดีย จำกัด(มหาชน) และมีข้าราชการตำรวจทั้งในอดีตและปัจจุบันเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหลายนาย อันมีทั้งทำหน้าที่คอยประสานงานให้กับบริษัททั้งสองกับร่วมมีผลประโยชน์

โดยข่าวตอนหนึ่งระบุว่ามีนายหน้า หรือนายพลตำรวจรายหนึ่งหอบเงินสด 4 ล้านบาทเข้าไปจ่ายให้พล.ต.ท.ศรีวราห์ ถึงห้องทำงานแต่เมื่อสอบถามกันแล้ว ผบช.น.เห็นว่าการดำเนินงานติดตั้งป้ายโฆษณาจอแอลอีดี ดังกล่าวไม่น่าจะถูกข้อระเบียบราชการเพราะนายตำรวจระดับ บช.น.หรือระดับ สน.มิได้เป็นนิติบุคคลจึงไม่อาจทำสัญญาใดๆได้ เงื่อนไขดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เงินค่าตอบแทนต่างๆก็ควรเป็นเงินที่ผิดกฎหมายด้วยจึงไล่ให้นายหน้า หรือนายพลตำรวจที่ตกเป็นข่าวกลับไป

ปรากฏว่าต่อจากนั้นเพียงวันเดียวคือวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา มีรายงานว่า พล.ต.ท.ศรีวราห์ ทำหนังสือบันทึกข้อความด่วน เลขที่ 0015.183/15912 เรื่องรายงานผลการตรวจสอบข่าวทางสื่อออนไลน์ถึง พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. ระบุว่า ตามคำสั่งด้วยวาจาของท่านให้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนที่เผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ กรณีทีมข่าวอาชญากรรม ผู้จัดการออนไลน์ ประจำวันที่ 9 พ.ย. 2557 เวลา 13.58 น.ได้ลงพาดพิงในหัวข้อ “ข้อมูลชัด 10 ล้าน/เดือน ส่วยป้ายโฆษณาใน บช.น. ศรีวราห์สั่งลุยฐานทุจริต” นั้น ขอเรียนว่าจากการตรวจสอบพบว่าข้อมูลในสื่อออนไลน์ดังกล่าวได้เผยแพร่ข้อความที่เกี่ยวกับตนอันเป็นเท็จจำนวน 2 ข้อความ ประกอบด้วย

1) “ศรีวราห์” บอมบ์นาปาล์ม ระบุ ผบช.น.2 จำนวน 2 นาย ร่วมรู้เห็น เผยความแตกแยกเพราะได้เวลาจ่าย “หน้าเสื่อ” โทรทัศน์โฆษณาสื่อข้างถนน บช.น.เงินสดประเคนถึงห้องทำงาน แต่พอสอบสาวราวเรื่องกลายเป็นเงินทุจริตถูกไล่ส่ง

2) รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้เกิดเรื่องอื้อฉาวขึ้น มีตัวแทน บจ.สื่อข้างถนน นำเงินสดจำนวน 4 ล้านขึ้นไปมอบให้แก่ พล.ต.ต.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รรท.ผบช.น.ถึงห้องทำงาน เมื่อสอบถามถึงความเป็นมาจึงทราบจากบุคคลดังกล่าวว่าเป็นค่าโฆษณาจอแอลอีดีติดตั้งทั่ว กทม. และก่อนหน้านี้เคยจ่ายเงินสดในลักษณะนี้แก่ ผบช.น.มาแล้ว 2 คน เมื่อทราบดังนั้น รรท.ผบช.น.จึงคืนเงินกลับไปพร้อมอธิบายว่า ทั้งบริษัทกับตำรวจที่ร่วมรับผลประโยชน์กัน กำลังทำผิดกฎหมาย ต่อจากนี้ไม่ต้องนำเงินมาให้แก่ใครอีก จะต้องปฏิบัติให้ถูกกฎระเบียบของราชการ จนเป็นเรื่องต้องตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าว

“เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เนื่องจากไม่เคยมีตัวแทนบริษัทสื่อโฆษณานำเงินสดจำนวน 4 ล้านบาท มามอบแก่กระผมถึงห้องทำงาน หรือที่อื่นแต่อย่างใด อีกทั้งไม่มีหลักฐานว่าก่อนหน้านี้จะมีการจ่ายเงินสดในลักษณะนี้แก่อดีต ผบช.น.ถึง 2 คนมาแล้วหรือไม่ ซึ่งการกระทำดังกล่าวน่าเชื่อว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1) เห็นควรส่งเรื่องให้ บช.ก.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป”

ทั้งนี้ มีรายงานว่า พล.ต.อ.สมยศได้มีหนังสือด่วนที่สุดถึง ผบช.น.ให้ดำเนินการตามสิทธิอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนอย่างรอบคอบและเคร่งครัด โดยรายงานผลให้ทราบผลต่อไป หนังสือดังกล่าวลงวันที่ 10 พ.ย. 2557

บทบาทของพล.ต.ท.ศรีวราห์จึงสร้างความสับสนและเกิดคำถามตามมามากมายโดยเฉพาะข่าวดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่สังคมต้องการรับรู้ และประเด็นสำคัญมิได้อยู่ที่มีการนำเงินสดมามอบกันที่สำนักงานผู้บัญชาการตำรวจนครบาล หรือแม้แต่คำสั่งที่อ้างมาตรา 72 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2557 และพฤติการณ์ของตำรวจในระดับ ผกก.หรือผู้กำกับการสถานี ทั้งคนปัจจุบันและในอดีต มีพฤติการณ์ให้บริษัทเอกชนเข้ามาประกอบธุรกิจ หาผลประโยชน์บนที่ราชพัสดุ แต่ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือยินยอม และมีหลักฐานเป็นหนังสือยินยอม แต่ไม่ถูกต้องตามระเบียบราชการ

คำสั่งแบบนี้คงไม่มีสื่อมวลชนหน้าไหนมโนขึ้นมาเองได้

ประเด็นนี้ ผบช.น.จะต้องแสดงความกล้าหาญ รับผิดชอบต่อการตัดสินใจส่วนจะบานปลายเพราะการขุดคุ้ยของสื่อก็น่าจะเป็นผลดีเพราะทำให้การสอบสวนดำเนินการเป็นที่ทราบกันในวงกว้างเนื่องจากปัญหาป้ายโฆษณาจอแอลอีดี ถือเป็นมลพิษทางสายตาก่อความเดือดร้อนรำคาญ และอันตรายต่อผู้ขับขี่รถยนต์มานานแล้วเมื่อมีประชาชนร้องเรียนไม่เคยมีหน่วยงานใดออกมาแก้ไขหรือขจัดปัดเป่าแก้ปัญหาให้กับเขาได้ เมื่อพล.ต.ท.ศรีวราห์ ต้องการสร้างบรรทัดฐานให้กับสังคมจึงเป็นเรื่องน่ายินดี อีกทั้งได้แรงสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมาก

ประเด็นต่อมาคือข้อสังเกตตามคำสั่งที่ระบุว่า “พฤติการณ์ให้บริษัทเอกชนเข้ามาประกอบธุรกิจหาผลประโยชน์บนท่าราชพัสดุ โดยมีตำรวจระดับต่างๆเข้าไปเกี่ยวข้องในหลายลักษณะ อาทิ ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือยินยอม (แต่มีป้ายจอแอลอีดี บนป้อมตำรวจในพื้นที่รับผิดชอบ)และมีหลักฐานเป็นหนังสือยินยอม แต่ไม่ถูกต้องตามระเบียบราชการ

จะตีความว่าทุจริต หรือบกพร่องต่อการปฏิบัติหน้าที่คงปล่อยให้คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนว่าไปตามข้อเท็จจริงแต่โดยพฤตินัยชัดเจนที่สุดว่ามีเรื่องเงินๆทองๆเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว ส่วนจะเลวร้ายถึงขั้น “ฉ้อทั้งราษฎร์ บังทั้งหลวง”หรือโทษฐานเลินเล่อเชื่อว่ากระแสสังคมได้พิพากษาไปแล้วจึงเหลือแต่คณะทำงานของพล.ต.ท.ศรีวราห์ ว่าจะเดินหน้า หรือถอยหลัง ถึงที่สุดอาจกลายเป็นมวยล้มต้มคนดูอย่างที่หลายคนสบประมาทแต่ต้น

แม้กระทั่งการเข้ารายงานต่อพล.ต.อ.สมยศโดยปฏิเสธประเด็นเงิน 4 ล้านบาทว่าเป็นข้อมูลเท็จนั้น ASTVผู้จัดการออนไลน์ในฐานะสื่อที่นำเสนอข้อเท็จจริงอย่างไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมได้นำคำสั่งมาเผยแพร่ต่อสาธารณะอย่างละเอียดเพื่อแสดงให้เห็นความรับผิดชอบนำเสนอเรื่องราวอย่างรอบด้านแม้อาจจะลดทอนความเชื่อถือในข่าวหลักที่นำเสนอ

นั่นเพราะความเชื่อมั่นในแหล่งข่าว และเชื่อในหลักการที่มองเห็นความเดือดร้อนของประชาชนเป็นตัวตั้งกับหน้าที่ของสื่อสารมวลชนที่จำเป็นต้องทำหน้าที่สุนัขเฝ้าบ้านป่าวประกาศให้ประชาชนรู้ถึงพฤติการณ์ไม่ชอบมาพากลของตำรวจบางคนที่ใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาประโยชน์อย่างไม่มีความละอาย

อย่างไรก็ตามการตัดสินใจของ ผบช.น.ที่เข้ารายงานกับ ผบ.ตร.ก็ทำให้เห็นเลาๆว่าที่สุดแล้วความทุกข์ร้อนของประชาชนคนเมืองหลวงเกี่ยวกับป้ายโฆษณาจอแอลอีดี อาจยังดำรงอยู่ ผลประโยชน์จากการฉ้อราษฎร์บังหลวงยังดำเนินต่อไป

และที่สำคัญกว่านั้นคือสังคมไทยคงหวังพึ่งใครไม่ได้อีกแล้ว


พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพรหมณกุล ผบช.น.
กำลังโหลดความคิดเห็น