บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม แห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ยืนยันเตรียมเดินหน้าผลิตน้ำมันจากแหล่ง “มโนราห์” กลางอ่าวไทยเต็มสูบ ระบุมีน้ำมันอื้อ อาจสูบได้สูงสุดถึงวันละ 15,000 บาร์เรล หลังจากเพิ่งประกาศฮุบกรรมสิทธิ์ในแหล่งน้ำมัน “นงเยาว์” ของไทยไปเมื่อต้นปี ขณะที่ปตท.สผ. แจงไม่มีเอี่ยวกับ “มูบาดาลา” ในสัมปทานแหล่งนงเยาว์ ยันยึดหลักจรรยาบรรณธุรกิจ และทำตามกฎหมายของไทยโดยเคร่งครัด ด้าน "มนูญ-ปิยสวัสดิ์ " เร่งรัฐปรับโครงสร้างราคาพลังงาน หนุนรีดภาษีดีเซล 4 บาท/ลิตรเหมาะสม
รายงานของสื่อต่างประเทศหลายสำนักระบุตรงกันว่า บริษัท “มูบาดาลา ปิโตรเลียม” ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานในเครือ “มูบาดาลา กรุ๊ป” ที่เป็นหนึ่งในแขนขาด้านการลงทุนของรัฐอาบู ดาบี ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ประกาศเริ่มเดินหน้าผลิตน้ำมันจาก “แหล่งมโนราห์” ที่ตั้งอยู่ในอ่าวไทยตอนเหนืออย่างเต็มกำลัง โดยจับมือแบ่งปันผลประโยชน์กับบริษัทพลังงาน “แท็ป เอ็นเนอร์จี” ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย รวมถึงบริษัทน้ำมัน “นอร์ธเทิร์น กัลฟ์ ปิโตรเลียม" ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่บน“ถนนวิภาวดี-รังสิต” ใจกลางกรุงเทพฯ
คำแถลงของมูบาดาลา ปิโตรเลียมซึ่งถูกเผยแพร่ผ่านสื่อสำนักต่างๆในช่วงรอยต่อคืนวันอังคาร (11 พ.ย.) ถึงเช้าตรู่วันพุธ (12 พ.ย.) ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ระบุว่า ทางบริษัทคาดว่าอาจสูบน้ำมันออกจากแหล่งมโนราห์ของไทยเพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตได้สูงสุดถึง “วันละ 15,000 บาร์เรล”
ความเคลื่อนไหวล่าสุดในการผลิตน้ำมันจากแหล่งมโนราห์ในครั้งนี้ส่งผลให้บริษัทมูบาดาลา ปิโตรเลียมในเครือมูบาดาลา กรุ๊ป กลายเป็นเจ้าของสิทธิ์ทำประโยชน์จากแหล่งน้ำมันกลางอ่าวไทยถึง 3 แหล่ง เนื่องจากก่อนหน้านี้ ทางบริษัทเพิ่งได้รับไฟเขียวจากรัฐบาลไทยในยุค น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้เข้าทำสัญญาพัฒนาแหล่งน้ำมัน “นงเยาว์” ที่ตั้งอยู่ในอ่าวไทยมาแล้วเมื่อต้นปี รวมถึง ยังได้สิทธิ์สูบน้ำมันจากแหล่ง “จัสมิน” ที่มีปริมาณน้ำมันอยู่ “มากกว่า 50 ล้านบาร์เรล”
ก่อนหน้านี้ บริษัทมูบาดาลา กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของมูบาดาลา ปิโตรเลียม เคยประกาศเมื่อเดือนมกราคมว่า บริษัทของตนได้จับมือกับบริษัทพลังงาน “คริสเอ็นเนอร์จี” ที่เป็นบริษัทลูกของกลุ่ม “เทมาเส็ก” ในประเทศสิงคโปร์ เข้าพัฒนาแหล่งน้ำมันนงเยาว์ที่อยู่กลางอ่าวไทย โดยระบุแหล่งน้ำมันดังกล่าวมีศักยภาพรองรับการผลิตน้ำมันได้มากถึง 15,000 บาร์เรลต่อวัน เท่ากับแหล่งมโนราห์ และสามารถเริ่มกระบวนการขุดเจาะทำประโยชน์เต็มรูปแบบได้ตั้งแต่กลางปี 2015 เป็นต้นไป ขณะที่สัดส่วนการแบ่งผลประโยชน์นั้นถูกระบุว่า บริษัท มูบาดาลาแห่งยูเออี จะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ในสัดส่วนที่สูงถึง “75 เปอร์เซ็นต์” จากแหล่งน้ำมันนงเยาว์ในอ่าวไทย ขณะที่บริษัท คริส เอ็นเนอร์จี จากสิงคโปร์ที่เข้ามาเป็นหุ้นส่วนจะได้รับผลประโยชน์ 25 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ
ข้อมูลจากสื่อต่างประเทศรวมถึงการตรวจสอบจากทีมข่าวต่างประเทศ ASTV ผู้จัดการออนไลน์พบว่า กลุ่มมูบาดาลาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มี “คัลดูน คาลิฟา อัล มูบารัค” ประธานสโมสรฟุตบอลชื่อดัง “เรือใบสีฟ้า” แมนเชสเตอร์ ซิตี้ จากศึกพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ทำหน้าที่เป็น “ซีอีโอ” ควบกับตำแหน่ง “กรรมการผู้จัดการ” อยู่ในขณะนี้และมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย โดยกลุ่มมูบาดาลามีมูลค่าทรัพย์สินในครอบครองในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาสูงกว่า 55,210 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.81 ล้านล้านบาท)
ทั้งนี้ บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียมซึ่งมีการลงทุนใน 12 ประเทศได้เข้ามาดำเนินธุรกิจด้านพลังงานในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2004 ถือเป็นผู้ได้รับสัมปทานปิโตรเลียม “รายใหญ่อันดับที่ 3” ในประเทศไทย
*** ปตท.สผ.ปัดไม่เกี่ยวข้องมูบาดาลา
วานนี้ (13 พ.ย.) สายงานสื่อสารและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ได้ส่งจดหมายชี้แจงกรณีที่เว็บไซต์ผู้จัดการรายวัน และเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ เสนอข่าว แฉ “ปิยสวัสดิ์” ช่วย 'แม้ว' เอื้อ 'เพิร์ลออย' ล็อบบี้ขิงแก่แก้ กม.ปิโตรฯ และได้พาดพิงถึงปตท.สผ. ว่า การได้รับสัมปทานแหล่งนํ้ามัน “นงเยาว์” ซึ่งอยู่ในแปลง G11/48 ในอ่าวไทย ของบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียมในประเทศไทย นั้น ปตท.สผ.ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในแปลงสัมปทานของแหล่งนํ้ามัน “นงเยาว์” ซึ่งได้รับสัมปทานในปี 2550 และไม่เคยมีการถือหุ้นในแหล่งนํ้ามัน “นงเยาว์” แต่อย่างใด
สำหรับแปลงสัมปทาน B5/27 ปตท.สผ.เคยเข้าลงทุนสำรวจปิโตรเลียมตั้งแต่ปี 2532 และได้ถอนตัวออกจากแปลงดังกล่าวในปี 2543 เนื่องจากในขณะนั้น พบปิโตรเลียมในปริมาณน้อย ไม่คุ้มค่าเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นคนละแปลงสัมปทานกับแหล่งนงเยาว์
ปัจจุบัน ปตท.สผ.ประกอบธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมากกว่า 40 โครงการทั้งในและต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายหลักที่จะพัฒนาทรัพยากรของประเทศไทยให้เกิดมูลค่าสูงสุด ปตท.สผ.ดำเนินการสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ต่างๆในประเทศไทยมากมาย เช่น แหล่งบงกช แหล่งอาทิตย์ แหล่งสิริกิติ์ เป็นต้น ปัจจุบันเป็นผู้ผลิตปิโตรเลียมใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากบริษัท เชฟรอน โดยมีส่วนแบ่งการผลิต 27% นอกจากนั้นยังดำเนินการสำรวจศักยภาพปิโตรเลียมเพิ่มเติมทั้งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในอ่าวไทย และทะเลอันดามันอีกหลายแปลง ซึ่งจะใช้งบประมาณการลงทุนในประเทศกว่า 50% ของงบการลงทุนทั้งหมดใน 5 ปีหน้า
สำหรับภารกิจในการลงทุนต่างประเทศ จะเป็นส่วนเสริมความมั่นคงในการจัดหา เนื่องจากประเทศไทยยังจะต้องนำเข้าพลังงานในปริมาณสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยได้เริ่มลงทุนในสหภาพพม่าเมื่อ 24 ปีก่อน ปัจจุบันมีการลงทุนใน 12 ประเทศในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก มีสัดส่วนการผลิตจากต่างประเทศ 20% ของยอดการผลิตทั้งหมด และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตขึ้นเป็นกว่า 50%ใน 6 ปีหน้า
ปตท.สผ.เป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของไทย ดำเนินการโดยบุคลากรไทยเป็นหลัก มีภารกิจในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการปฏิบัติงานตามมาตรฐานสากล ยึดหลักจรรยาบรรณธุรกิจ และปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศไทยและประเทศที่เข้าไปลงทุนอย่างเคร่งครัด
*** จ่อรีดภาษีดีเซล 4 บาท/ลิตรเหมาะสม
นายมนูญ ศิริวรรณ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า สิ่งที่ สปช.พลังงานจะพิจารณา คือ เรื่องโครงสร้างระยะกลางและระยะยาวที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ส่วนเรื่องเร่งด่วน คือ พิจารณาตามที่นายกรัฐมนตรีส่งให้ดำเนินการเร่งด่วน คือ สัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ควรดำเนินการอย่างไรให้เหมาะสม
โดยเห็นด้วยกับกระทรวงพลังงานที่จะเร่งปรับโครงสร้างราคาพลังงานสะท้อนต้นทุน และในส่วนของภาษีน้ำมันแม้จะปรับโครงสร้างเบนซินและดีเซลให้ใกล้เคียงกัน แต่ไม่จำเป็นต้องลดภาษีให้อยู่ในอัตราเดียวกัน หากยังต้องการส่งเสริมรถดีเซลให้บรรทุกสินค้าต่อไป ภาษีดีเซลอาจอยู่ 4 บาท/ลิตร จากปัจจุบัน 0.75 บาท/ลิตร แต่เบนซินอาจจัดเก็บภาษีอยู่ประมาณ 5 บาท/ลิตรจากปัจจุบัน 5.60 บาท/ลิตร แล้วปรับลดเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลงมาให้อยู่ในอัตราเหมาะสม
ส่วนแอลพีจี ควรปรับขึ้นราคาแบบค่อยเป็นค่อยไป หากคำนวณต้นทุนทุกภาคส่วนทั้งการนำเข้า ราคาหน้าโรงแยกก๊าซฯ โรงกลั่นฯ และภาษีแล้ว ราคาขายปลีกอาจขยับไปอยู่ที่ประมาณ 27 บาท/กก. จากปัจจุบันอยู่ที่ 22.63 บาท/กก. ส่วนเอ็นจีวี ปตท.ระบุราคาต้นทุน 15-16 บาท/กก. จากราคาขายปลีก 11.50 บาท/กก. ก็คงค่อยขยับเช่นกัน และสิ่งที่ควรพิจารณา คือ การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเอ็นจีวี เพราะที่ผ่านมา ยกเว้นการจัดเก็บ เพราะอุดหนุนในช่วงเริ่มต้น แต่ขณะนี้มีการใช้ถึง 9,000 ตัน/วัน หากจัดเก็บ 1 บาท/กก. จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากรัฐจัดเก็บภาษีดีเซล 4 บาทต่อลิตร ก็จะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 100,000 ล้านบาทต่อปี รัฐสามารถนำเงินส่วนนี้ไปพัฒนาประเทศทั้งสร้างโรงเรียน พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งในช่วงราคาน้ำมันตลาดโลกที่ลดลงเช่นนี้ ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม