ASTVผู้จัดการ - ปตท.สผ.ร่อนจดหมายแจง ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสัมปทานแหล่งนํ้ามัน “นงเยาว์” ในแปลง G11/48 ในอ่าวไทย ของบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม ซึ่งได้รับสัมปทานในปี 2550 ทั้งไม่เคยถือหุ้นด้วย ระบุทำงานตามมาตรฐานสากล ยึดหลักจรรยาบรรณธุรกิจ และปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศไทยและประเทศที่เข้าไปลงทุนอย่างเคร่งครัด
จากกรณีที่หนังสือพิมพ์ ASTVผู้จัดการ และเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ นำเสนอข่าว แฉ “ปิยสวัสดิ์” ช่วย 'แม้ว' เอื้อ 'เพิร์ลออย' ล็อบบี้ขิงแก่แก้ กม.ปิโตรฯ โดยระบุว่า นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thirachai Phuvanatnaranubala” เกี่ยวกับเรื่องพลังงาน โดยตอนหนึ่งระบุว่า
“ขณะนี้มีการประกาศจะเปิดสัมปทานรอบที่ 21 แล้ว โดยบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาทั้งรอบที่ 19 และ 20 ขณะนี้ก็วนเวียนอยู่ในแวดวงอำนาจ แม้ภายหลังการปฏิวัติรัฐประหารปี 2557 จึงส่อเค้าว่า อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยคนหนึ่ง กำลังเดินเกมที่จะจัดผลประโยชน์พลังงาน เป็นรอบที่ 3 ซ้ำอีกหรือไม่” นายธีระชัยระบุ
“โดยก่อนหน้านี้มีข่าวความเชื่อมโยงระหว่างบริษัทสำรวจปิโตรเลียมของประเทศตะวันออกกลางกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เริ่มตั้งแต่ที่ นายโมฮัมหมัด อัลฟายเอ็ด เจ้าของห้างสรรพสินค้าแฮร์รอดส์ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามีความสนิทสนมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ก่อตั้งแฮร์รอดส์ เอ็นเนอร์ยี (ประเทศไทย) เพื่อรับสัมปทานขุดเจาะน้ำมัน ก๊าซ ร่วมกับ ปตท.สผ.เมื่อปี 2541 ต่อมาในปี 2547 บริษัท เพิร์ล เอ็นเนอร์ยี่ ซื้อกิจการแฮร์รอดส์ เอ็นเนอร์ยี และเปลี่ยนชื่อเป็นเพิร์ลออย (ประเทศไทย) จากนั้นในปี 2551 บริษัทลงทุนของรัฐบาลอาบูดาบี ชื่อ มูบาดาลา เข้ามาซื้อกิจการของบริษัท เพิร์ลเอ็นเนอร์ยี่ ซึ่งในปีเดียวกันนั้น พล.อ.เตีย บัญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชา ได้ให้สัมภาษณ์ว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะลงทุนในธุรกิจพลังงาน และพบอีกว่าบริษัท เพิร์ลออย (ประเทศไทย) ได้ย้ายสำนักงานจากไทยพาณิชย์ปาร์ค พลาซา ไปอยู่อาคารชินวัตร 3”
“บริษัท มูบาดาลา มีผู้บริหารระดับสูงชื่อ ชีค โมฮัมหมัด บินซาเยด อัล นาร์ยาน และเป็นพี่ชายของ ชีค มานซูร์ บิน ซาเยด อัลนาห์ยาน ที่เข้าซื้อกิจการสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี จาก พ.ต.ท.ทักษิณ ในราคาประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ทั้งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ซื้อกิจการมาในราคาเพียง 5 พันล้านบาทเท่านั้น ทั้งหมดนี้เป็นการชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่มีต่อกลุ่มธุรกิจพลังงาน”
วันนี้ (13 พ.ย.) สายงานสื่อสารและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จึงได้ส่งจดหมายเรื่อง ขอชี้แจงและดำเนินการแก้ไขข้อเท็จจริงในข่าวที่ไม่ถูกต้อง โดยระบุว่า
ปตท.สผ. ปฎิเสธไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการได้รับสัมปทานของบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม ในประเทศไทย
ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อมวลชนเกี่ยวกับการได้รับสัมปทานแหล่งนํ้ามัน “นงเยาว์” ซึ่งอยู่ในแปลง G11/48 ในอ่าวไทย ของบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียมในประเทศไทย และมีการกล่าวพาดพิงถึงบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท สผ.นั้น ปตท.สผ.ขอชี้แจงว่าทางบริษัทไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในแปลงสัมปทานของแหล่งนํ้ามัน “นงเยาว์” ซึ่งได้รับสัมปทานในปี 2550 และไม่เคยมีการถือหุ้นในแหล่งนํ้ามัน “นงเยาว์” แต่อย่างใด
สำหรับแปลงสัมปทาน B5/27 ปตท.สผ.เคยเข้าลงทุนสำรวจปิโตรเลียมตั้งแต่ปี 2532 และได้ถอนตัวออกจากแปลงดังกล่าวในปี 2543 เนื่องจากในขณะนั้น พบปิโตรเลียมในปริมาณน้อย ไม่คุ้มค่าเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นคนละแปลงสัมปทานกับแหล่งนงเยาว์
ปัจจุบัน ปตท.สผ.ประกอบธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมากกว่า 40 โครงการทั้งในและต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายหลักที่จะพัฒนาทรัพยากรของประเทศไทยให้เกิดมูลค่าสูงสุด ปตท.สผ.ดำเนินการสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ต่างๆในประเทศไทยมากมาย เช่น แหล่งบงกช แหล่งอาทิตย์ แหล่งสิริกิติ์ เป็นต้น ปัจจุบันเป็นผู้ผลิตปิโตรเลียมใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากบริษัท เชฟรอน โดยมีส่วนแบ่งการผลิต 27% นอกจากนั้นยังดำเนินการสำรวจศักยภาพปิโตรเลียมเพิ่มเติมทั้งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในอ่าวไทย และทะเลอันดามันอีกหลายแปลง ซึ่งจะใช้งบประมาณการลงทุนในประเทศกว่า 50% ของงบการลงทุนทั้งหมดใน 5 ปีหน้า
สำหรับภารกิจในการลงทุนต่างประเทศ จะเป็นส่วนเสริมความมั่นคงในการจัดหา เนื่องจากประเทศไทยยังจะต้องนำเข้าพลังงานในปริมาณสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยได้เริ่มลงทุนในสหภาพพม่าเมื่อ 24 ปีก่อน ปัจจุบันมีการลงทุนใน 12 ประเทศในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก มีสัดส่วนการผลิตจากต่างประเทศ 20% ของยอดการผลิตทั้งหมด และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตขึ้นเป็นกว่า 50%ใน 6 ปีหน้า
ปตท.สผ.เป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของไทย ดำเนินการโดยบุคลากรไทยเป็นหลัก มีภารกิจในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการปฏิบัติงานตามมาตรฐานสากล ยึดหลักจรรยาบรรณธุรกิจ และปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศไทยและประเทศที่เข้าไปลงทุนอย่างเคร่งครัด