xs
xsm
sm
md
lg

"นิด้า-มธ."เสนอกรอบปฏิรูปฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (12พ.ย.) รศ.ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า และคณะ 20 คน เข้าพบนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อเสนอแนวทางการปฏิรูปประเทศ (NIDA MODEL)ซึ่งเป็นแนวทางการปฏิรูปประเทศทั้งหมด 15 ด้านโดยมีรายละเอียดสำคัญ ดังนี้
1.การปฏิรูปการเมือง การต่อต้านทุจริต คอร์รัปชันและสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้บริหารประเทศ โดยกำหนดให้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือการปฏิรูประบบพรรคการเมือง และ การปฏิรูประบบการเลือกตั้ง
2 .การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม มีข้อเสนอ 3 ประเด็น 1. ประเด็นพิจารณาชั้นก่อนเข้าสู่กระบวนการพิจารณาอาญา 2. ประเด็นพิจารณาชั้นเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในชั้นก่อนฟ้อง และ 3. การคุ้มครองและเยียวยาเหยื่ออย่างเหมาะสมและเพียงพอ
3. การปฏิรูปบริหารราชการแผ่นดิน ต้องปฏิรูป 3 ด้าน คือ 1. ปฏิรูปเพื่อความเข้มแข็งในธรรมภิบาลแห่งรัฐ 2.การปฏิรูปเพื่อการกระจายอำนาจรัฐไปสู่ประชาชน และ 3. การปฏิรูปเพื่อปรับแก้ความพิการเชิงโครงสร้างของระบบบริหารราชการแผ่นดิน
4. การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เสนอให้ลดความเหลื่อมล้ำ ปฏิรูปเพื่อมุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
5. การปฏิรูปด้านข้อมูลข่าวสาร ให้มีการออกกฎหมายและนโยบายในการกำกับดูแลร่วม ปฏิรูปคุณภาพมาตรฐานวิชาการ และจรรยาบรรณวิชาชีพในองค์กรสื่อของไทย ปรับโครงสร้าง กสทช. ให้มีคุณภาพมากขึ้น ปรับระบบการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานราชการ เสริมสร้างความรู้เท่าทันสื่อ พัฒนากลไก การเฝ้าระวังสื่อของภาคประชาสังคม และปรับกฎหมายให้มีความทันสมัยกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลก
6. ปฏิรูปด้านการท่องเที่ยว จะต้องแก้ไขใน 2 ปัญหา คือ 1. ปัญหาด้านการอุปทานการท่องเที่ยวของไทย ปัญหาด้านกลไก บริหารจัดการและขับเคลื่อน การพัฒนาการท่องเที่ยว และ 2. ปัญหาด้านอุปสงค์ การตลาดการท่องเที่ยวไทย
7. การปฏิรูปด้านสิ่งแวดล้อม เสนอไว้ 17 ข้อ อาทิเช่น ปฏิรูประบบโยกย้ายข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ การใช้มาตรการทางเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ปฏิรูปการใช้ที่ดินทางการเกษตร ปฏิรูปกระบวนการจัดทำ EIA EHIA และ SIA เป็นต้น
8. การปฏิรูปพลังงาน ต้องปฏิรูป 4 ด้าน ได้แก่ 1. พลังงานน้ำมัน 2. ก๊าซธรรมชาติ 3.ไฟฟ้า และ4. พลังงานหมุนเวียน
9. การปฏิรูปด้านไอที การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โลจิสติก ปฏิรูป 3 ด้าน คือ สมรรถนะของโลจิสติก การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของสินค้า หรือธุรกิจในภาพรวม และความสามารถในการตรวจสอบ และติดตามสินค้าที่ขนส่ง

**มธ.เสนอแนวทางแก้คอร์รัปชัน

ด้านนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในนามตัวแทนสถาบันการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยื่นหนังสือต่อ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. โดยเสนอแนวคิดทั้ง 9 ข้อ ว่า ด้วยการปฏิรูปการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งมีสาระสำคัญ เช่น การให้มีศาลชำนาญพิเศษดำเนินคดีเกี่ยวกับการทุจริต และมีกระบวนวิธีพิจารณาคดีเป็นระบบ เปิดเผย ไม่ล่าช้า และให้คู่ความสามารถอุทธรณ์ไปยัง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ และผู้เสียหายสามารถยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯได้ ในกรณีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่รับดำเนินการไต่สวน และคดีที่เกี่ยวกับการทุจริตที่มีโทษไม่ต่ำกว่า 5 ปี ต้องไม่มีอายุความ รวมถึงไม่นับอายุความระหว่างหลบหนีคดี หากมีการวินิจฉัยแล้ว อีกทั้งห้ามให้อัยการ หรือเจ้าหน้าที่ในองค์กรกำกับดูแล ร่วมเป็นกรรมการ หรืออนุกรรมการในรัฐวิสาหกิจด้วย
ส่วนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้มีอำนาจตรวจสอบการทุจริต สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับ ซี 10 ขึ้นไป รวมถึงการกำหนดโทษการทุจริตการเลือกตั้งให้รุนแรง และเด็ดขาด ผู้สนับสนุนทุจริตการเลือกตั้ง มีความผิดเทียบเท่าผู้กระทำความผิด และเป็นโทษร้ายแรง และห้ามผู้ที่ถูกตัดสินว่าทุจริต ลงเลือกตั้ง หรือมีตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต และปรับปรุง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากยิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น