xs
xsm
sm
md
lg

นิด้า-สถาบันต่อต้านทุจริตฯ ยื่นแนวทางปฏิรูป ประธาน สนช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เทียนฉาย กีระนันท์ (แฟ้มภาพ)
“อธิการบดีนิด้า” นำคณะเสนอแนวทางการปฏิรูป 15 ด้านต่อประธาน สนช. ขณะที่ตัวแทนสถาบันต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ยื่นหนังสือเสนอแนวคิดทั้ง 9 ข้อในการปฏิรูปการป้องกันและแก้ปัญหาการทุจริต

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า เมื่อเวลา 14.30 น. วันนี้ (12 พ.ย.) รศ.ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และคณะ 20 คน เข้าพบนายเทียนฉาย กีระนันท์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อเสนอแนวทางการปฏิรูปประเทศ (NIDA MODEL) ซึ่งเป็นแนวทางการปฏิรูปประเทศทั้งหมด 15 ด้าน โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1. การปฏิรูปการเมือง การต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน และสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้บริหารประเทศ โดยกำหนดให้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การปฏิรูประบบพรรคการเมือง และการปฏิรูประบบการเลือกตั้ง

2. การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม มีข้อเสนอ 3 ประเด็น (1. ประเด็นพิจารณาชั้นก่อนเข้าสู่กระบวนการพิจารณาอาญา (2. ประเด็นพิจารณาชั้นเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในชั้นก่อนฟ้อง และ (3. การคุ้มครองและเยียวยาเหยื่ออย่างเหมาะสมและเพียงพอ

3. การปฏิรูปบริหารราชการแผ่นดิน ต้องปฏิรูป 3 ด้าน คือ (1. ปฏิรูปเพื่อความเข้มแข็งในธรรมภิบาลแห่งรัฐ (2. การปฏิรูปเพื่อการกระจายอำนาจรัฐไปสู่ประชาชน และ (3. การปฏิรูปเพื่อปรับแก้ความพิการเชิงโครงสร้างของระบบบริหารราชการแผ่นดิน

4. การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เสนอให้ลดความเหลื่อมล้ำ ปฏิรูปเพื่อมุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

5. การปฏิรูปด้านข้อมูลข่าวสาร ให้มีการออกกฎหมายและนโยบายในการกำกับดูแลร่วม ปฏิรูปคุณภาพมาตรฐานวิชาการและจรรยาบรรณวิชาชีพในองค์กรสื่อของไทย ปรับโครงสร้าง กสทช.ให้มีคุณภาพมากขึ้น ปรับระบบการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานราชการ เสริมสร้างความรู้เท่าทันสื่อ พัฒนากลไก การเฝ้าระวังสื่อของภาคประชาสังคม และปรับกฎหมายให้มีความทันสมัยกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลก

6. ปฏิรูปด้านการท่องเที่ยว จะต้องแก้ไขใน 2 ปัญหา คือ (1. ปัญหาด้านการอุปทานการท่องเที่ยวของไทย ปัญหาด้านกลไก บริหารจัดการและขับเคลื่อน การพัฒนาการท่องเที่ยว และ (2. ปัญหาด้านอุปสงค์ การตลาดการท่องเที่ยวไทย

7. การปฏิรูปด้านสิ่งแวดล้อม เสนอไว้ 17 ข้อ เช่น ปฏิรูประบบโยกย้ายข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ การใช้มาตรการทางเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ปฏิรูปการใช้ที่ดินทางการเกษตร ปฏิรูปกระบวนการจัดทำ EIA EHIA และ SIA เป็นต้น

8. การปฏิรูปพลังงาน ต้องปฏิรูป 4 ด้าน ได้แก่ (1. พลังงานน้ำมัน (2. ก๊าซธรรมชาติ (3. ไฟฟ้า และ (4. พลังงานหมุนเวียน

9. การปฏิรูปด้านไอที การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โลจิสติก ปฏิรูป 3 ด้าน คือ สมรรถนะของลอจิสติกส์ การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของสินค้าหรือธุรกิจในภาพรวม และความสามารถในการตรวจสอบและติดตามสิ้นค้าที่ขนส่ง

ด้านนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในนามตัวแทนสถาบันการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยื่นหนังสือต่อนายเทียนฉาย โดยเสนอแนวคิดทั้ง 9 ข้อว่าด้วยการปฏิรูปการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน มีสาระสำคัญ เช่น การให้มีศาลชำนาญพิเศษดำเนินคดีเกี่ยวกับการทุจริต และมีกระบวนวิธีพิจารณาคดีเป็นระบบ เปิดเผย ไม่ล่าช้า และให้คู่ความสามารถอุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้และผู้เสียหายสามารถยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ได้ ในกรณีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่รับดำเนินการไต่สวน และคดีที่เกี่ยวกับการทุจริตที่มีโทษไม่ต่ำกว่า 5 ปี ต้องไม่มีอายุความ รวมถึงไม่นับอายุความระหว่างหลบหนีคดี หากมีการวินิจฉัยแล้ว อีกทั้งห้ามให้อัยการหรือเจ้าหน้าที่ในองค์กรกำกับดูแลร่วมเป็นกรรมการ หรืออนุกรรมการในรัฐวิสาหกิจด้วย

ส่วนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้มีอำนาจตรวจสอบการทุจริตสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับ ซี 10 ขึ้นไป รวมถึงการกำหนดโทษการทุจริตการเลือกตั้งให้รุนแรงและเด็ดขาด ผู้สนับสนุนทุจริตการเลือกตั้งมีความผิดเทียบเท่าผู้กระทำความผิดและเป็นโทษร้ายแรง และห้ามผู้ที่ถูกตัดสินว่าทุจริตลงเลือกตั้งหรือมีตำแหน่งทางบการเมืองตลอดชีวิต และปรับปรุง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากยิ่งขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น