xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

รสนา โตสิตระกูล “กลุ่มทุนพลังงานคือกลุ่มที่ไม่ยอมให้เลิกสัมปทาน” “คนพวกนี้ยังมีอิทธิพลต่อคนที่ใช้อำนาจ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รสนา โตสิตระกูล
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ระหว่างที่ปัญหาด้านพลังงานกำลังร้อนแรง รัฐบาลโดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) มีมติชัดเจนให้เปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 โดยอ้างเหตุผลต่างๆ นานา จึงเป็นเรื่องน่าสนใจว่าทำไม “รสนา โตสิตระกูล” สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน จึงออกมาคัดค้านว่ารัฐไม่สมควรเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21

จริงหรือไม่ว่าระบบแบ่งปันผลผลิตจะดีกว่าสัมปทาน? อะไรคือผลกระทบจากการใช้ระบบสัมปทาน? พลังงานทางเลือกไหนที่น่าใช้ที่สุด? ฯลฯ คำตอบจากผู้หญิงแกร่งคนนี้ จะทำให้คุณเข้าใจเหตุผลว่าทำไมประเทศไทยไม่ควรให้มีการสัมปทานปิโตรเลียม และทางออกไหนที่จะช่วยให้ประเทศชาติและประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด

ตอนนี้รัฐกำลังเดินหน้าจะให้มีการสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 มีประเด็นไหนที่อยากโต้แย้งหรือชี้แจงต่อประชาชนบ้างไหม

เรื่องนี้มีหลายแง่มุม เช่น ประเด็นที่เขาบอกว่าก๊าซมันจะหมด หากเราไม่รีบให้มีการสัมปทานรอบที่ 21 ต่อไปเราจะไม่มีก๊าซมาผลิตไฟฟ้า แล้วถ้าเราไม่มีก๊าซมาผลิตไฟฟ้า เราก็ต้องไปซื้อแอลเอ็นจี ซึ่งนำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาแพงกว่าก๊าซในอ่าวไทย 2 เท่า เพราะฉะนั้นค่าไฟของเรา มันจะต้องขึ้นสูงแน่นอน ดังนั้นข้อเท็จจริงที่เราจะโต้แย้งก็คือว่า สัมปทานปิโตรเลียมต่างหากที่หมด ไม่ใช่แหล่งปิโตรเลียมหมด ส่วนประเด็นเรื่องที่จะเอาก๊าซไปใช้เพื่อผลิตไฟ แล้วอ้างว่าถ้าไม่ต่อสัมปทาน ถ้าไม่ให้คนสำรวจเพิ่ม ค่าไฟจะแพงขึ้น อันที่จริงแล้วต้องบอกว่าก๊าซที่มีอยู่นั้น เขามุ่งเอาไปใช้เพื่ออุตสาหกรรมปิโตรเคมีมากกว่าที่จะมาใช้เป็นไฟฟ้าต่างหาก

แล้วข้อโต้แย้งอีกข้อหนึ่งก็คือว่าการให้สัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ในพื้นที่ 29 แปลง มันเป็นพื้นที่ที่อยู่ในภาคอีสาน 23 แปลง และอยู่ในอ่าวไทยอีก 6 แปลง ดิฉันเลยเห็นว่ายังไม่ควรจะรีบร้อนให้สัมปทาน เพราะมองว่าพื้นที่อ่าวไทยส่วนใหญ่เป็นแปลงที่อยู่ใกล้เคียงกับแหล่งเดิมที่ค้นพบก๊าซปิโตรเลียมหรือน้ำมันดิบอยู่แล้ว ฉะนั้นจึงมีโอกาสมากที่จะพบปิโตรเลียม จึงไม่ควรให้สัมปทานแก่เอกชน รัฐควรจะใช้วิธีอื่นที่เราจะได้ผลประโยชน์มากขึ้น ดังนั้น เราควรจะเปลี่ยนแปลงระบบสัมปทาน

สาเหตุที่บอกว่ารัฐควรจะเปลี่ยนแปลงระบบสัมปทาน เนื่องจากระบบสัมปทานเหมือนกับเราเซ้งพื้นที่ให้เขาไปดูแล ไปสำรวจ ไปขุดเจาะ ไปลงทุนเองทั้งหมด มันเลยทำให้เราไม่สามารถจะมีข้อมูลได้ชัดเจนว่า แหล่งไหนเป็นแหล่งที่จะมีปิโตรเลียมมากน้อยกว่ากัน ในขณะที่ต่างประเทศ ระบบของเขาจะใช้เป็นระบบแบ่งปันผลผลิต ซึ่งเขาจะเริ่มจากการให้รัฐลงทุนในการสำรวจก่อน พอสำรวจแล้วรู้ว่าแหล่งไหนมีมากมีน้อย ก็เหมือนเป็นการให้ความมั่นใจทั้งแก่ผู้ลงทุน และให้ความมั่นใจแก่ตัวเราเองด้วย เปรียบเทียบเหมือนเราจะขายบ้าน ถ้าเราบอกว่าไม่รู้ ให้เอกชนตีราคาเอาแล้วกัน เราย่อมได้ราคาต่ำ แต่ถ้าหากว่าเรามีข้อมูล เพราะเราไปให้คนประเมินแล้วว่าสภาพบ้านเรายังดีอยู่ ตั้งอยู่ในโลเกชั่นดี เราก็จะสามารถขายบ้านได้ราคาแพงกว่า

ฉะนั้นคุณมองว่าระบบแบ่งปันผลผลิตดีกว่าระบบสัมปทานใช่ไหม

ใช่ค่ะ เพราะอย่างที่บอกว่าถ้าเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต เราจะมีการสำรวจก่อนว่ามีปิโตรเลียมเท่าไหร่ คือยิ่งถ้าเรามีข้อมูลที่ชัดเจนมากเท่าไร มันถือว่าให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย คือ ให้ความเป็นธรรมแก่ประเทศ ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้มาลงทุน ไม่ใช่ว่าเราต้องการจะไปเอาเปรียบเขา แต่ถ้าเรามีการสำรวจแล้วพบว่าอันนี้มันแหล่งเล็ก รัฐอาจบอกว่าถ้าคุณลงทุนเท่านี้ คุณจะมีกำไรเท่าไร รัฐอาจจะเอาส่วนแบ่งน้อย เอกชนก็อาจจะได้มากขึ้น แต่ในกรณีที่เป็นแหล่งใหญ่ ถ้าเราพบว่าแหล่งนี้เป็นแหล่งที่มีปริมาณปิโตรเลียมมาก การลงทุนของเอกชนก็ไม่สูงมากใช่ไหม เพราะฉะนั้นแหล่งนี้รัฐควรจะได้มาก ซึ่งต่างประเทศเขาก็ทำอย่างนี้กันทั้งนั้น หมายความว่าพอเรามีการประเมินว่าแหล่งใหญ่ รัฐควรได้ตอบแทนสูง แหล่งเล็ก รัฐก็ต้องให้เอกชนมากขึ้น ถือว่าเป็นวิธีการที่แฟร์ต่อทั้งสองฝ่าย เพราะฉะนั้น คิดว่าการที่เราจะรีบให้สัมปทานรอบ21 ซึ่งจะผูกพันประเทศไป 39 ปี มันเหมือนกับเราให้เขาไปเลย โดยไม่รู้เลยว่าพื้นที่เรามีปิโตรเลียมหรือเปล่า หรือว่ามีมากน้อยแค่ไหน

ถ้าเราไปฟังท่านนายกฯ พูดว่า “ โอ้ย! มันอาจจะไม่พบอะไรเลย พบก็อย่างมาก 1% ,0.5%” หากบอกอย่างนี้แล้ว มันจะมั่นคงได้อย่างไร กลายเป็นว่าคุณให้สัมปทานไปโดยไม่รู้เลยว่าพื้นที่ที่คุณให้จะมีปิโตรเลียมหรือเปล่า มันเหมือนกับเราตาบอด ให้เขาโดยไม่รู้ แล้วเผอิญถ้าพื้นที่นั้นเขาไปเจอเพชรอย่างนี้ เราก็บอกช่วยอะไรไม่ได้นะ เพราะให้ราคาถูกเขาไปแล้ว เลยกลายเป็นว่าตาดีได้ ตาร้ายเสีย ซึ่งเราไม่ควรจะทำกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีมูลค่าแบบนี้

ต้องบอกว่าพลังงานปิโตรเลียมพวกนี้มูลค่ามีแต่จะสูงขึ้น เป็นของที่ใช้แล้วหมดไป และมันเป็นทรัพยากรซึ่งเป็นสมบัติของลูกหลานเรา ฉะนั้น การที่เราจะให้สัมปทานในรอบนี้ ซึ่งจะผูกพันลูกหลานไปอีก 39 ปี เราก็ควรระมัดระวัง และทำโดยใช้ข้อมูลให้ครบถ้วน

แล้วการที่รัฐจะให้สัมปทาน ควรจะทำระบบที่ดีกว่านี้ เพราะว่า พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 เป็น พ.ร.บ.ที่อยู่มานานแล้ว 43 ปี ถึงแม้จะมีการแก้ไขเป็นระยะ แต่การแก้ไขเหล่านั้น ประเทศชาติยังไม่ได้ประโยชน์มากนัก ยกตัวอย่างเอกชนที่ได้สัมปทาน เขาให้ผลตอบแทนเป็นค่าภาคหลวง เป็นค่าภาษี แต่เงินพวกนี้จะถูกบวกไปในราคาที่ขายประชาชนแล้วใช่ไหม แต่ถ้าหากว่าเราใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต มันเหมือนเราได้มีการดูทั้งหมดแล้วว่าพื้นที่นี้คุณลงทุนเท่าไร มีปริมาณเท่าไร คุ้มค่าการลงทุนไหม ยิ่งเรามีข้อมูลละเอียดเท่าไร เอกชนจะตัดสินใจได้ดีขึ้น เวลาที่มีการแข่งขันประมูลว่าจะให้ราคาเท่าไร รัฐก็จะมีโอกาสเลือกได้มากขึ้น

นอกจากนั้นต้องบอกว่าในระบบแบ่งปันผลผลิต มันไม่ใช่แค่เรื่องตัวเงิน ประเด็นที่สำคัญคือเรายังเป็นเจ้าของปิโตรเลียมอยู่ โดยที่รัฐเป็นเจ้าของ และมีการแบ่งผลประโยชน์ให้แก่เอกชนที่มาทำสัญญา แต่ถ้าเป็นระบบสัมปทาน เอกชนเป็นเจ้าของ และเอกชนเป็นคนแบ่งผลประโยชน์ให้แก่รัฐ เพราะฉะนั้นดิฉันมองว่าความเป็นเจ้าของย่อมดีกว่า

แต่ถ้าเป็นระบบสัมปทาน เอกชนจ่ายผลประโยชน์ให้เราแล้ว เวลาเขาขายเรา เขาก็บวกค่าใช้จ่ายทุกอย่างเข้ามาเป็นภาระกับเราใช่ไหม เพราะฉะนั้นระบบแบ่งปันผลผลิตจึงเป็นความมั่นคงทางพลังงานมากกว่า

ต้องบอกว่าข้อมูลในโลกปัจจุบันมันสำคัญกว่าเงิน เพราะข้อมูลมันมีมูลค่า เช่น ถ้ารัฐสำรวจเองและรู้หมด รัฐจะรู้ว่าประเทศเราจำเป็นที่จะขุดอันนี้ คุณภาพปิโตรเลียมตรงแหล่งนี้เหมาะสำหรับใช้เองในประเทศ หรือเหมาะที่จะส่งออก ไม่ใช่แบบขุดเจาะแล้วไปให้เอกชนเขาตัดสินใจเองว่าเขาจะเอาไปขายเอง หรือเขาจะมาขายเราส่งออก หรือหากเขาขายให้คนในประเทศราคานำเข้า เท่ากับว่าประชาชนต้องซื้อสินค้าทรัพยากรของตัวเองในราคานำเข้าใช่ไหม แถมในระบบสัมปทานที่เป็นอยู่ในเวลานี้ คือ เอกชนที่ได้สัมปทานไป เขาเอาไปขายต่อก็ได้ มันก็เหมือนกับเอกชนมาจองพื้นที่เราเหมือนจองคอนโดฯ และเอกชนก็ไปทำกำไร แต่การทำกำไรเหล่านั้น ประเทศชาติไม่ได้ประโยชน์อะไร

หากรัฐเดินหน้าให้สัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ต่อไป คุณคิดว่าจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นในแง่สิ่งแวดล้อม หรือความเป็นอยู่ของประชาชน

จริงๆ พื้นที่อีสานในสัมปทานรอบที่ 19 และ 20 มันให้ไปในพื้นที่ที่ค่อนข้างเยอะแล้ว แล้วยิ่งถ้าให้สัมปทานอีก มันจะยิ่งเต็มพื้นที่ ทีนี้กระบวนการขุดเจาะน้ำมันบนบก มันจะกระทบแก่สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศในทางเกษตรกรรมค่อนข้างมาก เพราะมีการสำรวจตามที่นาท้องร่องต่างๆ ซึ่งเป็นที่นาของชาวบ้าน

ยกตัวอย่างที่จ.บุรีรัมย์ ที่มีการทำการวัดความไหวสะเทือน เพื่อดูแหล่งปิโตรเลียมใต้ดิน ซึ่งบริษัทจีนที่ได้สัมปทาน เขาก็วางระเบิด 6,900 ลูก ใน 2 หมู่บ้าน พบว่าชาวบ้านเจอปัญหาเรื่องบ้านร้าว และดินไม่อุ้มน้ำ โดยต้นยางให้น้ำลดลง 40% ซึ่งอันนี้เป็นประสบการณ์ทางตรงของชาวบ้าน แต่ตอนนี้ยังไม่ได้มีการศึกษาอย่างจริงจังว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร และจะมีการป้องกันอย่างไร ฉะนั้น เรื่องนี้จึงไปละเมิดสิทธิของชุมชนค่อนข้างมาก
วัดศรีแสงธรรม จ.อุบลราชธานีผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงเรียน ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้า
หากเราไปดูอย่างการให้สัมปทานเหมืองทอง เช่น ที่จ.พิจิตร เราจะเห็นเลยว่า เขาขุดพื้นที่เป็นแสนไร่ เพื่อหาทอง เสร็จแล้วเขาทิ้งสารไซยาไนด์ไว้ และพิษนี้มันก็ไปก่อพิษภัยให้แก่ชาวบ้าน โดยรัฐบาลไม่เคยประเมินเลยว่าผลตอบแทนที่ได้จากค่าภาคหลวง เมื่อเทียบกับความสูญเสียทางสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนแล้ว มันถือว่าคุ้มค่าไหม แล้วในพื้นที่แสนไร่ หลังจากที่เขาขุดกันหมดแล้ว เขาหมดสัมปทานแล้ว พื้นที่เหล่านี้เราจะเอามาเพาะปลูกได้หรือเปล่า เราจะฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เสียหายแบบนี้ได้อย่างไร เพราะฉะนั้น เราจำเป็นที่ต้องระมัดระวังว่า กระบวนการในการขุดเจาะปิโตรเลียมนี้ มันจะก่อให้เกิดปัญหาอย่างไรบ้าง

ถ้าจะมาเยียวยา ก็ต้องดูว่าเงินทองที่เยียวยากับรายได้ที่คุณได้มาจากสัมปทาน อันไหนมันคุ้มค่ากว่ากันใช่ไหม หากดูจากงบประมาณแผ่นดินจากปี 2549-2557 ถ้าเราดูค่าภาคหลวงแร่ ค่าภาคหลวงน้ำมัน ภาษีจากธรรมชาติอื่นๆ 3 ตัวนี้มันเป็นมูลค่าเพียง 2.6% ของรายได้จากภาษีอากรสุทธิของประชาชน ซึ่งถือว่าน้อยมาก แต่ว่าการได้มาเพียงแค่นี้ เรากลับต้องสูญเสียสิ่งแวดล้อม เสียสละสุขภาพ และเสียสิทธิของชุมชน เพื่อแลกกับเงินเหล่านี้ ยกตัวอย่างแร่ทองคำ บางปีรัฐได้เงินมา 200 ล้าน แต่ 200 ล้านแลกกับพื้นที่ที่ถูกขุดเจาะทำเหมืองแร่ คิดว่าเราจะใช้เงินเยียวยาเท่าไร เราเคยประเมินไหมว่ามันคุ้มไหมกับสิ่งที่เราสูญเสียไป

มีทางเลือกไหนที่คุณมองว่ารัฐน่าจะนำมาใช้บ้างไหม

อย่างพื้นที่อีสาน ถามว่ารายได้จากปิโตรเลียมที่ขุดขึ้นมา มันคุ้มค่าไหมกับสิ่งที่เราเสียในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและพื้นที่เกษตรกรรม แต่ถ้าเราหันมาทำในเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ในภาคอีสาน หรือที่เรียกว่า “โซลาร์เซลล์” หรือ “โซลาร์รูฟท็อป” มันจะได้ประโยชน์มากกว่าการที่เราต้องมาขุดเจาะปิโตรเลียมแบบนี้ เพราะพื้นที่ภาคอีสานมีความเข้มของแสงสูงมาก

แล้วกระบวนการการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างโซลาร์เซลล์นี้ มันเป็นการกระจายอำนาจไปสู่ประชาชน ยกตัวอย่างพระที่ป่าวัดศรีแสงธรรม ในจังหวัดอุบลราชธานี ท่านทำโซลาร์รูฟท็อปในโรงเรียนศรีแสงธรรม ซึ่งเป็นโรงเรียนของวัด และมีการสอนเด็กฝึกทำด้วย ปรากฏว่างานที่ท่านทำ มีฝรั่งมาดูงานเยอะมากเลย คิดดูว่าท่านเคยจ่ายเงินค่าไฟฟ้าเดือนธันวาคม 56 จำนวน 5,729.46 บาท แต่พอท่านทำพลังงานจากแสงอาทิตย์ขึ้นมา เดือนพฤษภาคมปี 57 ค่าใช้จ่ายลดลงเหลือ 732 .45บาท และมิถุนายน 57 เหลือ 40.90 บาท คิดดูสิว่าถ้าประชาชนที่อยู่ในชนบทได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาล ให้ช่วยกันผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ เขาจะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการจ่ายไฟฟ้า อย่างน้อยการลดรายจ่ายเท่ากับเพิ่มรายได้
ใครทำให้หลง?

หากรัฐจะส่งเสริมการใช้โซลาร์เซลล์มากขึ้น คุณมีคำแนะนำไหมว่ารัฐควรทำอย่างไร เพื่อให้ประชาชนได้ผลประโยชน์สูงสุด

รัฐบาลไทยควรส่งเสริมเหมือนในเยอรมนี คือ เยอรมนีมีกฎหมายพลังงานหมุนเวียน โดยรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนก่อนเป็นอันดับแรก ประชาชนสามารถผลิตและขายให้รัฐได้ โดยรัฐเขารับซื้อก่อน ไม่จำกัดโควต้า จนคนผลิตหมดเต็มศักยภาพแล้ว รัฐค่อยซื้อพลังงานที่มาจากฟอสซิล แต่ว่าประเทศไทยมีการกำหนดโควตา จึงทำให้ประชาชนไม่ได้มีแรงจูงใจที่จะผลิต แล้วที่ผ่านมารัฐส่งเสริมโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่ คือ สนับสนุนแต่รายใหญ่ แต่ไม่ได้ส่งเสริมให้ประชาชนมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น แต่ถ้าเกิดรัฐเปลี่ยนมาส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการผลิตเชื้อเพลิงหรือผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ประชาชนจะมีรายได้และมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น คือ หากประชาชนหันมาใช้โซลาร์เซลล์ นอกจากจะช่วยประหยัดค่าใช้ค่าไฟฟ้าแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าด้วย ดังนั้นรัฐสมควรเข้ามาสนับสนุนเรื่องการรับซื้อไฟฟ้าจากประชาชน

ความจริงวิธีการรับซื้อง่ายมาก เพราะเรามีสายส่งไปทั่วประเทศอยู่แล้ว สมมติเราผลิตไฟฟ้าจากหลังคาเรา ไฟมันจะเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้า เช่น สมมติเราผลิตได้ 100 หน่วย ถ้าเกิดว่า 100 หน่วย การไฟฟ้ารับซื้อ 6 บาท แต่เวลาเราใช้ไฟของการไฟฟ้า ประชาชนต้องจ่ายให้การไฟฟ้าประมาณ 4 บาท ดังนั้นประชาชนจะได้กำไรอยู่ที่ประมาณ 2 บาทในการผลิต เพราะฉะนั้น ถ้าเปิดให้มีการรับซื้ออย่างเสรีแบบนี้จริงๆ ประชาชนเขาก็อยากลงทุน

เวลานี้การไฟฟ้าฯ มีแต่รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน แล้วการไฟฟ้าฯ ก็นำไฟมาขายเราต่อ ดังนั้น กำไรทั้งหมดก็อยู่ที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่พวกนี้ แต่ถ้าเปลี่ยนให้ประชาชนมาเป็นคนผลิตขายให้การไฟฟ้าฯ บ้าง ประชาชนก็มีสิทธิได้เงินบ้าง แทนที่จะต้องเป็นผู้จ่ายอย่างเดียว

ยกตัวอย่างสวนผักแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น ซึ่ง อ.ประสาท มีแต้ม เคยไปดูงานที่นั่น เขาอยู่ในพื้นที่ที่เคยเกิดสึนามิ และมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ พอโรงไฟฟ้าปล่อยสารกัมมันตรังสีออกมา คนจึงไม่ค่อยกล้ากินผักที่นี่เท่าไร ทำให้เจ้าของสวนผักขายผักได้น้อยลง แต่ปรากฏว่าเขาเห็นว่าที่นั่นแดดแรง เขาเลยทำแผงโซลาร์เซลล์ไว้ข้างบน ปรากฏใน 1 ปี เขาขายผักได้ 3 หมื่น แต่ขายไฟฟ้าได้ 5 แสนบาท กลายเป็นว่าขายไฟฟ้าได้มากกว่า และคาดว่าจะสามารถคืนทุนได้ในช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี ดังนั้น ถ้าเราเอาโซลาร์เซลล์มาเป็นทางเลือกใหม่จริงๆ มันจะช่วยทำให้เราไม่จำเป็นที่จะต้องไปขุดเจาะปิโตรเลียม และช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้ด้วย ไม่ใช่ไปช่วยแต่คนรวย

เมื่อก่อนรัฐรับซื้อพลังงานจากแสงอาทิตย์ในราคาแพง แต่เขาได้มีการวางเป้าในอนาคตว่าราคาจะลดลงเรื่อยๆ เมื่อมีคนผลิตเยอะขึ้น และเทคโนโลยีมันถูกลง เพราะฉะนั้นราคาพลังงานหมุนเวียนจากโซลาร์เซลล์มันจะลดลงเรื่อยๆ ในขณะที่ราคาค่าไฟมันขึ้นมาเรื่อยๆ จึงเห็นว่าถ้ารัฐบาลส่งเสริมเรื่องนี้อย่างมีวิสัยทัศน์ในระยะยาว มันจะเป็นทางเลือกของประชาชน

ตอนนี้รัฐบาลเก็บเงินเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงานจากคนใช้น้ำมันทุกลิตร ลิตรละ 25 สตางค์ เท่ากับว่าใน 1 ปีจะมีเงินอย่างน้อย 9,000 ล้าน ดังนั้น หากเอาเงินจำนวนนี้มาสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน โดยให้ประชาชนทุกคนสามารถผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน เช่น อาจจะช่วยเหลือว่าถ้าใครติดโซลาร์เซลล์ รัฐจะมีแรงจูงใจอย่างไรให้เขา เช่น ลดราคาให้ หรือรัฐช่วยสนับสนุนเงิน เพื่อให้โซลาร์เซลล์ราคาถูกลง ยิ่งถ้ารัฐสามารถส่งเสริมให้มีอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ในประเทศเราเอง จะสามารถเพิ่มงานให้แก่ประชาชน รวมถึงช่วยลดการขุดก๊าซขึ้นมาจากอ่าวไทยด้วย

เวลานี้รัฐบาลเรียกร้องให้ประชาชนประหยัด บอกว่าประชาชนไม่มีวินัย เราใช้พลังงานเปลือง ทั้งๆ ที่ประเทศเราต้องนำเข้าน้ำมัน นำเข้าก๊าซ นำเข้าพลังงาน ถ้าอย่างนั้นเราควรจะเสาะแสวงหาพลังงานและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการผลิตมากขึ้น เรื่องนี้จึงจะเป็นบทพิสูจน์ว่า ความจริงแล้วรัฐต้องการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการประหยัด และร่วมผลิตพลังงานหรือเปล่า หรือพูดไปเพียงเป็นเหตุผลว่าประชาชนใช้เปลือง เพราะฉะนั้น ต้องขึ้นราคาให้สูงใช่ไหม เนื่องจากที่ผ่านมารัฐจะพูดตลอดว่า เราต้องขึ้นราคาไปสู่ราคาตลาดโลก ประชาชนจะได้ใช้ประหยัด แต่ว่าปิดทุกทางไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการผลิต

สรุปดิฉันมองว่าพลังงานแสงอาทิตย์ คือ ทรัพยากรธรรมชาติอันเดียวที่เข้าถึงง่ายที่สุดและเป็นพลังงานของประชาชน ถ้าดูจากภาพการ์ตูนล้อเลียนบางภาพ จะเห็นว่ามันพยายามจะขุดเจาะน้ำมันข้างล่าง ทั้งที่ดวงอาทิตย์อยู่บนหัวกบาลดวงเบ่อเร้อเลย แต่เรากลับไม่สนใจ ซึ่งมันเหมือนอย่างในพื้นที่อีสาน คุณขุดเจาะพื้นที่ซะพรุน แล้วบอกว่ามันต้องมีน้ำมันอยู่ หรือมันต้องมีก๊าซอยู่ในนี้แน่ๆ แต่เราไม่สนใจดวงอาทิตย์ที่อยู่บนหัวเราเลยว่านี่แหละคือแหล่งพลังงานที่แท้จริง

คุณคิดว่าเป็นไปได้ไหมที่รัฐบาลจะเปลี่ยนมาใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตในอนาคต พอมองเห็นทางออกบ้างไหม

ตอนนี้ยังยากอยู่ เพราะเชื่อว่ากลุ่มทุนพลังงานคือกลุ่มที่ไม่ยอมให้เลิกสัมปทาน เพราะทุนพลังงานมันเป็นการผูกขาด การผูกขาดก็ย่อมสามารถทำกำไรได้ เขาก็อยากจะขาย เพราะฉะนั้นกลุ่มทุนพลังงานพวกนี้ยังมีอิทธิพลต่อนักการเมือง ต่อคนที่ใช้อำนาจ ต่อระบบราชการ และแก่ข้าราชการด้วย ฉะนั้น ข้าราชการหรือนักการเมืองเหล่านี้จึงไม่ยอมออกกฎหมาย เพื่อจะปลดลูกกรงเพื่อปล่อยให้แพะออกไปกินหญ้าได้ตามอิสระ เหมือนว่าเวลานี้กฎหมายหลายตัวมันกักขังประชาชนอยู่ และยังพยายามผลักดันว่าเราจะต้องเจาะสัมปทาน ทั้งที่จริงแล้วการที่คุณจะไปขุดหาปิโตรเลียม โดยที่คุณไม่มีข้อมูลเลย มันไม่เป็นความฉลาด

คิดว่ารัฐเขาจะไม่เปลี่ยนแปลงตัวเองหรอก มีแต่ประชาชนเท่านั้นที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการเมือง และข้าราชการ เพราะว่าประชาชนที่ตื่นรู้เหล่านี้แหละที่จะเป็นตัวผลักดันให้รัฐบาลจะต้องเปลี่ยนแปลงทิศทาง ไม่อย่างนั้นเขาจะเดินหน้าของเขาไปเรื่อย โดยที่ประชาชนไม่ได้ผลประโยชน์อย่างเต็มที่

กำลังโหลดความคิดเห็น