ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ไม่มีใครปฏิเสธเลยว่าเด็กที่ดื่มนมวัวมีแนวโน้มที่จะมีร่างกายใหญ่สูงดูแข็งแรงกว่าเด็กที่ไม่ได้ดื่มนมวัว เพราะเราได้ฮอร์โมนของการเจริญเติบโตจากแม่วัวที่จะให้กับลูกวัวมาด้วย
แต่นิตยสารไทม์ ได้ลงบทความเผยแพร่ในเว็บไซต์เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ในหัวข้อ "Milk Might Not Save your Bones Study Says" แปลเป็นไทยก็คือ "ผลการศึกษาพบว่า นมวัวอาจจะไม่ปลอดภัยสำหรับกระดูกของคุณ"
การศึกษาที่ว่านั้นชื่องานวิจัยว่า "Milk intake and risk of mortality and fractures in and men : cohort studies." คือการศึกษาการดื่มนมวัยและความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตและภาวะกระดูกะเปราะ" โดย ศาสตราจารย์ คาร์ล ไมเคิลสันและคณะที่เป็นต้นเหตุในการเผยแพร่บทความครั้งนี้ของนิตยสารไทม์
การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ของอังกฤษ ที่ศึกษาติดตามผลชาวสวีเด็น 106,772 คน ซึ่งเป็นผู้หญิง 61,433 คน อายุระหว่าง 39-74 ปี ในฐานข้อมูลปี พ.ศ. 2530 - 2553 และอีกกลุ่มเป็นชายจำนวน 45,339 คน จากฐานในปี พ.ศ. 2540 โดยการใช้แบบสอบถามสำรวจการบริโภคอาหาร
ผลการศึกษาต่อเนื่องของกลุ่มผู้หญิง 20.1 ปี พบว่า มีผู้หญิงเสียชีวิต 15,541 คน มีจำนวน 17,252 คนเกิดภาวะกระดูกเปราะ ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้หญิงกระดูกแตกตรงสะโพกจำนวน 4,259 คน
สำหรับผู้ชายที่ติดตาม 11.2 ปี พบว่าผู้ชายจำนวน 10,112 คน เสียชีวิต และ 5,066 คนเกิดภาวะกระดูกแตก โดยในจำนวนนี้มี 1,166 คน เกิดภาวะกระดูกแตกบริเวณสะโพก
โดยการศึกษาครั้งนี้ได้ปรับอัตราส่วนความสัมพันธ์ของอันตรายจากการดื่มนมวัว 3 แก้วต่อวัน เทียบกับกลุ่มที่ดื่มนมวัวน้อยกว่า 1 แก้วต่อวัน ผลการศึกษาไม่ได้พบว่าการดื่มนมวัวมากจะทำให้กระดูกแข็งแรงและไม่สามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงโรคกระดูกเปราะได้ แต่กลับพบว่าผู้ที่เสียชีวิตมากทั้งกลุ่มผู้ชายและผู้หญิงคือกลุ่มที่ดื่มนมวัวมาก
ความสนใจนี้ทำให้หลายคนแม้จะมีรูปร่างสูงใหญ่ แต่ก็อาจจะต้องแลกมาด้วยการเกิดภาวะโรคกระดูกเปราะได้ เพราะบทความนี้กำลังสงสัย น้ำตาลที่อยู่ในนมวัวที่ชื่อน้ำตาลแลคโตส และกาแลคโตสที่อยู่ในนมวัว ซึ่งอาจทำให้คุณภาพมวลกระดูกลดลง คล้ายๆกับการอักเสบ ซึ่งคล้ายคลึงกับการมีอายุมากขึ้นซึ่งนำไปสู่ภาวะกระดูกเสื่อมได้
เหตุที่ทำให้คิดเช่นนั้ก็เพราะว่าการทดลองให้อาหารเสริมในสัตว์ทดลองด้วยน้ำตาลกาแลคโตสทำให้เพิ่มอนุมูลอิสระ กระบวนการเสื่อม คล้ายคลึงกับการอักเสบจากน้ำตาลอื่นๆ จากการศึกษาพบความสัมพันธ์ในการลดความเสี่ยงโรคกระดูกเปราะเมื่อมีน้าตาลแลกโตสในนมวัวมีลดลง ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการศึกษาในรายละเอียดต่อไป
แต่นอกจากน้ำตาลแลคโตสและน้ำตาลกาแลคโตสที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นสาเหตุของโรคกระดูก แล้วยังมีอีกสาเหตุหนึ่งที่ถูกตั้งข้อสงสัยด้วยว่านมวัวมีแร่ธาตุที่ไม่สมดุลกับความต้องการของมนุษย์ ตัวอย่างเช่น น้ำนมประกอบไปด้วยแคลเซียมที่สูงก็จริง แต่นมวัวมาพร้อมกับฟอสฟอรัส คือ มีแคลเซียม 3 ส่วน จะมีฟอสฟอรัส 2 ส่วนทุกครั้งไป ดังนั้นถ้าเราดื่มนมวัวมากกว่า 500 มิลลิตร เป็นประจำฟอสฟอรัสที่เราได้รับมาก็จะเกินความสมดุลของแร่ธาตุ ร่างกายก็จะจัดสมดุลใหม่ด้วยการกระตุ้นต่อมพาราไทรอยด์ให้หลั่งฮอร์โมนออกมาสลายกระดูก จนเป็นเหตุให้มวลหรือเนื้อกระดูกบางลง
อีกปัจจัยหนึ่งที่น่าสนใจคือกรดอะมิโนอันจำเป็นตัวหนึ่งที่ชื่อ เมทไธโอนีน (Methionine) ซึ่งมนุษย์เราทุกคนในการช่วยการเผาผลาญและการย่อยรวมถึงการ ขับสารพิษที่เป็นโลหะหนัก และการเผาผลาญของกล้ามเนื้อ อย่างไรก็ตามถ้ามี เมทไธโอนีนมากเกินไปก็จะทำให้เกินสารพิษได้
เมทไธโอนีนเป็นแหล่งสำคัญที่ก่อให้เกิดกำมะถัน (Sulfur) และกลายเป็นปัญหาได้ ดังนั้นการกินอาหารที่มีเมทไธโอนีนมากก็จะทำให้เกิดภาวะกลายเป็นกรดในกระแสเลือด ที่เกิดเช่นนั้นได้เพราะกัมมะถันหรือซัลเฟอร์นั้นจะสามารถแปลงเป็นซัลเฟต และกลายเป็นรูปของกรดซัลฟูริกอ่อนๆ และเพื่อลดความเป็นกรดร่างกายก็จะหลั่งธาตุแคลเซียมออกจากกระดูก
วารสารโภชนาการทางการแพทย์ของสหรัฐอเมริกา (American Journal of Clinical Nutrition) ได้เคยเผยแพร่รายงานเมื่อปี พ.ศ. 2538 ว่า "โปรตีนจากผลิตภัณฑ์นมสามารถเพิ่มกรดในเลือดและร่างกายจะจัดสมดุลด้วยการนำแคลเซียมจากกระดูกมาใช้"
ความไม่สมดุลนี้ถ้าเปรียบเทียบ เมทไธโอนีนในนมวัวและนมถั่วเหลือง จะพบข้อมูลว่านมวัวมีเมทไธโอนีนสูงมากเกินไปเมื่อเทียบกับนมถั่วเหลืองจนเกิดปัญหาต่อกระดูกเราได้ดังนี้
นมถั่วเหลือง 100 กรัม มี เมทไธโอนีน 0.40 กรัม
นมวัว 100 กรัม มีเมทไธโอนีน 0.83 กรัม
นมวัวไขมันพร่องมันเนย 100 กรัม มีเมทไธโอนีน 0.99 กรัม
สอดคล้องกับ วารสาร Science เมื่อปี พ.ศ. 2529 ได้เคยออกรายงานว่า "โรคกระดูกพรุนมีสาเหตุที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือมีการบริโภคโปรตีนจากนมวัวมากเกินไป"
ยังมีงานวิจัยที่สอดคล้องกันนี้อีกหลายชิ้น รวมถึง วารสารระบาดวิทยาของสหรัฐอเมริการที่ชื่อ American Journal of Epidemiology ได้ออกรายงานเมื่อปี พ.ศ. 2537 ว่า
"การบริโภคผลิตภัณฑ์จากนมวัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงอายุ 20 ปี จะมีความเสี่ยงสูงเป็นโรคกระดูกสะโพกแตก และในกระบวนการเผาผลาญโปรตีนจากนมวัวเป็นสาเหตุที่ร่างกายขับแคลเซียมออกมาทางปัสสาวะ"
โปรตีนที่ไม่สมดุล แร่ธาตุในนมวัวที่ไม่สอดคล้องกับความสมดุลแร่ธาตุในร่างกายมนุษย์ สิ่งเหล่านี้กำลังเป็นปัญหาของคนที่ดื่มนมวัวในประมาณมากขึ้นในยุคปัจจุบัน
ที่เป็นเช่นนั้น ก็ต้องยอมรับพื้นฐานธรรมชาติที่แท้จริงที่ว่า เพราะนมวัวมีไว้เพื่อให้ลูกวัวดื่ม !!!