ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
มีบางท่านที่ต่อต้านผู้รับประทานอาหารมังสวิรัติ หรือพยายามหาข้อด้อยเพราะตัวเองไม่เชื่อหรือไม่สามารถรับประทานอาหารมังสวิรัติ อาจจะโต้แย้งว่าการศึกษาของชาวแอดเวนติสต์รอบที่สองที่มีสุขภาพที่ดีกว่าคคนทั่วไปเพราะรับประทานอาหารมังสวิรัตินั้นอาจะเป็นเพราะสาเหตุอื่น เหตุก็เพราะว่าคนเหล่านี้สุขภาพดี ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล ออกกำลังกาย ไม่สูบบุหรี่ ฯลฯ แต่ความจริงการศึกษาดังกล่าวนั้นได้มีการปรับคำนวณตัวแปรเหล่านั้นแล้ว คือได้มีการปรับการคำนวณจากความเบี่ยงเบน เพราะอายุ เผ่าพันธุ์ การสูบบุหรี่ การออกกำลังกาย รายได้ การศึกษา สถานภาพการสมรส การดื่มแอลกอฮอล์ ภูมิประเทศ และการนอน ดังนั้นจึงถือว่าครอบคลุมพอสมควรสำหรับการสำรวจทางสถิติ
เรามาติดตามกันต่อเกี่ยวกับชาวมังสวิรัติของเซเว่นเดย์ แอดเวนติสต์ ในประเทศสหรัฐอเมริกา รอบที่ 2 ที่มีการรายงานผลเมื่อปี พ.ศ. 2556 ถึงการเสียชีวิตในช่วง 5.8 ปีแรก ที่พบว่าผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติแบบไม่กินไข่และไม่ดื่มนม มีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าคนทั่วไป 15% แต่กระนั้นก็ยังไม่ถือว่ามีนัยยะสำคัญทางสถิติเท่าไรนัก แต่การศึกษาอื่นพบว่าผู้หญิงที่รับประทานอาหารมังวิรัติมีอัตราการเกิดโรคมะเร็งที่กระเพาะอาหารน้อยกว่าอย่างชัดเจน
การสำรวจและการศึกษาที่ได้ผลที่มีความแตกต่างกันนั้น ก็เพราะว่าผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติที่อังกฤษและชาวแอดเวนติสต์ที่สหรัฐอเมริการมีการบริโภคในรายละเอียดที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติของชาวแอดเวนติสต์มีการบริโภคผักและวิตามินซีมากกว่าการศึกษาของชาวอังกฤษ โดยเฉพาะการเลือกรับประทานเพราะเหตุผลทางศาสนาอาจมีความแตกต่างจากการบริโภคเพื่อสุขภาพ
อย่างไรก็ตามในรายงานการศึกษาของเซเว่นเดย์ แอตเวนติสต์ ครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2556 พบว่าอัตราผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติแบบทั้งที่ดื่มนมและกินไข่ (Lacto-ovo vegetarians) มีแนวโน้มจะเป็นโรคการทำงานไทรอยด์ต่ำกว่าคนที่รับประทานเนื้อสัตว์ ซึ่งหมายถึงมีอัตราการเผาผลาญต่ำลง แต่ที่น่าสนใจก็ตรงที่จากเดิมที่เราคาดว่าคนที่รับประทานมังสวิรัติที่ไม่ดื่มนมและไม่กินไข่ (Vegan) จะเป็นโรคนี้เรากลับไม่พบรายงานนี้แต่ประการใด
จึงเป็นที่น่าสงสัยเป็นสมมุติฐานแรกว่าว่านมในยุคหลังๆที่เน้นการรีดนมวัวแม้ในช่วงตั้งครรภ์ซึ่งจะมีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงรวมถึงไข่ก็อาจมีฮอร์โมนดังกล่าวได้ด้วย หากนำมาบริโภคในปริมาณที่มากในหมู่ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติเพื่อมาทดแทนโปรตีนและไขมันจากเนื้อสัตว์ ก็อาจได้รับฮอร์โมนดังกล่าวด้วย ซึ่งเอสโตรเจนที่สูงเกินไปอาจกดการทำงานของไทรอยด์ให้ต่ำลงได้
โดยปกติคนที่รับประทานอาหารมังสวิรัติโดยไม่กินไข่และไม่ดื่มนม (Vegan) มักจะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าคนทั่วไปเมื่อเทียบกับความสูง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผลที่ออกมานั้นจะแสดงให้เห็นว่าคนเหล่านี้มีอัตราการเผาผลาญผ่านการทำงานของต่อมไทรอยด์ต่ำแต่ประการใด
อย่างไรก็ตามสมมุติฐานอีกประการหนึ่งพบว่าบ่อยครั้งคนกินอาหารที่เติมเกลือมักจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคไทรอยด์ต่ำในหมู่คนทั่วไป ไม่ว่าเกลือนั้นจะมีการเติมไอโอดีนหรือไม่ก็ตาม
นอกนี้จาการศึกษาชาวมังสวิรัติของเซเว่นเดีย์ครั้งที่ 1 พบว่าผู้ชายที่รับประทานอาหารมังสวิรัติเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจต่ำกว่าคนที่ไม่รับประทานอาหารมังสวิรัติ 38% มีน้ำหนักเมื่อเทียบกับส่วนสูงต่ำกว่าคนทั่วไป และมีชีวิตยืนยาวกว่าคนที่ไม่รับประทานอาหารมังสวิรัติประมาณ 3.21 ปีขึ้นไป
ในขณะที่ผู้หญิงที่รับประทานอาหารมังสวิรัติแม้จะมีอัตราความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจไม่ต่างจากผู้หญิงที่ไม่รับประทานอาหารมังสวิรัติของกลุ่มตัวอย่าง แต่ก็มีอายุยืนยาวกว่าผู้หญิงทั่วไปประมาณ 2.52 ปีขึ้นไปของกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจมา
นอกจากนี้แล้วเราพบว่าคนที่รับประทานอาหารมังสวิรัติป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานต่ำกว่าคนทั่วไปประมาณครึ่งหนึ่ง
และพบว่าคนที่รับประทานอาหารมังสวิรัติป่วยด้วยโรคข้ออักเสบ หรือรูมาตอยด์ ต่ำกว่า 2 ส่วน เมื่อเทียบกับคนทั่วไป 3 ส่วน
สำหรับโรคมะเร็งก็พบว่าผู้ชายชาวเซเว่นเดย์ แอดเวนติสต์ มีอัตราการเสียชีวิตด้วยมะเร็งน้อยกว่าผู้ชายชาวแคลิฟอร์เนียถึง 60% ส่วนผู้หญิงชาวเซเว่นเดย์ แอดเวนติสต์มีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งน้อยกว่าผู้หญิงชาวแคลิฟอร์เนียถึง 76%
ชาวเซเว่นเดย์ แอดเวนติสต์ มีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดต่ำกว่าชาวแคลิฟอร์เนีย 21%, มีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งลำไส้ต่ำกว่า 62%, มีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านมต่ำกว่า 85%
ประเด็นสำคัญคือผู้ชายชาวเซเว่นเดย์ แอดเวนติสต์ มีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจต่ำกว่าผู้ชายชาวแคลิฟอร์เนีย 66% ในขณะที่ผู้หญิงเซเว่นเดย์ แอดเวนติสต์ กลับเสียชีวิตต่ำกว่าผู้หญิงชาวแคลิฟอร์เนียถึง 98%
เมื่อกล่าวถึงความมีอายุยืนของชาวมังสวิรัติแอดเวนติสต์จากการศึกษาและรายงานที่ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2544 พบว่าฝรั่งผิวชาวที่เป็นชาวแอดเวนติสต์มีอายุยืนกว่าคนผิวขาวชาวแคลิฟอร์เนียในสหรัฐอเมริกา โดยผู้ชายผิวขาวที่กินอาหารมังสวิรัติมีอายุยืนกว่า 7.28 ปี และผู้หญิงที่กินอาหารมังสวิรัติมีอายุยืนกว่า 4.42 ปี โดยชนกลุ่มนี้ผู้ชายอายุเฉลี่ย 78.5 ปี และ ผู้หญิงอายุ 82.3 ปี
อย่างไรก็ตามตัวแปรที่ทำให้คนกลุ่มนี้มีอายุยืนกว่าคนกลุ่มอื่นก็มีหลายปัจจัยได้แก่ การรับประทานอาหารมังสวิรัติ การรับประทานโปรตีนจากถั่วเป็นประจำ ออกกำลังกาย รักษาระดับน้ำหนักให้น้อย และไม่สูบบุหรี่ โดยเชื่อว่าจะทำให้ขยายชีวิตออกไปกว่าปกติได้ 10 ปี
พบว่าการบริโภคเนื้อสัตว์มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มของโรคมะเร็งลำไส้
พบว่าการกินพืชตระกูลถั่วจะช่วยป้องกันโรคมะเร็งลำไส้
การศึกษายังพบว่า การกินถั่วหลายๆครั้งต่อสัปดาห์จะช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจได้ครึ่งหนึ่ง รวมถึงการรับประทานขนมปังจากธัญพืชครบส่วนแทนขนมปังขาวจะช่วยลดความเสี่ยงการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ 45% การดื่มน้ำมวันละ 5 แก้วขึ้นไปต่อวันจะช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจได้ 50% และผู้ชายที่รับประทานมะเขือเทศจะช่วยลดความเสี่ยงจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้ 40% รวมถึงการดื่มนมถั่วเหลืองมากกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์จะช่วยลดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้ 70%
ในปี พ.ศ. 2548 ผลการศึกษาที่รอคอยมาอย่างยาวนานถึง 21 ปี ในการศึกษาของ ไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนีได้ตีพิมพ์ออกมา โดยเป็นการรายงานในผลโดยสังเคราะห์งานวิจัยด้วยวิธีวิเคราะห์อภิมาน (META – ANALYSIS) บูรณาการงานวิจัย ในปี พ.ศ. 2542 ซึ่งรวมเพียงการติดตามผลจริงของกลุ่มประชากรนี้ 11 ปี
รายงานถึงพบการเปรียบเทียบว่า 60 คนที่รับประทานอาหารมังสวิรัติแบบไม่ดื่มนมไม่กินไข่ (Vegan) มีอัตราการเสียชีวิตมากกว่ากลุ่มคนที่รับประทานอาหารมังสวิรัติแบบกินไข่และดื่มนม (Lacto-ovo Vegetarian)
การศึกษาในแต่ละประเทศมีปัจจัยและสภาพแวดล้อมในรายละเอียดไม่เหมือนกัน ในตอนหน้าจะเป็นตอนสุดท้ายที่จะหาสาเหตุถึงตัวแปรที่น่าจะทำให้งานวิจัยมีความแตกต่างกัน ซึ่งเมื่อเราทราบถึงตัวแปรเหล่านั้นก็ดูเหมือนว่าอย่างน้อยเราก็จะได้ไกลโรคจากพฤติกรรมการกินที่ไม่ถูกต้องได้มากขึ้นกว่าเดิม