xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาการแปรรูป (Privatisation) ปตท. แบบปิดเสรี (None-Liberalisation) – ทุจริตเชิงนโยบายเพื่อผูกขาดพลังงานไทย ?

เผยแพร่:   โดย: ศาสตรา โตอ่อน

ศาสตรา โตอ่อน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต


บทความนี้มิได้มุ่งหมายพาดพิงบริษัท ปตท.จำกัด ( มหาชน) แต่ประการใด หากมุ่งหมายบ่งชี้ถึงความผิดพลาดและการบิดเบือนนโยบายสาธารณะของบรรดาชนชั้นนำในการแปรรูปกิจการการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเดิมมาอยู่ในรูปแบบบริษัทเอกชนโดยไม่มีมาตรการทางกฎหมายรองรับที่เพียงพอให้ระบบตลาดเสรีที่มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมทำงานได้ อีกทั้ง บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ถือเป็นเพียงผู้ประกอบการรายหนึ่งในตลาดพลังงานไทยบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จึงเป็นเพียงผู้รับผลที่เป็นคุณกับตัวองค์กรจากนโยบายสาธารณะที่ผิดพลาดดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งเรื่องราวหลักกการและเหตุผลจะได้กล่าวถึงต่อไปในบทความนี้

1.เกริ่นนำ

ประวัติศาสตร์การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมมนุษย์ยุคใหม่ อาจกล่าวได้ว่าคือประวัติศาสตร์ว่าด้วยการทำลายการผูกขาดอำนาจในรูปลักษณะต่างๆทั้งอำนาจทางการเมืองโดยการสร้างระบบการตรวจสอบถ่วงดุลย์ ระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ในขณะที่มิติทางเศรษฐกิจซึ่งในกระแสหลักมีการยอมรับระบบตลาดเสรีที่มีการแข่งขันก็มีระบบป้องกันการผูกขาดทางการค้า ป้องกันผูกขาดอำนาจทุน ที่อาจนำไปสู่การบิดเบือนกลไกราคาอันเป็นผลจากการมีผู้มีอำนาจเหนือตลาดสามารถกำหนดราคาได้ตามใจชอบ

ในกรณีกิจการพลังงานนั้นแตกต่างจากสินค้าโภคภัณทฺทั่วไป เช่น ข้าว น้ำตาล ที่กลไกราคาค่อนข้างทำงานได้ดีเนื่องจากมีผู้แข่งขันมากราย ความแตกต่างที่ว่าคือกิจการพลังงานเป็นกิจการที่มีการผูกขาดโดยรัฐมาก่อนดังนั้นการนำระบบตลาดมาใช้จึงต้องมีกระบวนการขั้นตอนเปลี่ยนผ่านหลายประการที่จะทำให้เกิดการแข่งขันจนกลไกราคาทำงานตามที่ควรจะเป็น อันจะส่งผลกระทบต่อความสมบูรณ์พูลสุขหรือสวัสดิภาพของประชาชน ( social welfare ) กระบวนการที่กล่าวมาเกิดขึ้นอย่างชัดเจนที่ในนโยบายสาธารณะและกฎหมายเกี่ยวกับ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatisation) และการเปิดเสรี (Liberalisation)

การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatisation) แท้จริงแล้วเป็นเพียงกระบวนการๆหนึ่งในนโยบายการเปิดเสรี (Liberalisation) และเมื่อกล่าวถึงการเปิดเสรีนั้น ในประเทศไทยยังปรากฎความเข้าใจที่ว่า คือ การเปิดให้ทุนต่างชาติเข้ามาตักตวงทรัพยากร ซึ่งอาจมีมูลในระดับหนึ่ง แต่ในความหมายทางวิชาการนั้น การเปิดเสรีในกิจการรัฐวิสาหกิจอย่างกิจการพลังงานนั้น คือ การนำระบบตลาดเสรีเข้ามาแทนที่ระบบดำเนินบริการสาธารณะโดยรัฐ โดยในมาตรา 84 (1) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พ.ศ.2550 ได้บัญญัติรับรองหลักการแข่งขันเสรีและเป็นธรรมโดยอาศัยกลไกตลาดไว้อย่างชัดเจน

ซึ่งการที่ตลาดและกลไกตลาดจะทำงานแทนที่การผูกขาดโดยรัฐได้นั้นนอกจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ( Pivatisation) แล้วในนโยบายสาธารณะยังต้องประกอบไปด้วยกระบวนการเปลี่ยนผ่านมากมาย ทั้ง การเปิดเสรี ( Liberalisation ) การลดกฎเกณท์( Deregulation ) การกำกับดูแล (Regulation) รวมทั้งการประกันมาตรฐานบริการที่ดำเนินการโดยเอกชน (Universaldienst )

หลักการต่างๆที่กล่าวมาค่อนข้างมีความสลับซับซ้อนและสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่ภาคการเมืองและภาคทุนจะอาศัยความซับซ้อนดังกล่าวหาประโยชน์ใส่พวกพ้องตนเองผ่านการบิดเบือนนโยบาย ดังนั้นการทำความเข้าใจหลักการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกรณีการแปรรูป ปตท และการเปิดเสรีกิจการพลังงานจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง โดยในเบื้องต้นจำต้องกล่าวถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเสียก่อน

2. การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatisation)

การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ คือ การเพิ่มความเป็นเอกชนเข้าไปในองค์กรของรัฐที่ดำเนินกิจกรรมทางพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม หรือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ อันหมายถึงกิจการที่มีการคำนวณต้นทุนกำไร มีการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการกับราคาตอบแทน

การแปรรูปรัฐวิสาหกิจมีสาเหตุมาจากปัญหาความไม่มีประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจที่ประสบปัญหาการทำงานแบบข้าราชการ การที่ตัวพนักงานของรัฐวิสาหกิจไม่มีแรงจูงใจในการสร้างประสิทธิภาพเนื่องจากการทำงานต่างตัวแทนที่ตนไม่มีส่วนได้เสียในผลประกอบการจึงขาดความรับผิดชอบ ในการดำเนินกิจการให้มีประสิทธิภาพ

ในขณะที่ฝ่ายสนับสนุนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอ้างว่า การที่เอกชนใช้สิทธิในทรัพย์สิน right of property ของตนเอง ทำให้เอกชนมีความรับผิดชอบในผลประกอบการจนทำให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพเพื่อความอยู่รอดขององค์กร จนเอกชนมีประสิทธิภาพในการประกอบการมากกว่ารัฐวิสาหกิจ

การแปรรูปรัฐวิสาหกิจสามารถเกิดขึ้นได้ในรูปลักษณะต่างๆ ดังนี้

1.การแปรรูปเชิงองค์กร formal Privatisation คือ เปลี่ยนรูปแบบรัฐวิสาหกิจจากนิติบุคคลมหาชนมาเป็นนิติบุคคลเอกชนหรือบริษัทเอกชนที่รัฐถือหุ้นทั้งหมด การแปรรูปชนิดนี้เป็นการเปลี่ยนรูปแบบองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้คล่องตัวยิ่งขึ้น

2.การแปรรูปเชิงเนื้อหา materiell Privatisation คือ มีการขายหุ้นบริษัทเอกชนที่รัฐถือหุ้นนั้นบางส่วนหรือทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ การแปรรูปชนิดนี้ถือเป็นเครื่องแสดงออกว่ารัฐไม่ต้องการทำหน้าที่ในกิจการนั้นอีกต่อไปและกลายเป็นเอกชนที่เข้ามารับหน้าที่แทน การแปรรูปชนิดนี้เป็นเครื่องแสดงออกว่ารัฐต้องการให้ตลาดเข้ามาทำงาน

3.การแปรรูปเชิงหน้าที่ funktional Privatisation คือ การให้เอกชนเข้ามาทำหน้าที่ให้บริการสาธารณะในการกำกับของรัฐ รัฐยังคงบทบาทหลักในการดำเนินบริการสาธารณะแต่ให้เอกชนเข้ามาช่วยดำเนินการในฐานะผู้ช่วยของรัฐ กรณีเช่น การให้สัมปทาน การจ้างดำเนินการ รวมทั้ง การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน ( Public Private Partnership)

อย่างไรก็ตามการแปรรูปแต่เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะทำให้ระบบตลาดทำงานแทนที่ระบบรัฐได้ เหตุนี้จึงต้องมีกระบวนการอื่นๆตามมา ดังต่อไปนี้

3. กระบวนการเปิดเสรี ( Liberalisation)

กิจการพลังงานเดิมนั้นมีลักษณะเป็นกิจการผูกขาดโดยรัฐ หรือ State Monopoly ซึ่งการที่ตลาดเสรีจะทำงานได้ดีจะต้องมีการเปิดตลาดโดยการลดการผูกขาดโดยรัฐลงให้มากที่สุดเสียก่อน อันเป็นการป้องกันปัญหาการเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดของบริษัทที่แปรรูป ซึ่งจะส่งผลให้เอกชนรายอื่นไม่อาจเข้าสู่ตลาดได้ และหากมีการแปรรูปโดยไม่คำนึงถึงการเปิดเสรี การแปรรูปจะกลายเป็นกระบวนการเปลี่ยนการผูกขาดโดยรัฐสู่การผูกขาดโดยเอกชน Private Monopoly ซึ่งเป็นสิ่งที่พึงหลีกเลี่ยง

เหตุนี้การแปรรูปแต่เพียงอย่างเดียวจึงไม่ใช่หลักประกันว่ากลไกตลาดจะทำงานได้เต็มที่ ในบางประเทศที่ไม่มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เช่น ประเทศสวีเดน หรือประเทศที่มีการแปรรูปบางส่วน เช่น เยอรมนี กลับมีการนำหลักการเปิดเสรีมาใช้โดยไม่ได้สนใจว่ามีการแปรรูปหรือไม่ ดังนั้นสาระสำคัญของนโยบายเสรีนิยมในกิจการรัฐวิสาหกิจจึงอยู่ที่การเปิดเสรีเพื่อนำพลังของตลาดและกลไกราคามาใช้แทนที่ระบบการดำเนินการโดยรัฐนั่นเอง

โดยในการเปิดเสรีมาตรการที่มักใช้ในกิจการพลังงานและกิจการที่มีโครงข่ายพื้นฐาน คือ การแบ่งตลาด ออกเป็น 4 ระดับ คือ ระดับทรัพยากรพื้นฐาน ระดับโครงข่าย ระดับระบบการควบคุมโครงข่าย และระดับการให้บริการเหนือโครงข่าย โดยไม่ยอมให้มีเอกชนรายใดครองอำนาจเหนือตลาดทั้ง 4 ระดับ เพราะการครอบครองกิจการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำจะยิ่งทำให้บริษัทเจ้าตลาดเดิมมีอำนาจเหนือตลาดจนผู้เล่นรายอื่นเข้าสู่ตลาดไม่ได้ ทั้งนี้เนื่องจากบริษัทจะมีอำนาจเหนือตลาดจากการครอบครองทรัพยากรหายากโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงข่ายพลังงานที่เป็นกิจการผูกขาดโดยธรรมชาติ ( กิจการที่โดยสภาพมีโครงข่ายเพียงโครงข่ายเดียวก็เพียงพอในการให้บริการโดยไม่ต้องมีการแข่งขันกันสร้างโครงข่าย)

ในส่วนของโครงข่ายขั้นพื้นฐานนั้น มาตรา 84 ( 11 ) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติคุ้มกันมิให้โครงข่ายขั้นพื้นฐานตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละ 50 บทบัญญัติดังกล่าวถือเป็นการรับรองกิจการผูกขาดโดยธรรมชาติไว้ในระดับที่ต้องสงวนไว้เป็นของรัฐ ซึ่งต้องมีแยกการกำกับการไว้เป็นพิเศษ

4. การลดกฎเกณท์( Deregulation )

การลดกฎเกณท์( Deregulation ) หมายถึง การยกเลิกกฎหมายอันเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของระบบตลาด เพื่อเพิ่มโอกาสให้เอกชนสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพทางเศรษฐกิจ ทั้งการใช้สิทธิและเสรีภาพในเชิงทรัพย์สิน การทำสัญญา การจัดตั้งนิติบุคคล รวมทั้งการยกเลิกกฎหมายที่ให้เอกสิทธิ์องค์กรของรัฐหรือบริษัทที่รัฐถือหุ้น

การลดกฎเกณท์( Deregulation ) มีเป้าหมายเพื่อให้ระบบตลาดเกิดขึ้นจริง โดยการให้บริษัทของรัฐและเอกชนมีฐานะเท่าเทียมกัน ซึ่งจะทำให้การแข่งขันเกิดขึ้น กลไกราคาทำงาน การพัฒนาประสิทธิภาพกิจการมีความเป็นไปได้สูงขึ้น โดยสรุปการลดกฎเกณท์( Deregulation )มีขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์ต่อเอกชนที่ต้องการเข้ามาดำเนินกิจการพลังงานนั่นเอง

ในมาตรา 84 ( 1) แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้บัญญัติให้รัฐมีหน้าที่ยกเลิกและละเว้นการตรากฎหมายที่ควบคุมธุรกิจซึ่งมีบทบัญญัติไม่สอดคล้องกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจ บทบัญญัติมาตรานี้แสดงอย่างชัดเจนถึงการลดกฎเกณท์( Deregulation ) เพื่อเพิ่มพลังของตลาด

5. การกำกับดูแล( Regulation )

แม้การลดกฎเกณท์( Deregulation )จะเป็นไปเพื่อเพิ่มโอกาสการทำธุรกิจให้กับเอกชน เพิ่มพลังให้กับระบบตลาดและการแข่งขัน แต่ตัวตลาดเองก็มีปัญหา( Market failure) หลายประการ ดังนี้

1. ปัญหาการผูกขาดอำนาจเหนือตลาดที่นำไปสู่การบิดเบือนกลไกราคา ทั้งกรณีการมีอำนาจเหนือตลาดโดยผู้เล่นรายเดียว (Monopoly) หรือ กึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด (Oligopol) ที่เกิดจากผู้เล่นน้อยรายแบบกรณีกิจการโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย

2. ปัญหาผลกระทบภายนอก (Externality ) เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ

3. ปัญหาการผูกขาดโดยธรรมชาติ (Natural Monopoly)

4.ปัญหาการขาดข้อมูลและการบิดเบือนข้อมูลในตลาด ( Informationsdefizit )

ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายเข้ามากำกับดูแลแก้ไขปัญหาต่างๆรวมทั้งการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลเข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าว
กล่าวโดยเฉพาะปัญหาการผูกขาดโดยธรรมชาติ (Natural Monopoly) นั้นเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องการกำกับดูแลเป็นพิเศษ เพราะผู้ที่ครอบครองทรัพยากรที่ผูกขาดโดยธรรมชาติอย่างโครงข่ายพลังงานนั้นมีโอกาสใช้อำนาจกลั่นแกล้งผู้แข่งขันรายอื่นสูงมาก

ด้วยเหตุนี้ในกฎหมายของประเทศที่มีการเปิดเสรีอย่างอังกฤษและสหภาพยุโรป จะกำหนดให้แยกบริษัทโครงข่ายออกจากบริษัทบริการ ( Unbundling ) เพื่อให้ผู้แข่งขันมีฐานะเท่าเทียมกัน อยู่บนเส้นสตาร์ทก่อนการแข่งขันเท่ากัน

นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีการกำกับดูแลโครงข่ายพลังงานไว้เป็นพิเศษ ทั้งการกำกับการเข้าใช้ท่อพลังงานอย่างเท่าเทียมกัน กำกับค่าใช้ท่อพลังงานในราคาที่เพื่อไม่ก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบเชิงต้นทุนระหว่างผู้แข่งขันรายต่างๆ ทั้งนี้หน้าที่ในการกำกับดูแลเป็นขององค์กรกำกับดูแล (Regulatory Agency) และหน้าที่ในการกำกับพฤติกรรมของผู้แข่งขันในตลาดเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าที่ต้องทำงานร่วมกัน

ในมาตรา 84 ( 5) แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติรับรองหลักการกำกับให้การประกอบกิจการมีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ป้องกันการผูกขาดตัดตอนไม่ว่าทางตรงและทางอ้อม ตลอดทั้งการคุ้มครองผู้บริโภค และในมาตรา 84 ( 10) ได้บัญญัติมิให้สาธาณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอยู่ในความผูกขาดของเอกชนอันอาจก่อความเสียหายแก่รัฐ ซึ่งแสดงออกอย่างชัดเจนถึงหลักการกำกับดูแลที่มีในระบบกฎหมายไทยด้วยเช่นกัน

6. การประกันมาตรฐานบริการที่ดำเนินการโดยเอกชน (Universaldienst )

กิจการพลังงานนั้นเดิมเป็นกิจการที่ดำเนินการโดยรัฐที่มีการประกันการมีพลังงานอย่างเพียงพอ การประกันคุณภาพของระบบพลังงาน การประกันด้านสิ่งแวดล้อม ต่อเมื่อมีการนำระบบตลาดเข้ามาใช้ ทำให้เกิดปัญหาที่รัฐต้องทำการประกันมาตรฐานการบริการที่อยู่ในการดำเนินการของเอกชนให้มีมาตรฐานขั้นต่ำไม่น้อยกว่าเดิมที่รัฐเคยดำเนินการ

เหตุนี้ในกฎหมายกำกับดูแลกิจการพลังงานในประเทศที่มีการเปิดเสรีจะกำหนดมาตรการต่างๆเพื่อให้เอกชนดำเนินบริการสาธารณะให้ได้ตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น หลักการพื้นฐานนี้เรียกกันโดยทั่วไปว่า Universaldienst ซึ่งมีที่มาจากการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคมที่ต้องการประกันความทั่วถึงของระบบโครงข่ายคมนาคมนั่นเอง

7. ปัญหาการแปรรูป (Privatisation) ปตท แบบปิดเสรี (None-Liberalisation)

จากหลักการที่กล่าวมาทั้งหมด ในส่วนของหลักการแปรรูป(Privatisation) ปตท นั้น มีการแปรรูปเชิงรูปแบบตามขั้นตอนของ พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 และขั้นตอนที่สองคือการแปรรูปเชิงเนื้อหาโดยการกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เมื่อ ปี พ.ศ.2544 โดยกระทรวงการคลังถือหุ้น 51 % และ เอกชนถือหุ้น 49 %

ซึ่งการแปรรูปดังกล่าวได้ปรากฎผลว่า กำไรของบริษัทเติบโตมากขึ้นจนบริษัทเข้าไปติดอันดับของนิตยสารฟอร์บ แต่ปรากฎว่าภายหลังการแปรรูปราคาพลังงานกลับถีบตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจมีที่มาจากสาเหตุดังนี้

1. เมื่อพิจารณาหลักการเปิดเสรี ( Liberalisation) ร่วมกับสภาพปัจจุบันที่ บริษัท ปตท จำกัด ( มหาชน) ถือครองกิจการทั้ง 4 ระดับ คือ ระดับทรัพยากรพื้นฐาน ระดับโครงข่าย ระดับระบบการควบคุมโครงข่าย และระดับการให้บริการเหนือโครงข่าย อยู่ในบริษัทเดียวจึงเป็นไปไม่ได้เอกชนรายอื่นจะเข้าสู่ตลาดเพื่อแข่งขันกับ ปตท ทำให้ในปัจจุบัน บริษัท ปตท จำกัด ( มหาชน) ได้กลายเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดโดยที่ระบบกฎหมายที่ไม่มีการเปิดเสรีปิดกั้นเอกชน การแข่งขันไม่อาจเกิดขึ้นได้ ทำให้อันตรายอย่างยิ่งต่อการบิดเบือนกลไกราคาโดยการกำหนดราคาพลังงานโดย ปตท เอง ทำได้ง่ายดาย

2.จากหลักการกำกับดูแล ( Regulation) จะพบว่าบทบาทขององค์กรกำกับดูแลกิจการพลังงานและคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าในประเทศไทยยังมีน้อยมาก มีการปล่อยให้ ปตท ครอบครองทั้งท่อพลังงานและบริการ โดยไม่มีการแยกท่อพลังงานออกมากำกับดูแลเป็นพิเศษแต่ประการใด ทำให้เอกชนรายอื่นไม่ได้รับความเป็นธรรม เป็นการทำลายการแข่งขัน ส่งผลให้ราคาพลังงานไม่เป็นไปตามกลไกตลาดแต่เกิดจากคิดราคาจากสูตรที่ ปตท กำหนดเอง เพราะตนมีอำนาจเหนือตลาด

3. นอกจากนี้เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 84 ( 1 ) ( 5) ( 10 ) และ ( 11 ) จะพบว่า ปัญหาการแปรรูป (Privatisation) ปตท แบบปิดเสรี (None-Liberalisation) มีความสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งต่อความไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ในมาตราดังกล่าวที่บรรจุไว้ซึ่งหลักการสำคัญทั้ง หลักการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม การกำกับดูแลให้มีการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม การห้ามผูกขาดกิจการสาธารณูปโภค การห้ามการถือกรรมสิทธิ์เหนือโครงข่ายที่มีการผูกขาดโดยธรรมชาติโดยเอกชน ซึ่งควรมีการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญต่อไป

การดำเนินโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจโดยไม่มีการเปิดเสรีตามหลักการให้ครบถ้วนอาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การแปรรูป (Privatisation) ปตท แบบปิดเสรี (None-Liberalisation) ซึ่งถือเป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรงจากภาคการเมืองที่ไม่ยอมดำเนินการวางหลักการให้ครบตามขั้นตอนที่ควรจะเป็น ทั้งนี้ผู้เขียนไม่อาจหยั่งทราบเจตนาของภาคการเมืองและนายทุนว่าจงใจละเว้นไม่ดำเนินการให้ครบขั้นตอนเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนหรือไม่ อย่างไร แต่รูปการณ์ที่ปรากฎทำให้ชวนสงสัยได้ว่าเป็นกลเม็ดการบิดเบือนทางนโยบายเพื่อผูกขาดตลาดพลังงงานไทย ? ทั้งนี้จากหลักการที่ว่า “กรรมเป็นเครื่องส่อเจตนา”

8. บทสรุป

ในสังคมที่มีบริบทซับซ้อนมีปัญหาทางเทคนิกมากมาย มีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่ภาคการเมืองและภาคทุนที่ครอบครองอำนาจในการออกกฎหมาย จะทำงานร่วมกันโดยการเจรจาล็อบบี้กฎหมายเพื่อบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน ยิ่งประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจ คณะบุคคลที่มีความรู้และอำนาจเหล่านี้จะอาศัยความไม่รู้ของประชาชนเข้าเอารัดเอาเปรียบผ่านการบิดเบือนขั้นตอนในนโยบายสาธารณะ หรือ ทำการ “ทุจริตเชิงนโยบาย” ได้โดยง่าย

ปัญหาการแปรรูป (Privatisation) ปตท แบบปิดเสรี (None-Liberalisation) จึงถือเป็นร่องรอยที่อาจตั้งข้อสงสัยถึงกลเม็ดของกลุ่มชนชั้นนำในเมืองไทยในการฉวยโอกาสผูกขาดพลังงานไทยโดยวิธีการละเว้นบางกระบวนการและสงวนไว้แต่กระบวนการที่ตนได้เปรียบ ซึ่งถ้าเป็นจริงจะถือเป็นการเอาเปรียบเพื่อนร่วมชาติโดยคณะทุนสามานย์ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย เป็นประวัติศาสตร์ว่าด้วยการผูกขาดอำนาจทุนด้วยเครื่องมือทางกฎหมายอันสลับซับซ้อนนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น