xs
xsm
sm
md
lg

หลักการแข่งขันเพื่อตลาด Competition for The Field กับการให้สัมปทานพลังงานรอบที่ 21

เผยแพร่:   โดย: ศาสตรา โตอ่อน

โดย...ศาสตรา โตอ่อน
นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

บทความนี้มิได้มุ่งหมายโต้แย้งหรือขัดแย้งกับแนวทางของรัฐบาลในการให้สัมปทานพลังงานรอบที่ 21 แต่ประการใด หากแต่มีความประสงค์นำเรียนต่อรัฐบาลและสังคมไทยถึงหลักการอันเป็นสากลในกิจการพลังงานที่ทุกวันนี้มีความเปลี่ยนแปลงไปมาก

ที่มา

จากความเห็นของกลุ่มปฏิรูปพลังงานที่นำโดย คุณรสนา โตสิตระกูล ที่เสนอให้รัฐบาลควรนำระบบแบ่งปันผลผลิต Production Sharing มาใช้ในการให้สิทธิเอกชนเข้าดำเนินการสำรวจและอาจนำไปสู่การอนุญาตให้ทำการผลิตพลังงานโดยมีเหตุผลรองรับว่าเป็นระบบสากลที่ประเทศต่างๆ ใช้อยู่

ในขณะที่ ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ ได้ให้ความเห็นว่าควรใช้ระบบสัมปทาน Concession เนื่องจากทรัพยากรพลังงานในอ่าวไทยเป็นกระเปาะเล็ก การใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต Production Sharing มาใช้กับกรณีจะไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนให้มาทำการสำรวจและผลิตได้เนื่องจากไม่คุ้มทุนนั้น

ผู้เขียนมีความเห็นทางกฎหมายและเศรษฐศาสตร์ดังนี้

1. บ่อเกิดของกฎหมายที่ให้อำนาจคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติสัมปทานพลังงาน

บ่อเกิดในทางกฎหมายที่ใช้พิจารณาอนุญาตให้สัมปทานพลังงาน คือ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 โดยตามมาตรา 22-53 ได้กำหนดวิธีการให้สิทธิเอกชนเข้าสำรวจและผลิตพลังงานไว้วิธีการเดียวคือการให้สัมปทาน โดยได้บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีที่รักษาการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยคำแนะนำของคณะกรรมการปิโตรเลียม (มาตรา 22 วรรค 1 (1) ) โดยต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (มาตรา 22 วรรค 2) ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากกฎหมายบ้านเมือง (Positiv Law) จะพบว่ารัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการปิโตรเลียมและโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีอันมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีสามารถดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวในการให้สัมปทานพลังงานรอบที่ 21 ได้

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณความเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายในระดับสากลจะพบว่า พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 นั้นเป็นกฎหมายเก่าในยุคที่รัฐมีบทบาทสูงในทางเศรษฐกิจซึ่งในสากลประเทศที่มีการเปิดเสรีกิจการพลังงานจะมีหลักคิดใหม่ดังนี้

2. หลักการแบ่งแยกตลาดพลังงาน

ตามหลักเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยโครงข่ายพื้นฐาน Network Economy ได้แบ่งตลาดกิจการที่มีโครงข่ายพื้นฐาน อาทิ กิจการรถไฟ กิจการพลังงาน กิจการไฟฟ้า กิจการประปา ไว้อย่างน้อย 4 ระดับ คือ

1. ระดับทรัพยากรพื้นฐาน ได้แก่ พื้นดินที่ใช้วางโครงข่าย ทรัพยากรใต้พิภพต่างๆ

2. ระดับโครงข่าย เช่น รางรถไฟ ท่อพลังงาน สายไฟฟ้า

3. ระดับการควบคุมโครงข่าย เช่น ระบบควบคุมจราจรทางอากาศ ระบบอาณัติสัญญาณรถไฟ เป็นต้น

4. ระดับการบริการเหนือโครงข่าย เช่น การเดินรถไฟ การจำหน่ายพลังงาน การจำหน่ายไฟฟ้า น้ำประปา

ในกรณีนี้การให้สัมปทานพลังงานคือระดับของตลาดในระดับที่ 1 คือ ระดับทรัพยากรพื้นฐาน

3. หลักการแข่งขันในตลาด Competition in the Field และหลักการผูกขาดโดยธรรมชาติ Natural Monopoly

กิจการพลังงานเมื่อนำระบบตลาดมาใช้จะพบว่า ในระดับตลาดที่ 3 คือระบบควบคุมโครงข่ายและระดับตลาดที่ 4 คือระดับการบริการเหนือโครงข่าย เช่น กิจการโรงกลั่น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และสถานีบริการน้ำมันนั้นเป็นกิจการที่สามารถเปิดให้เอกชนแข่งขันโดยเสรี ที่เรียกว่า Competition in the Field คือ การแข่งขันภายในตลาดกรณีนี้เป็นหน้าที่ขององค์กรกำกับดูแลกิจการพลังงานที่ต้องกำกับดูแลให้เกิดการแข่งขันเพื่อให้กลไกราคาทำงาน เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพ ซึ่งทุกวันนี้ปรากฏว่า กลไกเหล่านี้ในประเทศไทยใช้บังคับไม่ได้ จน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีอำนาจผูกขาดเหนือตลาดในระดับที่ 3 -4 ส่งผลให้ราคาค่าน้ำมันแพงกว่าที่ควรจะเป็นตามกลไกราคา

ส่วนตลาดระดับที่ 2 คือระดับโครงข่ายพื้นฐานนั้น ถือเป็นกิจการผูกขาดโดยธรรมชาติ Natural Monopoly คือ มีโครงข่ายเพียงโครงข่ายเดียวก็เพียงพอที่จะให้บริการแก่ประชาชน หากมีการแข่งขันจะเกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่ก่อประสิทธิภาพส่วนเพิ่ม หรือ Sunk Cost ซึ่งโดยทั่วไปกิจการผูกขาดโดยธรรมชาติจะไม่อนุญาตให้บริษัทของรัฐที่แปรรูปไปให้เอกชนถือหุ้นครอบครองท่อพลังงานไว้ร่วมกับกิจการในระดับที่ 3-4 เพราะจะทำให้เกิดการได้เปรียบผู้แข่งขันรายอื่นจนกลไกราคาทำงานไม่ได้ และยังทำให้ผู้แข่งขันรายอื่นไม่อาจเข้าสู่ตลาด จนก่อเป็นการผูกขาดโดยผู้ประกอบการรายเดียวซึ่งสามารถใช้อำนาจบิดเบือนกลไกราคาได้อย่างง่ายดาย

4. หลักการแข่งขันเพื่อตลาด Competition for the Field ในการให้สัมปทาน

ในกิจการพลังงานระดับที่ 1 ระดับทรัพยากรพื้นฐาน กรณีนี้ทรัพยากรปิโตรเลียมทั้งบนบกและในทะเลนั้นเป็นกิจการที่ไม่อาจปล่อยให้มีการแข่งขันกันสำรวจและผลิตพลังงานได้โดยสภาพ ดังนั้นโดยหลักการจะเป็นอำนาจของรัฐในการพิจารณาถึงวิธีการในการสำรวจและผลิตพลังงานซึ่งมักจะใช้พลังของเอกชนเข้ามาทำการสำรวจและผลิต

ในปัจจุบันประเทศต่างๆ เช่น ในสหภาพยุโรปจะใช้ระบบการแข่งขันเพื่อตลาด Competition for the Field คือ การเปิดให้เอกชนหลายรายแข่งขันกันเสนอประสิทธิภาพสูงสุดเข้ามาแทนที่ระบบกฎหมายเดิมที่ให้รัฐให้สิทธิสัมปทานแก่เอกชนโดยเป็นดุลพินิจของคณะรัฐมนตรีแบบที่เป็นอยู่ใน พระราชบัญญัติปิโตรเลียมพ.ศ. 2514

หลักการการแข่งขันเพื่อตลาด Competition for the Field เป็นหลักการพื้นฐานของกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างยุคใหม่ (Procurement ) ที่มีเนื้อหาสาระสำคัญคือ

4.1 ต้องเปิดให้เอกชนเข้ามาแข่งขันกันเสนอราคา เสนอบริการและส่วนแบ่งรายได้เข้ารัฐให้มากที่สุด (Wettbewerbsgrundsatz)

4.2 กระบวนการคัดเลือกผู้ได้สิทธิต้องมีความโปร่งใส (Transparenzgebot)

4.3 ต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติ (Diskriminierungsverbot)

4.4 ต้องได้บริษัทที่เสนอประสิทธิภาพสูงสุดในราคาที่ประหยัดที่สุด (Wirtschaftlichkeitsprinzip)

หลักการทั้ง 4 ประการ ถือเป็นหลักการพื้นฐานของกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างของสหภาพยุโรปและเยอรมนีที่กลายเป็นเสาหลักของกฎหมายแข่งขันทางการค้าในด้านที่รัฐเป็นผู้ซื้อบริการจากเอกชน ซึ่งมีกฎหมายลูกออกมากำหนดกระบวนการขั้นตอนรายละเอียดไว้มากมาย

5. หลักการแข่งขันเพื่อตลาด Competition for the Field กับการให้สัมปทานพลังงานรอบที่ 21

จากหลักการต่างๆ อันเป็นสากลที่ได้นำเสนอมาจะพบว่าการคัดเลือกเอกชนที่เข้ามาได้สิทธิในการดำเนินกิจการของรัฐอย่างกิจการในระดับทรัพยากรพื้นฐานอย่างพลังงานนั้น มิได้จำกัดวิธีการให้สิทธิเอกชนไว้แต่เพียงการให้สัมปทานที่นับวันจะเสื่อมความนิยมลงไปมากเนื่องจากให้อำนาจรัฐไว้มากเกินไป กระบวนการคัดเลือกเอกชนที่ได้สิทธิไม่มีความโปร่งใส

แม้กรณีนี้คณะรัฐมนตรีจะมีฐานที่มาของการใช้อำนาจตามมาตรา 22 พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาความเปลี่ยนแปลงในโลกสากลจะพบว่า การให้เอกชนดำเนินการสำรวจที่อาจนำไปสู่การให้อำนาจเอกชนผลิตอีกโสตหนึ่งนั้นเป็นสิ่งที่ล้าสมัยและไม่เหมาะสมกับวาระของรัฐบาลที่ยึดอำนาจเข้ามาเพื่อการปฏิรูปประเทศ และอาจส่งผลทำให้ประเทศเสียประโยชน์อันพึงมีพึงได้จากกระบวนการขั้นตอนของกฎหมายที่ล้าสมัย ผู้เขียนจึงมีข้อเสนอแนะดังนี้

6.ข้อเสนอแนะ

6.1 ควรมีการชะลอการให้สัมปทานรอบที่ 21 ออกไปเพราะจะทำให้ประเทศชาติเสียประโยชน์

6.2 ควรมีการปรับปรุงกระบวนการคัดเลือกเอกชนที่ได้สิทธิสำรวจและผลิตพลังงานเสียใหม่ให้ทันสมัยกับนานาอารยประเทศ ทั้งนี้โดยการให้ สนช. พิจารณาออกกฎหมายใหม่เพื่อวางขั้นตอนการให้อนุญาตเอกชนเข้าทำการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่มีหลักการแข่งขัน ความโปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ และได้ประสิทธิภาพสูงสุด

6.3 เมื่อกฎหมายใหม่ดังกล่าวมีผลใช้บังคับก็ให้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนที่จะทำการสำรวจและผลิตพลังงานตามขั้นตอนที่ชอบธรรมตามกฎหมายใหม่ดังกล่าว

บทส่งท้าย

ผู้เขียนมิได้มีเจตนาขัดขืนคำสั่งหรือท้าทายอำนาจของ คสช. แต่ประการใด หากเป็นเพียงการให้ความเห็นนำเรียนผู้มีอำนาจในบ้านเมืองเพื่อปรับปรุงกิจการบ้านเมืองด้วยความสุจริตใจ หากสร้างความไม่พอใจแก่ผู้ใดต้องขอประทานอภัยมา ณ ที่นี้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น