หลวงปู่ฯโพสต์เฟซบุ๊กผลการเสวนาปฏิรูปพลังงานที่วัดอ้อน้อย มีข้อเสนอถึง รัฐบาล-สปช. 5 ข้อ ในจำนวนนี้ ขอให้ชะลอการให้สัมปทานรอบที่ 21 เอาไว้ก่อน แต่หากมีความจำเป็น รัฐต้องได้ประโยชน์มากขึ้น เสนอเพิ่มแบ่งผลกำไร โดยไม่เกี่ยวกับค่าภาคหลวง-เงินภาษี
วานนี้ (26 ต.ค.) หลวงปู่พุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หลวงปู่พุทธะอิสระ (Buddha Isara) เกี่ยวกับเรื่องการปฏิรูปพลังงาน มีใจความ ว่า
เป็นอีกวันที่ประชาชนคนเวทีแจ้งวัฒนะ ทำงานเพื่อชาติ และประชาชน
การเสวนาพลังงานครั้งนี้ ที่ศาลาวัดอ้อน้อย ตั้งแต่ 9 โมงเช้าจนถึง 5 โมงเย็น บรรยากาศเป็นไปอย่างสงบ ผู้ถามให้เกียรติผู้ตอบ ผู้ตอบก็ยอมรับผู้ถาม ทั้งที่หลายคำถาม เป็นคำถามที่ต้องการค้นหาคนผิดมารับผิดชอบ แต่ผู้ตอบทุกคน ต่างก็ยินดีเต็มใจที่จะตอบ ซึ่งเป้าหมายทั้งผู้ถาม และผู้ตอบต้องการให้เกิดประโยชน์แก่ภาคประชาชนอย่างสูงสุด
แม้จะมีบางคำตอบดูเหมือนจะคลุมเครือ จากฝ่ายกระทรวงพลังงาน ดุจดังพยายามปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มผลประโยชน์พลังงาน เรียกว่า ยังก้าวไม่พ้นเงาของกลุ่มผลประโยชน์พลังงานอยู่ จึงทำให้ภาคประชาชนเขาไม่ไว้วางใจนโยบายเรื่องพลังงานที่ออกมาจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติ เหตุเพราะกลัวว่า นโยบายนั้นจะออกมาเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มผลประโยชน์พลังงานแต่ฝ่ายเดียว
จนมีหลายครั้งที่ฉันต้องเตือนเจ้าหน้าที่รัฐว่า อย่าพยายามอธิบายความเพื่อปกป้องผลประโยชน์เฉพาะบริษัทพลังงานจนออกนอกหน้า ยิ่งคุณพูดมากชาวบ้านยิ่งสงสัย ว่าจริงๆ แล้ว เจ้าหน้าที่รัฐกำลังช่วยใครกันแน่ คงอย่างนี้กระมัง ที่ชาวบ้านเขาไม่เชื่อใจในการให้สัมปทานรอบใหม่ ว่ามันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนจริงหรือ
แต่ถึงอย่างไร ผู้ตั้งประเด็นคำถามทุกท่าน ได้พยายามทำหน้าที่ซักไซ้เพื่อหาข้อสรุปที่จะนำมาซึ่งประโยชน์แก่ชาติประชาชนให้ได้มากที่สุดตามกำลังสติปัญญาที่มี แกนนำเวทีแจ้งวัฒนะทุกคนพยายามอย่างเต็มที่ ทุกคำถามมีข้อมูลที่พิสูจน์ได้ ไม่เลื่อนลอย ไม่ถามเพราะอยากจับผิด แต่ถามด้วยความอยากรู้
งานนี้แม้จะใช้เวลาไปทั้งวัน แต่ก็คุ้มค่า เป็นเพราะภาครัฐและประชาชนรวมทั้งกลุ่มผลประโยชน์พลังงานได้ข้อสรุปร่วมกัน พร้อมจัดทำเป็นข้อเสนอต่อรัฐบาลและสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)ดังต่อไปนี้
บทสรุปที่เวทีวัดอ้อน้อยเรียกร้อง คือ
1) ขอให้ชะลอการให้สัมปทานรอบที่ 21 เอาไว้ก่อน เพราะเป็นประเด็นขัดแย้ง และเป็นข้อกังขาของประชาชนทุกคน โดยรอให้สภาปฏิรูปได้ออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการให้สัมปทานพลังงานฟอสซิลที่รัดกุม เป็นธรรม และเป็นประโยชน์ต่อชาติประชาชนโดยรวม
ซึ่งทางกระทรวงพลังงานได้แสดงความจริงใจตอบรับและกล่าวว่า ถ้าจะเปิดประมูลให้สัมปทานจริงๆ ไม่ใช่ทำได้เร็ววันนี้ อย่างน้อยต้องใช้เวลาพิจารณาเงื่อนไขที่เหมาะสม และเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ภาครัฐ โดยใช้เวลาพิจารณาไม่ต่ำกว่า 3-6 เดือน ในการพิจารณารายละเอียดทุกขั้นตอน และต้องมาร่วมประชุมทำข้อตกลงในแต่ละรายละเอียดของแต่ละข้อ อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 3 เดือน
สรุป หากจะเซ็นอนุมัติให้สัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ต้องใช้เวลาร่วม 1 ปี ซึ่งก็สอดคล้องกับสภาปฏิรูปที่ออกกฎหมายมีอายุการทำงานแค่ 1 ปี กฎหมายพลังงานน่าจะออกมาก่อน นี่คือคำพูดของกระทรวงพลังงานที่ฉันเข้าใจ
2) ฉันเลยเสนอว่า หากจำเป็นต้องให้สัมปทาน โดยเหตุผลที่ว่าเพื่อความมั่นคงของพลังงานในอนาคต ที่รัฐกล่าวอ้างว่า เวลานี้ก๊าซธรรมชาติในหลุมสัมปทานเก่ามีตัวเลขที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งก็มีในรายงานของผู้ตรวจสอบภาครัฐ ผู้ประกอบการ และผู้ถือหุ้น หากเรายังล่าช้า ไม่เปิดสัมปทานรอบใหม่ ประเทศไทยจะต้องไปซื้อก๊าซธรรมชาติมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า 100 % จะทำให้ค่าไฟแพงขึ้นอีกเป็นหลายเท่าตัว จะเป็นเหตุให้เสียหายแก่ประชาชนอย่างมากในอนาคต ประเทศชาติก็จะขาดความมั่นคงทางพลังงาน แล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
ฉันจึงเสนอว่า หากมีความจำเป็นถึงขนาดนั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่า การเปิดประมูลสัมปทานรอบที่ 21 ครั้งนี้ รัฐต้องได้ประโยชน์มากขึ้นกว่าเดิม เช่น อดีตหรือปัจจุบัน เคยแบ่งแต่ผลกำไร 50-50 ขอให้เพิ่มส่วนแบ่งที่รัฐจะต้องได้รับเป็นร้อยละ 65-75 ในผลกำไรที่ได้ โดยไม่เกี่ยวกับค่าภาคหลวง เงินภาษีที่รัฐจะต้องได้อยู่แล้ว
และขอให้บริษัทผู้ได้รับสัมปทานทุกราย จะต้องควักกระเป๋าจ่ายเป็นเงินให้เปล่าออกมาสนับสนุนการวิจัย สร้างหลักสูตรการศึกษาเรื่องพลังงานฟอสซิลและพลังงานทางเลือกภายในโรงเรียน รวมทั้งต้องจ่ายเงินสนับสนุนสร้างโรงงานผลิตพลังงานหมุนเวียนทุกชนิด ตามศักยภาพของพื้นที่นั้นๆในทุกจังหวัดที่มีการขุดเจาะสำรวจ โดยให้อยู่ในความดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานภาคประชาชน และรัฐต้องช่วยกันส่งเสริมเป็นที่ปรึกษาให้แก่ภาคประชาชนในการประกอบกิจการพลังงานนั้น
ฝ่ายกลุ่มผลประโยชน์พลังงานได้โต้แย้งว่า ทุกวันนี้ก็จ่ายให้ อบต. อบจ. อยู่แล้ว ปีละไม่ต่ำกว่า 10-20 ล้าน ในแต่ละ อบต. อบจ. ที่มีหลุมขุดเจาะ ฉันจึงเสนอว่า ไม่ต้องให้แล้ว ให้นำเงินก้อนนั้นมาร่วมกันสร้างโรงงานผลิตพลังงานให้เป็นประโยชน์แก่ภาคประชาชนโดยรวมดีกว่า ซึ่งทุกฝ่ายต่างเห็นด้วยในทุกข้อที่ฉันเสนอ
สำหรับเรื่องแบ่งปันผลผลิตที่มีผู้นำเสนอ ถามว่าแล้วหลุมไหนผลิตไม่ได้ล่ะ ไม่เท่ากับรัฐปล่อยให้เอกชนมาขุดเจาะฟรีหรอกหรือ แต่ถ้าหลุมไหนมีมาก แบ่งปันผลผลิตนั่นแหละคุ้มแน่ เพราะโดยความเป็นจริงแล้ว พลังงานไม่ได้มีมากทุกหลุมอย่างที่คิด หลายร้อยหลุมขุดเจาะแล้วไม่ได้อะไรเลย เช่นนี้ รัฐไม่สูญเสียผลประโยชน์กระนั้นหรือ ฉะนั้นผู้เสนอต้องอธิบายความตามหลักกายภาพของธรณีวิทยาของแผ่นดินไทยให้ได้ชัดเจน
3) ฉันเสนอให้มีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานฟอสซิลและพลังงานทางเลือกภาคประชาชน ที่คัดสรรหรือเลือกตั้งมาจากทุกสาขาอาชีพ โดยให้มีสองชุดคือ ชุดฟอสซิลชุดหนึ่ง ชุดพลังงานทางเลือกชุดหนึ่ง และทุกชุดต้องมีการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินอย่างถี่ถ้วนรอบคอบ รวมถึงคนใกล้ชิดด้วย
4 ) ฉันเสนอให้การเก็บค่าไฟฟ้า ต้องสอดคล้องกับราคาพลังงานของตลาดโลก ไม่ใช่ราคาพลังงานตลาดโลกลดลง แต่ค่าไฟฟ้าไม่ยอมลด พอราคาพลังงานขึ้นค่าไฟขึ้น เป็นการเอาเปรียบชาวบ้าน ควรปล่อยให้ค่าไฟเป็นไปตามกลไกตลาดพลังงาน
*ข้อดีคือ...
- รัฐไม่ต้องไปอุ้มราคาเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าอยู่ตลอดเวลาอย่างปัจจุบันนี้ซึ่ง
- ภาคอุตสาหกรรมไม่ควรได้รับการอุ้มจากรัฐไปด้วย
- ประชาชนจะได้เข้าใจถึงสถานการณ์พลังงานของตลาดโลกอย่างแท้จริง จะได้ปรับตัวต่อการมีชีวิตและใช้พลังงานให้สอดคล้องกับภาระค่าพลังงานจริงที่ตนต้องจ่าย ไม่ใช่บิดเบี้ยว บิดเบือนอยู่อย่างทุกวันนี้ แล้วสุดท้ายไปตกหนักอยู่ภาครัฐ จะทำให้ไม่ก้าวหน้าในการพัฒนาประเทศ
*ข้อเสียคือ...
- อาจมีปัญหาสำหรับการบริหารจัดการและด้านเทคนิค ซึ่งรัฐควรจะต้องหาวิธีที่เหมาะสมต่อสภาวะพลังงานของโลก โดยไม่ปกปิดบิดเบือน นี่อาจจะเป็นงานหนักสำหรับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ แต่ก็ต้องทำ เพราะเป็นหน้าที่ผู้ให้บริการประชาชน สำหรับผู้ให้บริการแล้ว ควรจะหาวิธีและทำด้วยกระบวนการที่เป็นประโยชน์ต่อชาติประชาชนสูงสุดอยู่แล้ว
5) เสนอให้แก้กฎหมายพลังงานทุกชนิด ให้สอดคล้องกับสถานการณ์พลังงานของโลกในปัจจุบัน และให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน
รวมความแล้ว งานนี้ ทุกฝ่ายต่างเห็นชอบในข้อเสนอที่ร่วมกันพิจารณา แม้จะไม่ทุกข้อนัก แต่ก็ไม่มีใครปฏิเสธ หากเป็นประโยชน์ต่อชาติประชาชน สาระในข้อเสนอมีอยู่ประมาณ 80 ข้อ หากใครสนใจตามดูรายละเอียดทางหน้าเว็บไซต์ก็เชิญ ฉันได้สั่งให้กองเลขาไปตรวจทานแล้วนำมาส่งให้ฉันตรวจดูอีกที จึงจะส่งไปให้กระทรวงพลังงาน กลุ่มผลประโยชน์พลังงาน และแกนนำเวทีแจ้งวัฒนะลงนามภายในสัปดาห์หน้า แล้วจะนำส่ง คสช. รัฐบาล สภาปฏิรูป ระหว่างนี้ใครมีข้อเสนอดีๆ เชิญเสนอเข้ามา จะได้นำส่งให้รัฐเขารับไม้ต่อไป
งานนี้น่าจะเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว เหตุเพราะมีข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อชาติประชาชนอย่างครอบคลุม ทั่วถึง และถ้าใครยังเห็นว่า ยังไม่ครอบคลุม เชิญเสนอแนะ นำเสนอมา ฉันยินดีรับฟัง แต่ไม่ใช่มาจับผิดกันนะจ๊ะ อันนี้ต่างคนต่างไป ฉันไม่ขอเกี่ยวข้องด้วย.