xs
xsm
sm
md
lg

NPLแตะ2.95แสนล.ปริมาณ-สัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ธปท.เผยสถาบันการเงินทั้งระบบมียอดคงค้างเอ็นพีแอลแตะ 2.95 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.35% พบปริมาณ-สัดส่วนเอ็นพีแอลไต่ระดับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 2.75 หมื่นล้านบาทและเพิ่มจากไตรมาสก่อน 1.02 หมื่นล้านบาท

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า ธปท.ได้เปิดเผยข้อมูลหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หักเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ (เอ็นพีแอลสุทธิ) ของสถาบันการเงินในระบบ ซึ่งรวมถึงเงินกู้ยืมระหว่างระหว่างธนาคาร (Interbank)ด้วย ล่าสุด ณ สิ้นเดือนก.ย. หรือไตรมาส 3 ของปี 57 พบว่า สถานการณ์หนี้เอ็นพีแอลยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปริมาณและสัดส่วนของเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นทุกช่วงเวลา

ทั้งนี้ ปริมาณและสัดส่วนเอ็นพีแอลทยอยเพิ่มขึ้น หากพิจารณาในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา จากเดือนก.ย.ปี 56 ยอดคงค้างเอ็นพีแอลของสถาบันการเงินทั้งระบบอยู่ที่ 2.68 แสนล้านบาท ในสัดส่วน 2.23% เดือนธ.ค.56 ยอดคงค้างอยู่ที่ 2.67 แสนล้านบาท สัดส่วน 2.16% หลังจากนั้นในปี 57 เดือนมี.ค.ทยอยเพิ่มขึ้นเป็น 2.81 แสนล้านบาท สัดส่วน 2.26% เดือนมิ.ย.ยอดคงค้างอยู่ที่ 2.85 แสนล้านบาท สัดส่วน 2.29% และล่าสุดเดือนก.ย.ของปีนี้ ขยับขึ้นเป็น 2.95 แสนล้านบาท ในสัดส่วน 2.35%

โดยเมื่อพิจารณาแต่ละช่วงเวลา พบว่า เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 2.75 หมื่นล้านบาท จากสิ้นปีก่อนเพิ่มขึ้น 2.8 หมื่นล้านบาท รวมทั้งจากไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น 1.02 หมื่นล้านบาท หรือเมื่อพิจารณาการเติบโตเพิ่มขึ้น 10.26%, 10.50% และ3.58% ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าการเติบโตค่อยๆ ทยอยลดลง เนื่องจากผู้ให้กู้อย่างสถาบันการเงินและผู้กู้ระมัดระวังตัวเองมากขึ้นในยุคเศรษฐกิจชะลอตัว

เช่นเดียวกับยอดคงค้างเอ็นพีแอลสุทธิเพิ่มขึ้นเช่นกัน ในปี 56 จากเดือนก.ย.มียอดอยู่ที่ 1.22 แสนล้านบาท สัดส่วน 1.03% เดือนธ.ค. ยอดคงค้าง 1.24 แสนล้านบาท สัดส่วน 1.02% เมื่อเข้าปี 57 ในเดือนมี.ค.ขยับเป็น 1.33 แสนล้านบาท สัดส่วน 1.08% เดือนมิ.ย.มียอดที่ 1.35 แสนล้านบาท สัดส่วน 1.10% และล่าสุดในเดือนก.ย.ของปีนี้ยอดคงค้างเอ็นพีแอลสุทธิแตะระดับ 1.46 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.18%

เป็นการเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 2.39 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อน 2.18 หมื่นล้านบาท และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 1.11 หมื่นล้านบาท ซึ่งการเติบโตค่อยๆ ลดลงเช่นกันทั้งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 19.56% จากสิ้นปีก่อน 17.49% และจากสิ้นไตรมาสก่อน 8.24%

ก่อนหน้านี้ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ธปท.กำลังจับตาปัญหาหนี้ครัวเรือน หลังล่าสุดในไตรมาส 2 ของปีนี้ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศขยับอยู่ที่ 83% ซึ่งจะมีผลต่อความเปราะบางทางการเงินมากน้อยแค่ไหน แต่ยืนยันว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนยังไม่สร้างกังวลมากเกินไป เพราะการเติบโตเริ่มทยอยลงมาตั้งแต่กลางปีก่อนและยังไม่เห็นสัญญาณ สะท้อนว่าคุณภาพสินเชื่อจะมีปัญหาและไม่มีอะไรน่ากังวล.
กำลังโหลดความคิดเห็น