ศูนย์วิจัยเอสซีบี ชี้ การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือน ยังไม่กระทบเสถียรภาพระบบการเงิน เนื่องจากหนี้ที่เพิ่มขึ้น กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงน้อย คือ กลุ่มที่มีรายได้ปานกลางถึงสูง นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีความกังวลใจเรื่องการเกิดภาวะเงินฝืด ซึ่งจะส่งผลให้รายได้ของครัวเรือนน้อยลง ทำให้ภาคสินค้าและบริการจะได้รับรายได้น้อยลงด้วย
นายพชรพจน์ นันทรามาศ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เปิดเผยงานวิจัยในงานสัมมนาวิชาการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรื่อง “การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือน นัยต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ” โดยระบุว่า หนี้ครัวเรือนของไทยในช่วงที่ผ่านมาส่งผลกระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจหรือจีดีพี แต่ยังไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินเท่าใดนัก เนื่องจากหนี้ที่เพิ่มขึ้น กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงน้อย คือกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางถึงสูง
อย่างไรก็ตาม การเร่งตัวของหนี้ครัวเรือนส่วนหนึ่งยังมาจากกลุ่มคนรายได้น้อย และพบว่าหนี้ครัวเรือนมีสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้มากกว่า 40% แสดงให้เห็นว่ากลุ่มครัวเรือนเหล่านี้มีความเปราะบางทางการเงิน ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้และการบริโภคของครัวเรือน ส่วนใหญ่พบในแถบอีสานตอนใต้ ภาคกลาง และภาคเหนือ ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรม
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีความกังวลใจเรื่องการเกิดภาวะเงินฝืด ซึ่งจะส่งผลให้รายได้ของครัวเรือนน้อยลง ทำให้ภาคสินค้าและบริการจะได้รับรายได้น้อยลงด้วย อย่างไรก็ตาม ยังมีหนี้ครัวเรือนจำนวนไม่น้อยที่เกิดจากความไม่ได้ตั้งใจในการก่อหนี้ เช่น จากการเจ็บป่วย อุบัติเหตุ และการตกทอดของหนี้จากการเสียชีวิต รวมถึงภัยธรรมชาติ ซึ่งมองว่าผลิตภัณฑ์ทางด้านประกันภัยสามารถขจัดปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนได้
ประชาชนควรจะต้องมีความรู้ในการวางแผนทางด้านครัวเรือน ซึ่งต้องมองหาเครื่องมือที่จะช่วยวางแผนในการใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบันคนส่วนใหญ่จะใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน ควรมีการใช้โปรแกรมในโทรศัพท์เพื่อคำนวณเงินในการใช้จ่าย ซึ่งหากใช้ให้เกิดประโยชน์จะสามารถป้องกันการก่อหนี้โดยไม่จำเป็นได้
ด้านนายอธิภัทร มุทิตาเจริญ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)หรือ SCB เปิดเผยว่าประเทศไทยจะไม่เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยติดต่อกัน 2 ไตรมาส หรือ Recession เนื่องจากเศรษฐกิจในไทยนั้นไม่ได้เติบโตต่ำอย่างในยุโรปที่เติบโตแค่ 1% ขณะที่เศรษฐกิจไทยในปีหน้าเติบโต 4-5% แต่ยังมีความเสี่ยงคือเรื่องของการบริโภคที่ลดลงจากภาวะหนี้ครัวเรือน ซึ่งมองว่าอย่างน้อยจะเกิดขึ้นในอีก 2-3 ปี และหากมีการส่งสัญญาณออกมา เชื่อว่าจะมีผู้วางนโยบายการเงินจะเข้าไปดูแล
นายอธิภัทรยัง กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยเฉลี่ยแล้วสัดส่วนระดับหนี้ต่อรายได้นั้นอยู่ที่ 27% แต่มีบางครัวเรือนสูงกว่า 40% เช่น กลุ่มที่มีรายได้น้อยต่ำกว่า 9,000 บาทต่อเดือน ถือเป็นความเสี่ยงระยะสั้น ในส่วนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำจะมีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มที่มีรายได้สูง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยจะแปรผันตามอัตราดอกเบี้ยตลาดรวม ส่วนผลกระทบจากการบริโภคจะกระทบกับทุกกลุ่ม