xs
xsm
sm
md
lg

กระจายอำนาจทางการเมือง

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

เคยมีคนตั้งข้อสงสัยหรือไม่ว่า เหตุใดเราจึงต้องมี ส.ส.ถึง 400-500 คน เพราะเรามักจะคิดว่าจำนวน ส.ส.ควรเป็นไปตามสัดส่วนของประชากร ส.ส.จะได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของปวง แต่ถ้าดูไปแล้วจะเห็นได้ว่า ส.ส.มีหน้าที่อื่นอีก คือการควบคุมตรวจสอบรัฐบาลและออกกฎหมาย เมื่อสำรวจการทำหน้าที่ของ ส.ส.แล้วจะพบว่าการเสนอกฎหมายนั้น มี ส.ส.ประมาณไม่เกิน 50 คนหรือเพียงร้อยละ 10 ของ ส.ส.ทั้งหมดที่ทำหน้าที่นี้ ส่วนการควบคุมตรวจสอบรัฐบาลนั้น มี ส.ส.จำนวนมากกว่าที่ทำหน้าที่เหล่านี้ ส่วนการเป็นตัวแทนของประชาชนนั้น ประชาชนก็มีความคาดหวังและใช้ประโยชน์ ส.ส.ด้านนี้มาก นอกจากนั้น ส.ส.ยังต้องคอยช่วยเหลือประชาชนในงานแต่งงาน งานศพ งานบวชนาค ตลอดจนฝากเด็กเข้าโรงเรียน และหางานให้ทำอีกด้วย ซึ่งที่จริงไม่ใช่หน้าที่ของ ส.ส.แต่ก็เป็นธรรมเนียมของไทยเรา

ในการควบคุมตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินนั้น จะว่าไปแล้ว ส.ส.ก็ไม่ได้เน้นในเรื่องนโยบายเท่าใดนัก แต่มักจะตรวจสอบในขั้นตอนการปฏิบัติ โดยเฉพาะโครงการที่อาจส่อว่าจะมีการทุจริต เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีข้อสงสัยว่างานเหล่านี้เหตุใดจึงต้องใช้คน 400-500 คนทำ แต่งานที่ ส.ส.นิยมทำก็คือ การหางบประมาณ และโครงการไปลงที่จังหวัดของตน และมักปรากฏว่า ส.ส.เป็นผู้แจกจ่ายผลประโยชน์ และมีส่วนในการประมูลโครงการเหล่านั้น การจ้องหาผลประโยชน์นี้เห็นได้จากการที่ ส.ส.หลายคนไปอยู่หน้าห้องรัฐมนตรีคอยติดต่อกับผู้ที่มาขอทำโครงการและอื่นๆ การกระทำเช่นนี้ ก่อให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์มากมาย ดังเห็นได้จากโครงการจำนำข้าว เป็นต้น

ปัญหาทางการเมืองไทยมีมากและซับซ้อน ยากที่จะแก้ไขเพราะมีขนาดใหญ่โต แก้ที่จุดหนึ่งก็ไปโผล่อีกจุดหนึ่ง เป็นเช่นนี้จนเกิดการหมักหมมยากที่จะแก้ไข และเราก็มีระบบการเมืองที่เหมือนเดิม เป็นเหตุให้ต้องวนเวียนอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า “วงจรอุบาทว์”

เราพูดถึงการกระจายอำนาจอยู่บ่อยๆ แต่เราไม่เคยคิดถึง “การกระจายอำนาจทางการเมือง” แต่มองว่าปัญหาการกระจายอำนาจเป็นปัญหาทางการเมือง ที่จริงการมี ส.ส.จำนวนมากในระดับบนคือ ระดับชาติ ทำให้เกิดการกระจุกตัวทางอำนาจ ในระดับท้องถิ่น เรามีองค์การปกครองท้องถิ่นหลายรูปแบบ และเพียงพอต่อการเป็นตัวแทนของประชาชน เพียงแต่ยังขาดแคลนงบประมาณเท่านั้น อย่างไรก็ดี ใน 10 ปีที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้มีคณะกรรมการกระจายอำนาจ มีผลทำให้ส่วนกลางต้องแบ่งเงินไปให้ท้องถิ่นมากขึ้น

ในรูปแบบเงินอุดหนุน แต่ก็ยังไม่เพียงพอมีแต่ อบต.ในเขตอุตสาหกรรมเช่น ในจังหวัดสมุทรปราการ และที่อื่นๆ ไม่เกิน 10 แห่งที่มีงบประมาณจำนวนมาก

หากเราออกแบบประชาธิปไตยให้ฐานกว้าง และยอดแถบเป็นรูปพีระมิด ท้องถิ่นก็จะเป็นฐานหลัก เรื่องที่ประชาชนไปขอให้ ส.ส.ทำก็สามารถทำได้ในระดับท้องถิ่น นอกจากนั้น ประชาชนยังติดตามตรวจสอบการทำงานของท้องถิ่นได้ง่ายกว่า เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว ที่สำคัญก็คือ งานระดับท้องถิ่นมีขนาดเล็ก การจะคอร์รัปชันหากจะมีก็จะเห็นได้ง่ายกว่างานระดับชาติที่มีความซับซ้อน และมีขนาดใหญ่กว่า

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็ควรจะหาทางแก้ไขปัญหาการเมืองไทย โดยการลดขนาดของปัญหาก่อน วิธีการหนึ่งก็คือ กำหนดให้จำนวน ส.ส.มีน้อยลง โดยอาจคิดจำนวนประชากรให้มากขึ้น เช่น แบ่งเป็นเขตใหญ่มีจำนวน 6 ล้านคน ทั่วประเทศก็จะมีประมาณ 10-11 เขต แต่ละเขตก็ให้มี ส.ส.สัก 10 คนก็พอเพียง วิธีการนี้จะทำให้ ส.ส.ทั่วประเทศมีเพียง 100 คน และก็ไม่จำเป็นต้องมีวุฒิสภา การตรวจดูกฎหมายก็สามารถทำเป็นคณะที่ปรึกษาได้

ในการนี้ ไม่จำเป็นต้องบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค บทบาทพรรคการเมืองก็จะน้อยลง ส.ส.จะมีความเป็นอิสระมากขึ้น ฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารควรแยกกันโดยเด็ดขาด รัฐบาลไม่มีอำนาจยุบสภา และ ส.ส.ก็ไม่มีอำนาจลงมติไม่ไว้วางใจ การเลือกตั้งให้มีการเลือกตั้งคณะรัฐมนตรีโดยตรง หากกลุ่มอิสระจะเสนอตัวเข้ามา ก็ไม่จำเป็นต้องมีเสียงสนับสนุนจากสภาฯ เพราะได้แยกอำนาจกันแล้ว

วิธีการนี้เป็นวิธีการใหม่ เราจะปฏิรูปกันทั้งทีก็ควรคิดหาหนทางใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน และวิธีการแก้ปัญหาอย่างหนึ่งก็คือ การลดความเข้มข้นของอำนาจที่ส่วนกลางลง กระจายอำนาจไปสู่ประชาชนในท้องถิ่นให้มากขึ้น เป็นการลดขนาดของการเมืองระดับชาติลงด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น