xs
xsm
sm
md
lg

พ่อแม่หม่องคดีเกาะเต่าถึงไทย ร้องขอความเป็นธรรม อังกฤษยันส่งทีมมาแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-พ่อแม่-ญาติ 2 ผู้ต้องหาพม่าถึงไทย ร่ำไห้ขอความเป็นธรรม สภาทนายความออกแถลงการณ์ ระบุผู้ต้องหาถูกซ้อม ปฏิเสธข้อกล่าวหา ด้านตำรวจ สภ.เกาะสมุย ขออนุญาตนำตัวไปเอ็กซเรย์ทรวงอกตามคำร้องต่อคณะทำงานทนายความ ขณะที่อัยการยันให้น้ำหนักผลตรวจดีเอ็นเอ ไม่เกี่ยวปฏิเสธหรือสารภาพ "ประยุทธ์"ยอมอังกฤษช่วยคดีเกาะเต่า ทูตประสานบัวแก้วส่งทีมมาแน่ "อียู" พบสมาคมสื่อ ยื่นหนังสือแสดงความกังวลเสนอข่าวละเมิดสิทธิผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ

จากเหตุคนร้ายลงมือสังหารโหด นายเดวิด มิลเลอร์ และ น.ส.ฮันนาห์ วิทเธอริดจ์ นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ อายุ 24 ปี ทั้งสองคน บริเวณชายหาดทรายรี เกาะเต่า อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี เหตุเกิดกลางดึกวันที่ 15 ก.ย.2557 และตำรวจสามารถจับกุม 2 แรงงานพม่า จากรัฐยะไข่ คือ นายเว พิว หรือ นายวิน ซอ อายุ 21 ปี และ นายซอ ลิน หรือ โซเรน อายุ 21 ปี ซึ่งถูกตั้งข้อสงสัยจากสื่ออังกฤษ ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน พ่อ แม่ และญาติของผู้ต้องหาว่าตำรวจจับพะ ล่าสุดทนายความของผู้ต้องหายังระบุว่า ทั้ง 2 คนให้การปฏิเสธ และการที่ต้องรับสารภาพเป็นเพราะถูกซ้อม

ล่าสุดเมื่อเวลา 09.45 น. วานนี้ (22 ต.ค.) ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง นายอู ทัน ทัน ไต และนางอู ซอ เอ หม่อง พ่อแม่ของนายวิน ซอ นางดาว์ ฟิว ชเว นู และนายอู เทียนชเว อ่อง แม่และลุงของนายซอ ลิน เดินทางมาถึงประเทศไทย ด้วยสายการบินนกแอร์ เที่ยวบินที่ DD4231 โดยมีตัวแทนสถานเอกอัครราชทูตพม่าประจำประเทศไทย และคณะกรรมการคุ้มครองแรงงาน มารอให้การต้อนรับ โดยมีผู้สื่อข่าวทั้งไทยและสำนักข่าวต่างประเทศ มารอทำข่าวจำนวนมาก

โดยพ่อแม่และญาติของผู้ต้องหาทั้ง 2 คนถึงกับร่ำไห้ออกมา โดยนายอู ทัน ทัน ไต เดินถือพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ออกมาด้วย และนางอู ซอง เอ หม่อง ถือป้ายข้อความว่า "เรารักในหลวง" พร้อมขอความเป็นธรรมให้ลูกชาย เพราะเชื่อว่าลูกชายไม่ได้ผิดตามที่ถูกกล่าวหา จากนั้นเดินทางต่อไปยังสถานเอกอัครราชทูตพม่าประจำประเทศไทย ถนนสาธรเหนือ แขวงสีลม เขตบางรัก กทม.

วันเดียวกัน สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ออกแถลงการณ์ว่า วันที่ 20 ต.ค. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ได้แต่งตั้งคณะทำงานให้ความช่วยเหลือคดี โดยมีนายสุรพงษ์ กองจันทึก เป็นหัวหน้าคณะทำงาน โดยเมื่อวันที่ 21 ต.ค. ทนายความเข้าพบผู้ต้องหา ซึ่งร้องขอให้ทีมทนายความ ยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการจังหวัดเกาะสมุย โดยปฏิเสธข้อกล่าวหาของพนักงานสอบสวนที่ว่าตนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการข่มขืนและฆาตกรรม แต่ที่รับสารภาพเนื่องจากระหว่างถูกควบคุมตัว ได้ถูกเจ้าหน้าที่บางคนและล่ามร่วมกันทรมานให้รับสารภาพในวันที่ 2 ต.ค.

จากนั้นตำรวจจึงได้ขอให้ศาลออกหมายจับ และนำผู้ต้องหาไปทำแผนวันที่ 3 ต.ค. ซึ่งการยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมครั้งนี้ เพื่อขอให้พนักงานอัยการสอบสวนเพิ่มเติมในประเด็นการบังคับให้ผู้ต้องหารับสารภาพ และสอบสวนพยานของผู้ต้องหาด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และนำผู้กระทำความผิดที่แท้จริง เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อไป

ทั้งนี้ จากการเข้าเยี่ยมโดยคณะทำงาน และตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคม พบว่าผู้ต้องหาถูกใส่โซ่ตรวนตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งในขณะที่ถูกขัง ระหว่างเดินทางมายังศาล ซึ่งศาลปกครองเคยมีคำพิพากษา เพื่อสร้างบรรทัดฐานด้านการตีตรวนผู้ต้องขังตลอด 24 ชั่วโมงว่าเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ต้องขัง

นายวิทยา สุริยะวงค์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ก่อนนำตัวผู้ต้องหาไปคุมขัง ได้มีการตรวจสุขภาพตามขั้นตอน ไม่พบว่ามีบาดแผล ส่วนที่จะให้เรือนจำส่งตัวผู้ต้องหาออกไปเอ็กซเรย์หาบาดแผล เพื่อพิสูจน์ว่าถูกซ้อมตามที่อ้างหรือไม่นั้น การนำตัวจากเรือนจำต้องเป็นคำสั่งศาล ทางเรือนจำไม่อนุญาตให้นำตัวออกไปโดยพลการ

วันเดียวกัน นายแอนดี้ ฮอล นักกฎหมายชาวอังกฤษ ในฐานะที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายต่างประเทศ เครือข่ายเพื่อสิทธิมนุษยชนแรงงานข้ามชาติ เข้าเยี่ยม 2 ผู้ต้องหาที่เรือนจำอำเภอเกาะสมุย โดยทั้ง 2 คนร้องผ่านล่ามว่า มีอาการบาดเจ็บหลายแห่ง รวมทั้งบาดเจ็บจากการถูกตีตรวน ต่อมาเวลา 14.30 น. เรือนจำอำเภอเกาะสมุย ได้รับหนังสือจากสภ.เกาะสมุย ขออนุญาตนำผู้ต้องหาไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลเกาะสมุย โดยเอ็กซเรย์บริเวณทรวงอก และตามจุดที่ผู้ต้องหาให้การกับคณะทำงานจากสภาทนายความ ว่าเจ็บที่หน้าอกซึ่งอาจเกิดจากการถูกซ้อมให้รับสารภาพ โดยผลการตรวจร่างกายทางโรงพยาบาลจะแจ้งให้คณะทำงานและตำรวจทราบต่อไป เนื่องจากต้องตรวจอย่างละเอียด

ด้านนายไพบูลย์ อาชวานันทกุล อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการภาค 8 รักษาการอัยการจังหวัดเกาะสมุย กล่าวว่า หลังจากทีมทนายทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรม ต้องตรวจสอบก่อนว่าที่ผู้ต้องหาระบุว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมนั้น สอดคล้องกับสำนวนการสอบสวนของตำรวจมากน้อยเพียงใด ซึ่งยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย

"อัยการไม่ได้ให้น้ำหนักเรื่องผู้ต้องหาทั้ง 2 คนจะให้การปฏิเสธหรือรับสารภาพ แต่จะให้น้ำหนักไปที่ผลทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ คือ การตรวจดีเอ็นเอ ซึ่งจะเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่าทั้ง 2 คนเป็นคนลงมือก่อเหตุหรือไม่"

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ได้ให้พนักงานสอบสวนไปสอบเพิ่มเติม ในส่วนที่ทางอัยการเห็นว่ายังไม่ครบถ้วนเป็นรอบที่ 2 จากนั้นจะหารือในส่วนของอัยการก่อนที่จะสรุปสำนวนส่งฟ้องศาลต่อไป

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณี 2 ผู้ต้องหากลับคำรับสารภาพว่า เมื่อคืนวันที่ 21 ต.ค. ได้พูดคุยกับสถานทูตของทั้งสองประเทศแล้ว ซึ่งเขาพอใจ แล้วเดี๋ยวเขาขอเข้ามาช่วยหน่อย

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ต้องการสื่อสาร คือ สิทธิสภาพนอกอาณาเขต และกระบวนการยุติธรรมของไทยเป็นไปตามหลักสากล ซึ่งคนอื่นไม่สามารถก้าวก่ายได้ แต่หากไม่สบายใจหรือยังมีข้อสงสัย ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของพม่า อังกฤษ ญาติผู้ต้องหา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน หรือญาติผู้เสียชีวิต ก็สามารถสอบถาม หรือเข้ามาสังเกตการณ์การทำงานได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำคดียืนยันว่าไม่หนักใจ การสืบสวนสอบสวน พยานหลักฐานมีความสมบูรณ์ ส่วนการกลับคำให้การถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ เพราะมีหลายคดีที่เคยเกิดขึ้นแล้ว

ขณะที่นายมาร์ค เคนท์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย เข้าหารือกับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อประสานการทำงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ ตกลงในหลักการกับนายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่จะให้อังกฤษส่งทีมเจ้าหน้าที่สืบสวนเดินทางเข้ามายังไทย โดยฝ่ายอังกฤษยืนยันในหลักการว่า การสืบสวนสอบสวนเป็นเรื่องภายในของฝ่ายไทย การส่งทีมเข้ามาเพียงเพื่อหารือและรับฟังข้อมูลจากฝ่ายไทยเกี่ยวกับกระบวนการและวิธีการสืบสวน และฝ่ายอังกฤษพร้อมให้การสนับสนุนหากฝ่ายไทยร้องขอ ส่วนรายละเอียดการทำงานร่วมกัน ต้องหารือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อไป

ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะทูตสหภาพยุโรป 8 ประเทศ นำโดยนายฟรานเชสโก ซาเวริโอ นิสิโอ เอกอัครราชฑูตอิตาลีประจำประเทศไทย ในฐานะประธานกลุ่มอียู ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็น พร้อมกับยื่นหนังสือ "ความรับผิดชอบของสื่อในการนำเสนอข่าวเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย" โดยมีนายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ในฐานะประธานคณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป และผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อเข้าร่วม

นายฟรานเชสโก ซาเวริโอ นิสิโอ กล่าวว่า มีความกังวลกับการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนไทยกรณีเกาะเต่า อยากเรียกร้องว่านอกเหนือจากเนื้อหาแล้ว ภาพและกราฟิก ต้องไม่ละเมิดผู้ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ไม่จำเป็นต้องนำเสนอรายละเอียดของเหยื่อมากเกินไป เนื่องจากจะเป็นการไม่เคารพความเป็นส่วนตัวและสิทธิส่วนบุคลแล้ว ยังจะส่งผลกระทบกับความรู้สึกต่อคนในครอบครัวและผู้ใกล้ชิดอีกด้วย

นายมาร์ค เคนท์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวว่า ส่วนตัวสนับสนุนเสรีภาพในการรายงานและนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนไทย แต่ก็อยากเห็นการเคารพความเป็นส่วนตัว ซึ่งพร้อมจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานของสื่อในประเทศอังกฤษกับสื่อไทย

"หลังจากเกิดเหตุที่เกาะเต่า พบว่านักท่องเที่ยวอังกฤษที่มาเที่ยวเมืองไทยส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ผมยังมองว่าคนไทยและประเทศไทยยังน่าประทับใจเช่นเดิม"

นายเทพชัย กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่คณะทูตจากยุโรป แสดงความเป็นห่วงการนำเสนอข่าวของสื่อไทยมากเพียงนี้ ซึ่งตนหวังว่าสื่อต้องให้ความสำคัญ และนำมาเป็นประเด็นผลักดันเกี่ยวกับการปฏิรูปสื่อ เพราะเรื่องจริยธรรมและความรับผิดชอบของสื่อนั้นสำคัญมาก ซึ่งที่ผ่านมาการกำกับดูแลกันเองขององค์กรวิชาชีพก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่อยากให้เป็น ดังนั้นหากต้องมีการปฏิรูป ต้องทำให้การกำกับดูแลกันเองมีความเข็มแข็ง ที่สำคัญต้องมีกฏกติกาที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรม และบทลงโทษที่สังคมมั่นใจได้ว่า จะสอดคล้องกับความผิดของสื่อ
กำลังโหลดความคิดเห็น