xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“คดีเกาะเต่า” ชาติพังไม่ว่า แต่เสียหน้าไม่ได้!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ครบหนึ่งเดือนเต็มแล้วที่นายเดวิด มิลเลอร์ และนางสาวฮันนาห์ วิเทอริดจ์ นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษถูกฆ่าเสียชีวิตอย่างเหี้ยมโหดที่บริเวณหาดทรายรี เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี จนกลายเป็นคดีสะเทือนขวัญระดับโลก แม้ตอนหลังตำรวจไทยจะจับผู้ต้องหาชาวพม่าได้สองราย โดยอ้างว่าเป็นผู้ร้ายตัวจริง แต่กระแสสังคมยังสงสัยว่าผู้ต้องสงสัยที่จับได้เป็นคนร้ายตัวจริงหรือเป็น “แพะ” กันแน่

โดยเฉพาะเมื่อมีปฏิกิริยาจากทางฝั่งผู้สูญเสียคือรัฐบาลอังกฤษ และผู้ต้องสงสัยคือรัฐบาลพม่า ซึ่งต้องถือว่า ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นให้เห็นได้ง่ายๆ

อังกฤษและพม่าร้องขอความเป็นธรรม

ทั้งนี้ ผู้ต้องสงสัยสองแรงงานพม่าที่ตำรวจไทยยืนยันว่าไม่ใช่แพะแน่นอนนั้น เป็นพนักงานบาร์วัย 21 ปี ชื่อนายซอลิน หรือโซเรน และนายเวพิว หรือนายวิน โดยทั้งคู่ถูกตั้งข้อหาร่วมกันฆ่า ร่วมกันข่มขืน และชิงทรัพย์

ภายหลังตำรวจจับตัวผู้ต้องหาสองราย ท่ามกลางกระแสข่าวลือสงสัยว่าเป็นการจับแพะหรือไม่นั้น ฝ่ายรัฐบาลพม่าก็ได้มีการเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ผู้ต้องหาชาวพม่า โดย “เต็ง เส่ง” ประธานาธิบดีพม่า ได้ร้องขอคำรับรองต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีโอกาสไปเยือนพม่าในวันที่ 9- 10 ต.ค. ที่ผ่านมา เพื่อเป็นสักขีพยานลงนาม MOU เมืองพี่เมืองน้องระหว่างไทยกับพม่า 3 เมือง ว่าการสืบสวนจะดำเนินไปอย่าง “บริสุทธิ์และยุติธรรม” ต่อชาวพม่า 2 คน ที่ถูกตั้งข้อหาฆาตกรรมนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ

ส่วนรัฐบาลอังกฤษก็ได้มีท่าทีกังวลใจต่อการดำเนินคดีของตำรวจไทยเช่นกัน ซึ่งในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษได้เชิญอุปทูตไทยมาพบเพื่อขอทราบความคืบหน้าต่อคดีนี้ โดย ฮิวโก สไวร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ ได้แจ้งให้ ณัฐวัฒน์ กฤษณามระ อัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอน ปฏิบัติราชการแทนเอกอัครราชทูต ทราบว่า อังกฤษกำลังมีความ “กังวลอย่างแท้จริง” ต่อวิธีการที่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจรับผิดชอบของไทยใช้รับมือจัดการกับคดีดังกล่าว โดยเขากล่าวว่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่จะต้องดำเนินการสืบสวนด้วยวิธีที่ “เป็นธรรมและโปร่งใส” และทางรัฐบาลอังกฤษพร้อมส่งเจ้าหน้าที่เข้าให้ความช่วยเหลือด้านการสืบสวนกับตำรวจไทย

จะว่าไปแล้ว ท่าทีของอังกฤษในการเชิญอุปทูตไทยเข้าพบนั้น ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าเป็นวิธีการกดดันด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างหนึ่ง กล่าวคือ อังกฤษต้องการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลอังกฤษเอาจริงเอาจังในคดีบนเกาะเต่าและต้องการให้รัฐบาลไทยดำเนินคดีนี้อย่างโปร่งใสที่สุด

แต่ดูว่าพล.อ. ประยุทธ์จะมองว่าการที่อังกฤษ “เรียกตัว” ทูตไทยเข้าพบนั้น เป็นแค่เรื่อง “ขอความร่วมมือให้ชี้แจง” ถึงเรื่องที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องใหญ่แต่อย่างใด ทั้งที่ความจริงแล้วการที่แต่ละประเทศจะเรียกตัวทูตอีกฝ่ายเข้าพบนั้นไม่ใช่แค่เรื่องเล็กๆ หากแต่เป็นเรื่องใหญ่และเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ นัก!

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้สัมภาษณ์กับสื่อถึงเรื่องนี้ว่าไม่ได้เป็นการเรียกอุปทูตไทยไป แต่เป็นการขอความร่วมมือให้ชี้แจง โดยระบุว่าอีกฝ่ายไม่ได้ติดใจอะไร เพียงแต่เขาขอเวลาทำใจ เพราะตำรวจจับผู้ต้องหาได้เร็ว จากเดิมที่ดูแล้วไม่น่าจะจับได้เพราะมีคนจำนวนมาก แต่เมื่อเจ้าหน้าที่อธิบายขั้นตอน ทางอังกฤษก็รับได้ ส่วนประเด็นที่อังกฤษต้องการมีส่วนร่วมในกระบวนตรวจสอบนั้น พล.อ. ประยุทธ์ยังกล่าวว่าอังกฤษสามารถเข้ามาในลักษณะของการสังเกตการณ์ แต่ไม่สามารถมาร่วมในกระบวนการสอบสวน เนื่องจากต้องให้เกียรติกับคนของเรา เพราะเราก็ให้เกียรติคนของเขา แต่หากมีข้อสงสัยอะไร ก็สามารถเคลียร์ให้ได้

นอกจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ยังออกมาฉะ “สื่อไทย” ว่าเป็นเหตุทำให้ต่างชาติไม่ไว้ใจ เพราะเขาติดตามโซเชียลมีเดียอยู่ โดยบอกว่าตนเองเดินทางไปพม่าก็ไม่เห็นเขาจะพูดอะไรมากมาย เรื่องคำว่า “ขอความเป็นธรรม” ถือเป็นเรื่องปกติที่เขาจะต้องฝากดูแล ไม่ได้หมายความว่าไม่ไว้ใจกระบวนการของไทย

เชื่อว่านาทีนี้ ไม่มีใครเข้าใจพล.อ.ประยุทธ์ ได้ว่าคิดและกำลังทำอะไรอยู่!

เพราะดูเหมือนว่าพล.อ.ประยุทธ์ จะประเมินคำร้องขอความเป็นธรรมจากประธานาธิบดีพม่าว่าเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ทั้งที่คดีนี้เป็นเรื่องใหญ่ เมื่อมีการเรียกร้องระดับผู้นำด้วยกัน นั่นย่อมกลายเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแล้ว อีกทั้งการที่อีกฝ่ายจะมา “ขอความเป็นธรรม” จากอีกประเทศนั้นไม่ใช่เรื่องที่สมควรมองข้าม และคิดว่าเป็นเรื่องปกติแต่อย่างใด

นอกจากนั้นแล้ว หาก พล.อ.ประยุทธ์มองว่าการที่อังกฤษเรียกทูตไทยเข้าพบนั้นเป็น “เรื่องเล็ก” จริงๆ นั้น แสดงว่าพล.อ. ประยุทธ์ยังมองเกมการเมืองระหว่างประเทศยังไม่ขาด!

แต่เชื่อว่าการที่พล.อ.ประยุทธ์ ต้องออกมาแสดงท่าทีเหมือนว่าการขอความเป็นธรรมจากประธานาธิบดีพม่า หรือการที่อังกฤษเรียกทูตไทยเข้าพบไม่ใช่เรื่องใหญ่ เนื่องจากเป็นเรื่องของ “ศักดิ์ศรีค้ำคอ” อยู่
กล่าวคือ การที่อังกฤษแสดงท่าทีไม่เชื่อมั่นตำรวจไทยด้วยการใช้นโยบายทางการทูต เรียกทูตไทยเข้าพบและขอคำชี้แจงเรื่องคดีเกาะเต่านั้น อีกทางหนึ่งก็เป็นการบ่งบอกว่าอังกฤษไม่เชื่อมั่นในการทำงานของรัฐบาลไทยหรือ คสช. เนื่อ
งจากตอนนี้การทำงานของตำรวจไทย ก็เท่ากับผลงานของรัฐบาลไทย!
หรือการที่ประธานาธิบดีพม่าต้องออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากไทย มองอีกด้านก็เหมือนพม่าต้องการบอกว่าตอนนี้ “ไม่มีความเป็นธรรม”ในคดีเกาะเต่า

นี่เองจึงอาจเป็นสาเหตุที่ พล.อ.ประยุทธ์แสดงท่าทีประหนึ่งว่าเรื่องนี้ “ไม่มีอะไร” รวมถึงต้องแสดงท่าทีเชื่อมั่นในตำรวจไทยเสมอมา ทั้งที่ความจริงแล้ว พล.อ.ประยุทธ์คงลืมไปว่าการ “สร้างความเชื่อมั่น” ให้แก่นานาชาติ น่าจะสำคัญกว่า “การสร้างภาพ” เป็นไหนๆ เพราะเมื่อไหร่ที่ต่างชาติมองว่าประเทศไทยไร้น้ำยาในการคลี่คลายคดีเกาะเต่า เมื่อนั้นความน่าเชื่อถือของประเทศไทยก็จะลดลง และแน่นอนว่าเครดิตของ คสช. หรือรัฐบาลไทยก็จะย่อยยับอย่างแน่นอน

งง ประยุทธ์สั่งคัดนักท่องเที่ยว?

หลังเกิดคดีสังหารนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษจนฉาวโฉ่ไปทั่วโลก พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกมาระบุให้กระทรวงท่องเที่ยวฯ คัดนักท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพด้วย โดยบอกว่าไม่ใช่เอาจำนวนนักท่องเที่ยวเป็นตัววัดอย่างเดียว แต่ต้องเอาคุณภาพนักท่องเที่ยวเป็นตัววัดด้วย

“เรื่องนักท่องเที่ยวนั้นจำเป็นต้องควบคุมให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย ไม่ได้หมายความว่าจำกัดนักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวมากก็ดี แต่ถ้ามีมากแล้วมีคุณภาพด้วยก็จะดีขึ้น ไม่ใช่ดูถูกนักท่องเที่ยว ผมต้องการให้คนมาเที่ยวเยอะ แต่ถ้าพื้นที่ไหนมีนักท่องเที่ยวเข้าเยอะ แล้วไม่สามารถให้บริการได้เพียงพอเขาจะกลับมาด่าเรา ซึ่งบางสถานที่ท่องเที่ยวจะไปจำกัดนักท่องเที่ยวยาก เช่น กรุงเทพมหานคร ก็อยากจะมาเที่ยววัดพระแก้ว เพราะเป็นสัญลักษณ์ประเทศไทย” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

สร้างความงุนงงไม่น้อยว่า “คุณภาพนักท่องเที่ยว” มาเกี่ยวข้องกับคดีเกาะเต่าได้อย่างไร จริงอยู่ว่าการคัดคุณภาพนักท่องเที่ยว ถือเป็นเรื่องดีสำหรับประเทศไทย แต่ตอนนี้เรื่องที่สมควรดำเนินการเป็นอันดับแรกน่าจะเป็นมาตรการหาวิธีการสอบสวนที่เป็นยุติธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้มากกว่า!

ที่หนักไปกว่านั้นคือ แม้ที่ผ่านมาตำรวจไทยจะออกมายืนยันซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ผู้ต้องหาชาวพม่าไม่ได้ได้กลับคำให้การตามที่เคยเป็นข่าว ทั้งมีการระบุเพิ่มเติมว่า การถอนคำให้การของผู้ต้องหาจะไม่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจตั้งข้อหา แต่ล่าสุดดูเหมือนว่าตำรวจไทยจะฉาวโฉ่ไปทั่วโลกอีกแล้ว กล่าวคือเมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่ผ่านมา สื่อพม่าตีข่าวครึกโครมว่ารัฐบาลพม่าเร่งช่วยเหลือญาติของสองผู้ต้องสงสัยคดีสังหารนักท่องเที่ยวอังกฤษบนเกาะเต่าให้ได้รับหนังสือเดินทาง และวีซ่าเข้าไทยเพื่อเยี่ยมผู้ต้องหา หลังจากล่าสุดสองผู้ต้องหาอ้างว่าจำใจต้องรับสารภาพเพราะถูกตำรวจไทยซ้อม!

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการรัฐยะไข่ อู ซอ เอ หม่อง (U Zaw Aye Maung) กล่าวในการเปิดแถลงข่าวที่สำนักงานเครือข่ายสื่อมวลชนพม่าในย่างกุ้งว่า รัฐบาลพม่าได้ช่วยเหลือญาติผู้ต้องหาพม่าเชื้อสายยะไข่ให้ได้รับพาสปอร์ตและวีซ่าเข้าไทย “ในขณะนี้ญาติทั้งหมดของผู้ต้องหาคดีเกาะเต่าอยู่ที่กองหนังสือเดินทางต่างประเทศพม่า และทันทีที่พวกเขาได้รับหนังสือเดินทางและวีซ่า คนเหล่านั้นจะเดินทางไปยังไทยทันที”

และตอกย้ำหนักเข้าไปอีกเมื่อพ่อแม่ของแรงงานพม่าออกมาให้สัมภาษณ์บีบีซี สื่ออังกฤษว่า "คดีนี้มีการจัดฉากให้ลูกชายดิฉันกลายเป็นแพะรับบาป" เพราะเขาไม่ดื่มเหล้า และไม่เคยก่อเหตุรุนแรงมาก่อน และเธอยังแนะนำลูกชายของเธอให้บอกกับตำรวจด้วยว่า เขาไม่ผิด

มยินต์ ตาน แม่ของ วิน กล่าวว่า เธอเลี้ยงลูกของเธอด้วยความลำบากแสนเข็ญ และตอนนี้ชีวิตของเขาถูกทำลาย

ข่าวนี้ถือว่าฉีกหน้าตำรวจไทยอย่างสิ้นเชิง...

แม้ตอนนี้ไม่มีใครรู้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร สองแรงงานพม่าเป็นคนร้ายตัวจริงหรือไม่? ตำรวจจับแพะหรือเปล่า ? แต่เชื่อว่าตอนนี้ตำรวจไทยและพล.อ.ประยุทธ์จำเป็นต้องทำการบ้านอย่างหนัก เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงและคลี่คลายคดีนี้ให้โปร่งใสที่สุด เพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีตำรวจไทยและสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่รัฐบาลไทย

หากไม่สามารถคลี่คลายคดีนี้ได้ ก็น่ากลัวว่านโยบายเมืองพี่เมืองน้องระหว่างไทยกับพม่าจะเป็นหมัน รวมถึงจะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งพม่าและอังกฤษแน่นอน

ดังนั้น งานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเลือกว่าจะยอม “เสียหน้า” หรือจะยอมให้ “ชาติพัง”


นายเดวิด มิลเลอร์ และนางสาวฮันนาห์ วิเทอริดจ์ นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษถูกฆ่าเสียชีวิตที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี
กำลังโหลดความคิดเห็น