xs
xsm
sm
md
lg

สั่งปิด"ปทุมวัน-อุเทน" 3-9 วัน ขู่ซ้ำยิ่งตีกันปิดนานแบบคูณสาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สกอ.สั่งปิดสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า "ปทุมวัน" 3 วัน และวิศวกรรมโยธา-โลจิสติก "อุเทนถวาย" 9 วัน เชือดเหตุเปิดศึกทะเลาะวิวาท ย้ำ นศ.ยิ่งแห่ตีกันมาก ยิ่งปิดนานขึ้นแบบคูณ 3 ระบุหากไม่รู้สาขาวิชาจะปิดทั้งสถาบัน ขู่เสียชีวิตปิดยาว 1 ภาคเรียน - 1 ปีการศึกษา เล็งจับปฐมนิเทศร่วมกันแก้ปัญหา ปรับเครื่องแบบใส่ชุดเหมือนกัน “ณรงค์” ลั่น 2 สถาบันไม่หยุดตีกัน ใช้ยาแรงสั่งปิด งดรับนักศึกษาในปีต่อไป

วานนี้ (16 ต.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) รศ.นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาธิการ กกอ.) ได้เชิญ ผศ.สืบพงษ์ ม่วงชู รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย รศ.ปัญญา มินยง อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน และผู้บริหารทั้ง 2 สถาบันมาร่วมหารือกรณีนักศึกษาทั้งสองสถาบันก่อเหตุทะเลาะวิวาท

โดยเมื่อเวลา 10.30 น. รศ.นพ.กำจร ได้เปิดเผยภายหลังหารือ ว่า สกอ.ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา เกิดเหตุทะเลาะวิวาทระหว่างนักศึกษาทั้งสองสถาบัน โดยนักศึกษาจากสถาบันฯปทุมวัน ได้ขึ้นรถประจำทางสาย 29 จากหมอชิต เมื่อมาถึงบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีนักศึกษาจากอุเทนถวาย ขึ้นมาบนรถจำนวน 3 คน จากนั้นมีเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายกันเกิดขึ้น ซึ่งทางตำรวจสามารถจับนักศึกษาที่ก่อเหตุได้ 4 คน เป็นนักศึกษาสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า สถาบันฯปทุมวัน 1 คน นักศึกษาอุเทนถวาย 3 คน แบ่งเป็นสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา 1 คน และสาขาโลจิสติกส์ 2 คน อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าใครเป็นฝ่ายเริ่มก่อน เนื่องจากนักศึกษาทั้งสองฝ่ายให้การต่างกัน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย

รศ.นพ.กำจร กล่าวว่า ตนได้รายงานเรื่องนี้ต่อ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการ ก็สั่งให้ดำเนินการตามนโยบายที่ตกลงกันไว้ จึงได้เชิญผู้บริหารทั้งสองสถาบันมารับทราบข้อมูล โดยขอให้ทั้งสองสถาบันปิดการเรียนการสอนในสาขาวิชาที่นักศึกษาก่อเหตุเรียนอยู่ โดยให้สถาบันฯปทุมวัน ปิดสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าชั้นปีที่ 1-4 เป็นเวลา 3 วัน ส่วนอุเทนถวาย ให้ปิดสาขาวิศวกรรมโยธา และสาขาโลจิสติกส์ ชั้นปีที่ 1-4 เช่นกัน เป็นเวลา 9 วัน เนื่องจากไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุก่อน สำหรับมาตรฐานในการสั่งปิดนั้นจะดูจากจำนวนนักศึกษาที่ก่อเหตุเป็นหลัก คือยิ่งมีนักศึกษาก่อเหตุมากก็จะยิ่งปิดการเรียนการสอนนานขึ้น โดยกรณีนี้ยึดการปิดการเรียนการสอน 3 วันเป็นหลัก ทำให้อุเทนถวายที่มีนักศึกษาก่อเหตุ 3 คน จึงถูกปิดการเรียนการสอนนานกว่าเป็นเวลา 9 วัน

"มาตรการการปิดการเรียนการสอนนี้เชื่อว่าจะทำให้เด็กหลาบจำ และไม่ให้เกิดการซ่องสุมรวมตัวกันเพื่อพูดคุยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จนนำไปสู่การแก้แค้นภายหลัง ส่วนจะเริ่มปิดตั้งแต่วันใดและจะดำเนินการอย่างไรกับนักศึกษาเป็นอำนาจของมหาวิทยาลัยที่จะต้องไปดูแล สำหรับสาเหตุที่เลือกใช้มาตรการปิดเฉพาะสาขาแทนการปิดสถาบันเพราะรู้สึกเห็นใจนักศึกษาที่ตั้งใจเรียน ซึ่งการปิดการเรียนการสอนในครั้งนี้ จะมีนักศึกษาทุกชั้นปีของสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า สถาบันฯปทุมวัน ได้รับผลกระทบ 70 คน ส่วนนักศึกษาทุกชั้นปีของสาขาวิศวกรรมโยธา และสาขาโลจิสติกส์ อุเทนถวายรวมกัน 700 คน แต่นี่เป็นมาตรการที่เบาที่สุดแล้ว ดังนั้น ถ้านักศึกษาไม่ต้องการให้มีการปิดการเรียนการสอน แต่ละสาขาก็ต้องช่วยดูแลกันเอง ไม่ให้เกิดการยกพวกตีกันอีก อย่างไรก็ตาม หากไม่ทราบว่าเด็กที่ก่อเหตุเรียนอยู่สาขาใด ก็ต้องสั่งปิดทั้งสถาบัน หากถึงขั้นเสียชีวิตก็ต้องปิดอย่างน้อย 1 ภาคเรียนถึง 1 ปีการศึกษา ซึ่งทำให้นักศึกษาเดือดร้อนมากขึ้นไปอีก แต่หากทราบว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุก่อนก็จะสั่งปิดเพียงสถาบันนั้น" เลขาธิการ กกอ. กล่าว

รศ.นพ.กำจร กล่าวว่า มาตรการสั่งปิดการเรียนการสอนเป็นมาตรการขั้นต้น ส่วนมาตรการระยะยาวได้มีการหารือไประดับหนึ่งแล้ว โดยขอดูรูปแบบการแก้ปัญหาของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ซึ่งจะให้เด็กมาทำกิจกรรมร่วมกัน ในปีการศึกษาหน้า แต่ระดมศึกษาที่มีปัญหามีแค่อุเทนถวาย กับปทุมวัน ดังนั้นในปีการศึกษาหน้าจะให้มีการปฐมนิเทศร่วมกัน และมีแนวคิดที่จะให้ทั้งสองสถาบันแต่งเครื่องแบบนักศึกษาเหมือนกัน ทั้งเข็มสัญลักษณ์ และเข็มขัด แต่ก็ต้องไปพิจารณาข้อดีข้อเสีย เพราะอาจจะกระทบกับสิทธิเสรีภาพ

พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ตนได้พูดคุยกับนพ.กำจร แล้ว พร้อมเห็นด้วยกับมาตรการปิดสถาบันชั่วคราวตามที่ กกอ.ได้ชี้แจงไป ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ได้ให้ไว้ ถ้าหากทั้ง 2 สถาบันยังก่อเหตุไม่เลิก คุยไม่รู้เรื่อง ก็จะมีการทบทวนมาตรการที่เด็ดขาดขึ้นเรื่อยๆ หากมีการบาดเจ็บ เสียชีวิต และมีผลกระทบถึงบุคคลที่ 3 ก็ต้องใช้มาตรการรุนแรงขึ้น แต่การปิดสถาบันไปเลยนั้นรวมถึงการงดรับนักเรียนนักศึกษาในปีต่อไปนั้นคงเป็นไปไม่ได้ เพราะมาตรการที่นำมาใช้ต้องไม่ให้กระทบนักเรียนนักศึกษาคนอื่นๆ ส่วนมาตรการระยะยาวนั้นโครงการเตรียมอาชีวะศึกษาจะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหานักเรียนตีกันได้
กำลังโหลดความคิดเห็น