xs
xsm
sm
md
lg

เล็งออกมาตรการสกัดหุ้นร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน - ก.ล.ต.เตรียมพิจารณามาตรการสกัด “หุ้นร้อน” ตามความเหมาะสม “ศักรินทร์” เผยตลท.ส่งรายชื่อหุ้นเคลื่อนไหวผิดปกติถึงมือแล้ว อยู่ระหว่างการตรวจสอบ พร้อมออกปากเตือนโบรกฯ กลั่นกรอบ “ข่าวลือ” ก่อนให้ลูกค้าผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค ด้านสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน แนะเพิ่มบทวิเคราะห์ดับหุ้นร้อนแรง ช่วยนักลงทุนศึกษาปัจจัยพื้นฐาน

นายศักรินทร์ ร่วมรังษี ผู้ช่วยเลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท.ส่งรายชื่อหุ้นราคาเคลื่นอไหวผิดปกติให้ทางก.ล.ต.แล้ว ขระนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ส่วนมาตรการที่จะออกมาควบคุมคงต้องพิจาณาตามความเหมาะสม

“ทาง ก.ล.ต.มีการติดตามความเคลื่อนไหวราคาหุ้นอยู่ตลอดเวลา และตอนนี้ได้รับรายชื้อหุ้นที่ราคาที่มีความเคลื่อนไหวหวือหวาจาก ตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณา และตรวจสอบในประเด็นที่ “อาจ” มีการสร้างราคาหุ้นเหล่านั้น จึงยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดว่ามีหุ้นตัวใดบ้าง ซึ่งรายชื่อที่ส่งมาล้วนแต่เป็นบริษัทที่มีข่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ ส่วนมาตรการที่จะมาดูแลนั้น จะพิจารณาในแต่ละกรณีไป ขึ้นกับความผิดที่เกิดขึ้นเป็นลักษณะใด ซึ่งก็ยอมรับว่าการจะเข้าไปควบคุมยังทำได้ยาก” นายศักรินทร์ กล่าว

ด้านนางภรณี ทองเย็น อุปนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน และ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส ยอมรับว่า ระยะนี้ตลาดหุ้นมีความร้อนแรง โดยเฉพาะหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก ทำให้บทวิเคราะห์มีความสำคัญอย่างมาก แต่จำนวนบทวิเคราะห์รายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ ไม่เพียงพอกับความต้องการ เนื่องจากขาดความสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

“ปัจจุบันทั้งระบบมีจำนวนนักวิเคราะห์ 200 คน เฉลี่ยบริษัทหลักทรัพย์ละ 10 คน นักวิเคราะห์ 1 คน จะดูแลได้ 15 หลักทรัพย์ ทำให้ศักยภาพในการทำบทวิเคราะห์ ครอบคลุมได้เพียง 200 หลักทรัพย์ จากหลักทรัพย์ทั้งหมดกว่า 600 หลักทรัพย์ จึงทำให้เกิดปัญหาขาดข้อมูลให้กับนักลงทุนในการตัดสินใจลงทุน" นางภรณี กล่าว

นอกจากข้อจำกัดด้านจำนวนนักวิเคราะห์แล้ว การทำบทวิเคราะห์แต่ละบริษัท ต้องใช้เวลานานมาก ไม่ทันกับพัฒนาการของบริษัท และยังพบว่าหลายบริษัทจดทะเบียน ไม่ให้ความร่วมมือกับนักวิเคราะห์ ในการศึกษาปัจจัยพื้นฐาน บางบริษัทไม่มีการเคลื่อนไหวทางธุรกิจ มีสภาพคล่องน้อยไม่คุ้มค่าในการเข้าศึกษาปัจจัยพื้นฐาน แม้ปัจจุบัน ตลาดหลักทรัพย์ จะกำหนดให้แต่ละบริษัทหลักทรัพย์ นำเสนอข้อมูลพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนที่มีการซื้อขายสูงสุด 20 อันดับแรกในรอบสัปดาห์ ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานเท่านั้น ไม่ได้ช่วยให้นักลงทุนสามารถตัดสินใจได้

“ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ไม่มีงบประมาณเพื่อสนับสนุนบริษัทหลักทรัพย์ในการทำบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ ทาง สมาคมมองว่า ตลาดหลักทรัพย์ควรหามาตรการเข้ามาส่งเสริมให้บริษัทหลักทรัพย์ เข้าทำการวิเคราะห์หุ้นให้ครอบคลุมมากขึ้น ทั้งการสนับสนุนด้านงบประมาณ หรือจ้างตัวกลางในการทำบทวิเคราะห์หุ้นทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ และสนับสนุนบริษัทจดทะเบียน ให้เข้าร่วมงานบริษัทจดทะเบียนพบนักลงทุน ที่จัดขึ้นในทุกไตรมาสมากขึ้น” นางภรณี กล่าว

ด้าน นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ เปิดเผยว่า หุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กมีความเคลื่อนไหวที่หวือหวา และได้รับความนิยมอย่างมาก ซึ่งหุ้นในกลุ่มดังกล่าว มักไม่มีบริษัทหลักทรัพย์เข้าทำการศึกษาปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริงของแต่ละบริษัท บางบริษัทมีระดับราคาปิดกำไรต่อหุ้น (พี/อี) ระดับ 100 เท่าถือว่าสูงมาก

หากบริษัทเหล่านั้น มีแผนธุรกิจที่ชัดเจน สามารถสร้างการเติบโต ทำให้ระดับพีอีลดลง เท่ากับว่านักลงทุนเสียโอกาสในการลงทุน หากจะให้แต่ละบริษัทหลักทรัพย์ เข้ามาทำการวิเคราะห์ ต้องใช้เวลานานกว่าจะศึกษาพื้นฐานของบริษัทแล้วเสร็จ ไม่ทันกับการปรับขึ้นของราคาหุ้น และการทำบทวิเคราะห์มีค่าใช้จ่ายสูง อาจไม่คุ้มค่ากับการลงทุน

ดังนั้นทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ควรจะจ้างบริษัทตัวกลาง เพื่อทำการวิเคราะห์หุ้นทุกตัวในตลาดหลักทรัพย์ เหมือนในตลาดหลักทรัพย์ในหลายประเทศ ที่ใช้วิธีการดังกล่าว ทำให้นักลงทุนได้ประโยชน์ในการศึกษาพื้นฐานบริษัทได้ง่ายขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น