xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ทำไม??? ต้องโกง “สนามฟุตซอล”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สัปดาห์ที่แล้วใน จ.นครราชสีมา กองทัพภาคที่ 2 และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เข้าไปตรวจสอบ “โครงการก่อสร้างสนามฟุตซอลในโรงเรียน” ที่พบว่าอาจจะมีการทุจริตในหลายพื้นที่ ล่าสุดคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน( สพฐ.)ได้ตั้งคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงเฉพาะโรงเรียนในจังหวัดนครราชสีมา ที่สังกัดสพฐ.แล้ว แล้ว เบื้องต้น โยงไปที่ “ผู้บริหารและครู”

วันก่อน ศาตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตคณบดีนิด้า โพตส์ในเฟซบุ๊คส่วนตัว Prof. Sombat Thamrongthanyawong, Ph.D ถึงเรื่องนี้ ในนามของครูคนหนึ่ง มีใจความตอนหนึ่งว่า “การฉ้อโกงการก่อสร้างสนามฟุตซอลที่เกิดขึ้นนี้ถือว่าเป็นการทุจริตที่ชั่วร้ายเป็นอย่างยิ่งเพราะเท่ากับเป็นการโกงเด็กๆลูกหลานของชาวบ้านโดยตรง ทำให้เด็กๆไม่มีโอกาสได้เล่นฟุตซอลในสนามที่มีมาตรฐาน เด็กๆตาดำๆผู้บริหารโรงเรียนยังโกงได้โดยไม่รู้สึกละอายใจ คนแบบนี้ต้องถือว่าหนักแผ่นดินจริงๆ ใครที่ต้องรับผิดชอบขอให้จัดการโดยเร็ว บรรดาผู้ปกครองนักเรียนที่มีลูกหลานอยู่ในโรงเรียนที่มีการโกงการก่อสร้างสนามฟุตซอลควรจะได้ออกมาช่วยกันตรวจสอบและประนามผู้บริหารโรงเรียนที่ฉ้อโกงและขับไล่ให้ออกไปจากโรงเรียนของท่านโดยเร็ว อย่าปล่อยให้เป็นเยี่ยงอย่างอีกต่อไป ต้องไม่ให้คนประเภทนี้มีที่ยืนในสังคม”

นี้แค่สุ่มตรวจจังหวัดเดียวที่ จ.นครราชสีมา หลังจาก“นายประยงค์ ปรียาจิตต์” เลขาธิการ ป.ป.ท.และ พ.อ.สมหมาย บุษบา ที่ปรึกษากฎหมายกองทัพภาคที่ 2 ลงตรวจ 39 โรงเรียน ใน 6 อำเภอ ทั้งที่ อ.ชุมพวง อ.พิมาย อ.ประทาย อ.โนนสูง อ.โนนแดง และ อ.ลำทะเมนชัย พบว่าทุกแห่งก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน
ยังพบพิรุธเรื่องของบริษัทที่ชนะการประกวดราคาก่อสร้างเป็นผู้ประกอบกิจการ 2รายที่มีบริษัทเดียวกัน ใช้การไม่ได้ ทั้งสนามขนาด พื้นที่ 726 ตารางเมตร วงเงิน 2,500,000บาท และสนามขนาด 1,512 ตารางเมตร วงเงิน 5 ล้านบาท

โดยเฉพาะงานปูพื้นยางสังเคราะห์ที่มีราคาสูงถึงตารางเมตรละ 2,600 บาท มีการสอบถามในตลาดพื้นยางที่ดีที่สุด พบว่ามีราคาเพียง ตารางเมตรละ 1,500-1,600 บาทเท่านั้น พื้นปูที่คณะตรวจสอบไปพบก็เหมือนแค่เอารถไถมากวาดๆ ดินแล้วราดปูนซิเมนต์ ทั้งเอียง ทั้งแตกร้าว นอกจากนี้ในงบประมาณ ยังจัดซื้อหนังสือคัมภีร์กีฬาเล่มละ 1,200 บาท หนังสือต่อสู้โรคชุดละ2,000 บาท ลูกตะกร้อ ลูกละ 220 บาท ลูกฟุตบอล ลูกละ 940 บาท ขณะที่งบฯส่วนใหญ่ก็ใช้ไปกับค่าปูพื้นยางสังเคราะห์ประมาณ80%

โครงการนี้มีที่มาที่ไปที่น่าสนใจ จาก กำลังภายในส.ส. ที่เชี่ยวชาญการซิกแซกงบฯ ไปแปรญัตติผ่านสำนักงานการศึกษาขั้นพื้น หรือสพฐ. (ทั้งที่กฎหมายห้ามส.ส.ไปยุ่งเกี่ยวกับงบฯ) ปีงบประมาณ 2555 ในวงเงิน 689,530,800 ล้านบาทเพื่อสนับสนุนการซ่อมแซมอาคาร การสร้างสนามฟุตซอล ใน 17 จังหวัด 358 โรงเรียน

แต่มี 101โรงเรียน ใน 11 จังหวัด ใช้งบฯในการก่อสร้างสนามฟุตซอล มี นครราชสีมา อุบลราชธานี ชัยภูมิ มุกดาหาร สุรินทร์ อำนาจเจริญ ยโสธร ศรีษะเกษ ขอนแก่น เชียงราย พะเยา รวมเป็นเงินจำนวน 335 ล้านบาท ถ้าสอบกันจริงๆทุกจังหวัดก็คงได้เห็นอะไรดี ๆ???

ส่วนอีก 6 จังหวัด จำนวน 257โรงเรียน ประกอบด้วย จ.สุรินทร์ อุดรธานี อุตรดิตถ์ พิษณุโลก สระบุรี ชลบุรี เปลี่ยนแปลงงบประมาณเพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น สร้างห้องน้ำโรงเรียน

คณะสอบสวนตั้งข้อสังเกต ที่น่าสงสัยใน 5 ประเด็น

1.กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างแม้ใช้ระบบอีอ๊อคชั่น(E-Auction) มีลักษณะที่แต่ละโรงเรียนต่างดำเนินการแยกจากกันแต่มีบริษัทเดียวที่ได้เข้าทำสัญญากับทุกโรงเรียนที่อาจเข้าข่ายฮั้วประมูล

2.ราคากลางและคุณลักษณะเฉพาะทีโออาร์(TOR)ของทุกโรงเรียนมีการกำหนดจำนวนเงินและลักษณะคล้ายกัน เป็นการล็อคสเป๊คหรือไม่

3.การก่อสร้างขั้นพื้นฐานสนามคอนกรีตไม่เป็นไปตามรูปแบบ พื้นคอนกรีตเอียง ไม่ได้ระดับ ผิวคอนกรีตหลุดร่อน สภาพปัจจุบันมีการรื้อพื้นยางเก็บ เนื่องจากปูแล้วไม่สามารถทำการใช้สนามฟุตซอลได้ตามปกติเพราะมีการงอตัวของพื้นยาง

4.ข้อเท็จจริงที่ได้ตรวจสอบข้อมูลเรื่องราคากับบริษัทที่ทำการขายพื้นยางสังเคราะห์(EVA)ปรากฏว่ามีราคาตลาดอยู่ที่ประมาณ 310,000 บาท แต่โรงเรียนจัดซื้อในราคา 1.9 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นประมาณ 5 เท่าของเงินที่ทางราชการต้องเสียงบประมาณในการจัดซื้อ

5.เจ้าของบริษัทที่เป็นคู่สัญญาสร้างสนามฟุตซอลกับทุกโรงเรียน มีภูมิลำเนาเดียวกันกับที่ตั้งของบริษัทฯผู้ผลิตยาง EVA และบริษัทที่ผลิตหนังสือ

ที่น่าสังเกต ไม่พบว่ามีชื่อ อดีต ส.ส.ที่แปรญัติงบประมาณ เพื่อมาสร้างความเจริญให้เขตเลือกตั้งตัวเอง ไม่ไปขึ้นป้ายข้างสนามฟุตซอลเพื่อเป็นเกียรติยศให้กับวงศ์ตระกูล ผู้คนจะได้แซ่ซ้องสรรเสริญชั่วลูกชั่วหลานหรือ

เรื่องนี้ “นายกมล รอดคล้าย” เลขาธิการ กพฐ. บอกว่า การตั้งคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริง จะดูเรื่องความผิดปกติในการดำเนินการ ว่ามีส่วนใด ทั้งการจัดซื้อจัดจ้างแพงกว่าปกติ การสมยอมราคาประมูล และการจัดซื้อที่ไม่ได้คุณภาพ ซึ่งจะมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้บริหารโรงเรียน ครูอาจารย์ ตามกรอบอำนาจของ ป.ป.ท.

“ที่น่าสังเกตคือ ทำไมต้องขอสนามฟุตซอลเหมือนกันหมดทั้งที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดเดียวกัน ”

เขายอมรับว่า ช่วงเดือนมีนาคม ปี 2555 มีโครงการที่ใช้งบประมาณแปรญัตติของ ส.ส. เบื้องต้นพบการดำเนินการที่จังหวัดนครราชสีมา 100 โรงเรียน และยังมีที่จังหวัดอุตรดิตถ์อีก 300 โรงเรียน รวมถึงการตรวจสอบพฤติการณ์ดังกล่าวในจังหวัดอื่น ๆ

อีกด้าน เลขาธิการ ป.ป.ท. ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม เพื่อขออนุมัติให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มาร่วมตรวจสอบการก่อสร้างแล้ว โดยตั้งกรอบ 6 เดือน จะสรุปทั่วประเทศ เพราะโครงการเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ (ฮั้วประมูล) จากกรณีที่มีบริษัทเอกชน 2 บริษัทที่มีเจ้าของเป็นบุคคลเดียวกันชนะการประมูลและทำสัญญาก่อสร้างกับทุกโรงเรียน โดยดีเอสไอมีอำนาจตรวจสอบกรณีฮั้วประมูล ส่วน ป.ป.ง.จะเข้าไปตรวจสอบเส้นทางการใช้จ่ายเงินโดยเฉพาะ สพฐ.ว่าจัดสรรไปอย่างไรบ้าง

ส่วนในพื้น จ.นครราชสีมา ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ ประธานคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 7 ออกมายืนยันว่าขบวนการทุจริตเหล่านี้ มีการทำเป็นขบวนการตั้งแต่ระดับผู้บริหารใน สพฐ. ซึ่งรับลูกจาก ส.ส.ในการแปรญัตติงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้างวัสดุอุปกรณ์ด้านการศึกษา หลังจากนั้น ก็จะส่งเรื่องต่อมาให้ลูกสมุนของ ส.ส.ในพื้นที่ เพื่อไปล็อบบี้ผู้บริหารโรงเรียน เพื่อให้รับข้อเสนอต่างๆ ที่ ส.ส.กำหนดมา

หากโรงเรียนใดยอมรับข้อเสนอ ก็จะส่งเรื่องไปให้ สพฐ.พิจารณาคัดเลือกโรงเรียน ที่เข้าข่ายได้รับการจัดสรรงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างในครั้งนี้ โดยในส่วนของจังหวัดนครราชสีมานั้น มีกลุ่มผู้บริหารสถานศึกษา และอดีตข้าราชการครูในเขตพื้นที่ อ.โนนสูง และ อ.ประทาย ร่วมมือกันตั้งเป็นกลุ่มมาเฟีย รับใช้ ส.ส.ในเขตพื้นที่ดังกล่าวเพื่อติดต่อกับผู้บริหารโรงเรียนที่เป็นหัวคะแนน ดังนั้นจึงเป็นการง่ายที่จะเกิดการทุจริตคอรัปชั่นได้

ในส่วนของผู้อำนวยการโรงเรียน ที่เซ็นตรวจรับงบประมาณจากกลุ่มมาเฟียเหล่านี้ ส่วนใหญ่ก็อาจจะไม่คิดอะไรมาก เพียงแค่ยอมทำตามเงื่อนไข ก็จะได้รับของมาใช้ฟรีๆ แต่หารู้ไม่ว่าตนเองกำลังตกเป็นเครื่องมือให้กลุ่มมาเฟียทางการเมือง ซึ่งขั้นตอนการตรวจรับก็ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ได้ของที่แพงเกินความเป็นจริงมาใช้

“ยังไม่มั่นใจว่า ป.ป.ท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะสามารถสาวไปถึงหัวหน้าขบวนการทุจริตคอร์รัปชั่นได้ เพราะส่วนใหญ่อยู่ในระดับบน คือผู้บริหารของ สพฐ. เนื่องจากที่ผ่านมาจากกรณีการทุจริตคอรัปชั่นสอบรรจุครูผู้ช่วย ก็ยังไม่สามารถนำตัวการผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้เลย”

เรื่องนี้ มีส.ส.ในพื้นที่ เช่นที่ จ.อุตรดิตถ์ ออกมายอมรับแล้วว่า เป็นผู้ผลักดันงบประมาณ โดยแปรญัตติของ สพฐ.มาให้กับ สพป.อุตรดิตถ์ เขต 1 เพราะช่วงนั้นกระแสฟุตซอลกลางแจ้งกำลังได้รับความนิยมมาก มีผู้บริหารสถานศึกษาหลายคนมาปรึกษาว่าอยากได้สนามฟุตซอลกลางแจ้ง จึงไปหางบประมาณและผลักดันมาให้ ส่วนการจัดซื้อจัดจ้าง และการก่อสร้างเป็นเรื่องของ สพป.อุตรดิตถ์ เขต 1 และโรงเรียนที่ได้สนามฟุตซอลไปจัดการกันเอง โดยไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง

มีคำถามว่า ทำไมต้องสร้างสนามฟุตซอล เข้าไปหาข้อมูลพบว่า รัฐบาลที่แล้วมีโครงการเกี่ยวกับสนามฟุตซอลหลายแห่ง เช่น คราวประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 1/2556 นายสมศักดิ์ ภูรีศรีศักดิ์ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา แจ้งที่ประชุม ครม. ว่า กระทรวงจะรับหน้าที่ดำเนินการส่งเสริมการเล่นกีฬาฟุตซอลในจังหวัดชายแดนภาคใต้

“เนื่องจากที่ผ่านมา การเล่นฟุตซอล ได้รับการตอบรับอย่างดีจากประชาชนในพื้นที่ พบว่าไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นช่วงมี่มีการแข่งขัน ทั้งนี้ กพต. มีโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอล 41 แห่งในพื้นที่ โดยใช้งบประมาณ 2,500 ล้านบาทเศษ”

โครงการนี้ไปถึงไหนแล้ว หลังจาก คสช.เข้ามาบริหารประเทศ ไม่รู้ว่า เป็นโครงการเดียวกัน ที่สอดคลองกับนโยบายรัฐบาลปัจจุบัน และ คสช. กับการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเกี่ยวเนื่องการแก้ปัญหายางพาราหรือไม่

เพราะมีการผลักดัน โครงการก่อสร้างสนามฟุตซอล 1 สนาม 1 ตำบล จากพื้นปูนซีเมนต์ขัดมัน เป็นพื้นยางพารา ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานวิจัยดำเนินการวิจัย และพัฒนาพื้นสนามฟุตซอลยางพารา นำมาใช้ในการก่อสร้าง สนามฟุตซอล ในพื้นที่ 3 จังหวัด

ยังมีอีก สนามฟุตซอลของกระทรวงมหาดไทย ที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้จัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ทั้ง เทศบาล/อบต./อบจ. จำนวน 1,405 โครงการ จำนวน 4,600 ล้านบาท

และงบประมาณเงินอุดหนุนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 จำนวน 11,282 โครงการ รวมเป็นเงิน 25,000 ล้านบาท ที่มีการเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น www.dla.go.th และเว็บไซต์ของจังหวัดทุกจังหวัด พบว่า อปท.หลายจังหวัดก็มีการจัดสร้างสนามฟุตซอลเช่นกัน ดูคราวๆน่าจะไม่ต่ำว่า 2,000 ล้านบาท

โครงการเหล่านี้เชื่อว่า เป็นผลพวงจากที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพฟุตซอลโลก จนมีโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอลโลก ของกทม. มูลค่า1,400 ล้านบาท เชื่อว่า สพฐ. และ ปปท. ถ้าเอาจริงก็สามารถลากคนผิดมาลงโทษได้ อย่าให้ซ้ำกับ โครงการสอบครูผู้ช่วยที่จับได้แต่ลม!!



กำลังโหลดความคิดเห็น