ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - “ป.ป.ท.” ร่วมทหาร “ทภ. 2” ลุยตรวจสอบโกงสร้างสนามฟุตซอลโรงเรียน 50 แห่งใน 6 อำเภอโคราช พบพิรุธส่อทุจริตอื้อ สร้างไม่ได้มาตรฐาน ราคาแพงเกินจริง และเพิ่งสร้างเสร็จพังเสียหายใช้งานไม่ได้ เผยเป็นงบฯ ปี 55 ของ สพฐ.จัดสรรให้โรงเรียนสร้างสนามฟุตซอล 17 จว.ทั่วประเทศกว่า 689 ล้าน
วันนี้ (1 ต.ค.) ที่โรงเรียนหันห้วยทรายพิทยาคม อ.ประทาย จ.นครราชสีมา นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พร้อม พ.อ.สมหมาย บุษบา ที่ปรึกษากฎหมายกองทัพภาคที่ 2 (ทภ.2) ได้สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอลของโรงเรียนห้วยทรายพิทยาคม หลังได้รับการร้องเรียนว่าโครงการดังกล่าวส่อมีการทุจริตการก่อสร้าง อีกทั้งมีสภาพชำรุดเสียหายใช้งานไม่ได้ทั้งที่เพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จ เช่นเดียวกับสนามฟุตซอลของโรงเรียนอีกหลายแห่งของ จ. นครราชสีมาที่ได้รับการร้องเรียนในลักษณะเดียวกัน
โดยคณะของนายประยงค์ใช้เวลาตรวจสอบนานกว่า 1 ชั่วโมง ซึ่งมีนายวีระพงษ์ จันทนุกูล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหันห้วยทราย เข้าชี้แจงรายละเอียดข้อมูลทั้งหมด
นายประยงค์เปิดเผยว่า วันนี้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.ได้กระจายกำลังลงพื้นที่ตรวจสอบสนามฟุตซอลโรงเรียน 50 แห่งในพื้นที่ 6 อำเภอของ จ.นครราชสีมา ประกอบด้วย อ.ชุมพวง อ.พิมาย อ.ประทาย อ.โนนสูง อ.โนนแดง และ อ.ลำทะเมนชัย เบื้องต้นพบว่าทุกแห่งมีการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน สภาพสนามชำรุดเสียหายจนใช้งานไม่ได้ บางแห่งก่อสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์และไม่เป็นไปตามสเปกคือต้องมีโครงหลังคา แต่การก่อสร้างกลับไม่มีจึงทำให้พื้นสนามที่เป็นยางสังเคราะห์ EVA ชำรุด และยังพบว่าบริษัทที่ชนะการประกวดราคาก่อสร้างเป็นผู้ประกอบกิจการ 2 ราย ที่อยู่ในเครือบริษัทเดียวกัน
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบการใช้งบประมาณก่อสร้างพบว่ามีการแยกเป็นหลายส่วน เช่น ค่าก่อสร้างพื้นคอนกรีต งานปูพื้นยางสังเคราะห์ที่มีราคาสูงกว่าท้องตลาดถึงตารางเมตรละ 2,600 บาท โดยปกติราคาตลาดอยู่ที่ 1,500-1,600 บาท และยังพบมีการจัดซื้อหนังสือคัมภีร์กีฬาเล่มละ 1,200 บาท หนังสือต่อสู้โรคชุดละ 2,000 บาท ถือเป็นราคาที่แพงมาก และยังมีอุปกรณ์กีฬาที่มีราคาแพงผิดปกติ เช่น ตะกร้อลูกละ 220 บาท ฟุตบอลลูกละ 940 บาท
นายประยงค์กล่าวอีกว่า จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า มี 17 จังหวัด รวม 101 โรงเรียนทั่วประเทศที่ได้รับงบประมาณในการก่อสร้างสนามฟุตซอล วงเงิน 2.5 ล้านบาทสำหรับสร้างสนามเนื้อที่ 726 ตารางเมตร และวงเงิน 5 ล้านบาทสำหรับสร้างสนามเนื้อที่ 1,512 ตารางเมตร ปรากฏว่าจังหวัดที่มีการนำงบประมาณไปก่อสร้างสนามฟุตซอลจริง ได้แก่ จ.นครราชสีมา อุบลราชธานี ชัยภูมิ มุกดาหาร สุรินทร์ อำนาจเจริญ ยโสธร ศรีสะเกษ ขอนแก่น เชียงราย และ จ.พะเยา รวมเป็นเงินจำนวน 335 ล้านบาทส่วนอีก 6 จังหวัด จำนวน 257 โรงเรียน ประกอบด้วย จ.สุรินทร์ อุดรธานี อุตรดิตถ์ พิษณุโลก สระบุรี และ จ.ชลบุรี เปลี่ยนแปลงงบประมาณเพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น สร้างห้องน้ำโรงเรียน
สำหรับโครงการดังกล่าวเป็นงบประมาณของสำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ซึ่งได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 จากงบแปรญัตติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วย รายการค่าก่อสร้างปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียน อาคารประกอบ และสิ่งก่อสร้างอื่นที่ชำรุดทรุดโทรม และที่ประสบอุบัติภัย วงเงินรวมทั้งสิ้น 3,947,278,000 บาท โดยงบประมาณดังกล่าวได้มีการจัดสรรให้โรงเรียนใน 17 จังหวัด รวม 358 โรงเรียน เพื่อใช้ก่อสร้างสนามฟุตซอลเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 689,530,800 บาท