xs
xsm
sm
md
lg

อาหาร คีโตเจนิค ลดแป้งและน้ำตาลเพื่อฟื้นฟูสมอง?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

การลดแป้งและน้ำตาลกลายเป็นแนวโน้มที่ยอมรับกันมากขึ้นในทางวิชาการว่าจะเป็นการทำให้มนุษย์เรามีสุขภาพที่ดีขึ้น (กว่าที่เป็นอยู่)

จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Behav Phamacol. เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 ในหัวข้อ Neuroprotective and disease-modifying effect of the ketogenic diet. ซึ่งเป็นการศึกษาของ Maciej Gasior และคณะที่ดูผลกระทบในการรับประทานอาหารแบบคีโตเจนิคที่มีผลต่อการป้องกันเซลล์สมองและผลต่อโรคต่างๆในกลุ่มเดียวกัน

อาหารที่เรียกว่า คีโตเจนิค ก็คือสูตรอาหารลดแป้งและน้ำตาลให้น้อยที่สุด (หรือเกือบไม่มี) และบริโภคไขมันเป็นหลัก รองลงมาเป็นโปรตีน สูตรอาหารนี้ไม่ได้เพิ่งจะมี แต่มีมานานกว่า 80 ปีแล้ว โดยในเริ่มแรกก็นำมาใช้ในการบำบัดรักษาอาการลมบ้าหมู แต่ในทางการแพทย์นั้นได้มีการศึกษาเพิ่มเติมในการบำบัดโรคที่เกี่ยวความผิดปกติของระบบประสาท ซึ่งรวมถึงโรคความจำเสื่อมและพาร์กินสัน และอาจรวมถึงการป้องกันในผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บทางสมองรวมถึงผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองด้วย

การศึกษาของ Regar MA และคณะได้ศึกษาในหัวข้อ Effect of Beta-hydroxybutyrate on congition in memory-impaired adults ตีพิมพ์ใน Neurobiol Aging ในปี พ.ศ. 2547 ได้ค้นพบว่า "กรดไขมันสายปานกลาง" (เช่น น้ำมันมะพร้าว,ผู้เขียน) สามารถพัฒนาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ได้ ยิ่งไปกว่านั้นระดับของความจำพัฒนาขึ้นซึ่งสอดคล้องกับระดับของ เบต้า ไฮดรอกซีบิวไทเรต (Beta-hydroxybutyrate) ในกระแสเลือด ซึ่งได้ถูกผลิตมาจากกระบวนการออกซิเดชั่นจาก "กรดไขมันสายปานกลาง" และถ้าเบต้า ไฮดรอกซีบิวไทเรต สามารถพัฒนาความทรงจำได้ ดังนั้นอาหารคีโตเจนิค ที่สามารถเพิ่มระดับ เบต้า ไฮดรอกซีบิวไทเรต และย่อมส่งผลทำให้พัฒนาความทรงจำได้

มีรายงานในปี พ.ศ. 2519 ว่า Hunttenlocher PR. ได้ทดลองอาหารให้คีโตเจนิคเพื่อรักษากลุ่มเด็กที่เป็นโรคลมบ้าหมูได้ผลดีในการระงับการชัก แต่หลังจากให้อาหาร 1 มื้อที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงๆ ผลกลับตรงกันข้ามโดยทันที

ทั้งนี้ยังมีรายงานการศึกษาในปี พ.ศ. 2547 โดย Henderson ในหัวข้อ High carbohydrate diets and Alzheimer's disease และ ปี พ.ศ. 2548 โดย Young และคณะ ในหัวข้อ A randomized, crossover trial of high-carbohydrate foods in nursing home residents with Alzheimer's disease: associations among intervention response, body mass index and behavioral and cognitive function. ต่างยืนยันตรงกันอย่างน่าสนใจว่า

"การบริโภคคาร์โบไฮเดรตสูงจะทำให้ผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมมีความสามารถเสื่อมลงในความสามารถเกี่ยวกับการรับรู้และกระบวนการคิด"

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาอีกหลายชิ้นว่าการทำให้โรคความจำเสื่อมให้มีการพัฒนาขึ้นคือการบริโภคไขมันเพิ่มขึ้นให้มากกว่าปกติ จะสามารถลดความเสี่ยงในการพัฒนาของโรคสมองเสื่อมได้ ( เช่น จากการศึกษาของ Cunnane และคณะ พ.ศ.2545, Henderson พ.ศ. 2547, Reuitenberg และคณะ พ.ศ. 2544, Bargerger-Gateau และคณะ พ.ศ. 2545, Moris และคณะ พ.ศ. 2546)

สำหรับโรคพาร์กินสัน ในปี พ.ศ. 2548 คณะวิจัยที่นำโดย VanItallie ได้มีการเผยแพร่ผลการทดสอบอาหารคีโตเจนิคสำหรับผู้ที่มีอาการพาร์กินสัน พบว่าอาการพาร์กินสันลดลงไป 43% ในการใช้ระยะเวลา 28 วัน ผู้ป่วยที่เข้าการทดลองนี้ต่างมีพัฒนาการและอาการดีขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ตามการศึกษาของ de Lau และคณะในปี พ.ศ. 2548 ก็มีความคล้ายคลึงกันกับโรคความจำเสื่อมว่าการเพิ่มกรดไขมันอันจำเป็นจะช่วยลดความเสี่ยงในการพัฒนาของโรคพาร์กินสันได้ด้วย

สำหรับผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองและสมองฟกช้ำเพราะได้รับการบาดเจ็บนั้น การศึกษาความผิดปกติทางประสาทวิทยาที่เกิดขึ้นจากโรคหลอดเลือดสมอง ทั้งเส้นโลหิตสมองตีบ จากรายงานการทดลองในหนูของ Prins และคณะในหัวข้อ "Age-dependent reduction of cortical contusion voulume by ketones after traumatic brain injury" ในปี พ.ศ. 2548 พบว่าเมื่อให้อาหารคีโตเจนิคจะพบว่ามีอาการดีขึ้น 58% และลดความฟกช้ำที่สมองได้ใน 7 วัน

อย่างไรก็ตามจากรายงาน ของ Rafiki และคณะในปี พ.ศ. 2546, Vannucci and Simpson ในปี พ.ศ. 2546, Pierre และ Pellerin พ.ศ. 2548 นั้นต่างระบุตรงกันว่าความสามารถในการใช้สารคีโตนจากอาหารคีโตเจนิคก็จะให้ผลต่างกันของแต่ละคน

ในการศึกษาในปี พ.ศ. 2533 โดย Marie และคณะ ได้เคยมีการศึกษาการอดอาหารในหนูทดลอง 48 ชั่วโมง ซึ่งให้ผลคล้ายคลึงกับการรับประทานอาหารคีโตเจนิค ผลปรากฏว่าพบกระบวนการการป้องกันมิให้ระบบประสาทเสียหาย ในระบบประสาทกลาง สมองชั้นนอก และ ฮิปโปแคมปัส อีกทั้งสัตว์ทดลองที่ได้มีการอดอาหารจะลดความเสี่ยงในการเกิดและการเสียชีวิตจากการชักแบบเฉียบพลัน ดังนั้นจึงเป็นหลักฐานที่แสดงว่าอาหารคีโตเจนิคจะช่วยสร้างระบบป้องกันประสาทในผู้ป่วยที่เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้

นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาของ Yamada และคณะ ในปี พ.ศ. 2548 ยังพบว่าหนูที่ได้รับอาหารคีโตเจนิคจะสามาถต้านความเสียหายของเซลล์ประสาทส่วนนอก แม้ในภาวะน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำ (Hypoglycemia)

เบต้า-ไฮดรอกซีบิวไทเรต ที่ได้จากอาหารคีโตเจนิคจะลดความเสียหายของสมองและช่วยพัฒนาระบบประสาทของสมอง ทั้งในกลุ่มของสมองที่ขาดออกซิเจน สมองพร่องออกซิเจน และสมองขาดเลือด (จากงานวิจัยของ Cherain พ.ศ. 2537, Dardzinski และคณะ พ.ศ. 2543, Suzuki และคณะ พ.ศ. 2544, 2545, Smith และคณะ พ.ศ. 2548)

นอกจากนี้สารคีโตนในรูปแบบอื่นๆ เช่น อะซีโตอะซีเตท และ อะซีโตน ก็ยัง เป็นแหล่งพลังงานทางเลือกในทร่างกายซึ่งให้ผลในการปกป้องระบบประสาทเช่นกัน (จากงานวิจัย Garcia and Massieu พ.ศ. 2544, Massieu และคณะ พ.ศ. 2544, พ.ศ. 2546 และ Noh และคณะ พ.ศ. 2549

จากงานวิจัยของ Prins และคณะในปี พ.ศ. 2548 ได้พบว่าหนูที่ได้รับอาหารคีโตเจนิค เซลล์ประสาทจะดูดซึม เบต้า-ไฮดรอกซีบิวไทเรต เพิ่มขึ้นหลังจากเซลล์หุ้มประสาทได้รับการบาดเจ็บซึ่งแตกต่างจากหนูที่ได้รับอาหารทั่วไป

ดังนั้นงานวิจัยที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นว่าการบำรุงสมองด้วยการลดแป้งและน้ำตาล น่าจะเป็นทางเลือกอาหารช่วยในการฟื้นฟูสมองได้อย่างน่าสนใจ


กำลังโหลดความคิดเห็น