xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่”โวผลงาน ไม่เลิกกฎอัยการศึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน -"ประยุทธ์" ร่ายยาวผลงานคสช. คุย 4 เดือนสำเร็จตามโรดแมป วอน สื่อช่วยอธิบายสังคม กร้าวอย่าเร่งรัดเรื่องเลิกกฎอัยการศึก ด้านสปช.เปิดรายงานตัว 8-16 ต.ค. คาดประชุมนัดแรกเพื่อเลือกประธานสปช. 21 ต.ค.นี้ ขณะที่ กปปส. พร้อมทำงานคู่ขนาน ชวนทุกกลุ่มร่วมผลักดันปฏิรูป

เมื่อเวลา 09.00 น. วานนี้ (7 ต.ค.) ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธานการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ คสช. นัดแรก เพื่อให้รัฐบาลรายงานผลการทำงานทั้ง 5 ด้าน หลังเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินครบ 1 เดือน และหลัง คสช. ปรับโครงสร้างผู้บริหารครบ 15 คน ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดทั้งภายในและภายนอกสโมสร ทบ.

** ผลงาน 4 เดือนสำเร็จตามโรดแมป

ต่อมาเวลา 15.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. แถลงภายหลังการประชุมร่วม ว่า เป็นการประชุมสานต่อการทำงานของคสช. ซึ่งมีการประสานงานกันมาตลอดอยู่แล้ว โดยสรุปเป็นไปตามแผนงานของ คสช. และเป็นโรดแมปของครม.ด้วย ใน 5 กลุ่มงาน ทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและจิตวิทยา กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และกิจการพิเศษ ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่า เราต้องเกิดความชัดเจนขึ้นในการทำงาน เพราะสังคมต้องการทราบว่า ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. เราได้ทำงานอะไรไปแล้วบ้าง ทั้งนี้ แนวทางการทำงานของคสช.ทั้งหมด จนถึงปัจจุบันคือ

1. แนวทางการบริหารราชการปกติในภารกิจของรัฐบาล กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ดำเนินการตามปกติในเชิงรุก ไม่ใช่เชิงตั้งรับ

2. การเร่งรัดการทำงานในเชิงรุก โดยมี คสช.เข้ามาช่วยในเรื่องปัญหาความมั่นคง และเรื่องที่ตัดขัดทางกฎหมาย สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญคือ เรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน เราเดินคู่ขนานกันไป ทั้งการตรวจสอบ การระงับยับยั้ง การทบทวนใหม่ เรื่องทางกฎหมาย ต้องส่งให้กระบวนการทางกฎหมายไปพิจารณา เราคงไม่มีอำนาจทางกฎหมายมากนัก ในทุกมิติเราไม่ได้ทำในแบบรัฐบาลที่ผ่านมา แต่เอาปัญหาทั้งหมดที่หมักหมมมานาน ทั้งเรื่องทุจริต ความเหลื่อมล้ำ อาชีพ รายได้ ความเดือดร้อนประชาชนเอามาเป็นตัวกำหนดว่า ทุก 3 เดือนจะทำอย่างไร

" ถ้าทุกคนมาร้องเรียนทุกเรื่องมันแก้ไขไม่ได้ เพราะเป็นการการแก้ไขปัญหาชั่วคราว เร่งด่วนทั้งนั้น การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนไม่มีรัฐบาลไหนแก้ไขได้เลย วันนี้เราจะแก้ไขตรงนี้ให้ได้ เมื่อทำตรงนี้ได้ก็จะเป็นแผนระยะยาว อะไรที่ปฏิรูปก็ต้องปฏิรูป ซึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ต้องเริ่มภายในเดือนหน้าโดยเร็ว" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

**ติงสื่อต้องช่วยกันทำความเข้าใจ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ต่อมาเป็นเรื่องการสร้างสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัยเพื่อจะเดินหน้าไปสู่การปฏิรูป อย่าเพิ่งมาถามตนเรื่องกฎหมายพิเศษต่างๆ ให้เกิดการปฏิรูปให้ได้เสียก่อน วันนี้แค่ตั้ง สนช. , สปช. ก็มีปัญหามาตลอด ต้องช่วยเราตรงนี้ อย่ามาเพื่อประท้วง แต่ให้ดูว่าเขาจะทำอย่างไรกันต่อไป วันนี้อยากจะบอกว่าปัญหาบ้านเราอยู่ที่คน เพราะทัศนคติของคน เพราะฉะนั้น คนไทยต้องร่วมมือกัน

" ขอทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วน ผมทำอะไรให้ท่าน มันจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ แต่ผมก็คิดจะทำ คาดหวังว่ามันจะสำเร็จด้วย แต่ทั้งหมดต้องได้รับความร่วมมือจากพวกท่านทุกคน ไม่อย่างนั้นผมบริหารราชการแผ่นดินโดยคสช. อย่างเดียวไม่ง่ายกว่าหรือ สื่อต้องช่วยผม สร้างความเข้าใจให้หน่อย ผมถามว่าที่ผ่านมาเขาทำงานกันบ้างมั้ย มีผลสัมฤทธิ์มั้ย กำหนดยุทธศาสตร์ได้มั้ย ว่าประเทศชาติจะเดินไปอย่างไร วันนี้ประเทศไทยกว่า 200 ปี ก็เดินไปอย่างนี้ เราต้องการมาแก้และมาปฏิรูป"

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ได้มองเป้าหมายว่าต้องสำเร็จ ที่บอกไปว่าอะไรเสร็จภายใน 1 เดือน อะไรเสร็จเดี๋ยวนี้ อะไรเสร็จภายใน 3 เดือน เราจะมีคำตอบให้ท่าน แต่ไม่ใช่ปัญหาที่มีกว่า 40 ปี จะมาแก้ภายใน 4 เดือนคิดว่า 4 เดือนที่ผ่านมา คสช. สำเร็จตามที่ตั้งใจ แต่อาจจะไม่ทันใจสังคม

** ยังไม่ยกเลิกกฎอัยการศึก

เมื่อถามว่า เท่าที่ คสช. และรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ประเมินสถานการณ์ความมั่นคงขณะนี้อย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวสวนทันทีว่า ก็มั่นคงไง เว้นแต่พวกเราทำให้มันไม่มั่นคงกันเองเมื่อถามว่า การคงกฎหมายอัยการศึกไว้ ถือเป็นการทำงานด้านความมั่นคงในระยะยาว ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า "ด้วยสิ ถ้ามีการปฏิรูปได้ จะผ่อนคลายไปตามลำดับ "

เมื่อถามอีกว่า อยากให้นายกฯ พูดชัดๆ ว่าเหตุผลที่ยังคงกฎอัยการศึกไว้ เพื่ออะไร นายกฯ กล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า " เรื่องนี้เป็นเรื่องความมั่นคง พูดไม่ได้ คุณ (สื่อ) ต้องไปถามไอ้คนพูดนู่น"

ผู้สื่อข่าวถามว่า วันนี้นายกฯ เรียกร้องให้สื่อให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ตรงไหน นายกฯ กล่าวว่า เรียกร้องทุกวัน ว่าควรเสนอในสิ่งที่ดี สิ่งที่ตนทำแล้วเกิดประโยชน์ ลืมไปแล้วหรือว่าเกิดอะไรขึ้นในอดีต เมื่อถามว่า หากครม. และคสช. เดินตามโรดแมป เหตุการณ์ชุมนุมบนถนน และการใช้อาวุธสงคราม จะไม่กลับมาอีก ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า “ไปถามไอ้คนทำ ผมไม่ใช่คนทำ ใครทำ ไปหามา ซึ่งคนที่ทำเป็นคดีความอยู่ ขึ้นศาลอยู่ ไปตามเข้านู่น"

เมื่อถามว่า วันนี้คสช. ให้คะแนนรัฐบาลเท่าไร พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ประเมินเองไม่ได้ ต้องให้ประชาชนประเมิน ถ้ามองไม่ตรงกัน แล้วเอาทุกอย่างมาให้ตนทำใน 4 เดือน ไม่มีทาง หากมีผลกระทบกับใครบ้าง ต้องยอม ตนไม่ได้อะไรสักอย่าง และไม่ต้องการอะไร อยากจะไปพักผ่อนจะตายอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า ที่พูดเช่นนี้ จะเป็นสัญญาณหรือไม่ว่า จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ใน 1 ปี ตามที่กำหนดไว้ในโรดแมป พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวสวนว่า ตนไม่ได้บอกว่าแก้ปัญหาไม่ได้ คุณไม่เข้าใจ ปัญหามีทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ อะไรที่เร่งด่วน เราแก้ก่อน อันนี้แก้ไม่ได้ ก็ส่งรัฐบาลต่อไป

**แนะดึงวิจัยสกว.ป้องกันทุจริตข้าว

นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านสังคม กล่าวภายหลังการประชุมร่วมครม.และคสช.ว่า ด้านสังคม รายงานถึงการเชิดชูสถาบัน ในโครงการบริหารจัดการน้ำตามโครงการพระราชดำริ ที่จะนำใช้จัดการปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า นำระบบไอที มาเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสาร การปฏิรูปการศึกษา เน้นการแก้ไขปัญหาเด็กอาชีวะศึกษา ตีกัน

เรื่องสาธารณสุขรายงานจัดตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ประกันสุขภาพทั่วหน้า ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เพื่อปรับปรุงประโยชน์ให้เกิดกับทุกฝ่าย มีนายอัมมาร สยามวาลา นักเศรษฐศาสตร์ อดีตประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เป็นประธาน การป้องกันเชื้อไวรัส อีโบลา เรื่องวิทยาศาสตร์สานต่อทุนวิจัยและพัฒนา ขณะที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) จัดทำรายงานการทุจริตเชิงนโยบาย เช่น การทุจริตโครงการจำนำข้าว ซึ่งนายกฯ เห็นว่า น่าจะนำงานวิจัยไปปรับใช้ ป้องกันการทุจริต

** คาดเลือกประธานสปช.21 ต.ค.

นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึง การเตรียมความพร้อมในการรับการแสดงตนของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และบุคลากรในด้านต่างๆ เพื่อรองรับการทำงานของสปช. และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ในเบื้องต้นสำนักงานเลขาธิการได้กำหนดวัน เวลา ในการแสดงตนไว้ตั้งแต่วันที่ 8 -16 ต.ค. ตั้งแต่เวลา8.30 -16.30 น. หากเกินระยะเวลาที่กำหนดแล้วสมาชิกสปช. ยังมาแสดงตนไม่ครบ ทางสำนักงานฯ ก็จะเปิดรับแสดงตนต่อไป จนกว่าจะมาแสดงตนครบทั้ง 250 คน

เบื้องต้น คาดว่าจะมีการประชุมนัดแรก ในวันที่ 21 ต.ค. เพื่อเลือกประธาน และรองประธาน 2 คน จากนั้นภายใน15วัน จะทำการเลือกคณะกรรมาธิการยกร่าง รธน. 36 คน เพื่อทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญถาวร

"บิ๊กตู่"สั่ง"วิษณุ"ส่งรูปแบบเวทีคนอกหักสปช.

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐนตรี ด้านกฎหมาย กล่าวภายหลังการประชุมร่วม ครม.-คสช. ว่า นายกรัฐมนตรี สั่งตนจัดทำบันทึกรูปแบบเวทีของผู้ที่ไม่ได้รับการคัดเลือกเป็นสปช. เพื่อให้เข้ามาทำงานร่วมกัน ส่งถึงนายกฯ เพื่อคัดเลือกรูปแบบเวที เนื่องจากตนได้วางรูปแบบไว้หลายเวที จากนั้นนำเสนอเข้าที่ประชุมครม. พิจารณา รูปแบบเวทีจะอยู่ภายใต้ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน โดยเป็นเวทีให้เฉพาะคนที่เข้ารอบสุดท้าย และเวทีผู้ที่สมัครใน 7,370 คน แต่จะไม่รับบุคคลที่ไม่ได้สมัคร สปช. แต่แรก

**"ปู่ชัย"พร้อมช่วยงานคสช.

นายชัย ชิดชอบ สมาชิก สปช. และอดีตประธานรัฐสภา บิดานายเนวิน ชิดชอบ กล่าวถึงกระแสข่าว จะได้รับการสนับสนุนให้เป็นประธาน สปช.ว่า ต้องแล้วแต่ที่ประชุม แต่ยืนยันได้ว่าคนที่ได้รับเลือกให้มาเป็น สปช. 250 คน ทุกคนล้วนมีความรู้ ความสามารถ ส่วนจะมีคนผลักดันให้เป็นประธานสปช. หรือไม่ ต้องรอดูเหตุการณ์ แต่เมื่อส่วนรวม และประเทศชาติต้องการให้เราปฏิบัติหน้าที่ เมื่อเราเข้ามาเป็น สปช.แล้ว ก็มีหน้าที่ต้องช่วยกัน

**กปปส.ร่วมปฏิรูปคู่ขนาน

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ อดีตโฆษก กปปส. กล่าวว่า หลังจากที่มีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง สปช.แล้ว ก็จะทำให้การปฏิรูปมีความชัดเจนขึ้น โดยจากรายชื่อ สปช.ทั้ง 250 คน ต่างก็เป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถ ซึ่งเชื่อว่า สปช. มีความรู้ความสามารถพอที่จะนำพาการปฏิรูปได้ ในระหว่างที่ สปช. ดำเนินการปฏิรูป กปปส. ยืนยันว่าจะไม่มีการเคลื่อนไหวตามข้างถนน แต่จะเปลี่ยนมาเคลื่อนไหวในรูปแบบของมูลนิธิมวลมหาประชาชนแทน ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการจัดตั้ง โดยกรอบเวลาในการทำงานของมูลนิธิฯ จะสอดคล้องกับกรอบเวลาการทำงานของสปช. คือในเวลา 1 ปี ก็

** 40 อดีตส.ว.นัดหารือก่อนเปิดประชุมสปช.

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เชื่อว่า ในกลุ่ม 40 อดีตส.ว. ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นสปช. จะนัดหมายเพื่อหารือถึงแนวทางการทำงาน ก่อนที่จะมีการประชุม สปช. นัดแรกอย่างไรก็ตาม การประชุม สปช. นัดแรก มีวาระสำคัญ คือการเลือกประธานและรองประธานสปช. ซึ่งภายในกลุ่มอดีต 40 ส.ว. ยังไม่ได้พิจารณาใครเป็นพิเศษ

** ปชช.เข้มแข็งดีกว่ารัฐบาลเข้มแข็ง

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีต ส.ส.พัทลุง แสดงความไม่เห็นด้วยกับความเห็นของ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่าการเมืองการปกครองของไทยหลังรัฐธรรมนูญใหม่ จะได้รัฐบาลที่เข้มแข็งแยกออกจากรัฐสภา ว่า ตนรู้สึกตกใจพอสมควร สาเหตุที่ทำให้เกิดรัฐประหาร เพราะการมีรัฐบาลที่เข้มแข็งจนเกินไป เราควรมีรัฐบาลที่ยืดหยุ่น ยอมให้มีการตรวจสอบ ยอมปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาล และองค์กรอิสระรัฐบาลไม่ต้องเข้มแข็งเกินไป แต่ต้องสร้างให้พลเมืองเข้มแข็งกว่ารัฐบาล แต่ที่ตกใจไปกว่านั้น อ.วิษณุ กล่าวว่า หลังรัฐธรรมนูญใหม่ จะมีความขัดแย้งใหม่ คือความขัดแย้งเรื่องรัฐธรรมนูญ

** "อลงกรณ์"ชู 4 ข้อร่วมปฏิรูปประเทศ

นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิก สปช. และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงแนวทางการปฏิรูป ที่จะเสนอต่อที่ประชุม สปช. ว่า มี 4 เรื่อง คือ 1. การปรองดอง ซึ่งสำคัญที่สุดเพราะไม่ว่าจะออกแบบพิมพ์เขียวประเทศออกมาสวยหรูอย่างไร แต่ถ้าไม่ได้รับความยอมรับ ก็ปฏิรูปไม่ได้ 2. ความโปร่งใสต้องแก้ไขการทุจริตคอร์รัปชัน 3. ประสิทธิภาพของประเทศ 4. การปฏิรูปแนวทางประชาธิปไตย ซึ่งประเทศนี้ต้องเดินหน้าด้วยระบบนี้เท่านั้น

** "ยะใส"ชี้สปช.มี 5 จุดแข็ง 4 จุดอ่อน

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Suriyasai katasila" ระบุถึง รายชื่อบุคคลที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมาชิก สปช. จำนวน 250 ราย ว่า ส่วนตัวมองว่า สปช. ที่ได้รับการแต่งตั้งครั้งนี้มี 5 จุดแข็ง และ 4 จุดอ่อน สำหรับจุดแข็ง 5 ข้อได้แก่ 1. มีความหลากหลายครอบคลุมทุกภาคส่วน 2. สัดส่วนทหารและตำรวจมีไม่มากอย่างที่คิด 3. ได้ผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ในแต่ละด้าน 4. ความหลากหลายจะช่วยลดความหวาดระแวงเคลือบแคลงของสังคมได้พอสมควร และ 5. การครอบงำจากทหารหรือ คสช. ถ้ามีจะทำได้ยาก เพราะ สปช.มากกว่า 70 คน มีความเป็นตัวของตัวเอง

ส่วนจุดอ่อน 4 ข้อ คือ 1. สัดส่วนของข้าราชการและอดีตข้าราชการประจำ มากกว่าครึ่งหนึ่ง วิธีคิดแบบอำนาจนิยม อาจครอบงำสภาปฏิรูปฯ จนทำให้วิสัยทัศน์ปฏิรูปขาดความ 2. ตัวแทนภาคเกษตรกรและผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ มีสัดส่วนน้อยเกินไป 3. ขาดคนรุ่นใหม่และมุมมองใหม่ๆ และ 4.ความหลากหลายอาจกลายเป็นจุดอ่อน หากขาดทิศทางที่เป็นเอกภาพหรือเป้าหมายร่วมนายสุริยะใส กล่าวด้วยว่า ในส่วนของสภาปฏิรูปคู่ขนานนั้น ที่จะติดตามการทำหน้าที่ของสปช. ขณะนี้ได้เริ่มหารือเป็นการภายในกับกลุ่มบุคคลที่มีแนวคิดใกล้เคียงกันบ้างแล้ว ก่อนที่จะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 26 ต.ค.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น