xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ทวายโปรเจคในยุค “ประยุทธ์ 1”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สัปดาห์ที่แล้ว หลังจาก นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ออกมาเปิดเผยว่า การเดินทางเยือนประเทศพม่าอย่างเป็นทางการ ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 9-10ต.ค.นี้

มีประเด็นหารือเรื่องภาพรวมความสัมพันธ์ และการขยายความร่วมมือระหว่างกัน และเน้นสุด ๆ โดยจะมีการหารือเกี่ยวกับ “โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย” รวมถึงการหาช่องทางให้ประเทศญี่ปุ่นเข้ามามีส่วนร่วม หลังจากที่ญี่ปุ่นแสดงความประสงค์ที่มาร่วมในโครงการนี้

ประกอบกับ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” ก็ไฟเขียวเดินหน้าพัฒนาร่วมโครงการนี้ทันทีเป็นลำดับต้น ๆ เพื่อเรื่องนี้จะทำให้ประเทศพม่า มีความมั่นใจต่อรัฐบาลไทยมากขึ้น

เพราะมีการประเมินว่า โครงการนี้อาจจะมีมูลค่ากว่า 1.6 ล้านล้านบาท และจะมีประโยชน์กับไทยมหาศาล

โดยข้อมูลทั้งหมดของโครงการนี้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ส่งถึงมือ พล.อ.ประยุทธ์ แล้ว และมีการมอบหมายให้ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯด้านเศรษฐกิจ เป็นประธานคณะกรรมการร่วมระดับสูง ไทย-พม่า

ขณะที่ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คาดการว่าภายในไตรมาส 4 นี้ น่าจะมีความชัดเจน ทั้งรูปแบบโครงการที่จะลงทุนในโครงการทวาย และพันธมิตรที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในกับรัฐบาลไทย

ในเดือนตุลาคมนี้ จะเกิดอะไรขึ้นกับ โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ในยุค คสช.

ไปเปิดปฏิทินดูข้อมูลจาก “สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน และคณะกรรมการบริษัท ทวาย เอสซีแซด ดีเวลลอปเมนท์” พบว่า ปลายกันยายน 2557 ได้มีการจัดทำร่างเงื่อนไขการประมูลของโครงการในเฟสแรก และเดือนตุลาคม 2557 จะมีการประชุมร่วม คณะทำงานไทย-พม่า ที่เมืองเนปิดอว์ โดยจะพิจารณาประเมินทรัพย์สิน (ดิวดิลิเจนซ์) ของบริษัท อิตาเลียนไทย ดิเวล็อปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) หรือไอทีดี ซึ่งได้เสนอแผนการลงทุนมาแล้ว และการยื่นประมูลโครงการลงทุนระยะแรก (อินิเชียลเฟส)

ประกอบกับตลอดช่วงเดือนกันยายน ตัวแทนรัฐบาลไทย และคสช.ได้หารือกับรัฐบาลญี่ปุ่นถึงโครงการนี้

3 ก.ย. 2557 ที่กรุงเนปิดอว์ ตัวแทนฝ่ายไทยนำโดย คณะทำงานประสานงานร่วมระหว่างไทย-พม่า (เจซีซี) ที่มีคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นหัวหอก ระบุว่า ไทยได้ขอให้ญี่ปุ่นร่วมมือพัฒนาเครือข่ายด้านการผลิต โดยเฉพาะการเชื่อมโยงพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกของไทยกับโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เพื่อส่งเสริมให้เป็นฐานการผลิตหลักของภูมิภาค ขณะเดียวกันยังต้องร่วมมือสำรวจข้อคิดเห็นเชิงลึกจากภาคเอกชนจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ภาคเอสเอ็มอีในระยะยาวด้วย

การประชุมคราวนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้เข้ามาร่วมประชุม ในฐานะผู้สังเกตและมีส่วนร่วมศึกษาแผนแม่บทโครงการ

5 ก.ย.57 ที่กรุงเทพฯ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้หารือในช่วงรับประทานอาหารกลางวันกับผู้แทนสมาพันธ์ธุรกิจชั้นนำของญี่ปุ่น 24 บริษัท พบว่า ผู้แทนภาคเอกชนญี่ปุ่นก็สนใจที่ลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมทวาย

22 ก.ย.57ที่ทำเนียบรัฐบาล นายไดชิโร ยะมะกิวะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้า เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น เข้าเยี่ยมคารวะหม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี มีการหารือเรื่องนี้เพราะเห็นว่า ไทยเริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงการเศรษฐกิจพิเศษทวาย มีการเชิญชวนให้บริษัทของญี่ปุ่นเข้ามาร่วมลงทุนในอนาคต

ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นเล็งเห็นความสำคัญของโครงการนี้และยินดีร่วมมือกับไทย ขณะเดียวกันก็ต้องการให้ไทยช่วยเจรจากับพม่าในการกู้ยืมเงินจากญี่ปุ่นเพื่อใช้ในการพัฒนาโครงการต่อไป

22 ก.ย.57 ที่กรุงเทพฯ จัดทำร่างเงื่อนไขรายละเอียดในการประมูลหรือทีโออาร์โครงการลงทุนระยะแรก (อินเนียเชียลเฟส) แล้วเสร็จ

มีการส่งให้ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด(มหาชน) หรือไอทีดี กับ รัฐบาลญี่ปุ่น ผ่านกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น (เมติ) เพื่อให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นที่สนใจร่วมเสนอรายละเอียดในการประมูลโครงการ

26 ก.ย.57 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็มีการหารือทวิภาคีเรื่องนี้กับนายฟุมิโอะ คิชิดะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 69 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

การย้ำอย่างชัดเจนว่า “ญี่ปุ่นประสงค์ที่จะลงทุนในโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย”

9-10 ต.ค.57 พล.อ.ประยุทธ์ และคณะที่คาดว่าจะมีพลเอกธนะศักดิ์ หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ฯลฯ ร่วมเดินทางไปเยือนพม่า อย่างเป็นทางการ

หลัง 10 ต.ค.57 ที่กรุงเนปิดอว์ ประชุมพิจารณาประเมินทรัพย์สิน (ดิวดิลิเจนซ์) ของบริษัท อิตาเลียนไทย ดิเวล็อปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) หรือไอทีดี ซึ่งได้เสนอแผนการลงทุนมาแล้ว และการยื่นประมูลโครงการลงทุนระยะแรก (อินิเชียลเฟส) การประมูลแบบเฉพาะเจาะจง 2 รายคือไทยและญี่ปุ่นเท่านั้น

จากนั้น คาดว่ารัฐบาลพม่า อาจจะจัดสรรพื้นที่ก่อน โดยดูว่าขั้นตอนไหนสำคัญก่อนและหลัง ผู้ชนะการประมูลโครงการเฟสแรก

ข้างต้น เป็นปฏิทินที่รวบรวมมา โดยคาดการ ว่าน่าจะเกิดในเดือนตุลาคมนี้

ย้อนกลับไปดูหลายปีก่อน โครงการนี้ ถูกจับตามองว่า เป็นแบ่งเค้กใหม่ของก๊วนตระกูลการเมือง โดยหวังจะเข้ามาล้วงผลประโยชน์กว่าแสนล้านจากโครงการนี้ แต่โครงการก็ยังเดินหน้ามาถึงปัจจุบัน รัฐบาลพม่าเข้าๆออกๆหารือกับผู้รับผิดชอบฝ่ายไทย ฝ่ายไทยก็พยายามหาทางออกให้ภาคเอกชนไทยเข้าไปด้วยวิธีการต่าง ๆ

แต่ติดปัญหาเรื่องเงินลงทุน ที่รัฐบาลของ 2 ประเทศ พยายามผลักดันกันมาตลอด และก็มีหลายประเทศสนใจ

ในส่วนของไทย ยังติดขัดโดยเฉพาะการศึกษาการลงทุนของ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ไอทีดี) ??? ที่ติดขัดในเรื่อง สิทธิ์การเช่าที่ดิน การก่อสร้างท่าเรือ และถนน ที่จะต้องดูถึงวงเงินลงทุนเท่าใด จากนั้นจึงจะจ่ายเงินคืนให้ ก่อนจะไปเปิดประมูลใหม่

ส่วน ญี่ปุ่นนั้น ให้ความสนใจมาตลอด แต่ยังไม่ลงทุน จึงไม่ได้ติดตามความคืบหน้าโครงการมาตั้งแต่ต้น และยังไม่พร้อมที่จะเปิดตัว เพราะมองว่าพม่าควรจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไว้รองรับ มิใช่รอเอกชนฝ่ายเดียว

ในสมัยรัฐบาลที่แล้ว มีการตั้งกลไกคณะกรรมการร่วมไทย-พม่า ขึ้นมา 3 ระดับ คือคณะกรรมการร่วมระดับสูงฯ( Joint High -Level Committee : JHC(เจเอชซี)) มีรองนายกรัฐมนตรีไทยและรองประธานาธิบดีพม่าเป็นประธานร่วม ประสานนโยบายพูดคุยถึงความคืบหน้าและการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจระหว่างกันรวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้

รองมามี คณะกรรมการประสานงานร่วมไทย-พม่า(เจซีซี) มีหน้าที่ติดตามประเมินผลความคืบหน้า และประสานงานตามบันทึกความเข้าใจระหว่างกัน และสุดท้ายเป็นคณะอนุกรรมการร่วม 6 สาขา ประกอบด้วย โครงสร้างพื้นฐานและการก่อสร้าง ,อุตสาหกรรมเฉพาะด้านและการพัฒนาธุรกิจ ,พลังงาน ,การพัฒนาชุมชนและการย้ายถิ่นฐาน ,กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และด้านการเงิน

ประกอบกับ สศช.ยังได้เสนอให้รัฐบาลปรับกลไกการเข้าร่วมพัฒนาในโครงการที่เกี่ยวข้อง โดยให้ปรับลดคณะกรรมการร่วมที่มีอยู่ทั้งหมด 3 ระดับในรัฐบาลคือ คณะกรรมการร่วมระดับสูงระหว่างไทย-พม่า (เจเอชซี) คณะกรรมการประสานงานร่วมระหว่างไทย-พม่า (เจซีซี) และคณะทำอนุกรรมการร่วม 6 สาขา เหลือเพียง คณะกรรมการระดับนโยบาย และคณะอนุกรรมการฯ เท่านั้น เพราะที่ผ่านมาการทำงานของคณะกรรมการทั้ง 3 ระดับมีความซ้ำซ้อน จึงทำให้การเข้าร่วมมือพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศมีความล่าช้ามาก

ทำให้คณะทำงานขณะนี้ จะเหลือเพียงสองชุดเท่านั้น

ขณะที่ภาคการลงทุนของฝ่ายไทยด้านอื่น ๆ พบว่า อาจจะมีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1-2 พันเมกะวัตต์ ,โครงการฮับผลิตภัณฑ์ยางเพื่อออกจากฝั่งอันดามันไปยังประเทศยุโรป และประเทศแถบแปซิฟิก ฯลฯ

หรืออาจะมีการปัดฝุ่น โครงการ Expressway ในอนาคต หรือ มอเตอร์เวย์สายตะวันตก บางใหญ่-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี เชื่อมต่อท่าเรือทวาย ทะเลอันดามัน

ส่วน ทางจังหวัดกาญจนบุรี ก็ต้องการให้รัฐเร่งผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่จังหวัดกาญจนบุรีก่อนใครเพราะจะเชื่อมกับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและท่าเรือน้ำลึกทวายที่จะมีการประมูลเดือนตุลาคม 2557 นี้ เพื่อยกระดับความเชื่อมั่นค้าชายแดน

ทั้งหมดเป็นความคืบหน้าของ“โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย”ที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ กำลังจะทำในไม่กี่วันนี้



กำลังโหลดความคิดเห็น