xs
xsm
sm
md
lg

คัมภีร์ที่นักการเมืองสหรัฐอเมริกายึดเป็นสรณะเมื่อจะต้องตัดสินใจเกี่ยวกับประเทศไทยตอนที่ 1

เผยแพร่:   โดย: อ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย คณะสถิติประยุกต์
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ผมเคยติดต่อวุฒิสมาชิกสหรัฐอเมริกาแห่งมลรัฐเนวาด้า Harry Reid ซึ่งเป็น Senator Majority Leader ด้วย เพื่อยื่นหนังสือประท้วงท่าทีของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อประเทศไทยผ่านทางคุณณรงค์ ทองศรีนุ่นที่ Las Vegas เช่นเดียวกับที่ ดร. จารุณี นักระนาด มาร์ซิลลี่ ก็เคยสนทนากับ Mark R. Pacheco ซึ่งเป็น State Legislature แห่งมลรัฐแมสซาชูเสท กระทั่งวุฒิสมาชิก Sheldon Whitehouse และ วุฒิสมาชิก Jack Reed แห่งรัฐโร้ดไอส์แลนด์ ได้ติดต่อกลับมายัง ดร. จารุณี

เราทั้งสองคนก็ได้รับจดหมายตอบกลับในทำนองเดียวกัน จดหมายที่เราได้รับตอบกลับมาต่างอ้างถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่เขียนโดย Congressional Research Service ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐสภาอเมริกัน ที่มีหน้าที่ค้นคว้าวิจัยเพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจของนักการเมืองอเมริกา หนังสือเล่มนี้ชื่อ Thailand: Background and U.S. Relations เขียนโดย Emma-Chanlett Avery และ Ben Dolven ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการเอเชีย ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2013

ผมอ่านและพิจารณาหนังสือเล่มนี้หลายรอบ และทราบดีว่าหนังสือเล่มนี้สำคัญมากสำหรับประเทศไทย สมควรที่คนไทยทุกคนจะได้รับรู้ เพราะเป็นหนังสือที่นักการเมืองสหรัฐอเมริกาจำนวนมากใช้เป็นคัมภีร์ในการพิจารณาสถานการณ์ทางการเมืองเศรษฐกิจประเทศไทยในปัจจุบัน การที่เราศึกษาและพิจารณามุมมองของเขาย่อมทำให้เรารู้ท่าทีของเขา และวางตัวหรือวางกลยุทธ์ ได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น ผมเลยอยากจะเอาหนังสือเล่มนี้มาเล่าสู้กันฟัง เนื้อหาอาจจะมีความคลาดเคลื่อนไปบ้าง เช่นตั้งแต่หน้าแรกในบทสรุปก็ให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนเสียแล้วว่าสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดสำหรับประเทศไทย ผมลองตรวจสอบข้อมูลนี้ดูกับทางเว็บไซต์ของกระทรวงพาณิชย์ พบว่าไม่เป็นความจริงมาหลายปีแล้ว เพราะตอนนี้ จีนกับญี่ปุ่นเป็นตลาดที่เราส่งออกมากกว่า บางปีสหรัฐอเมริกาหล่นไปอยู่อันดับ 3 แล้วก็มี ในความคลาดเคลื่อนนั้นไม่ใช่เรี่องสำคัญ อคติที่หนังสือเล่มนี้มีต่อประเทศไทยก็ไม่สำคัญ สิ่งที่สำคัญกว่าที่เราต้องรู้คือเขาคิดกับเราอย่างไรต่างหาก เพราะหนังสือเล่มนี้เป็นคัมภีร์ที่นักการเมืองและนักการทูตสหรัฐอเมริกาใช้กันอย่างแพร่หลาย ผมเองจึงไม่แปลกใจต่อท่าทีของสหรัฐอเมริกา รวมถึงเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยที่ไม่ค่อยจะเป็นมิตรกับประเทศไทยสักเท่าไหร่ (ในสายตาของผม)

หนังสือเล่มนี้บอกว่าประเทศไทยมีการต่อสู้อย่างรุนแรงระหว่างทักษิณ ชินวัตร ผู้นำประชานิยมที่ได้ใจคนจนในชนบทที่ถูกกดขี่ข่มเหงมาโดยตลอด กับกลุ่มนักการเมืองนิยมสถาบันพระมหากษัตริย์ขวาจัดอนุรักษ์นิยมกับกองทัพ และชนชั้นสูงในเมืองหลวง ความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายนำไปสู่การประท้วงอย่างรุนแรง และนำไปสู่การยุบสภาโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สหรัฐอเมริกาเองนั้นมีท่าทีว่าจะต้องการสร้างดุลอำนาจใหม่ในเอเชีย โดยต้องการเข้ามากระชับความสัมพันธ์กับไทยให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น เพราะไทยมีทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เป็นยอดปรารถนาของสหรัฐอเมริกา ทั้งยังมีฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคแม้ว่าการเมืองจะปั่นป่วนก็ตาม สหรัฐอเมริกาเองตระหนักดีว่าไทยเคยมีบทบาทเป็นผู้นำสำคัญในภูมิภาคนี้ แม้ว่าด้วยเหตุผลทางการเมืองที่ทำให้บทบาทดังกล่าวดูด้อยลงไป ความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์ที่มั่นคงระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งต่อสหรัฐอเมริกา เพราะสหรัฐอเมริกาต้องการใช้ให้ไทยเป็นฐานหลักสำคัญสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประธานาธิบดีโอบาม่าได้ประกาศนโยบายปรับดุลอำนาจใหม่ (Rebalance) ในปี 2011 เพื่อกระชับและเข้ามามีบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ลึกซึ้ง แต่ทว่าไทยไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการสร้างความสัมพันธ์เช่น การไม่ยอมลงนามในการเจรจาทางการค้าที่ชื่อว่าหุ้นส่วนข้ามมหาสมุทรแปซิฟิค (Trans-Pacific Partnership: TPP)

สหรัฐอเมริกามีคำถามพื้นฐานสองประการที่สำคัญยิ่งที่จะต้องพิจารณาสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีต่อไป ข้อแรกคือ ทักษิณ ชินวัตร มีโอกาสสูงที่จะกลับมามีอำนาจปกครองประเทศไทยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะว่าทักษิณยังมีความสำคัญและมีชื่อเสียงอยู่มาก ไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือในต่างประเทศก็ตาม แม้ว่าพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่จะนำไปสู่การยกเลิกความผิดในคดีความต่างๆ ทีทักษิณได้ก่อไว้ทั้งหมดจะก่อให้เกิดการต่อต้านอย่างรุนแรง แต่โอกาสที่ทักษิณจะกลับมามีอำนาจก็ยังคงสูงอยู่ คำถามที่สอง คือพระพลานามัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระชราและไม่แข็งแรงนัก ด้วยพระชนมายุที่มากถึง 86 พรรษา แม้ว่าพระองค์จะทรงได้รับการยกย่อง ความรักเทิดทูนจากคนไทยมากเท่าใดก็ตาม เช่นเดียวกับที่สถาบันพระมหากษัตริย์จะเป็นสถาบันที่มั่นคงที่สุดในสังคมไทยมากว่า 60 ปี ก็ตาม สหรัฐอเมริกามีความกังวลต่อความไม่มั่นคงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

สาเหตุหลักสำคัญอีกประการหนึ่งที่สหรัฐอเมริกาต้องการสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับไทยคือการที่ไทยเองมีความสามารถอย่างยิ่งในการผูกมิตรกับประเทศต่างๆ ทุกประเทศ มีเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ไทยนั้นยังมีสัมพันธ์กระชับแน่นแฟ้นกับจีน สหรัฐอเมริกาคิดว่าจีนต้องการขยายอิทธิพลมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การที่ไทยมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับจีนนั้นทำให้สหรัฐอเมริการู้สึกกังวล และเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การแข่งขันกันระหว่างกรุงปักกิ่งและกรุงวอชิงตัน

ฉบับหน้าจะมาเล่าให้ฟังต่อว่าคัมภีร์เล่มนี้มองความขัดแย้งทางการเมืองไทยอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น