xs
xsm
sm
md
lg

เรากำลังจะมีรัฐบาลทหาร

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

เมื่อวันก่อนพบเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง คุยกันถึงเรื่องสภาปฏิรูป เจิมศักดิ์เล่าว่า มีคนสนับสนุนให้สมัครเป็นสมาชิก แต่ก็ยังลังเล เจิมศักดิ์ ถามผมว่าจะทำอะไรได้แค่ไหน ผมบอกว่าสำหรับตัวเจิมศักดิ์เองอยู่ที่ไหน ก็ทำอะไรต่อมิอะไรได้อยู่แล้ว เจิมศักดิ์ ถามผมว่าแล้วผมล่ะ ผมไม่ได้ตอบแต่ในใจคิดว่าผมเองมีโอกาสทำงานด้านนี้มามากแล้ว ควรให้โอกาสคนอื่น โดยเฉพาะคนหนุ่มรุ่นหลังบ้าง ผมอายุ 70 แล้ว ทำงานด้านปฏิรูปรัฐสภา ปฏิรูปการเมือง ระบบราชการ ปฏิรูปการศึกษา งานเหล่านี้อาจกล่าวได้ว่าประสบความสำเร็จส่วนหนึ่ง นอกจากนั้นก็ยังไปไม่ถึงไหน เพราะงานปฏิรูปเป็นเรื่องยากเนื่องจากต้องการการเปลี่ยนแปลงแบบสมัครใจ เต็มใจ ไม่มีการบังคับกัน นอกจากนั้นการปฏิรูปหมายถึงการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ปัญหาบ้านเมืองเรามักมีลักษณะดินพอกหางหมู ดังนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทีละน้อย ก็ไม่มีผลแรงพอเมื่อเวลาผ่านไปของเก่าๆ พฤติกรรมเดิมๆ ก็กลับเข้ามาอีก

ในสมัยก่อน เรามีรัฐบาลทหาร ข้าราชการประจำแข็งแกร่ง ไม่ค่อยมีคนตรวจสอบ ผมจึงเห็นว่าการที่เรามี ส.ส.จำเป็นต้องเสริมพลังให้ ส.ส.มีข้อมูล และมีคนให้คำปรึกษาจึงจะถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายบริหารได้ ส.ส.สมัยนั้นน่าสงสารคือไม่มีคนช่วย ต้องอาศัยความรู้ และประสบการณ์ส่วนตัว เวลาจะวิจารณ์ตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี ก็เปิดหนังสือพิมพ์อ่านข่าวที่ปรากฏทางหนังสือพิมพ์

ผิดกับที่สหรัฐอเมริกา เขามีระบบคณะผู้ช่วย มีศูนย์ค้นคว้าหาข้อมูล และมีหน่วยวิเคราะห์งบประมาณของตนเองด้วย ศูนย์วิเคราะห์ทางวิชาการนี้มีชื่อว่า Congressional Research Service หรือ CRS ผมได้เคยไปเยี่ยมชมมาแล้ว นอกจากจะมีเจ้าหน้าที่ส่วนกลางแล้ว ส.ส.แต่ละคนก็ยังมีผู้ช่วยจำนวนหนึ่งอีกด้วย บุคคลเหล่านี้มักจะเป็นนักศึกษาที่กำลังทำ Ph.D. อยู่หรือไม่ก็เป็นอาจารย์หนุ่มสาวที่เพิ่งเริ่มสอน คนพวกนี้ไปทำงาน 1-2 ปีกับ ส.ส.อย่าง ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ก็เคยไปทำงานเป็นผู้ช่วย ส.ส. ผู้ช่วยเหล่านี้คอยค้นหากฎหมาย และทำการศึกษาปัญหาต่างๆ ตลอดจนการช่วยร่างสุนทรพจน์ ทำงานช่วยคณะกรรมาธิการ

ของเราเมื่อมีการปฏิรูปรัฐสภาครั้งแรกในปี 2517 ก็เริ่มด้วยการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ให้มีงานด้านข้อมูลและค้นคว้า นอกจากนั้นก็ยังให้ ส.ส.ได้มีผู้ช่วยอีก 2-3 คน ส่วนคณะกรรมาธิการก็มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการ และเปิดช่องให้ตั้งบุคคลภายนอกได้ แต่บางที ส.ส.มักจะตั้งสมัครพรรคพวกเข้าไปเป็นเกียรติได้พิมพ์นามบัตรโก้ๆ ไว้แจกคน

เมื่อผมไปช่วยงานรัฐสภา ได้ร่วมกับคุณสุวิทย์ คุณกิตติ ทำการสัมมนา และพา ส.ส.ไปดูงานต่างประเทศ แต่ไม่ได้ใช้เงินหลวง เพราะองค์การระหว่างประเทศ เช่น มูลนิธิ Ford และมูลนิธิคอนราด อเดนาวร์ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ การเดินทางไปดูงานต่างประเทศนับว่าเป็นประโยชน์ เพราะ ส.ส.ได้เปิดหูเปิดตา และดูว่า ส.ส.ที่อื่นเขาทำงานอย่างไร รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ตลอดจนเป็นการสร้างเครือข่ายของฝ่ายประชาธิปไตยอีกด้วย

เมื่อเวลาผ่านไป 40 ปี ประเทศไทยก็กลับมาสู่ที่เดิมอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเราจะมีรัฐบาลทหาร มาคราวนี้ทหารได้ทำงานเต็มที่ เพราะผิดกับครั้งก่อนๆ ครั้งนี้ทหารทั่วประเทศได้มีบทบาทช่วยงานตำรวจ และทำการปราบปรามผู้ตัดไม้ทำลายป่า ตลอดจนปราบปรามกลุ่มอิทธิพลต่างๆ เมื่อดูการงานของทหารระดับนำแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าเป็นบุคคลที่มีคุณภาพดีมาก ผู้นำทหารเหล่านี้ต่างมีความซื่อสัตย์ และมาคั่นความต่อเนื่องของนักการเมืองที่ทำการคอร์รัปชันไว้อย่างมาก รัฐบาลที่จะเกิดขึ้นคงมีนายทหารเข้ามาร่วมเป็นรัฐมนตรีหลายคน ผมไม่อยากจะคิดว่าคนไทยเราต้องมีการปกครองแบบนี้ คือมีการควบคุมและขู่ว่าจะใช้อำนาจ ระบอบประชาธิปไตยอาจไม่เหมาะกับคนไทย เป็นเรื่องที่น่าเสียใจที่เราต้องอยู่ภายใต้การปกครองของทหารที่เข้ามา “จัดแถว” ใหม่ หากเป็นเช่นนี้แล้ว บ้านเมืองอยู่สงบสุข มีการแก้ปัญหาเรื้อรังได้อย่างการขายลอตเตอรี่เกินราคา

ดังนั้น คนไทยจำนวนไม่น้อยก็จะเปรียบเทียบรัฐบาลนักการเมืองกับรัฐบาลนักการทหาร และหากรัฐบาลทหารชุดนี้มีผลงานดี ก็เป็นห่วงว่าอนาคตของประชาธิปไตยคงไม่สดใสนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น