xs
xsm
sm
md
lg

ศรัทธาอาศัย : ภัยของพุทธศาสนา

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

คำว่า ศรัทธา หมายถึงความเชื่อถือ ความเชื่อมั่นในบุคคล ซึ่งมีศีล มีธรรมหรือในวัตถุซึ่งมีอิทธิปาฏิหาริย์มีอำนาจแฝงเร้นสามารถดลบันดาลสิ่งที่คนต้องการได้

ศรัทธาเป็นผลอันสืบเนื่องมาจากความเลื่อมใส ซึ่งมีอยู่ 4 ประการคือ

1. รูปประมาณ คือผู้ถือประมาณในรูป บุคคลที่ได้เห็นรูปร่างสวยงาม ทรวดทรงดี อวัยวะสมส่วน ท่าทางสง่างามสมบูรณ์พร้อม จึงชอบใจเลื่อมใสน้อมใจที่จะเชื่อถือ

2. โฆษประมาณ คือผู้ประมาณในเสียง บุคคลที่ได้รับ ได้ฟังเสียงสรรเสริญเกียรติคุณ หรือเสียงพูดจาอันไพเราะจึงชอบใจเลื่อมใสน้อมใจที่จะเชื่อถือ

3. ลูขประมาณ คือผู้ประมาณในความคร่ำหรือเศร้าหมอง บุคคลที่มองเห็นสิ่งของเครื่องใช้ ความเป็นอยู่ที่เศร้าหมอง เช่น จีวรคร่ำๆ เป็นต้น หรือมองเห็นการกระทำเคร่งครัด ขัดเกลาตนเพื่อพ้นจากกิเลสจึงเกิดความชอบใจ เลื่อมใสน้อมใจที่จะเชื่อถือ

4. ธรรมประมาณ คือผู้ประมาณในธรรม บุคคลที่พิจารณาด้วยปัญญาเห็นสารธรรม หรือการปฏิบัติชอบจึงชอบใจเลื่อมใสน้อมใจที่จะเชื่อถือ

ในชั้นอรรถกถา นิยมเรียกบุคคลที่มีความเลื่อมใส 4 ประเภทนี้ว่า รูปัปปมาณิกา โฆสัปปมาณิกา ลูขัปปมาณิกา และธัมมัปปปมาณิกาตามลำดับ

ในบุคคลที่เลื่อมใส 4 ประเภทนี้ 3 ประเภทข้างต้นคือ 1-3 ยังมีโอกาสผิดพลาดได้มาก เนื่องจากถูกครอบงำด้วยกามราคะและโมหะ จึงคิดอยู่แค่ภายนอก ไม่รู้จักคนที่ตนเองได้มองอย่างแท้จริง และไม่เข้าถึงสาระ ส่วนผู้ถือธรรมโดยประมาณ จึงจะรู้ชัดคนที่ตนมองได้อย่างแท้จริง ไม่ถูกกิเลสพัดพาไปเข้าถึงธรรมปราศจากสิ่งครอบงำ

ความเลื่อมใสแม้ประการใดประการหนึ่งใน 4 ประเภทนี้ ก็เป็นเหตุให้เกิดศรัทธาได้

ดังนั้น คำว่า เลื่อมใสกับคำว่า ศรัทธา จะถูกนำมาพูดถึงควบคู่กันไปเสมอว่าเลื่อมใสศรัทธา แต่ในบาลีจะเรียงกลับกันคือ ศรัทธา ประสาทะ ซึ่งแปลว่า ศรัทธา และเลื่อมใส

เมื่อบุคคลมีศรัทธาในบุคคลหรือวัตถุ ก็จะทำการบูชาแก่บุคคลหรือวัตถุนั้น ด้วยการบูชา 2 ประการคือ

1. อามิสบูชา คือการนำสิ่งของ เช่น ธูป เทียน ดอกไม้ รวมไปถึงเงินทองของมีค่าถวายหรือมอบให้แก่บุคคลหรือวัตถุที่ตนเองศรัทธา

2. ปฏิบัติบูชา คือการนำคำสอนของบุคคลหรือแนวทางการปฏิบัติของบุคคลหรือเทพ อันเป็นตัวแทนของวัตถุนั้นมาปฏิบัติตาม

ในการบูชา 2 ประการนี้ พระพุทธเจ้าทรงยกย่องสรรเสริญปฏิบัติบูชา ว่าเป็นเลิศหรือเหมือนกับการบูชาด้วยอามิส

แต่ในสังคมไทยชาวพุทธส่วนใหญ่นิยมการบูชาด้วยอามิส ทั้งนี้น่าจะเนื่องจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. การบูชาด้วยอามิสทำได้ง่าย เพราะแค่มีข้าวของเงินทองก็บูชาได้แล้ว แต่การบูชาด้วยการปฏิบัติจะต้องมีความอดทน และต้องลงทุนด้วยความพยายาม ซึ่งในบางครั้งก็สวนทางกับอุปนิสัยของตนเองด้วย

2. ในการบูชาด้วยการปฏิบัติ ถึงแม้จะง่ายสำหรับคนดี แต่ก็ยากสำหรับคนเลว ดังนั้นในยุคที่คนเลวมาก คนดีน้อย การบูชาด้วยการปฏิบัติจึงเป็นเรื่องยาก

ด้วยเหตุที่ผู้คนส่วนใหญ่นิยมอามิสบูชานี้เอง จึงเป็นเหตุให้บรรดาเกจิอาจารย์ และวัดดังทั้งหลายกลายเป็นผู้มั่งคั่งเปี่ยมไปด้วยทรัพย์สิน และจากการที่บรรดาเกจิในระดับหลวงพี่ หลวงพ่อ หลวงปู่ ร่ำรวยมั่งคั่งนี้เองจึงได้เกิดมีบุคคลประเภทศรัทธาอาศัยเกิดขึ้นในหลายรูปแบบดังต่อไปนี้

1. ตั้งตนเป็นคนใกล้ชิด เป็นศิษย์ก้นกุฏิ หรือเป็นคนรับใช้วัด รับจัดหาสิ่งของที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน และทองคำเปลว เป็นต้น มาจำหน่ายแก่ผู้มาทำบุญหรือประกอบพิธีกรรม รวมไปถึงการจัดหานางรำหรือคณะละครเพื่อแสดงแก้บนโดยคิดราคาแพง และผูกขาด

2. ประกอบธุรกิจพุทธพาณิชย์จัดทำวัตถุมงคลโดยร่วมมือกับเกจิอาจารย์ และกรรมการวัดแบ่งผลประโยชน์กันอย่างเป็นกอบเป็นกำ

บุคคลประเภทศรัทธาอาศัยนี้เอง ที่ทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งเมื่อมีคนกลุ่มอื่นเข้ามาแสวงหาประโยชน์ในรูปแบบเดียวกัน ดังที่เกิดขึ้นที่วัดหลวงพ่อโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อไม่นานมานี้ และรวมไปถึงที่อื่นๆ ที่เกิดเรื่องในทำนองนี้

ศรัทธาอาศัยเกิดขึ้นอย่างไร และใครควรจะแก้ไข

โดยปกติศรัทธาจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีความเลื่อมใสหรือความถูกใจ และยึดติดในบุคคลหรือวัตถุที่ตนเลื่อมใสแล้วเกิดศรัทธาดังกล่าวแล้ว

แต่ศรัทธาที่ถูกต้องตามนัยแห่งคำสอนของพระพุทธองค์ จะต้องเป็นศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญา จึงจะก่อให้เกิดประโยชน์

ส่วนศรัทธานี้ไม่มีปัญญากำกับเป็นศรัทธามืดบอดทำให้งมงาย ก่อให้เกิดพฤติกรรมในทางไม่ดี และตกเป็นเหยื่อของการถูกหลอกลวงได้ง่าย

ส่วนประเด็นที่ว่าใครจะแก้ปัญหานี้นั้น จะต้องแบ่งออกเป็น 2 ประเภทดังนี้

1. ในกรณีที่เป็นบุคคล ถ้าผู้ที่คนเคารพนับถือเป็นภิกษุ การแก้ปัญหาก็ควรจะเป็นภิกษุสงฆ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาเถรสมาคมจะต้องเข้ามาดูแลแก้ไขให้ทุกอย่างอยู่ในกรอบแห่งธรรมวินัย

2. แต่ถ้าเป็นคฤหัสถ์หน้าที่แก้ไขควรจะเป็นสำนักพุทธศาสนา โดยการร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือดำเนินการ

แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าปัญหาคนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยศรัทธาบังหน้า เข้ามาหากินกับวัดได้เกิดขึ้นมานานแล้ว และจนบัดนี้ก็ยังแก้ไขให้หมดไปไม่ได้ นั่นมิได้หมายความว่าจะแก้ไม่ได้ ทุกอย่างแก้ไขได้ แต่จะต้องแก้ด้วยความรอบคอบ และเริ่มจากคนในคือภิกษุก่อนแล้วค่อยแก้ส่วนที่เกี่ยวข้องคือคนที่เข้ามาอาศัยวัดทีหลัง ทั้งนี้เพื่อเป็นการตัดต้นตอการเกิดศรัทธาอาศัยให้หมดไป และป้องกันมิให้เกิดขึ้นอีก

อีกประการหนึ่ง เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาเรื่องศรัทธาอาศัย วัดทุกวัดจึงควรมีกติกาในการรับคนเข้าบวช และเมื่อบวชแล้วก็จะต้องมีกติกาควบคุมควบคู่ไปกับวินัย ไม่ควรปล่อยให้วินัยเพียงอย่างเดียวควบคุม เพราะจะต้องไม่ลืมว่าศีลจะลงโทษคนผิดได้ก็ต่อเมื่อคนที่ทำผิดเกิดความละอาย และสารภาพผิดเท่านั้น แต่จะลงโทษคนหน้าด้านที่ไม่สนใจว่าอะไรผิดอะไรถูก ทั้งจะยอมรับผิดก็ต่อเมื่อจำนนต่อหลักฐาน คนประเภทนี้จะต้องไม่รับเข้าไปบวช หรือถ้าบังเอิญบวชมาแล้วก็จะต้องควบคุมอย่างเคร่งครัด จึงจะให้ผลในทางควบคุม
กำลังโหลดความคิดเห็น