xs
xsm
sm
md
lg

“นิด้าโพล” ชี้ส่วนใหญ่หนุนวัด-พระรายงานทรัพย์สิน เหตุมองไม่ค่อยโปร่งใส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โพลนิด้าสำรวจพุทธศาสนิกชนเรื่องทรัพย์สินวัดพระสงฆ์ ส่วนใหญ่มองว่าไม่ค่อยมีความโปร่งใส หนุนรายงานทรัพย์สินวัด-พระสงฆ์ ต่อ สนง.พระพุทธศาสนาฯ ทุกปี แต่ไม่ควรให้เสียภาษี

วันนี้ (31 ส.ค.) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ทรัพย์สินของวัดและพระสงฆ์” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 28-29 สิงหาคม 2557 จากประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,254 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการรายงานทรัพย์สินของวัดและพระภิกษุสงฆ์ ต่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและการเสียภาษีจากรายได้แหล่งต่างๆ ของวัด อาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยความน่าจะเป็นแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งภูมิภาคออกเป็น 5 ภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภาคสุ่มตัวอย่างแบบมีระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error : S.E.) ไม่เกิน 1.4

จากผลการสำรวจเมื่อถามถึงความเชื่อมั่นของประชาชนต่อความโปร่งใสในการบริหารจัดการทรัพย์สินของวัดโดยทั่วไปในปัจจุบัน พบว่า ประชาชนร้อยละ 10.69 ระบุว่ามีความโปร่งใสมาก ร้อยละ 22.89 ระบุว่าค่อนข้างมีความโปร่งใส ร้อยละ 40.19 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความโปร่งใส ร้อยละ 18.10 ระบุว่าไม่มีความโปร่งใสเลย ร้อยละ 8.13 ระบุว่าไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการรายงานทรัพย์สินของวัดต่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นประจำทุกปี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 87.24 ระบุว่าควร เพราะทุกวันนี้วัดมีความเป็นพุทธพาณิชย์มากขึ้น วัดควรมีการรายงานทรัพย์สินเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและป้องกันการทุจริต ทำให้สามารถตรวจสอบและสาธารณชนทราบถึงที่มาที่ไปของทรัพย์สินเหล่านั้นได้ โดยเฉพาะวัดที่มีทรัพย์สินมากผิดปกติ ขณะที่ประชาชน ร้อยละ 9.33 ระบุว่าไม่ควร เพราะถือว่าเป็นทรัพย์สินของผู้มีจิตศรัทธาทำบุญถวายให้กับวัด และเป็นสิทธิ์ของวัดที่สามารถบริหารจัดการทรัพย์สินได้เอง และร้อยละ 3.43 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการรายงานทรัพย์สินของพระภิกษุสงฆ์ต่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นประจำทุกปี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 73.84 ระบุว่าควร เพราะทุกวันนี้มีผู้ที่ประพฤติตนมิชอบหาผลประโยชน์ในรูปแบบของพระสงฆ์ เป็นการป้องกันมิให้ญาติโยม หรือผู้มีจิตศรัทธาทำบุญไปโดยขาดการไตร่ตรอง ควรมีการรายงานทรัพย์สินเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและความสบายใจทั้งผู้ให้และผู้รับ รองลงมาร้อยละ 21.13 ระบุว่าไม่ควร เพราะถือเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของพระภิกษุที่มาจากญาติโยม หรือ ผู้มีจิตศรัทธาถวายให้ อีกทั้งยังมีพระภิกษุจำนวนมาก หากจะให้มีการรายงานควรดเป็นเฉพาะรายกรณีไป และร้อยละ 5.03 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการเสียภาษีของวัดจากการที่มีรายได้จากเงินบริจาค การทำบุญทุกชนิด เช่น กฐิน ผ้าป่า เงินทำบุญทั่วไป พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 82.62 ระบุว่าไม่ควรมีการเสียภาษี รองลงมาร้อยละ 14.91 ระบุว่าควร และร้อยละ 2.47 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ สำหรับรายได้จากการให้บูชา/ให้เช่า เครื่องรางของขลังพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.50 ระบุว่าไม่ควร รองลงมา ร้อยละ 40.19 ระบุว่าควร และร้อยละ 4.31 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ และรายได้จากการใช้ทรัพย์สินของวัด (เช่น การให้เช่าที่ดิน การจัดงานวัด เป็นต้น) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 51.99 ระบุว่าไม่ควร ขณะที่ประชาชนร้อยละ 44.58 ระบุว่าควร และ ร้อยละ 3.43 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 20.02 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 19.94 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 19.94 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 20.02 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 20.10 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ร้อยละ 51.20 เป็นเพศชาย และร้อยละ 48.80 เป็นเพศหญิง ตัวอย่างร้อยละ 7.05 มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ร้อยละ 34.99, 25-39 ปี ร้อยละ 45.16 มีอายุ 40-59 ปี และร้อยละ 12.81 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป

ตัวอย่างร้อยละ 100.00 นับถือศาสนาพุทธ ด้านสถานพภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 27.12 สถานภาพโสดร้อยละ 71.12 สถานภาพสมรสแล้ว และร้อยละ 1.76 สถานภาพหม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่างร้อยละ 26.90 ระบุว่าจบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 29.94 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.73 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 29.54 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 4.88 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ตัวอย่าง ร้อยละ 15.06 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 14.58 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 24.84 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 14.10 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.06 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ร้อยละ 12.66 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และร้อยละ 3.69 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ตัวอย่าง ร้อยละ 13.48 ระบุว่าไม่มีรายได้ ร้อยละ 25.04 มีรายได้ต่อเดือน ไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 27.11 มีรายได้ต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 10.85 มีรายได้ต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 6.78 มีรายได้ต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 7.18 มีรายได้ต่อเดือน มากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 9.57 ไม่ระบุรายได้


กำลังโหลดความคิดเห็น