xs
xsm
sm
md
lg

จ่อเคาะชื่อสปช.รอบแรก นำส่งคสช.ไม่เกิน22ก.ย.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน - ป.ป.ช.เผย 2 สนช.เบี้ยวยื่นทรัพย์สิน เตรียมเปิดเผยต่อสาธารณะ 3 ต.ค.นี้ “พรเพชร” ป้องข้อบังคับ สนช.พ่วงอำนาจถอดถอน ยันไม่ได้ตั้งธงรับเรื่องที่ค้างอยู่ 16 ก.ย.นัดประชุมพิจารณางบ 58 วาระ 2-3 “มาร์ค” เตือนอย่าผลาญงบเพลิน ระวังซ้ำรอยไมค์ทองคำ กกต.เผย กก.สรรหาเตรียมทยอยจิ้มว่าที่ สปช.รอบแรก ชี้ต้องถกหลายรอบ เหตุคนสมัครเยอะ คาดได้ผู้ประกวดสปช.จังหวัด 5 คนวันนี้ ก่อนมัดรวมส่งให้ คสช.ไม่เกิน 22 ก.ย.

วานนี้ (14 ก.ย.) นายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ได้ครบกำหนดการยื่นไปเมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า ตนได้รับรายงานเบื้องต้นเมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมายังมีบุคคลที่ไม่ได้ยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สิน 2 คน อย่างไรก็ตามขณะนี้ผ่านมา 4 วันแล้วไม่ทราบว่า บุคคลดังกล่าวเข้ามายื่นหรือยัง แต่การยื่นล่าช้าเพียงแค่ 2 - 3 วันนั้น ไม่ได้ถือว่ามีนัยยะสำคัญ หรือผิดปกติอะไรส่วนการเปิดบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯต่อสาธารณชนนั้น คาดว่าน่าจะภายในวันที่ 3 ต.ค.นี้

** “พรเพชร” ยันไม่ได้ตั้งธงถอดถอนใคร

ด้าน นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.กล่าวถึงการร่างข้อบังคับในหมวดว่าด้วยการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า การที่ สนช.จะพิจารณาถอดถอดถอนได้หารือไม่ ไม่ได้เกี่ยวกับข้อบังคับฯแต่อย่างใด แต่เบื้องต้นต้องพิจารณาว่าเป็นสิทธิ์ที่จะนำเรื่องเข้าสู่ สนช.เพื่อนำไปสู่การถอดถอนหรือพ้นตำแหน่งหรือไม่ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องของกฎหมายที่ต้องว่ากันเป็นเรื่องๆไป เพราะข้อบังคับเป็นแค่วิธีการปฏิบัติเมื่อมีเรื่องเข้าสู่สภาแล้วว่าจะมีกระบวนการในการพิจารณาอย่างไรตั้งเรื่อง เชิญผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงอย่างไรเท่านั้น ซึ่งการถอดถอนหรือการพ้นจากตำแหน่งยังบัญญัติไว้ในกฎหมายหลายฉบับ ทั้งรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายทั่วไป แต่การถอดถอนตามกฎหมายฉบับอื่นไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมมาก่อน ยกเว้นกฎหมายว่าด้วยกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดังนั้นจึงให้ความสำคัญกับสภา สนช.มากกว่า

“การเขียนข้อบังคับในหมวดว่าด้วยการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองจึงไม่เกี่ยวกับการขยายหรือลดอำนาจของ สนช. เพราะการจะมีอำนาจหรือไม่อยู่ที่กฎหมายกำหนด เพราะฉะนั้นที่มีสมาชิก สนช.แนะให้นำเรื่องยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญก็ถือเป็นสิทธิ ผมไม่ขอให้ความเห็น แต่ยืนยันว่า สนช.ยกร่างขึ้นมาไม่ได้ทำเพื่อรับหรือไม่รับกับเรื่องการถอดถอนที่ค้างอยู่ แต่เป็นการสร้างความชัดเจนในวิธีการปฏิบัติ” นายพรเพชร กล่าว

นายพรเพชร กล่าวด้วยว่า หากมีคำร้องเรื่องถอดถอนเข้ามาให้สภาพิจารณาก็ต้องดูว่า สนช.มีอำนาจดำเนินการถอดถอนได้หรือไม่ โดยถ้าเป็นเรื่องที่ชัดเจนไม่ซับซ้อน ประธาน สนช.อาจใช้ดุลยพินิจว่าเป็นเรื่องที่นำไปสู่การถอดถอนได้ แต่หากเป็นเรื่องที่ไม่ชัดเจนที่ประชุม สนช.จะเป็นผู้ตัดสิน ดังนั้นจึงอย่าไปตีความเลยว่าร่างเพื่อรองรับใคร แต่ต้องดูที่กฎหมายให้อำนาจไว้หรือไม่เพราะมีข้อบังคับแต่กฎหมายไม่ให้อำนาจก็ดำเนินการไม่ได้

** สนช.นัดเคาะงบ 16 ก.ย.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพรเพชร ในฐานะประธาน สนช.ได้นัดประชุม สนช.ในวันที่ 16 ก.ย.นี้ เวลา 13.00 น.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 วงเงิน 2.52 ล้านล้านบาท ในวาระที่ 2 และ 3 หลังจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญที่มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ เป็นประธานได้พิจารณาเสร็จแล้ว ทั้งนี้ ในรายงานการพิจารณาของคณะ กมธ.ระบุว่ามีสมาชิก สนช.ได้ใช้สิทธิอภิปรายต่อที่ประชุม ในฐานะผู้เสนอคำแปรญัตติเพื่อขอปรับลดงบประมาณจำนวน 8 คน ได้แก่ นายกล้านรงค์ จันทิก นายตวง อันทะไชย นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม นายธานี อ่อนละเอียด นายมณเฑียร บุญตัน นายสมชาย แสวงการ และนายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในชั้นพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯได้ปรับลดงบประมาณไปกว่า 16,800 ล้านบาท งบประมาณที่ถูกปรับลดมากที่สุดคือ งบกลาง ปรับลด 6,200 ล้านบาท รองลงมา คือกระทรวงคมนาคม ปรับลดกว่า 1,600 ล้านบาท ส่วนรัฐวิสาหกิจและกระทรวงมหาดไทยปรับลดกว่า 1,000 ล้านบาท และกระทรวงศึกษาธิการ ปรับลด 919 ล้านบาท

สำหรับงบประมาณที่ปรับลด คสช.ได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้กับงบกลางเท่ากับจำนวนเงินที่ปรับลดลงในงบประมาณทั้งหมด โดยเพิ่มเข้ามาอยู่ในแผนบริหารงานรองรับกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น เพื่อเป็นเงินสำรองจ่ายไว้เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วน หรือจำเป็นแก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายและไม่สามารถประมาณการค่าใช้จ่ายที่แน่นอนได้

** “อภิสิทธิ์”เตือนอย่าซ้ำรอยไมค์ทองคำ

ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯว่า จากที่ติดตามเห็นว่ามีการปรับลดงบประมาณอยู่บ้าง แต่สิ่งที่ประชาชนสนใจติดตามคือ การใช้จ่ายงบประมาณมากกว่า เพราะจะมีงบประมาณส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นงบกลางที่เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีที่จะอนุมัติ ซึ่งคนที่มีอำนาจก็ต้องพยายามดำเนินการให้เกิดความโปร่งใส และชัดเจนว่าจะตัดสินใจจัดสรรไปใช้ในโครงการใด และที่สำคัญคือจะต้องมีการเปิดเผยโครงการต่างๆ ให้เกิดความโปร่งใสในทุกขั้นตอน
“นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้มีการตรวจสอบการใช้งบประมาณจัดซื้อไมโครโฟน และเครื่องเสียงในห้องประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว และเห็นว่าควรทำให้เห็นเป็นตัวอย่างว่าจะมีการตรวจสอบที่จริงจัง และในโครงการอื่นๆ ต้องระมัดระวังว่าอย่าให้เกิดปัญหาในลักษณะนี้อีก” นายอภอสิทธิ์ กล่าว

** กำชับ กก.สรรหาระวังความลับรั่ว

สำหรับความคืบหน้าในการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นั้น นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 15 ก.ย.นี้ เวลา 09.00 น. คณะกรรมการสรรหาทั้งหมด ยกเว้นคณะกรรมการสรรหาด้านการเมือง จะมีการประชุมอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้คณะกรรมการสรรหาแต่ละคณะได้ประชุมหารือกันเพื่อวางแนวทางในการคัดเลือก สปช.แต่ละด้านแล้ว แต่คงจะไม่สามารถพิจารณาเพื่อคัดเลือกรายชื่อ 50 คนได้ เพราะหลายด้านมีผู้ได้รับการเสนอชื่อจำนวนมาก อย่างด้านการศึกษา และด้านอื่นๆ ซึ่งก็คาดว่าน่าจะมีการประชุม 2-3 ครั้ง จึงจะคัดเลือก 50 รายชื่อเสนอต่อ คสช.ได้ ตามเวลาที่กำหนดคือวันที่ 22 ก.ย.นี้

นายภุชงค์ กล่าวอีกว่า ส่วนคณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัดตอนนี้ข้อมูลเรียบร้อยแล้ว เหลือแค่รอการประชุมเพื่อคัดเลือกรายชื่อที่จะเสนอต่อ คสช.จำนวนจังหวัดละ 5 คน ซึ่งก็คาดว่าจะมีการประชุมในวันที่ 15 ก.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม คสช.ก็ได้กำชับไม่ให้ความลับในการคัดเลือกรายชื่อรั่วไหลซึ่งจะทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้น และทางสำนักงาน กกต. เองก็ได้เน้นย้ำไปยังผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ซึ่งเป็นเลขานุการคณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัด ให้คณะกรรมการสรรหาระมัดระวังมากที่สุด และเมื่อคัดเลือกรายชื่อแล้วก็ต้องให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดถือหนังสือรายชื่อมาส่งที่สำนักงาน กกต.เพื่อให้เป็นความลับ ซึ่ง สำนักงาน กกต.ยังจะไม่เปิดหนังสือดังกล่าวรวมทั้งรายชื่อของคณะกรรมการสรรหาทั้ง 11 ด้าน จนกว่า คสช.จะมีคำสั่งให้รวบรวมรายชื่อเพื่อส่งให้ คสช. นอกจากนั้นก็ยอมรับว่ามีความกังวลเรื่องความลับรั่วไหลแต่ก็เชื่อว่าคณะกรรมการสรรหาทุกคณะคงจะไม่ทำให้เกิดข้อบกพร่องเรื่องนี้

** ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครฉลุย

นายภุชงค์ กล่าวอีกว่าการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ได้รับการเสนอชื่อที่ผ่านมาถือว่าน่าพอใจ ซึ่งขณะนี้ยังเหลือประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ที่ยังคงตรวจสอบอยู่ และหากหน่วยงานตรวจสอบยังไม่ส่งผลการตรวจสอบกลับมา สำนักงาน กกต.ก็จะให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อกรอกเอกสาร สปช.4 ซึ่งจะให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อลงนามยืนยันว่าเขามีคุณสมบัติถูกต้อง ไม่มีการแอบอ้าง และหากมีปัญหาเกิดขึ้นผู้ได้รับการเสนอชื่อก็ต้องยอมรับการดำเนินการของ สำนักงาน กกต.และ คสช. ซึ่งการกรอกเอกสารดังกล่าวก็ทำให้เรามีความอุ่นใจขึ้น ส่วนเรื่องสัญชาติที่ตรวจสอบไม่พบจำนวน 20 คน ซึ่งก็ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะทุกคนเป็นอดีตข้าราชการ ซึ่งในทางปฏิบัติก่อนจะรับราชการมีการตรวจสอบเรื่องสัญชาติแล้ว ทั้งนี้ปัญหาที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือการเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่ง สำนักงาน กกต.จะเป็นผู้ตรวจเอง ซึ่งยืนยันว่าจะตรวจทุกคน

** ยอมรับมีคนร่อนประวัติแนะนำตัว

ทางด้าน นายพรเพชร ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหา สปช. ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า การสรรหาไม่มีอุปสรรคและปัญหา เพราะสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งข้อมูลให้ละเอียดครบถ้วน ส่วนกระแสข่าวการล็อบบี้ยืนยันว่าไม่มี

“คำว่าล็อบบี้หมายความว่าการชักจูง แต่ที่เกิดขึ้นขณะนี้คือให้พิจารณาประวัติบุคคล โดยส่งทางไปรษณีย์หรือฝากเพื่อน ๆ มาเป็นกระดาษที่มีรายละเอียดของประวัติแนะนำตัวให้พิจารณา คาดว่าต้องการให้กรรมการทราบประวัติและมีเพียงไม่กี่คนที่ทำแบบนี้ เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของคนไทยอยู่แล้ว แต่ยืนยันว่าจะไม่มีผลต่อการสรรหาบุคคลเป็น สปช.” ประธาน สนช.กล่าว

** หวังเลือก สปช.จากความสามารถ

ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า อยากให้คณะกรรมการสรรหา สปช.ดูหลักเกณฑ์เรื่องความรู้ความสามารถให้ตรงกับด้านต่างๆ ที่จะดำเนินการเรื่องการปฏิรูป และอยากให้มีตัวแทนด้านต่างๆ ที่มีความหลากหลายด้านความคิดเห็น เช่น ด้านพลังงาน การศึกษา จะมีหลายกลุ่มได้มีโอกาสเข้ามาเป็น สปช. เพราะหากไม่ดึงทุกกลุ่มเข้ามาร่วม อาจจะมีปัญหาตามมาในอนาคตได้ ขณะเดียวกันเวลาที่มีกระบวนการสรรหา ก็มักจะมีข่าวเรื่องการล็อบบี้เกิดขึ้น ดังนั้นคณะกรรมการสรรหาฯ จะต้องทำให้เกิดความชัดเจนว่า บุคคลที่ได้รับการคัดเลือกมีความรู้ความสามารถ และมีความหลากหลาย ก็จะทำให้เกิดความยอมรับมากขึ้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น