xs
xsm
sm
md
lg

สารถึงรัฐบาล คสช. สนช. และ สปช. เรื่องความพอเพียง

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

หลังจากยึดอำนาจเมื่อ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา หัวหน้า คสช.ซึ่งต่อมาควบตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลพูดเสมอว่าจะยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกรอบ หรือฐานของการบริหารประเทศ หัวหน้ารัฐบาลที่ผ่านๆ มาหลายสมัยมักพูดในทำนองเดียวกัน แต่นโยบายและพฤติกรรมทำให้ประจักษ์ว่า หัวหน้ารัฐบาลเหล่านั้นมิได้เข้าใจในปรัชญาและ/หรือขาดความจริงใจ พวกเขาใช้คำที่คัดสรรมาเพียงเพื่อหวังเพิ่มค่าให้วาทกรรมของตน ร้ายยิ่งกว่านั้น หัวหน้ารัฐบาลบางคนละเมิดองค์ประกอบเบื้องต้นของเศรษฐกิจพอเพียงโดยทำความฉ้อฉลจนประชาชนทนไม่ไหวต้องออกมาขับไล่ไม่ต่างกับไล่เดรัจฉาน รัฐบาลนี้จะมีคนฉ้อฉลปะปนอยู่บ้างหรือไม่ต้องรอดูไปอีกชั่วระยะ เนื่องจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงประเสริฐยิ่ง ในฐานะประชาชนผู้ศึกษาและศรัทธาในปรัชญานี้อย่างแท้จริงขอส่งสารถึงชนชั้นผู้นำที่ขันอาสาเข้ามาร่วมกันบริหารและปฏิรูปประเทศทั้งในกลุ่มของรัฐบาล กลุ่ม คสช. กลุ่ม สนช. และกลุ่ม สปช.ว่าอาจนำปรัชญามาใช้อย่างไรบ้าง

ณ วันนี้คงเป็นที่รับรู้กันอยู่แล้วว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมิได้จำกัดอยู่แค่ในด้านเศรษฐกิจเท่านั้น หากครอบคลุมหลากหลายด้านทั้งในระดับบุคคลและในระดับสังคม ปรัชญานี้มีองค์ประกอบเบื้องต้น 5 ด้านได้แก่ คุณธรรม ความรู้ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกันและความพอประมาณ นับตั้งแต่วันที่ในหลวงตรัสเรื่องนี้กับคณะรัฐมนตรีและผู้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ เมื่อคืนวันที่ 4 ธันวาคม 2540 คนไทยจำนวนมากจำองค์ประกอบทั้งห้าได้ อย่างไรก็ตาม การจำได้มักเป็นไปในแนวของการรับศีลห้า นั่นคือ ส่วนใหญ่พูดตาม หรือท่องได้อย่างคล่องแคล่วแบบนกแก้วนกขุนทอง แต่ขาดความเข้าใจและมิได้นำไปใช้ในชีวิตอย่างจริงจัง เท่าที่ผ่านมา ปรัชญานี้จึงยังไม่มีความขลังปรากฏออกมาให้เห็นแบบเป็นที่ประจักษ์อย่างแพร่หลาย

ผู้ขันอาสาเข้ามาบริหารและปฏิรูปประเทศทั้งสี่กลุ่มอาจน้อมนำปรัชญานี้ไปประยุกต์ใช้ในสองฐานะคือ ในฐานะบุคคลเช่นประชาชนทั่วไปและในฐานะผู้ออกแบบนโยบายแล้วขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายของการบริหารและการปฏิรูปประเทศ

สำหรับในฐานะบุคคล ทุกคนมีคุณธรรมเป็นกรอบและฐานของการดำเนินชีวิตและการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ฐานและกรอบประกอบด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆ ทั้งในส่วนที่เป็นตัวบทกฎหมาย จรรยาบรรณและขนบธรรมเนียมประเพณี ประชาชนทุกคนมีภาระที่จะต้องปฏิบัติตัวตามกฎเกณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการประกอบสัมมาอาชีพอย่างขยันขันแข็งเสริมด้วยความพร้อมที่จะแบ่งปันบางส่วนให้ผู้อื่น หรือในด้านการอยู่กับผู้อื่นอย่างราบรื่นทั้งภายในและภายนอกครอบครัว ตั้งแต่วันที่ปรัชญานี้เริ่มเป็นที่รับรู้ ผู้เกี่ยวข้องมักมุ่งเน้นไปที่เรื่องการดำเนินชีวิตจำพวกทำกิจการในครัวเรือนโดยเฉพาะการเกษตร การมุ่งเน้นเช่นนั้นมักทำให้เกิดการเข้าใจผิดจนคิดกันไปว่าเศรษฐกิจพอเพียงมีแค่นั้น ซ้ำร้ายยังทำให้ถูกประณามว่าแนวคิดนี้มีไว้เพื่อทำให้คนพอใจในความยากจน นั่นเป็นการเข้าใจผิดชนิดน่าอดสู

เท่าที่ผ่านมาเราเห็นแล้วว่า ผู้กุมอำนาจรัฐส่วนหนึ่งซึ่งมีส่วนในการตั้งกฎเกณฑ์ไม่ปฏิบัติตนตามกฎเกณฑ์เสียเอง ซ้ำร้าย บางคนฉ้อฉลจนก่อให้เกิดความเสียหายมหาศาล แม้ในหลายๆ กรณีกฎเกณฑ์จะไม่มีอยู่ในรูปของกฎหมายที่อาจทำให้ผู้ละเมิดต้องโทษ หรือผู้ละเมิดอาจฉลาดจนสามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่ผู้ขันอาสาเข้ามาทำงานจะต้องมีความละอายต่อการที่จะทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ในช่วงนี้มีการประกาศซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่ารัฐบาลให้ความสำคัญต่อการป้องปรามความฉ้อฉลจนยกขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากความฉ้อฉลเป็นต้นเหตุของปัญหาสารพัด การให้ความสำคัญเช่นนั้นย่อมเหมาะสมแล้ว แต่การจะป้องปรามผู้อื่นได้ ผู้ดำเนินนโยบายจะต้องไม่กระทำความฉ้อฉลเสียเองและต้องตระหนักว่าการตะโกนโพนทะนาจะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาในเวลาอันสั้นหากขาดการขับเคลื่อนจนเห็นผลเป็นที่ประจักษ์ในเร็ววัน หรือแบบทันตาเห็น

ในด้านความรู้ จริงอยู่ผู้ขันอาสาเข้ามามีความรู้สูงกว่าประชาชนทั่วไป แต่ท่านมิได้รอบรู้จนเข้าขั้นพหูสูต ฉะนั้น ท่านจะต้องขวนขวายหาความรู้และความเข้าใจในสิ่งที่ท่านไม่รู้มาก่อนอย่างต่อเนื่อง ในช่วงนี้เทคโนโลยีใหม่เอื้อให้การรับข่าวสารข้อมูลทำได้หลายทางและอย่างฉับพลัน อย่างไรก็ดี การอ่านยังมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าโดยทั่วไปคนไทยไม่ค่อยอ่านหนังสือซึ่งต่างกับในประเทศก้าวหน้าที่ประชนชนอ่านกันอย่างแพร่หลาย ผู้อาสาเข้ามาบริหารและปฏิรูปประเทศเป็นผู้ใฝ่ในการอ่านเท่าไรไม่เป็นที่ประจักษ์ หากท่านไม่อ่านหนังสือที่นอกเหนือจากเอกสารเกี่ยวกับงานเป็นประจำเพื่อหาความรู้ ท่านย่อมมิได้ทำตัวให้อยู่ในกรอบเศรษฐกิจพอเพียง

อนึ่ง ย้อนไปหลายรัฐบาล อาจจำกันได้ว่านายกรัฐมนตรีมีหนังสือติดมือมาแนะนำให้รัฐมนตรีอ่าน จะนับว่านั่นเป็นการบุกเบิกในด้านการเปิดหูเปิดตาก็น่าทำได้ อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีกลับเล่นปาหี่ด้วยการไม่ทำตามข้อแนะนำในตำราที่น่าทำตาม แต่กลับไปทำตามตำราที่ไม่น่าทำตาม เช่น การจะเปลี่ยนสิ่งต่างๆ รวมทั้งทางเท้าให้เป็นทุนตามคำแนะนำของหนังสือชื่อ “ความลี้ลับของทุน” (The Mystery of Capital) หนังสือเล่มนี้มีบทคัดย่อและบทวิพากษ์ภาษาไทยว่าไม่น่าทำตามอย่างไรซึ่งดาวน์โหลดฟรีได้จากเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา (www.bannareader.com) การเล่นปาหี่ของนายกรัฐมนตรีเช่นนั้นก่อให้เกิดการวิพากษ์จากผู้อ่านซึ่งรู้เท่าทันเนื้อหาของหนังสือที่นายกรัฐมนตรีแนะนำ การวิพากษ์บางส่วนได้รับการรวมเป็นหนังสือชื่อ คิดนอกคอก ทำนอกคัมภีร์ (บทคัดย่อของหนังสือฝรั่งทั้ง 9 เล่มที่รวมอยู่ในหนังสือเล่มนี้มีอยู่ในเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนาเช่นกัน)

เรื่องความมีเหตุผล ทุกคนย่อมตระหนักดีอยู่แล้วว่าสำคัญอย่างไรในการดำเนินชีวิต ผู้ที่มีฐานทางด้านคุณธรรมแข็งแกร่งและแสวงหาความรู้อยู่เป็นนิจย่อมมีโอกาสที่จะดำเนินชีวิตด้วยเหตุผลสูงขึ้น สำหรับด้านการศึกษาหาความรู้อยู่เป็นนิจนั้น ณ วันนี้ มีข้อมูลบ่งชี้อย่างแน่ชัดแล้วว่าเป็นส่วนประกอบสำคัญของการทำให้ชีวิตมีความสุขหลังจากที่บุคคลมีสิ่งจำเป็นสำหรับร่างกายจำพวกปัจจัยสี่ครบถ้วนแล้ว ข้อมูลนี้มาจากผลการวิจัยของ “มูลนิธิเศรษฐกิจใหม่” (New Economics Foundation) ซึ่งมีเว็บไซต์สำหรับให้เข้าไปอ่านผลงานต่างๆ ได้ที่ www.neweconomics.org

นอกจากการแสวงหาความรู้อยู่เป็นนิจแล้ว ยังมีอีกสี่ด้านที่ทำให้เกิดความสุขได้แก่การมีเพื่อนและความสัมพันธ์อันดีกับผู้ที่อยู่รอบข้าง การมีความเคลื่อนไหวอยู่เป็นนิจจำพวกการออกกำลังกายและการทำงานอดิเรก การมีความช่างสังเกตรอบด้านรวมทั้งการสังเกตอารมณ์ของตนเอง และการให้โดยไม่หวังผลตอบแทนซึ่งต่างกับการทำบุญที่เรามักคุ้นเคยกัน การทำบุญตามวัด หรือกับพระส่วนใหญ่ทำกันไปเพื่อหวังลึกๆ ว่าจะได้ผลตอบแทนจำพวกตายแล้วขึ้นสวรรค์ หรือร่ำรวยในภพหน้า ส่วนการให้ในที่นี้เป็นการให้ทานที่ไม่มีความคิดเรื่องผลตอบแทนใดๆ ต่อผู้ให้ทั้งสิ้น

ในด้านการมีภูมิคุ้มกัน ทุกท่านได้ผ่านสมัยปลูกฝีฉีดยากันมานานแล้วก็จริง แต่ด้านนี้ยังมีต่อไปไม่ว่าจะเป็นการป้องกันความเจ็บไข้ได้ป่วย หรือการมีความมั่นคง เราโชคดีที่อยู่ในยุคที่ข้อมูลเรื่องอาหารการกินมีมากมายที่ชี้ว่าอะไรให้ประโยชน์และอะไรให้โทษ กระนั้นก็ดี ยังมีคนสูบบุหรี่ซึ่งมีแต่โทษเท่านั้น สำหรับผู้ที่อยู่ในระดับผู้นำประเทศ การสูบบุหรี่ย่อมเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีสำหรับคนรุ่นหลัง นอกจากนั้น บุหรี่ยังเพิ่มการทำลายอากาศที่เราหายใจเข้าไปอีกด้วย ณ วันนี้ ผู้อาสาเข้ามาบริหารและปฏิรูปประเทศทั้งหมดคงนั่งรถปรับอากาศ ทำงานในห้องปรับอากาศ และนอนในห้องปรับอากาศ แต่ท่านอาจไม่ทราบว่าอากาศในแหล่งที่มีการปรับให้เย็นนั้นอาจสกปรกกว่าอากาศบทท้องถนนนับสิบเท่า รายละเอียดของเรื่องนี้มีอยู่ในหนังสือชื่อ เมื่ออากาศเป็นฆาตกร ส่วนในด้านการมีความมั่นคง สมัยนี้มีเรามักมีความรู้เรื่องการกระจายความเสี่ยงและโอกาสซื้อประกันได้สารพัดอย่าง ฉะนั้น ผู้ที่มีการศึกษาน่าจะเข้าใจและนำไปปฏิบัติอยู่แล้ว

ความพอประมาณเป็นมาตรฐานที่แต่ละบุคคลจะพิจารณาว่าอยู่ตรงไหนจึงจะเหมาะสมกับสภาวะของตน เรื่องนี้จึงมีความยืดหยุ่นสูง อย่างไรก็ดี การมีคุณธรรมแข็งแกร่งและความรอบรู้มากด้านย่อมเอื้อให้การตัดสินใจมีโอกาสเหมาะสมยิ่งขึ้น ขอนำเรื่องการบริโภคมาใช้เป็นตัวอย่างในการพิจารณาว่าความพอประมาณอยู่ตรงไหนโดยมองไปที่ความแตกต่างระหว่างความ “เพียงพอ” กับ “พอเพียง” (ขอทำความเข้าใจว่าการบริโภคในที่นี้มิได้จำกัดอยู่ที่การรับประทานผ่านปากเท่านั้น หากเป็นการใช้สินค้าและบริการทุกอย่างที่ทางเศรษฐศาสตร์เรียกกันว่า Consumption)

“เพียงพอ” มีความหมายในเชิงกายภาพ ส่วน “พอเพียง” มีความหมายในเชิงนามธรรมอันเป็นความรู้สึกในจิตใจ

“เพียงพอ” ในด้านการบริโภคหมายถึงความต้องการเบื้องต้นของร่างกายได้รับการตอบสนองอย่างครบถ้วน นั่นคือ มีอาหารตามที่ร่างกายต้องการ มีเครื่องนุ่งห่มและที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับสภาพลมฟ้าอากาศ มียาและการรักษาพยาบาลพอกับการบำบัดโรค เมื่อบุคคลบรรลุถึงจุดนี้และมีความรู้สึกพอใจพร้อมกันไปด้วย จึงจะสรุปได้ว่าเขามีความ “พอเพียง” ตามความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง

อนึ่ง อาจมีกรณีที่บุคคลมีความรู้สึกว่าตนพอใจก่อนที่ความต้องการเบื้องต้นของร่างกายจะได้รับการตอบสนองอย่างครบถ้วนเพราะไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงความต้องการนั้น เช่น ไม่รู้ว่าเขายังขาดธาตุอาหารสำคัญๆ ในกรณีนี้ความรู้สึกพอใจเกิดจาก “ความไม่รู้” หรือ “อวิชชา” จึงไม่ถือว่าอยู่ในกรอบของเศรษฐกิจพอเพียง เกี่ยวกับเรื่องนี้มีเรื่องจริงเป็นตัวอย่างซึ่งเกิดจากการเลือกระหว่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกับอาหารพื้นบ้านของชาวอยุธยาอันประกอบด้วยปลา พืชผักพื้นบ้านหลายอย่าง น้ำพริกและข้าวสวย ความพอใจที่ได้จากความรู้สึกอร่อยลิ้นของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นความพอใจที่ไม่อยู่ในสภาพพอเพียง ทั้งนี้เพราะบะหมี่มีธาตุอาหารต่ำกว่าความต้องการของร่างกายเมื่อเทียบกับอาหารพื้นบ้านของชาวอยุธยาซึ่งมีอาหารจำพวกปลา ผักพื้นบ้านและข้าวเป็นตัวยืน

สำหรับในระดับนโยบาย ขอเสนอทางด้านเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว ส่วนทางด้านอื่นๆ เช่น การเมืองและสังคม ผู้เชี่ยวชาญของแต่ละด้านคงมีข้อคิดที่ดีกว่า ทางด้านเศรษฐกิจขอเสนอให้เริ่มมองที่แนวคิดพื้นฐานซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่โบราณกาลและวิวัฒน์มาจนถึงวันนี้ นั่นคือ ระบบตลาดเสรีที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในการใช้ต่อไปหลังจากการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม

ปัจจัยที่ทำให้เกิดระบบตลาดเสรีมีฐานอยู่ที่สัญชาตญาณของมนุษย์สองอย่างด้วยกัน นั่นคือ เราต้องการกระทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างเสรีและเราเป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์เดียวที่เมื่อมีอะไรเหลือกินเหลือใช้ก็มักนำมาแลกเปลี่ยนกัน ข้อมูลทางประวัติศาสตร์บ่งว่ามนุษยชาติใช้ระบบตลาดเสรีเป็นหลักแม้จะมีระบบอื่นพยายามเข้ามาขัดเป็นบางครั้งก็ตาม เช่น ระบบศักดินาและระบบคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นระบบสังคมนิยมแบบตกขอบที่รัฐเป็นเจ้าของทรัพยากรทุกอย่างและเป็นผู้ออกคำสั่งทางด้านเศรษฐกิจว่าจะผลิตอะไร อย่างไรและเพื่อใคร ระบบเหล่านั้นอยู่ได้ไม่นานเพราะมิได้วางอยู่บนฐานที่สะท้อนสัญชาตญาณของมนุษย์เรา ด้วยเหตุนี้ระบบตลาดเสรีจึงจะอยู่คู่กับสังคมมนุษย์ต่อไป แต่จะต้องได้รับการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมซึ่งได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญแล้ว

เมืองไทยเราใช้ระบบตลาดเสรีมาตั้งแต่ครั้งก่อตั้งประเทศเมื่อราว 800 ปีที่ผ่านมาดังข้อความที่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึก “ใครใคร่ค้าช้าง ค้า ใครใคร่ค้าม้า ค้า” แต่เราไม่มีตำรับตำราบันทึกข้อคิดไว้อย่างเป็นระบบ เวลาผ่านไปหลายร้อยปีเราจึงมีโอกาสสัมผัสกับแนวคิดซึ่งชาวตะวันตกรวบรวมไว้ในเล่มเดียวกัน ตำราที่นับว่าวางรากฐานของระบบตลาดเสรีเป็นหนังสือของชาวสกอตชื่อ อดัม สมิธ เขาเขียนหนังสือชื่อ An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nations ซึ่งพิมพ์เมื่อปี 2319 อันเป็นยุคกรุงธนบุรีของไทย

ตั้งแต่นั้นมา ตำราเล่มนี้มีอิทธิพลต่อแนวคิดทางด้านการออกแบบและดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม ระบบตลาดเสรีถูกประณามอย่างหนักจากนักคิดในกลุ่มคาร์ล มาร์กซ์และฟรีดริก เองเกลส์ในเวลาต่อมาว่าเป็นฐานของการเกิดนายทุนสามานย์ซึ่งเอาเปรียบคนงานอย่างโหดร้าย นักคิดเหล่านั้นใช้สภาพของคนงานในโรงงานที่เกิดจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรปเป็นตัวอย่าง พวกเขาเสนอทางออกซึ่งเป็นระบบคอมมิวนิสต์ที่เรารับรู้กันอยู่แล้ว

ระบบคอมมิวนิสต์ถูกนำไปใช้ในรัสเซียหลังการปฏิวัติเมื่อปี 2460 และแพร่ขยายออกไปในหลายภาคส่วนของโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติเมื่อปี 2488 จากนั้นมา เหตุการณ์ใหญ่ๆ ในโลกมักเป็นผลของการต่อสู้กันระหว่างค่ายที่เชื่อมั่นในระบบตลาดเสรีกับค่ายที่ใช้ระบบคอมมิวนิสต์ ค่ายแรกนำโดยอเมริกาและยุโรปตะวันตก ค่ายหลังนำโดยสหภาพโซเวียตซึ่งเกิดจากรัสเซียรวมกับประเทศรอบข้างและจีนบนแผ่นดินใหญ่ การต่อสู้กันนั้นรู้จักกันในนามของ “สงครามเย็น” สงครามนั้นดำเนินมาจนกระทั่งปี 2532 เมื่อฝ่ายที่ใช้ระบบคอมมิวนิสต์พ่ายแพ้และสหภาพโซเวียตแตกสลายกลับไปเป็นประเทศเอกราช 14 ประเทศ จีนและประเทศเหล่านั้นหันกลับมาใช้ระบบตลาดเสรีดังเดิมอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี ระบบตลาดเสรีที่ใช้กันอยู่ในขณะนี้มีปัญหาหนักหนาสาหัส ล่าสุดทั้งอเมริกา สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ของการใช้ระบบตลาดเสรีหาทางออกไม่ได้หลังจากประสบปัญหาความถดถอยครั้งใหญ่ที่เริ่มเมื่อปี 2551 จากมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันชั้นนำสองคน ต้นตอพื้นฐานของปัญหาได้แก่ความเสื่อมทรามทางศีลธรรมจรรยาและทางแก้ปัญหาคือความมีสติและทางสายกลาง ผู้อ้างถึงความเสื่อมทรามทางศีลธรรมจรรยาได้แก่นักเศรษฐศาสตร์ชั้นรางวัลโนเบลโจเซฟ สติกลิตซ์ ในหนังสือชื่อ Freefall: America, Free Markets, and the Sinking of the World Economy ผู้เสนอให้ใช้ทางสายกลางเป็นทางออกได้แก่เจฟฟรี่ แซคส์ ในหนังสือชื่อ The Price of Civilization: Reawakening American Virtue and Prosperity (ทั้งสองเล่มมีบทสรุปและวิพากษ์เป็นภาษาไทยอยู่ในเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา)

แซคส์พิมพ์หนังสือเล่มนั้นออกมาเมื่อปลายปี 2554 หรือ 14 ปีหลังในหลวงตรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ข้อเสนอของเขาอยู่ในกรอบของเศรษฐกิจพอเพียงถึงแม้ว่าเขามิได้ใช้คำนั้นหรืออ้างถึงพระราชดำรัสของในหลวงและองค์ประกอบ 5 ด้านก็ตาม เขาอาจเห็นแจ้งด้วยตัวเองหลังจากศึกษาปัญหาเศรษฐกิจของอเมริกา ณ วันนี้อาจเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าบางหน่วยงานในองค์การสหประชาชาติยอมรับแล้วว่าแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นทางออกของชาวโลก อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำส่วนใหญ่ยังไม่ใส่ใจ หรือไม่ก็ต่อต้านแนวคิดอันประเสริฐนี้แบบหัวชนฝา ด้วยเหตุนี้ จึงขอเสนอให้คนไทยทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าปัญหาของระบบตลาดเสรีที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้คืออะไรและเศรษฐกิจพอเพียงจะแก้ได้อย่างไร เพื่อจะได้อธิบายให้พวกโจมตีและต่อต้านเข้าใจพร้อมกับดำเนินนโยบายได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น

หัวใจของระบบตลาดเสรีอยู่ที่บุคคลเป็นเจ้าของทรัพยากรและแรงงานของตน บุคคลอาจนำสิ่งที่ตนเป็นเจ้าของไปแลกเปลี่ยนกับผู้อื่น เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนต้องการและค่าแรง หรือจะเปลี่ยนทรัพยากรเหล่านั้นอันเป็นกระบวนการผลิตสินค้าเพื่อนำมาใช้ หรือก่อนนำไปแลกเปลี่ยนกับผู้อื่นก็ได้ บุคคลมีสิทธิ์สะสมสิ่งที่ตนมีเหลือกินเหลือใช้ในรูปต่างๆ ได้อย่างเสรี เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นคนกลางที่ตั้งกติกาและบังคับใช้กติกาเพื่อให้การผลิต การแลกเปลี่ยน หรือการค้าขายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันนี้ ภาครัฐมักเข้าไปมีส่วนเป็นเจ้าของทรัพยากรและบทบาทโดยตรงในการผลิตสินค้าและบริการเป็นบางอย่างเพื่อหวังจะให้ระบบตลาดเสรีมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมมากขึ้น บทบาทในการมีส่วนร่วมของรัฐแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ด้วยเหตุนี้ ประเทศต่างๆ จึงมีรัฐวิสาหกิจมากบ้างน้อยบ้างต่างกันและระบบตลาดเสรีที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจึงเรียกกันว่าแบบผสม นั่นคือ ผสมกับระบบสังคมนิยมซึ่งรัฐเป็นเจ้าของทรัพยากรและกิจการสารพัดอย่าง

การใช้ระบบตลาดเสรีในแนวที่อดัม สมิธเสนอวิวัฒน์เรื่อยมาจนกระทั่งในช่วงศตวรรษที่แล้วเมื่อสังคมตะวันตกอันมีอเมริกาเป็นหัวเรือใหญ่เริ่มใช้การบริโภคเป็นหัวจักรขับเคลื่อนอย่างเข้มข้น

การบริโภคโยงไปถึงทรัพยกรธรรมชาติผ่านกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ ยิ่งบริโภคมากก็ต้องใช้ทรัพยากรมาก วิธีสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องได้แก่การพิมพ์ธนบัตรอันเป็นการสร้างหนี้ของรัฐและการเอื้อความสะดวกให้ประชาชนกู้หนี้ยืมสิน เมื่อมองให้ลึกลงไปจะพบว่าระบบตลาดเสรีที่ใช้กันนั้นมีองค์ประกอบสำคัญ 4 ด้านอยู่แล้ว นั่นคือ คุณธรรม ความรู้ ความมีเหตุผลและการมีภูมิคุ้มกัน ระบบไม่มีความพอประมาณเพราะใช้การบริโภคอย่างเข้มข้นเป็นตัวขับเคลื่อน

ย้อนไปในยุคที่โลกนี้มีคนน้อยเช่นเมื่อร้อยปีที่แล้วซึ่งมีไม่ถึง 2 พันล้านคน การใช้ทรัพยากรธรรมชาติไม่สูงนักนอกจากในบางภาคส่วนของโลก เช่น ในย่านตะวันออกกลางและย่านอเมริกากลาง ย้อนไปหลายพันปีย่านเหล่านั้นมีคนหนาแน่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวจนในที่สุดถึงขั้นทำลายธรรมชาติและแย่งชิงกัน ปัจจัยเหล่านั้นนำไปสู่การล่มสลายของสังคม กระบวนการดังกล่าวนี้มีคำอธิบายอยู่ในหนังสืออันโด่งดังบางเล่ม เช่น Collapse: How Societies Choose to Fail or Succeed และเรื่อง One with Nineveh: Politics, Consumption, and the Human Future (ทั้งสองเล่มมีบทคัดย่อภาษาไทยซึ่งดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา)

ในปัจจุบันนี้ โลกทั้งโลกมีสภาพเช่นเดียวกับย่านที่อ้างถึงเหล่านั้น นั่นคือ มีคนกว่า 7 พันล้านคนซึ่งยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คนส่วนใหญ่ถูกชักจูงหรือกระตุ้นให้บริโภคมากขึ้นตามแนวคิดเศรษฐกิจตลาดเสรีที่อเมริกาเป็นหัวจักรใหญ่จนทำให้ทรัพยากรบางอย่างเริ่มขาดแคลน ด้วยเหตุนี้จึงมีการแย่งชิงกันรวมทั้งการเข้าไปรุกรานเพื่อแย่งชิงน้ำมันในย่านตะวันออกกลางโดยอเมริกาและพรรคพวก อย่างไรก็ตาม การแย่งชิงกันในรูปของการรุกรานและสงครามเป็นเพียงส่วนที่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดเท่านั้น ยังมีส่วนที่มักไม่ค่อยมีใครเฉลียวใจอีกมาก เช่น การพิมพ์เงินดอลลาร์จำนวนมหาศาลออกมาแลกสินค้าของผู้อื่น การสนับสนุนบริษัทขนาดยักษ์ให้เข้าไปยึดครองทรัพยากรของต่างประเทศ และการสนับสนุนทรชนในประเทศต่างๆ ให้ยึดครองอำนาจเพื่อเอื้อความสะดวกให้พวกตนเข้าถึงทรัพยากร ส่วนภายในของแต่ละประเทศก็มีทั้งการเพิ่มหนี้สินและการแย่งชิงกันในรูปต่างๆ ทั้งที่มองเห็นและที่มองไม่เห็น

การบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งนำไปสู่การใช้ทรัพยากรอย่างเข้มข้นจนกระทั่งมันร่อยหรอลง ระบบนิเวศถูกทำลายอย่างร้ายแรงจนแสดงอาการออกมาในรูปต่างๆ รวมทั้งภาวะโลกร้อน ความแห้งแล้งรุนแรงและพายุใหญ่ในส่วนต่างๆ ของโลก การแย่งชิงกันที่เข้มข้นขึ้นนำไปสู่การละเมิดกฎเกณฑ์ต่างๆ รวมทั้งกฎหมาย จรรยาบรรณและขนบธรรมเนียมประเพณีที่เป็นกรอบของการอยู่ร่วมกัน นั่นคือที่มาของความเสื่อมทรามทางศีลธรรมจรรยาที่สติกลิตซ์อ้างถึงในหนังสือชื่อ Freefall: America, Free Markets, and the Sinking of the World Economy

ดังที่อ้างถึงแล้ว เราต้องใช้ระบบตลาดเสรีต่อไปเพราะมันวางอยู่บนฐานสัญชาตญาณของเรา แต่เราต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างนัยสำคัญ นั่นคือ จำนวนคนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องท่ามกลางความร่อยหรอลงของทรัพยากรธรรมชาติ การปรับเปลี่ยนที่มีอยู่ในพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียงได้แก่การเพิ่มหลัก “ความพอประมาณ” เข้าไป ด้วยเหตุนี้ เมื่อนำมาประยุต์ใช้ในด้านเศรษฐกิจ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงมิใช่อะไรแปลกปลอมมาจากไหน หากเป็นระบบตลาดเสรีที่มนุษย์เราใช้มาตลอดประวัติศาสตร์หลังจากได้รับการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป

เราจะปรับเปลี่ยนอย่างไรเป็นประเด็นใหญ่ที่หลายฝ่ายต้องระดมสมองกัน ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ขอยืนยันแนวที่เคยเสนอไว้แล้วในหนังสือขนาดจิ๋วชื่อ ทางข้ามเหว: แนวคิดสำหรับแก้วิกฤติไทย หนังสือเล่มนี้ได้มอบให้คนสำคัญในรัฐบาลที่ผ่านๆ มาแต่ไม่มีใครสนใจ ขณะนี้หนังสือดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา ขอนำบางอย่างมาเสนอซ้ำเพื่อเน้นย้ำความสำคัญเป็นพิเศษ

เนื่องจากความฉ้อฉล หรือคอร์รัปชันเป็นตัวทำลายหมายเลขหนึ่งของฐานทางด้านคุณธรรมและประวัติศาสตร์การพัฒนาชี้ชัดว่ามันเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุด จึงเป็นที่น่ายินดีที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญถึงขั้นยกขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ หวังว่าการยกขึ้นเช่นนั้นมิใช่การประชาสัมพันธ์ หรือการใช้วาทกรรมที่รัฐบาลนิยมทำกันมา ยิ่งกว่านั้น เท่าที่ผ่านมาสมาชิกในคณะรัฐบาลมักฉ้อฉลเสียเอง สุภาษิตไทยจึงเตือนไว้ว่า “สนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อในตน” ซึ่งรัฐบาลจะต้องระวังอย่างยิ่งยวด ต่อจากนั้นจะต้องปฏิรูปการศึกษาซึ่งผู้เชี่ยวชาญจะเสนอต่อไป อย่างไรก็ดี มีเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลนี้ต้องทำก่อนหมดสมัยในราวหนึ่งปี นั่นคือ ทำความเข้าใจให้ถ่องแท้และอธิบายให้ประชาชนโดยทั่วไปเข้าใจแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง

อีกสิ่งหนึ่งซึ่งรัฐบาลควรทำอย่างเร่งด่วนคือระดมสมองว่าจะทำอย่างไรให้ “ความพอประมาณ” เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างมีนัยสำคัญ แนวทางมีสองอย่างด้วยกัน นั่นคือ ให้มันเกิดขึ้นด้วยความสมัครใจและด้วยแรงจูงใจ ความสมัครใจมีโอกาสเกิดได้เพิ่มขึ้นเมื่อประชาชนเข้าใจในเรื่องต่างๆ รวมทั้งเรื่องความ “เพียงพอ” และ “พอเพียง” ด้วยเหตุนี้การศึกษาซึ่งมาจากการเรียนรู้ทั้งในและนอกสถาบันจึงมีความสำคัญเป็นพิเศษ

สำหรับทางด้านแรงจูงใจ เราอาจทำได้สองทางคือ การบังคับ เช่น การห้ามซื้อขายสิ่งต่างๆ ที่ไม่มีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตรวมทั้งสิ่งเสพติดเช่นบุหรี่ แต่เนื่องจากในระบบตลาดเสรี เราต้องการให้ประชาชนมีโอกาสตัดสินใจด้วยตัวเองมากที่สุด ฉะนั้น การใช้ภาษีบริโภคแบบก้าวหน้าจะเป็นเครื่องมือที่เหนือกว่าการห้าม ภาษีบริโภคแบบก้าวหน้าที่ควรได้รับการพิจารณาแบบเร่งด่วนไม่มีอยู่ในนโยบายที่แถลงออกไปโดยนายกรัฐมนตรี ภาษีบริโภคเรามีอยู่บ้างแล้ว เช่น ภาษีบุหรี่และสุราที่เก็บในอัตราสูง บนฐานที่มีอยู่แล้วนี้ เราเพิ่มสิ่งอื่นที่มีความจำเป็นน้อยเข้าไปเพื่อให้การบริโภคลดลง

ก่อนจบ ขอพูดถึงบางประเด็นที่ดูจะไม่ค่อยมีความกระจ่าง ในบางกรณีอาจมีความเข้าใจผิด หรือไม่เป็นที่รับรู้กันมาก่อน ประเด็นแรกเกี่ยวกับคำว่า “ทุนสามานย์” ซึ่งเป็นวาทกรรมที่มุ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิดคิดไปว่าในระบบตลาดเสรี ผู้มีทุนมากหรือเกี่ยวข้องกับกิจการขนาดใหญ่มักได้มาจากการทำความเลว หรือร่วมทำความเลวและจะทำต่อไป จริงอยู่ในบรรดาผู้มีทุนมากและเกี่ยวข้องกับกิจการขนาดใหญ่มีคนเลวปะปนอยู่เช่นเดียวกับในวงการอื่น แต่การสรุปเช่นนั้นเป็นการกระทำที่มักง่ายและควรได้รับการประณาม ในสังคมที่มีผู้นำยึดมั่นในความซื่อตรง คนเลวที่มีเงินทุนมากไม่มีทางทำร้ายบ้านเมืองจนล่มจม

เกี่ยวเนื่องกับเรื่องทุนสามานย์ได้แก่การพูดว่าการทำกำไรที่นำไปสู่ความร่ำรวยละเมิดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ประเด็นนี้เกิดจากความเข้าใจผิด เศรษฐกิจพอเพียงเป็นระบบตลาดเสรี ฉะนั้น ผู้ที่ทำกำไรได้จากการทำกิจการตามหลักเกณฑ์ของระบบย่อมทำได้ ส่วนที่น่าใส่ใจมากกว่าคือ เขานำกำไรนั้นไปทำอะไรหลังจากจ่ายภาษีแล้ว การนำไปใช้ทำกิจการต่อ หรือลงทุนและเก็บออมไว้ย่อมอยู่ในกรอบของระบบตลาดเสรี สิ่งที่อาจละเมิดหลักของความพอเพียงคือการนำไปใช้ในการซื้อหาสินค้าจำพวกฟุ่มเฟือย อย่างไรก็ดี หากเรามีระบบภาษีบริโภคแบบก้าวหน้า แรงจูงใจที่จะซื้อหาสินค้าเหล่านั้นย่อมลดลง ถ้าเขาตัดสินใจซื้อ เขาย่อมจ่ายภาษีจำนวนมากให้แก่รัฐ

อนึ่ง เรื่องระบบตลาดเสรีมีความบกพร่องมิใช่ของใหม่ อดัม สมิธ ปราชญ์ผู้เขียนตำราที่ยึดถือกันว่าเป็นเล่มแรกตระหนักดีและได้เตือนไว้ด้วย อย่างไรก็ตาม การที่เขาเป็นอาจารย์ทางด้านคุณธรรม เขาอาจมองข้ามไปที่มิได้เน้นความสำคัญของคุณธรรมโดยตรงในระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้คงเพราะเขาได้เขียนตำราไว้ก่อนแล้วถึง 17 ปีก่อนที่จะเขียนตำราเล่มที่อ้างถึงข้างต้น (เล่มที่เขียนขึ้นมาก่อนชื่อ The Theory of Moral Sentiments) ข้อคิดในหลายๆ ด้านของเขาอาจหาอ่านได้ในหนังสือชื่อ The Authentic Adam Smith: His Life and Ideas ของเจมส์ บูชัน หนังสือเล่มนี้มีบทคัดย่อภาษาไทยอยู่ในเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนาเช่นกัน

อดัม สมิธ มิได้เขียนตำราและเตือนเรื่องปัญหาที่จะเกิดขึ้นให้ผู้อื่นควรระวังเท่านั้น เขายังดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย เขามีคุณธรรมและความเอื้ออารี มีความขยันหมั่นเพียรและศึกษาหาความรู้อยู่เป็นนิจตลอดชีวิต 67 ปี มีโอกาสสร้างความร่ำรวยและมีความเป็นอยู่อย่างหรูหราได้แต่ไม่ทำทั้งที่มีตำแหน่งเป็นทั้งอาจารย์และนายด่านศุลกากร เขาปฏิเสธที่จะรับบำนาญจากครอบครัวที่เขารับเป็นอาจารย์พิเศษสอนลูกให้เนื่องจากเขามีรายได้พอเลี้ยงชีพแล้ว เขามีความเป็นอยู่อย่างสมถะและให้ความอุปการะแก่แม่และญาติมิตร และมักไปไหนมาไหนด้วยการเดิน

หากชนชั้นผู้นำดำเนินชีวิตในแนวที่ อดัม สมิธ ทำเป็นตัวอย่าง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะขยายออกไปอย่างกว้างขวางแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น