โสภณ องค์การณ์
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์
นาฬิกาการเมืองเกี่ยวโยงกับเสรีภาพและสิทธิพลเมืองเดินผ่านยุค 14 ตุลาฯ 16 บางครั้งก็หยุด บางครั้งก็ถูกหมุนให้ถอยหลังในช่วง 2519-2520 เกือบจะหยุดเดินวันที่ 1 เมษายน 2524 และ พฤษภาคม 2535 จนถึง 19 กันยายน 2549 แต่ก็ผ่านมาได้
มาหยุดนิ่งสนิท เป็นนาฬิกาตาย วันที่ 20 พฤษภาคม 2557!
จากนี้ไป สภาพจะคล้ายเหมือนประเทศพม่า ซึ่งนาฬิกาตายสนิทนานราว 50 ปี ภายได้เผด็จการทหาร เริ่มตั้งแต่รัฐบาลนายพลเนวิน เพิ่งมาผ่อนคลายได้ใน 2-3 ปีนี้เอง หลังจากยอมรับว่ามีความจำเป็นต้องก้าวไปกับสภาวะในโลก ฝืนความเป็นจริงไม่ได้
เมื่อพม่าเดินหน้าด้วยการปฏิรูปประเทศ พร้อมกับบรรยากาศของประชาธิปไตยทดลอง กลุ่มประเทศอาเซียนนึกว่าสมาชิกจะก้าวไปพร้อมกันภายไต้ เออีซี และกัมพูชาเริ่มปล่อยให้มีการเดินขบวนประท้วงรัฐบาล ผู้นำฮุน เซน รู้ดีกว่าชะตาจะเป็นอย่างไร
“ถ้ากูไม่เปลี่ยนแนวคิดและยอมรับพลังของประชาชน มีผู้นำฝ่ายค้าน สม รังสี อีกไม่นานพลังของมวลมหาประชาชนต้องเปลี่ยนผู้นำ กูต้องโดนขับไล่ตกเก้าอี้แน่ๆ”
แต่อาเซียนเหมือนอยากมีตัวตายตัวแทน และประเทศไทยอยากเป็นแผ่นดินที่นาฬิกาตายบ้าง การเมืองนิ่ง ไม่มีใครว่ามากนัก เพราะเข็ดกับการทุจริตงาบคำโตโดยนักการเมืองสามาณย์ แต่เหยื่อโดยตรงกับเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน
ภายไต้กฎอัยการศึกและธรรมนูญการปกครองฉบับ 2557 มีกฎห้ามชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง ห้ามเคลื่อนไหว จัดการประชุมสัมมนา แสดงความคิดเห็นคัดค้านไม่เห็นด้วย หรือขัดขวางนโยบายผู้กุมอำนาจรัฐเด็ดขาด
แม้กระทั่งรายการทีวี วิทยุ มีคำสั่งห้ามเชิญบุคคลบุคคลบางประเภทมาแสดงความคิดเห็น เช่นอดีตตุลาการ นักวิชาการ นักการเมือง หรือกลุ่มผู้มีความคิดเห็นไม่ลงรอยกับผู้มีอำนาจเด็ดขาด มีการตักเตือน ควบคุมตัว ดำเนินคดีทางกฎหมายเต็มที่
มีศาลทหารพิจารณาคดีต่างๆ ถ้าเกี่ยวโยงกับความมั่นคงของรัฐ ทั้งนี้มีคำอธิบายและข้ออ้างว่าประชาชนจำต้องสละสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพของสื่อ เพื่อความปรองดองระหว่างกลุ่มขัดแย้งต่างๆ ในสังคม เพื่อความสงบของบ้านเมือง
แนวคิดและนโยบายเช่นนี้ถูกมองว่าไม่ต่างจากการกวาดขยะไว้ไต้พรม เอาหัวซุกทรายเหมือนนกกระจอกเทศ เสแสร้งทำเหมือนประหนึ่งว่าคนดีต้องอยู่ร่วมกับคนชั่วให้ได้ หรือมีความเชื่อมั่นว่าน้ำกับน้ำมันต้องผสมกันให้ได้ เป็นปรากฎการณ์แรกของโลก
ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่ล้าหลังมากที่สุดในอาเซียน ในด้านสิทธิเสรีภาพของสื่อ สิทธิการแสดงความคิดเห็น การแสดงออกเป็นกลุ่ม การเมืองถูกแช่เย็นโดยกฎอัยการศึกซึ่งนำไปสู่รัฐบาลซึ่งมีนายพลทหาร ตำรวจ กุมเสียงเด็ดขาดร่วมกับข้าราชการ
มีพลเรือน คนธรรมดา อดีตข้าราชการ นักธุรกิจแซมอยู่บ้าง ทำให้ดูเหมือนดี!
ว่ากันว่ารัฐบาลนี้จะอยู่ปฏิบัติหน้าที่ 1 ปี เพื่อรอรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการเลือกตั้งหลังจากเดือนตุลาคมปี 2558 คำประกาศเช่นนี้มีแต่เด็กอมมือและคนปัญญาอ่อนเท่านั้นที่เชื่อว่าจะเป็นจริง เมื่อเห็นความพยายามกระชับอำนาจ กดหัวประชาชน
การควบคุมสื่อเกิดขึ้นในยุคที่ประเทศไทยมีจำนวนทีวีเป็นร้อยๆ ช่องในระบบต่างๆ เนื้อหาภายไต้กฎอัยการศึกคือรายการธรรมดา เน้นบันเทิง น้ำเน่าเกมโชว์ ไร้สาระ ไร้เวทีการแสดงภูมิปัญญา เป็นความขัดแย้งกับนโยบายที่ว่าจะปฏิรูปการศึกษา ความรู้
เมื่อนาฬิกาประเทศไทยตายสนิท จึงสวนกระแสโลก พิสูจน์ให้ประชาคมโลกได้รับรู้ว่าการรัฐประหารยังเป็นไปได้ การจำกัดสิทธิเสรีภาพในบรรยากาศเผด็จการหาใช่เป็นการล้าสมัย ทั้งยังมีกลิ่นไอถึงความเป็นไปได้ของระบอบทรราชย์ด้วยซ้ำ
ใครจะนึกว่าบรรยากาศเผด็จการจะมีในประเทศไทย ซึ่งเคยมีสิทธิเสรีภาพด้านสื่อมาโดยตลอดในหลายยุค เป็นที่น่าอิจฉาของหลายประเทศ โยงมาตั้งแต่อิหร่าน พาดผ่านอินเดีย อาเซียน จนถึงญี่ปุ่น คนทำสื่อไทยภูมิใจมาโดยตลอดกับเสรีภาพอันสูงส่ง
มาบัดนี้ ผู้กุมอำนาจรัฐตรวจเข้มสื่อทุกประเภท เรียกไปตักเตือนถ้ามีพฤติกรรมให้เห็นว่าทำให้การบริหารงานของรัฐบาลอาจไม่ราบรื่น บรรยากาศปรองดองเสียหาย ขาดความหวานชื่น มีคำขู่ไม่เว้นแต่ละวันถ้าการพูดความจริงทำให้อับอาย เสียหน้า
ผมเริ่มอาชีพสื่อมวลชนวันที่ 23 มีนาคม 2520 ที่ The Nation ไม่มีปัญหาเรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อ แม้จะมีกฎหมายตราไว้แต่ไม่มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง รัฐบาลชาติชายปลดโซ่ตรวน ทำให้สิ้นสภาพลิง 3 ตัว ปิดหู ปิดตา ปิดปาก มีเสรีภาพโดยกฎหมาย
ในช่วงปี 1980 จนถึง 2013 ถือว่าเป็นยุคแห่งบทบาทของสื่อ มีทั้งยุคทอง ยุคสื่อเทียม สื่อรับจ้าง แต่มีอิสระเสรีภาพเต็มร้อย บางครั้งมากเกินไปเมื่อสื่อเทียมไร้ศักดิ์ศรีจรรยาบรรณกลายสภาพเป็นขี้ข้าทาสรับใช้นักการเมืองแลกกับเงิน ผลประโยชน์ต่างๆ
ช่วงเสรีภาพสื่อเบ่งบาน ผมไปต่างประเทศบ่อย ในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน ยุโรป รัฐ เมื่อพบปะคนทำสื่อด้วยกันในต่างประเทศ ผมเดินยืด คุยทับพวกสื่อในอาเซียนได้สบายๆ ว่าประเทศไทยมีเสรีภาพด้านสื่อ ไม่ยอมให้นักการเมืองเผด็จการมากดหัว
พวกสื่อในอาเซียนโม้เรื่องเสรีภาพไม่ได้ เพราะโดนควบคุมเต็มที่ ผมยังถามเค้า "ทำไมพวกคุณไม่ลุกขึ้นสู้ ยอมให้เค้ากดหัว ปิดปากได้อย่างไร" แต่เมื่อมองย้อนกลับ และดูบรรยากาศภายในบ้านเรา ผมถึงเข้าใจว่าสภาวะที่จำยอม ไร้ทางสู้เป็นอย่างไร
ช่วงนี้ผมพยายามหลบสื่อต่างประเทศ ยิ่งพวกสื่ออาเซียนด้วยแล้ว ผมรู้สึกอาย เพราะเค้ามีเสรีภาพมากกว่า ทั้งฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย! ผมว่าเราแย่กว่าพม่า ไม่กี่เดือนก่อนยังคิดว่าจะไปอบรมให้สื่อพม่าซึ่งมีความต้องการพัฒนาให้ก้าวทันโลกยุคปัจจุบัน
ตอนนี้ภาวนาว่าใครอย่ามาเชิญให้ไปพูดเรื่องเสรีภาพของสื่อ บอกตรงๆ ผมโคตรอายไม่รู้จะตอบอย่างไรถ้ามีคนถาม "คนทำสื่อไทยยอมให้ใครมาปล้นสิทธิเสรีภาพได้อย่างไร...ถ้าไม่กล้าสู้เพื่อตัวเองแล้ว จะคุยโวได้อย่างไรว่าสื่อจะต่อสู้เพื่อประชาชน”
ผู้กล้าควบคุมสิทธิเสรีภาพของคนไทย และสื่อไทย ย่อมไม่ธรรมดา แต่จะสำเร็จ เบ็ดเสร็จ ยั่งยืนระยะยาวได้หรือไม่ รอดสันดอนไปได้สักกี่น้ำ เป็นประเด็นน่าคิด
แต่ช่วงนี้ กฎหมายหรือผู้มีอำนาจหน้าไหนคิดจะบังคับ ห้ามผมไม่ให้อายนั้น ไม่ได้แน่นอน แม้นาฬิกาด้านสิทธิเสรีภาพตายสนิทก็ตาม ด้วยจิตสำนึกที่แจ่มกระจ่างชัด ผมเชื่อว่าผมยังเหลือสิทธิในการอายอยู่!
บรรยากาศที่ดูเหมือนนิ่งสนิท หาใช่เป็นเช่นนั้นไม่ คนช่างสังเกตย่อมเห็นคลื่นไต้น้ำ พริ้วเป็นระยะๆ เป็นสภาวะเย็นยะเยือก ทำให้คนระแวงรู้สึกหลังเย็นวาบๆ ยิ่งนัก!