xs
xsm
sm
md
lg

จีนเข้ม ออกกฎควบคุมการเผยแพร่ข่าวโดยแอพมือถือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซี - จีนออกกฎ คุมเข้มการใช้แอพฯ บนมือถือ เผยแพร่ข่าว ระบุ สงวนพื้นที่ไว้เฉพาะสื่อของรัฐเท่านั้น ส่วนสื่อมวลชนของเอกชนทำได้แค่ “รีโพสต์” แต่ต้องขออนุญาตทางการก่อน
รัฐบาลจีน ออกมาตรการคุมเข้มการใช้แอพลิเคชั่นบนมือถือเพื่อเผยแพร่ข่าวสาร โดยอนุญาตให้เฉพาะสื่อทางการเท่านั้นที่มีสิทธิเสนอข่าวได้ (ภาพ: รอยเตอร์ส
สถานการณ์สื่อมวลชนล่าสุดในประเทศจีน เกิดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดี (7 ส.ค.) ที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลออกประกาศห้ามสื่อเอกชน เผยแพร่ข่าวในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะผ่านแอพลิเคชั่นชื่อดัง “วีแชท” (WeChat) และอนุญาตให้เฉพาะสำนักข่าวของทางการจีนเท่านั้นที่สามารถเผยแพร่ข่าวได้

ส่วนเจ้าของบัญชีชื่อที่ลงทะเบียนใช้แอพฯ ที่ไม่ใช่สำนักข่าวของรัฐ จะทำได้แค่ “รีโพสต์” โดยต้องขออนุญาตจากสำนักงานข้อมูลข่าวสารทางอินเทอเน็ตแห่งชาติ (State Internet Information Office หรือ SIIO) ก่อนเท่านั้น แถลงการณ์จากรัฐบาล ระบุ นอกจากนี้ ยังมีการสั่งการให้พรรคคอมมิวนิสต์ทุกสาขาทุกระดับ รวมทั้งสื่อของรัฐทุกแห่ง เปิดบัญชีใช้บริการแอพฯ เพื่อ “ให้ข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจและสังคม และเพื่อความพึงพอใจของสาธารณชน”

ทั้งนี้ กฎใหม่ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันพฤหัสบดี (7 ส.ค.) ที่ผ่านมา บังคับใช้กับแอพลิเคชั่นที่ให้บริการสนทนาออนไลน์ทุกประเภท รวมทั้งคิวคิว(QQ) และโมโม (Momo) แอพลิชั่นสำหรับการออกเดทและหาคู่ชื่อดังของจีน ทว่า ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า เป้าหมายหลักของมาตรการนี้อยู่ที่ “ วีแชท” แอพฯ แชทบนมือถือ ที่มีฟีเจอร์โซเชียลเน็ตเวิร์กส่วนตัวซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในสังคมจีน

วีแชต มีผู้ใช้ทั่วโลกประมาณ 369 ล้านคนต่อเดือน มีบัญชีผู้ใช้ที่เป็นผู้ผลิตคอนเทนท์ (contain provider) มากกว่า 5.8 ล้านบัญชีชื่อผู้ใช้ ซึ่งหลายเจ้าก็ระบุว่ามีสมาชิกลงทะเบียนอยู่หลายล้านราย

อนึ่ง มาตรการของ SIIO เกิดขึ้น หลังจากที่มีการตระหนักว่า คนจำนวนมากติดตามข่าวสารข้อมูลจากการใช้บริการแอพลิเคชั่นแชทบนมือถือ

ซิน ไห่กวง คอลัมนิสต์ในจีน ซึ่งมีบัญชีชื่อในวีแชตหลายบัญชี และหนึ่งในนั้นใช้เพื่อเผยแพร่ข่าวทางการเมือง ระบุว่า เขาอาจต้องปรับเปลี่ยนข้อมูลเนื้อหาในบัญชีที่ใช้

“ผมคิดว่าบัญชีชื่อที่ผมลงทะเบียนใช้จะได้รับผลกระทบมาก” นายซิน กล่าว คอลัมนิสต์ชื่อดังมีผู้ติดตามอ่านโพสต์ของเขามากกว่า 100,000 คน “ผมคิดว่า รัฐบาลควรเหลือพื้นที่ให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์และพูดเรื่องการเมืองได้บ้าง”

ทั้งนี้ หากมีการบังคับใช้กฎใหม่อย่างเข้มงวด คาดการณ์ว่าผู้ใช้บริการต้องยุติการใช้งานหลายบัญชีเลยทีเดียว นายเล่ย หมิง เจ้าของเพจเกี่ยวกับไอที ซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่า 50,000 คน กล่าว

นายหวัง กวนสยง นักวิจารณ์สถานการณ์ปัจจุบัน เป็นหนึ่งในผู้ใช้บริการวีแชต และมีผู้ติดตามเขาประมาณ 130,000 คน กล่าวว่า รัฐบาลกำลังควบคุมผู้ใช้งานวีแชต แบบเดียวกับกรณีที่เกิดขึ้นกับเว่ยปั๋ว (คล้ายทวิตเตอร์)

“กฎดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมสำนักข่าวของรัฐบาล และขัดขวางสื่อมวลชนเอกชน เพราะตอนนี้สื่อฯ เอกชน บางแห่งก็มีอิทธิพลกับสังคมมาก” นายหวัง กล่าว

อย่างไรก็ตาม เทนเซ็นท์ เจ้าของแอพลิเคชั่นวีแชท ก็ไม่ออกมาแสดงความเห็นแต่อย่างใด ทว่าเทนเซ็นท์กล่าวในเพจของบริษัทฯ บนแอพฯวีแชทว่า ทางบริษัทฯ เห็นด้วยกับวัตถุประสงค์ของผู้ออกกฎที่ต้องการกำจัดข่าวลือต่างๆ ทิ้งไป

ก่อนหน้านี้ ระหว่างที่รัฐบาลเริ่มตรวจสอบการใช้งานของผู้ใช้บริการแอพลิเคชั่นบนมือถือ เทนเซ็นท์ก็ได้ออกมาประกาศ ปราบปรามการใช้งานวีแชทที่มีการต้มตุ๋นหลอกลวง การกระทำอนาจาร และ “การปล่อยข่าวลือ” เพื่อขานรับนโยบายของรัฐบาล โดยเทนเซ็น์ประกาศว่า วีแชทจะไม่อนุญาตผู้ใช้งานเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลต่างๆ เอง และห้ามแชร์ข้อมูลที่ได้รับจากสื่อต่างชาติด้วย

เทนเซ็นท์ ระบุเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่เดือนก.พ. (2557) ที่ผ่านมา มีการริเริ่มโครงการรณรงค์ทำความสะอาดระบบอินเทอร์เน็ต ทำให้ทางการสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยประมาณ 80 คนจากกลุ่ม 10 กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมผิดกฎหมาย คดีเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับเงินมากถึง 25 ล้านหยวน หรือราวๆ 125 ล้านบาท เลยทีเดียว

นอกจากนี้ ยังมีการลบบัญชีผู้ใช้ทิ้งไปแล้วมากกว่า 100 บัญชีชื่อ ภายในระยะเวลาเพียงแค่ครึ่งปีแรก โดยมีบัญชีผู้ใช้ 3 บัญชีต้องสงสัยว่าขายสินค้าปลอม ทั้งนี้ เพื่อปฏิบัติงานตามนโยบายรณรงค์เมื่อเดือน ก.พ. ทางเทนเซ็นท์ยังได้จ้างพนักงานเพิ่มอีก 200 กว่าคน เพื่อตรวจสอบข้อร้องเรียนที่รายงานกันเข้ามา

ในขณะที่เมืองเจ้าชิง ในก่วงตง ออกประกาศไปไม่นานนี้ว่า ผู้ใช้งานวีแชทไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือองค์กรต่างๆ ต้องลงทะเบียนกับทางตำรวจภายใน 1 เดือน นับจากวันที่ประกาศ (29 ก.ค. 2557) ส่วนผู้ใช้รายใหม่ทุกประเภทต้องลงทะเบียนภายในเวลา 30 วัน นับจากวันที่เริ่มเปิดใช้งานแอพลิเคชั่น

ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลเมืองเจ้าชิง ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลท้องถิ่นเข้ามาดูแลเรื่องดังกล่าว ซึ่งจะช่วยให้การควบคุมการปล่อยข่าวลือและการเผยแพร่ข้อมูลผิดกฎหมายมีความเข้มงวดขึ้น แถลงการณ์ร่วมจากกรมพิทักษ์สันติราษฎร์ กรมโฆษณาการ กรมการจัดพิมพ์ และกรมการอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ของเมืองเจ้าชิง ระบุ

อย่างไรก็ดี จากความเคลื่อนไหวต่างๆในการควบคุมสื่อ หลายฝ่ายก็มองว่า แผ่นดินใหญ่ ควบคุมการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างเข้มงวดเพราะรัฐบาลจีนกังวลว่า อินเทอร์เน็ตจะเป็นภัยคุกคามต่อการครอบงำของพรรคคอมมิวนิสต์

กำลังโหลดความคิดเห็น