ในสายตาของสื่อมวลชน คำสั่ง คสช. (เฉพาะ) ที่ 12/ 2557 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตามการเผยแพร่ข่าวสารต่อสาธารณะ คือการควบคุมสื่อมวลชนให้เสนอไปในทิศทางที่ คสช. ต้องการ เป็นการส่งสัญญาณเตือนให้สื่อมวลชนปรับการเสนอข้อมูลข่าวสารให้อยู่ในกรอบที่ คสช.วางไว้ เพราะมีคนจับตาดูอยู่
คณะกรรมการชุดนี้ ซึ่งมี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกิจการพิเศษ เป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ ซึ่งสรุปได้ดังนี้
1.กลั่นกรองติดตาม ตรวจสอบ การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่มีการบิดเบือนยุยง ปลุกปั่น อันจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในราชอาณาจักร หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ
2.ระงับ ยับยั้ง การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารใดๆ อันเป็นเท็จ หรือส่อไปในทางหมิ่นประมาท หรือสร้างความเกลียดชังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ องค์รัชทายาท และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์
3.ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน และสื่อสารมวลชนประเภทต่างๆ ให้เข้าใจถึงเจตนารมณ์ และการดำเนินการของ คสช.
4.เชิญบุคคล ผู้แทนหน่วยงาน ส่วนราชการ ตลอดจนองค์กรที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ตลอดจนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการของคณะกรรมการฯ ตามความเหมาะสม
คณะกรรมการชุดนี้จะแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามการเผยแพร่ข่าวต่อสาธารณะ จำนวน 5 คณะ ได้แก่ 1.คณะทำงานติดตามการเผยแพร่ข้อมูลสื่อวิทยุ 2 .คณะทำงานติดตามการเผยแพร่ข้อมูลสื่อโทรทัศน์ มีเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นประธาน 3.คณะทำงานติดตามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสื่อสิ่งพิมพ์ มีผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลเป็นประธาน 4.คณะทำงานติดตามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร สื่อสังคมออนไลน์ โซเชียลมีเดีย มีปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นประธาน และ 5. คณะทำงานติดตามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านต่างประเทศมีปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานคณะทำงาน
โลกยุคปัจจุบัน สงครามด้านข้อมูลข่าวสารเป็นแนวรบที่สำคัญถึงขั้นชี้ขาดผลแพ้ชนะ ประชาชนส่วนใหญ่รับรู้ เข้าใจ และมีทัศนคติต่อความเป็นไปที่เกิดขึ้นภายใต้กรอบที่สื่อมวลชนเป็นผู้กำหนดทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ
การเข้าไปกำหนดกรอบ ทิศทางการนำเสนอข้อมูล ข่าวสาร จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำ แต่จะทำด้วยวิธีการอย่างไรจึงจะบรรลุผลที่ต้องการ และไม่เกิดผลเสียที่ย้อนกลับมาทำลายตัวเอง
การใช้อำนาจตามคำสั่ง คสช.และกฎอัยการศึก อาจจะได้ผลเฉพาะหน้า และเป็นกรณีๆ ไป แต่จะค่อยๆ สร้างภาพ คสช. ให้เป็น “บิ๊กบราเธอร์” ที่น่าหวาดกลัว และค่อยๆ บ่มเพาะความรู้สึกชิงชัง เป็นปฏิปักษ์กับ คสช.ของสื่อมวลชน ซึ่งจะนำไปสู่การ “เลือกข้าง” ในที่สุด
จริงอยู่ที่มีการบิดเบือนยุยงโดยสื่อมวลชนบางส่วน ทั้งที่ไม่เห็นด้วยการการยึดอำนาจ และที่ยังหวังว่าระบอบทักษิณจะกลับมา แต่เป็นการบิดเบือนยุยงที่ใช้วิธีการที่แยบยล เป็นเทคนิคในการสื่อสารทางอ้อม ซึ่งไม่มีทางที่ คสช.จะอธิบายให้ประชาชนมีความเห็นคล้อยตามไปว่า จะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือกระทบต่อความมั่นคงของรัฐตรงไหน
แต่ก็มีสื่อมวลชนจำนวนมากที่เอาใจช่วยให้ คสช. แก้ปัญหา ปฏิรูปได้สำเร็จ มิใช่ด้วยการสรรเสริญเยินยอ แต่ด้วยการท้วงติง แสดงความเห็นด้วยเจตนาที่ดี
ในยุคนี้ การควบคุมข้อมูลข่าวสารด้วยอำนาจในการสั่งปิด หรือเชิญให้ไปรายงานตัว ไม่ได้ผลอย่างที่ คสช.ต้องการแน่นอน ยิ่งห้ามยิ่งคุมก็จะยิ่งมีผู้ท้าทายต่ออำนาจนั้นกระทำการหลบเลี่ยง ตอบโต้ และในที่สุด ความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันก็จะเกิดขึ้น
คสช.ซึ่งประกอบด้วยสามเหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีช่องทางสื่อสารที่เข้าถึงประชาชนทั้งประเทศคือ สถานีโทรทัศน์ช่อง 5 และสถานีวิทยุอีกหลายร้อยแห่ง น่าเสียดายที่ ช่องทางการสื่อสารเหล่านี้ถูกนำไปแสวงหาประโยชน์ทางธุรกิจ ด้วยการให้เอกชนเช่าเวลาไปทำรายการบันเทิง รายการขายสินค้า เกือบทั้งหมด หากผู้บังคับบัญชาของกรมกองที่เป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์และสถานีวิทยุเหล่านั้นจะยอมสละรายได้ในการขายเวลาเสียบ้าง คสช.ก็จะมีเครื่องมือในการทำสงครามข้อมูลข่าวสาร ที่ดีกว่าการส่งกำลังพลไปเฝ้าสถานีโทรทัศน์หรือสำนักงานหนังสือพิมพ์
อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ในแนวรบด้านข้อมูลข่าวสารไม่ได้ชี้ขาดชัยชนะกันด้วยการตั้งด่านควบคุมช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเท่านั้น สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือตัวข้อมูลข่าวสารที่จะ ส่งผ่านไปตามช่องทางเหล่านั้น การชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนและสื่อมวลชนประเภทต่างๆ ให้เข้าใจถึงการดำเนินงานของ คสช.นั้นไม่เพียงพอ การที่ คสช.ต้องมีคณะกรรมการคอยติดตามการทำงานจของสื่อก็เป็นการยอมรับความจริงในเรื่องนี้อยู่ในตัว
ลำพังบุคลากรด้านการสื่อสารข้อมูลข่าวสารของ คสช. เอง เห็นกันอยู่ว่ามีข้อจำกัดในการนำเสนอเนื้อหาที่จะนำไปสู่การปฏิรูป หรือการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น อันเป็นภารกิจที่ คสช.ประกาศไว้ ในขณะที่คนนอกกองทัพ นอกแวดวง คสช.ที่มีความรู้มองเห็นรากเหง้าของปัญหา มีข้อเสนอแนะว่าจะเดินไปอย่างไร มีอยู่เป็นจำนวนมาก
หาก คสช.เปิดใจกว้างใช้ความรู้ความสามารถของคนเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ทั้งโดยผ่านข่องทางการสื่อสารที่กองทัพเป็นเจ้าของ และช่องทางอื่นๆ คณะกรรมการชุดนี้ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องมีก็ได้