xs
xsm
sm
md
lg

กองทัพพม่าระบุมีผู้เสียชีวิต 22 คน จากเหตุปะทะกับกลุ่มกบฏกะฉิ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>แฟ้มภาพเอเอฟพีวันที่ 16 พ.ค. 2555 เผยให้เห็นทหารของกองทัพกะฉิ่นอิสระ (KIA) เฝ้าสังเกตกองกำลังทหารพม่าอยู่ที่ด่านแห่งหนึ่งบนเส้นทางเสบียงระหว่างเมืองลายซา ที่เป็นฐานที่มั่นในความควบคุมของ KIA  ในรัฐกะฉิ่น ทางภาคเหนือของประเทศ  กองทัพทหารพม่าเผยวันนี้ (20) ว่า ในการปะทะกันระหว่างทหารพม่าและกลุ่มกบฎกะฉิ่นในเดือนนี้ มีผู้เสียชีวิต 22 คน เป็นฝ่ายพม่า 8 คน และฝ่าย KIA 14 คน.-- Agence France-Presse/Patrick Bodenham.</font></b>

เอเอฟพี - กองทัพทหารพม่าเปิดเผยวันนี้ (20) ว่า ในเหตุการณ์ต่อสู้ระหว่างเจ้าหน้าที่ทหาร และกบฏชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยในภาคเหนือของพม่า ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 22 คน ในเดือนนี้

เหตุนองเลือดในรัฐกะฉิ่น พื้นที่ที่ยังคงมีสงครามกลางเมืองเป็นที่สุดท้ายในประเทศ ส่งผลให้ผู้คนหลายหมื่นต้องอพยพจากที่อยู่อาศัย และยังกระทบต่อการปฏิรูปการเมืองของประเทศ

ทหารฝ่ายรัฐบาล 8 นาย ที่รวมทั้งเจ้าหน้าที่ 1 นาย เสียชีวิตในการปะทะกันกับกลุ่มกบฏในเดือนนี้ ตามคำแถลงที่ระบุอยู่ในหนังสือพิมพ์เมียวดีของกองทัพ ขณะที่ฝ่ายกองกำลังกะฉิ่นอิสระ (KIA) มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 14 คน

แหล่งข่าวในกะฉิ่นระบุว่า ชาวบ้านหลายพันคนลี้ภัยอยู่ตามแนวพรมแดนติดกับจีน ขณะที่สหประชาชาติระบุว่า มีประชาชนราว 100,000 คน ต้องไร้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ที่อุดมด้วยทรัพยากรแห่งนี้นับตั้งแต่ข้อตกลงหยุดยิงระหว่างรัฐบาล และกลุ่มกบฏ 17 ปี สิ้นสุดลง เมื่อเดือน มิ.ย.2554

ฝ่ายทหารพม่าระบุว่า การต่อสู้ปะทุขึ้นเมื่อต้นเดือนหลัง 1 ในเจ้าหน้าที่ของกองทัพถูกสังหารจากการซุ่มโจมตีของ KIA ทำให้กองทัพระดมกำลังเข้าเคลียร์พื้นที่ตามเส้นทางส่งเสบียง

รัฐบาลของประธานาธิบดีเต็งเส่ง ได้ดำเนินการเจรจาข้อตกลงสันติภาพเบื้องต้นกับกลุ่มกบฏใหญ่ๆ หลายกลุ่มในประเทศ หลังจากการหารืออยู่หลายครั้ง รัฐบาล และกบฏกะฉิ่น ได้ลงนามในแผน 7 ประการ เมื่อเดือน พ.ค.2556 ที่มีเป้าหมายยุติการสู้รบ

ในเวลานั้น ข้อตกลงดังกล่าวได้รับการยกย่องว่าเป็นความก้าวหน้าอย่างมากของรัฐบาล ซึ่งในตอนนี้พยายามที่จะลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศกับกลุ่มกบฏเพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างความน่าเชื่อถือในการปฏิรูปขณะที่ประเทศกำลังต้องการความช่วยเหลือ และการลงทุนจากต่างชาติ และการเจรจาสันติภาพรอบใหม่กำหนดมีขึ้นในต้นเดือน พ.ค. นี้

นับตั้งแต่การปกครองระบอบเผด็จการทหารสิ้นสุดลงเมื่อ 3 ปีก่อน เต็งเส่ง ได้รับเสียงชื่นชนจากต่างชาติจากการปล่อยตัวนักโทษการเมืองหลายร้อยคน การผ่อนคลายมาตรการควบคุมสื่อ และการเปิดให้นางอองซานซูจีเข้าสู่สภา แต่การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกเหล่านี้กำลังถูกบดบังด้วยเหตุการณ์ความขัดแย้งกับกลุ่มกบฏกะฉิ่น เหตุความรุนแรงระหว่างชาวพุทธ และมุสลิมทั่วประเทศ รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับกฎหมายปราบปราม.
กำลังโหลดความคิดเห็น