xs
xsm
sm
md
lg

พม่าลงนามข้อตกลงสันติภาพฉบับใหม่กับกลุ่มกะฉิ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033> คณะทำงานสร้างสันติภาพส่วนกลางของรัฐบาลพม่าและกลุ่มกะฉิ่นอิสระ (KIO) หารือข้อตกลงสันติภาพ ที่ได้ร่วมกันลงนามในวันนี้ (10) ที่เมืองมิตจีนา เมืองเอกของรัฐกะฉิ่น.--Xinhua/U Aung.</font></b>

เอเอฟพี - พม่าและกลุ่มกบฏกะฉิ่น ได้ลงนามในข้อตกลงสันติภาพฉบับใหม่ในวันนี้ (10) ผู้ไกล่เกลี่ยฝ่ายรัฐบาลพม่าระบุ ซึ่งนับเป็นขั้นตอนล่าสุดในความพยายามที่จะยุติสงครามกลางเมืองที่เหลือเป็นแห่งสุดท้ายของประเทศ

ข้อตกลงฉบับนี้มีขึ้นหลังเจรจากันเป็นเวลา 3 วัน ที่มุ่งเป้าไปที่การวางรากฐานสำหรับการเจรจาทางการเมือง และทำงานเพื่อมุ่งไปสู่การยุติความขัดแย้งในกะฉิ่น ที่ได้ปะทุขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน หลังข้อตกลงหยุดยิงนาน 17 ปี ยุติลง

“เรากำลังทำงานไม่ใช่เพียงเพื่อสันติภาพที่ยั่งยืนเท่านั้น แต่เพื่อวัฒนธรรมทางการเมืองแบบใหม่ที่สร้างขึ้นบนความประนีประนอม ความไว้วางใจ และความเข้าใจต่อกัน” อ่อง มิน รัฐมนตรีที่เป็นผู้นำคณะเจรจาสันติภาพจากฝ่ายรัฐบาล ระบุในคำแถลง

“ปัญหามีความซับซ้อน และหยั่งรากลึกมานานกว่าครึ่งศตวรรษ แต่ผมมั่นใจว่าเรากำลังพ้นช่วงที่ยากลำบากนั้น” อ่อง มิน กล่าวหลังหารือในเมืองมิตจีนา รัฐกะฉิ่น 

การต่อสู้กับกะฉิ่นใกล้กับพรมแดนจีนทางเหนือของประเทศ ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ มิ.ย.2554 ที่ทำให้ประชาชนราว 100,000 คนต้องอพยพออกจากที่อยู่อาศัย ตามการระบุของสหประชาชาติ

เหตุนองเลือด พร้อมกับความไม่สงบทางศาสนาในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ เป็นเงาบดบังความชื่นชมยินดีอย่างกว้างขวางต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เมื่อพม่าหลุดพ้นจากการปกครองของทหารที่ยาวนานหลายทศวรรษ

รัฐบาลปฏิรูปของประธานาธิบดีเต็งเส่ง ได้บรรลุข้อตกลงสันติภาพกับกลุ่มกบฏชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มในประเทศ หลัง่สงครามกลางเมืองเริ่มปะทุขึ้นเมื่อประเทศได้เอกราชจากอังกฤษในปี 2491

การเจรจาที่มี นายวีเจย์ นามเบียร์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านพม่าของเลขาธิการสหประชาชาติ ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วยนั้น ได้เห็นว่ากลุ่มกบฏกะฉิ่นเห็นพ้องที่จะทำงานเพื่อมุ่งไปสู่การหยุดยิงทั่วประเทศ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของรัฐบาลชุดนี้

ในการเยือนกรุงลอนดอนเมื่อเดือน ก.ค. ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ได้แสดงความหวังว่าเสียงปืนจะเงียบลงทั่วทุกแห่งในพม่าเป็นครั้งแรกในรอบมากกว่า 60 ปี

ทั้งนี้ พม่ามีชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์มากกว่า 130 กลุ่ม และมีกลุ่มกบฏติดอาวุธมากกว่า 10 กลุ่ม ที่เรียกร้องการปกครองตัวเอง

ข้อตกลงล่าสุดกับองค์กรกะฉิ่นอิสระ (KIO) และกองกำลังติดอาวุธของกลุ่ม ได้ร่างข้อตกลงก่อนหน้านี้ในเดือน พ.ค. ซึ่งรวมทั้งเงื่อนไขที่จะทำงานเพื่อยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธทั้งหมด และร่างแผนที่จะตั้งถิ่นฐานให้แก่ผู้ไร้ที่อยู่อันเนื่องมาจากความรุนแรง

ทั้ง 2 ฝ่ายได้หารือกันถึงอนาคตในการเจรจาทางการเมือง ที่เป็นข้อเรียกร้องหลักของกลุ่มกะฉิ่น ซึ่งโต้เถียงยาวนานว่าการเจรจาควรระบุข้อเรียกร้องของกลุ่มที่ต้องการสิทธิทางการเมืองมากขึ้นรวมทั้งการปกครองตนเอง

เมื่อวันอังคาร รัฐบาลพม่าได้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง 56 คน ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับการเริ่มต้นเจรจากับกลุ่มกะฉิ่น ที่นักเคลื่อนไหวระบุว่า หลายคนที่ได้รับการปล่อยตัวในครั้งนี้มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มกบฏกะฉิ่น และการปล่อยตัวนักโทษการเมือง 70 คนเมื่อเดือน ก.ค. ก็มีหลายคนที่มาจากกลุ่มกะฉิ่นเช่นกัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น