เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - เจ้าหน้าที่ของอิสราเอลและปาเลสไตน์มีกำหนดการเจรจาสันติภาพกันอีกครั้งหนึ่งในวันนี้ (29 ก.ค.) ภายหลังที่ได้หยุดชะงักไป 3 ปี โดยคาดหวังกันว่าด้วยการดำเนินงานด้านการทูตอย่างสุขุมของจอห์น เคร์รี รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ จะทำให้การหารือครั้งนี้มีโอกาสประสบผลสำเร็จ
หนึ่งในประเด็นหลักของการตกลงเกี่ยวกับการเจรจากันในวันนี้ คือ หัวหน้าคณะเจรจาจากทั้งสองฝ่ายจะมาพบปะกันเพื่อกำหนดแผนว่าการเจรจาจะดำเนินไปเช่นไร เจน ซากี โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุ
ความฝันเรื่องสันติภาพของตะวันออกกลาง คือ ความหวังที่ยากจะเป็นจริง ซึ่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ หลายต่อหลายคนไล่ติดตามมานานหลายทศวรรษแล้ว และถึงขั้นสะดุดตั้งแต่ในเดือนกันยายน 2010 เนื่องจากทั้งสองฝ่ายมีความบาดหมางอันรุนแรง และไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน
หลังจากที่เพียรพยายามเกลี้ยกล่อมมาหลายเดือน ในที่สุดเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ขณะที่เคร์รีเดินทางไปภูมิภาคนี้เป็นครั้งที่ 6 แล้ว เขาก็สามารถทำให้ทั้งสองฝ่ายยอมทำข้อตกลงที่ระบุ “ข้อกำหนดพื้นฐานในการกลับมาเจรจาโดยตรงขั้นสุดท้าย” ซากีแถลงเมื่อวานนี้ (28)
“การประชุมที่กรุงวอชิงตันครั้งนี้เป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นเจรจาหารือ โดยการประชุมเหล่านี้จะเป็นโอกาสเพื่อจัดทำแผนการดำเนินงานอย่างเป็นขั้นตอน ว่าแต่ละฝ่ายจะกำหนดให้การเจรจาในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าดำเนินไปเช่นไร”
การเจรจาที่กรุงวอชิงตันนี้ ซีปปี ลิฟนี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมซึ่งจะเป็นหัวหน้า และยิตซ์ฮาก มอลโช ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ส่วนผู้แทนฝ่ายปาเลสไตน์มีซาเอ็บ เอรากุต เป็นหัวหน้าคณะ และโมฮัมหมัด ชะตอยยีห์ เจ้าหน้าที่อาวุโส โดยที่ทั้งสองฝ่ายจะพบปะกันครั้งแรกในระหว่างร่วมรับประทานอิฟฏอร์ หรือมื้อค่ำหลังการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนซึ่งเคร์รีเป็นเจ้าภาพ
นอกจากนี้ซากียังระบุอีกว่า “มีการวางแผนที่จะเจรจาหารือขั้นต้นในช่วงเย็นวันนี้ (29) และวันพรุ่งนี้ (30)”
“ผู้นำของทั้งสองฝ่ายได้แสดงความเต็มใจที่จะตัดสินใจในประเด็นปัญหาที่ยากลำบาก เพื่อให้พวกเขาสามารถมาถึงจุดนี้ได้ เราซาบซึ้งในภาวะผู้นำของพวกเขา” เคร์รีกล่าวเสริมในการแถลง
การประกาศนี้มีขึ้นไม่นานหลังจากที่อิสราเอลได้แถลงแผนการปล่อยตัวนักโทษชาวปาเลสไตน์ 104 คน ซึ่งมีบางส่วนถูกตัดสินว่ากระทำผิดฐานประทุษร้ายชาวอิสราเอล
คณะรัฐมนตรีของ เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอลได้หารือกันเรื่องนี้เมื่อวาน (28) โดยที่เนทันยาฮูดิ้นรนอย่างหนักเพื่อสร้างความมั่นใจแก่พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคให้เห็นด้วยกับการปล่อยตัวนักโทษครั้งนี้ และเห็นชอบให้มีการเริ่มเจรจาสันติภาพขึ้นอีกครั้ง
ตามรายงานของสถานีวิทยุของทางการอิสราเอลรายงานว่าในสมาชิกคณะรัฐมนตรีทั้งหมด 22 คน มีผู้เห็นชอบให้ปล่อยตัวนักโทษ 13 คน ขณะที่มีผู้คัดค้าน 7 คน และงดออกเสียงอีก 2 คน
ทางด้านหัวหน้าคณะเจรจาของปาเลสไตน์กล่าวว่ารู้สึกยินดีกับการลงมติของคณะรัฐมนตรีอิสราเอลครั้งนี้ “เราพิจารณาเรื่องนี้ว่าเป็นก้าวที่สำคัญ และหวังว่าจะสามารถไขว่คว้าโอกาสที่เกิดขึ้นจากความพยายามของรัฐบาลสหรัฐฯ” เอรากุตกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี
ขณะที่รายชื่อของนักโทษซึ่งยังต้องรอการตีพิมพ์และเปิดเผยต่อบรรดารัฐมนตรี ก็มีรายงานว่าในกลุ่มนักโทษนี้มีพวกหัวรุนแรงติดอาวุธที่ถูกพิพากษาว่ามีความผิดฐานฆ่าหญิงและเด็กชาวอิสราเอล หรือฆ่าชาวปาเลสไตน์ซึ่งต้องสงสัยว่าสมรู้ร่วมคิดกับชาวอิสราเอล
“ช่วงเวลานี้ไม่ง่ายเลยสำหรับผม ไม่ง่ายสำหรับเหล่ารัฐมนตรี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ง่ายเลยสำหรับครอบครัวของผู้สูญเสีย” สำนักนายกรัฐมนตรีอ้างถึงคำพูดของเขาขณะกล่าวกับบรรดารัฐมนตรี
การเจรจาสันติภาพโดยตรงระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ครั้งสุดท้ายที่ผ่านมา ซึ่งประธานาธิบดีบารัค โอบามาเป็นผู้ชักนำให้เกิดขึ้น ได้ล้มเหลวเมื่อปี 2010 เนื่องจากประเด็นเรื่องการตั้งถิ่นฐานของชาวอิสราเอลในเขตเวสแบงก์ และในเยรูซาเล็มตะวันออก
นอกจากนี้ ชาวอิสราเอลและปาเลสไตน์ยังบาดหมางกันใน “ประเด็นสถานภาพขั้นสุดท้าย” ซึ่งได้แก่ บทสรุปของเรื่องกรุงเยรูซาเล็มซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างอ้างว่าเป็นเมืองหลวงของตน สิทธิในการคืนบ้านเกิดของผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ ที่ถูกอิสราเอลยึดครองดินแดนไปทั้งประเทศ และพรมแดนที่แน่ชัดของรัฐปาเลสไตน์ในอนาคต
แม้กระทั่งแผนการปล่อยตัวนักโทษที่กำหนดกันไว้ในคราวนี้ ซึ่งเป็นโครงการที่ประธานาธิบดีมะห์มูด อับบาสแห่งปาเลสไตน์เรียกร้องมานาน ก็ได้จุดชนวนให้เหล่าครอบครัวของเหยื่อผู้เสียชีวิต ผู้ตั้งถิ่นฐานในอิสราเอล และพรรคร่วมรัฐบาลอิสราเอลที่ยึดมั่นในแนวทางแข็งกร้าวต่างออกมาประท้วง
“การปล่อยตัวผู้ก่อการร้ายเพื่อสันติภาพนั้นเหมือนความพยายามดับไฟด้วยน้ำมัน ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตราย ผิดศีลธรรม และไร้ความรับผิดชอบ” ดานี ดายัน ผู้นำกลุ่มผู้ตั้งถิ่นฐานกล่าว
แดนนี ดานอน รัฐมนตรีช่วยกลาโหมแห่งพรรคลีคุด ออกมากระตุ้นให้เหล่ารัฐมนตรีลงคะแนนคัดค้านแผนการปล่อยตัวดังกล่าว โดยเรียกโครงการนี้ว่าเป็น “ความผิดพลาดทางการทูต และความผิดพลาดทางศีลธรรม”
ทั้งนี้ เชื่อกันว่ามีการกำหนดขั้นตอนรายละเอียดในการเจรจาครั้งใหม่ขึ้นแล้ว แม้ระยะเวลาจะยังไม่เป็นที่ทราบโดยแน่ชัด แต่ก็มีรายงานออกมาต่างๆ กันไป ระหว่าง 6 เดือนถึง 1 ปี
ก่อนที่จะมีการเจรจาหารือ คณะรัฐมนตรีอิสราเอลยังได้เห็นชอบในร่างกฎหมายที่จะต้องรอการลงประชามติเพื่อสนธิสัญญาสันติภาพในบางสถานการณ์
ถ้าหากมีการลงมติยอมรับ ร่างกฎหมายนี้จะกำหนดให้รัฐบาลอิสราเอลสำรวจประชามติชาวอิสราเอล ในกรณีที่พื้นที่ซึ่งอิสราเอลอ้างอำนาจอธิปไตย จะต้องสิ้นสุดลงตามข้อตกลงสันติภาพหรือการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรี
ด้วยเหตุนี้ การลงคะแนนเสียงเช่นนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะให้ชาวอิสราเอลย้ายออกจากพื้นที่ส่วนที่เหลือของเขตเวสต์แบงก์ แต่จะเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสิทธิในดินแดนเยรูซาเล็มตะวันออก ที่อิสราเอลได้ยึดครองเมื่อปี 1967 และผนวกเข้าเป็นดินแดนของประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาคมนานาชาติไม่เคยรับรอง
ทางด้าน อับบาสก็มีรายงานว่า เขาออกมาแถลงว่าเขาจะจัดให้ชาวปาเลสไตน์ลงประชามติเกี่ยวกับประเด็นสันติภาพในอนาคตเช่นเดียวกัน