xs
xsm
sm
md
lg

เรียกสื่อสิ่งพิมพ์ 18 ฉบับแจง คสช. วอนเสนอข่าวและภาพสร้างสรรค์-ระวังพาดหัวอ่อนไหว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ต พลภัทร วรรณภักตร์ เลขานุการกองทัพบก (ลก.ทบ.)
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ เชิญผู้บริหารสื่อสิงพิมพ์ 18 ฉบับเข้าร่วมประชุมขอความร่วมมือสื่อสิ่งพิมพ์สร้างสรรค์บรรยากาศการเสนอข่าวและภาพข่าวเพื่อนำไปสู่ความสงบ สามัคคี โดยเฉพาะการพาดหัวข่าว หากมีกรณีที่เข้าข่ายตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 18 จะใช้วิธีเตือน และเรียกมาชี้แจง

วันนี้ (25 พ.ค.) ห้องเทวกรรมรังรักษ์ สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อเวลา 14.00 น. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เชิญผู้บริหารสื่อสิงพิมพ์รวมทั้งสิ้น 18 ฉบับ เข้าร่วมประชุมเพื่อรับทราบแนวทางการดำเนินงาน โดยมี พล.ท.ภาณุวัชร์ นาควงษ์ ผู้ช่วยเสนาธิการกองทัพบก ฝ่ายกิจการพลเรือน (ผช.เสธ.ทบ.ฝกร.) เป็นประธานในที่ประชุม

ทั้งนี้ พล.ท.ภาณุวัชร์กล่าวชี้แจงถึงการเรียกผู้บริหารสื่อมาหารือว่า สื่อมีบทบาทสำคัญ คสช.เห็นว่าเป็นความจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันในสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นปัจจุบัน ตามประกาศของ คสช.ที่ออกไปก่อนหน้านี้ได้ให้แนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนแล้ว แต่เฉพาะหน้าอยากจะขอให้ช่วยกันคลี่คลายบรรยากาศให้สงบ คืนความสุขอย่างยั่งยืนให้แก่สังคม ทหารฝ่ายเดียวไม่สามารถทำได้

จากนั้น พล.ต.พลภัทร วรรณภักตร์ เลขานุการกองทัพบก (ลก.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ คสช.กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลต่อทหาร เราอึดอัดมานาน ที่สุดก็ต้องมีคนกระโดดออกมารับผิดชอบเพื่อให้บ้านเมืองสงบ อยากขอความเห็นใจแก่ทหาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) พยายามร่วมมือแก้ปัญหา ไม่อยากใช้ยาแรง แต่เมื่อหาข้อสรุปไม่ได้จึงมีความจำเป็นเพื่อไม่ให้ประเทศเป็นรัฐที่ล้มเหลว ตั้งแต่ 22 พ.ค.เป็นต้นมา คสช.ได้เชิญส่วนต่างๆ มาชี้แจงทำความเข้าใจจนมาถึงสื่อ ในฐานะที่ทำงานกับสื่อมาก็มีประกาศ คสช.ที่ดูเหมือนจะจำกัดสิทธิเสรีภาพในการทำงาน แต่ระยะแรกอยากจัดระเบียบ แต่ระยะต่อไปพยายามจะให้ผ่อนคลายลง

“ถึงแม้ใช้ยาแรงแล้วแต่ก็มีกลุ่มต่างๆ ออกมาต่อต้าน ตรงนี้ก็ต้องใช้กฎหมายเข้าจัดการ เพื่อให้ทุกอย่างเรียบร้อย หลายอย่างที่ประชาชนเดือดร้อน คสช. ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ เช่น เรื่องชำระหนี้ให้ชาวนา ความอึดอัดของสื่อเราก็ทราบ แต่ก็อยากให้เข้าใจทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ทำงานได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดอยู่ สังคมจะร้อนแรงหรือเรียบร้อย สื่อคือผู้ที่มีบทบาทสำคัญ” พล.ต.พลภัทรกล่าว

ด้าน พล.ต.พลาวุฒิ กลับเจริญ เจ้ากรมพลเรือนทหาร กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. คณะ คสช.พักผ่อนกันน้อยมาก ทราบดีว่ารัฐประหารไม่ใช่สิ่งที่ดีตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา แต่จุดนี้จำเป็นที่ต้องขอความร่วมมือสื่อให้ช่วยสร้างความสามัคคีของคนในชาติ เพื่อก้าวเดินไปสู่ประชาธิปไตยที่ต้องการ สื่อไม่ต้องอยู่ฝ่ายทหาร แต่อยากให้อยู่ฝ่ายประเทศไทย เพราะยังมีคนอีกจำนวนมากที่ต้องการข้อมูลข่าวสารที่ไม่ยั่วยุ ปลุกปั่น สร้างความขัดแย้ง โดยเฉพาะความอ่อนไหวของการพาดหัวข่าว บางข่าวถ้าอยู่ในภาวะปกติถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในภาวะปัจจุบันอาจจะไม่เหมาะสม รวมถึงภาพข่าวต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อนจะเสนอออกไป

ทั้งนี้ หลังจากตัวแทนของ คสช.ได้กล่าวชี้แจงเสร็จ ได้เปิดโอกาสให้ผู้บริหารสื่อซักถามถึงแนวทางการทำงาน โดย คสช.ยืนยันจะไม่ใช่เป็นการควบคุมสื่อ แต่ขอความร่วมมือ หากมีกรณีที่เข้าข่ายตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 18 จะใช้วิธีเตือน และเรียกมาชี้แจง โดยจะยังไม่ปิดหรือห้ามการทำงานของสื่อ ซึ่งการประชุมดำเนินไปราวหนึ่งชั่วโมงครึ่ง จึงยุติลงเมื่อเวลาประมาณ 15.30 น.

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 พ.ค. คสช.ได้ออกประกาศฉบับที่ 18 ว่าด้วยเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสู่สาธารณะ ระบุว่า เพื่อให้การเผยแพร่ข่าวสารไปสู่ประชาชนเป็นไปด้วยความถูกต้องปราศจากการบิดเบือนอันจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดจนส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงให้ผู้ประกอบกิจการและผู้ให้บริการด้านสื่อมวลชนทุกประเภททั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงทุกสถานีทั้งที่เป็นของราชการและเอกชนสถานีโทรทัศน์ ภาคพื้นดินสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเคเบิลโทรทัศน์ระบบดิจิตอลและสถานีโทรทัศน์อินเทอร์เน็ตทุกสถานีหนังสือพิมพ์ วารสารหรือสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ รวมทั้งผู้บริโภคด้านสื่ออิเล็กทรอนิคส์ทุกประเภทอันรวมทั้งการสื่อสารทางสังคมสื่อออนไลน์งดเว้นการนำเสนอข่าวสารในลักษณะต่อไปนี้

1. ข้อความอันเป็นเท็จหรือส่อไปในทางหมิ่นประมาทหรือสร้างความเกลียดชังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ องค์รัชทายาท และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองศ์

2. ข่าวสารที่จัดเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ รวมทั้งหมื่นประมาทบุคคลอื่น

3. การวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง

4. ข้อมูลเสียง ภาพ วิดีทัศน์ความลับของการปฏิบัติงานของหน่วยราชการต่างๆ

5. ข้อมูลข่าวสารที่ส่อให้เกิดความสับสนยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้งหรือสร้างให้เกิดความแตกแยกในราชอาณาจักร

6. การชักชวน ซ่องสุมให้มีการรวมกลุ่มก่อการอันเกิดการต่อต้านเจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้องของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

7. การขู่จะประทุษร้ายหรือทำร้ายบุคคลอันนำไปสู่ความตื่นตระหนกความกลัวแก่ประชาชน

สื่อดังกล่าวขั้นต้นมีหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารตามที่ได้รับแจ้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ซ้าย : พล.ต พลาวุฒิ กลับเจริญ เจ้ากรมพลเรือนทหาร ขวา : พล.ท ภาณุวัชร์ นาควงษ์ ผู้ช่วยเสนาธิการกองทัพบก ฝ่ายกิจการพลเรือน (ผช.เสธ.ทบ.ฝกร.)


















กำลังโหลดความคิดเห็น