xs
xsm
sm
md
lg

สลด! ความรุนแรงทางเพศพบในเด็กมากกว่าสตรี สถิติชี้หญิงเป็นเหยื่อความรุนแรงมากสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยอดเหยื่อความรุนแรง ร้องทุกข์ ปี 56 สูง 3,048 ราย เกินครึ่งถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว “ศาลเยาวชนฯ” เผยคดีขึ้นสู่ศาล 90% เป็นฝ่ายหญิงมากกว่าชาย เหตุหึงหวงมากสุด ห่วงพฤติกรรมรุนแรงตามสื่อออนไลน์ยั่วยุเลียนแบบความรุนแรง ด้าน “มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล” แนะจัดอบรมเพิ่มศักยภาพเจ้าหน้าที่ เข้าใจมิติหญิงชาย หวังยับยั้งการถูกละเมิดซ้ำ

วันนี้ (17 มิ.ย.) ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในงานเสวนา “กลไกการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว” จัดโดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
 
นางมณฑิรา ศิลปศร เชื้ออินทร์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง กล่าวว่า ขณะนี้ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง มีนวัตกรรมใหม่เริ่มมาได้ 2 ปีแล้ว คือศูนย์ให้คำปรึกษา โดยมีนักจิตวิทยา เจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญ โดยเน้นให้คำปรึกษากับเยาวชนที่กระทำความผิด นอกจากนี้ เรายังดูเรื่องการคุ้มครองสวัสดิภาพและคดีที่เกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า โรงซ่อมสามี-ภรรยา โดยเน้นแก้ไขมากกว่าการลงโทษ ค้นหาสาเหตุที่เป็นต้นตอของปัญหา เช่น สามีติดเหล้า ยาเสพติด ต้องส่งไปบำบัดก่อน เพื่อไม่ให้เกิดการทำผิดซ้ำ
 
  “ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงที่เข้ามาร้องเรียน 90% จะเป็นผู้หญิง อีก 10% ผู้ชาย ส่วนใหญ่เป็นคดีทำร้ายร่างกายเพราะความหึงหวงระแวง ปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาเสพติด ซึ่งปัญหาที่เราพบมากที่สุด คือ ไม่มีสถานที่ส่งต่อ เช่น กรณีเด็กถูกกระทำด้วยความรุนแรงไม่ต้องการกลับบ้าน เราจะส่งต่อไปที่ไหนเพื่อความเหมาะสม เพราะสถานรองรับหลายแห่งยังไม่ตอบโจทย์ หากนำเด็กไปปะบนอยู่กับเด็กที่กระทำความผิดร้ายแรง ก็จะติดอะไรที่ไม่ดีออกมาได้ นอกจากนี้ ยังพบปัญหาคือ ถูกสถานรองรับปฏิเสธการส่งต่อ เพราะไม่เข้าเกณฑ์” นางมณฑิรา กล่าว

นางมณฑิรา กล่าวว่า คดีคุ้มครองสวัสดิภาพหรือคดีคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงมาถึงศาลน้อยมาก เนื่องจากคนส่วนใหญ่ ชาวบ้านไม่รู้รายละเอียดขั้นตอนวิธี ดังนั้น หากเกิดปัญหาขึ้นกับตัวเองขอให้ร้องทุกข์ได้กับตำรวจทุกที่ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือร้องต่อศาลได้โดยตรง ใกล้ศาลไหนไปที่ศาลนั้น ซึ่งจะมีความรวดเร็วในการไต่สวน ขั้นตอนง่ายไม่ยุ่งยากเหมือนแต่ก่อน อย่างไรก็ตาม เรื่องของการประชาสัมพันธ์ภาครัฐต้องทำหน้าที่ให้ความรู้แนะนำในการร้องทุกข์ พร้อมทั้งควบคุมพฤติกรรมความรุนแรง สนับสนุนสถานที่ส่งต่อ บุคลากรที่มีไม่เพียงพอ และที่สำคัญการควบคุมสื่อต่างๆ ที่เผยแพร่ผ่านโทรทัศน์ โลกออนไลน์ หากเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมมีความรุนแรง จะเกิดการเลียนแบบได้ง่าย ทำให้ปัญหาสังคมเพิ่มขึ้นแน่นอน
 
นางสาวแรมรุ้ง สุบรรณเสนีย์ ผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 กล่าวว่า สถิติการรับเรื่องร้องเรียนของศูนย์ช่วยเหลือสังคมมีเข้ามาเรื่อยๆ ปี 2554 มีทั้งหมด 2,101 ราย ปี 2555 มี 1,917 ราย และปี 2556 มี 3,048 ราย แบ่งเป็นประเภท คือ 59% เป็นความรุนแรงในครอบครัว 19% เป็นความรุนแรงที่เกิดจากเด็ก 14% เป็นความรุนแรงในผู้หญิง และ 5% เป็นความรุนแรงในผู้สูงอายุ และ 3% เป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากคนพิการ เมื่อเทียบสัดส่วนจะพบว่ากรณีที่เป็นการทำร้ายร่างกายพบในสตรีมากกว่าเด็ก แต่กรณีความรุนแรงทางเพศจะพบในเด็กมากกว่าสตรี
 
นางสาวแรมรุ้ง กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญในการทำงาน คือ ต้องประเมินว่าผู้ถูกกระทำจะถูกทำร้ายซ้ำหรือไม่หากกลับบ้าน การแยกผู้ถูกกระทำออกมาคุ้มครอง ซึ่งเราหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะทำหน้าที่โดยมีทีมงานที่เป็นนักสังคมสงเคราะห์ และทีมงานที่เป็นเจ้าหน้าที่สายด่วน 1300 อย่างมีศักยภาพและมีความพร้อมมากที่สุดในการให้บริการผู้ประสบปัญหาสังคม โดยแต่ละปีเรามีการพัฒนาอบรมเจ้าหน้าที่เบื้องต้นคือ การให้คำแนะนำปรึกษา ทุกๆ 3 เดือน และประชุมทีมสหวิชาชีพ ถอดบทเรียน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ยกระดับการพัฒนาตัวเอง มีทัศนคติที่ดีต่องาน อย่างไรก็ตาม แม้การทำงานด้านนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจำนวนบุคลากรจำกัด แต่ทีมงานในชุมชนอาสาสมัคร เครือข่ายต่างๆ ถือว่าช่วยได้เยอะมาก ทั้งนี้ ฝากถึงผู้ที่กำลังตกอยู่ในสภาวะที่กำลังถูกละเมิดสิทธิหรือรู้สึกไม่ดีกับสิ่งที่ถูกกระทำ สามารถร้องเรียนมาที่ 1300 ได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง ขอย้ำว่าศูนย์ช่วยเหลือสังคมจะให้บริการอย่างเป็นมิตร เป็นธรรม ไม่ละเมิดซ้ำ
 
นางสาวสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ กล่าวว่า ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวที่มารับบริการที่มูลนิธิฯส่วนใหญ่มีลักษณะของการกระทำความรุนแรงที่อาจก่อให้เกิดความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น หรือมีความเสียหาย เกิดผลกระทำต่อตัวผู้หญิงและบุตร วิธีการที่มูลนิธิฯ สนับสนุนให้ผู้ถูกกระทำนำไปแก้ปัญหา คือการยื่นคำร้องคุ้มครองสวัสดิภาพแบบฉุกเฉินต่อศาลเยาวชนและครอบครัวในท้องที่ที่เกิดเหตุ ซึ่งก่อนนำผู้ถูกกระทำไปยื่นคำร้อง ทนายความ และอาสาสมัครจะช่วยแนะนำข้อกฎหมายและวิธีการพูดหรือเบิกความต่อศาลเพื่อสื่อสารเกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่มักมีความคิดว่าไม่อยากฟ้องร้องดำเนินคดีกับสามี ผู้ให้บริการจะต้องมีการสนับสนุนและให้เห็นตัวอย่างของการไม่ดำเนินการยื่นคำร้อง อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายหรือมีความรุนแรงที่ไม่สามารถแก้ไขได้
 
“กระบวนการที่สำคัญที่จะทำให้ผู้ถูกกระทำมีความเข้าใจคือ การจัดบริการสนับสนุนที่เป็นมิตรและเห็นประสบการณ์ตัวอย่างที่ทำสำเร็จ และสามารถนำไปสู่การออกคำสั่งฉุกเฉินห้ามมิให้ผู้กระทำการรุนแรง เช่น กรณีตัวอย่างของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดบุรีรัมย์ ที่มีคำสั่งห้ามผู้กระทำเข้าใกล้ผู้ถูกกระทำและบุตรชาย ภายในระยะ 5 เมตร เป็นเวลา 6 เดือน และเข้ารับการบำบัดอาการเสพติดสุราและของมึนเมากับโรงพยาบาลบุรีรัมย์” นางสาวสุเพ็ญศรี กล่าว
 
นางสาวสุเพ็ญศรี กล่าวว่า ขอเสนอแนะกลไกบริการของภาครัฐเกี่ยวกับการดูแลฟื้นฟูผู้ประสบความรุนแรงควรมีการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ พนักงานเจ้าที่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้กระทำฯ ให้มีความรู้ความเข้าใจมิติหญิงชาย มิติความรุนแรงต่อผู้หญิง มีความสามารถในการประเมินและสนับสนุนให้ผู้เสียหายเห็นถึงพลังศักยภาพของตนและมีส่วนร่วมตัดสินใจยุติปัญหาที่เกิดกับตนได้ และที่สำคัญระบบบริการจะต้องไม่ก่อให้เกิดการละเมิดซ้ำหรือทำให้ผู้ถูกกระทำมีความเข้าใจว่าหน่วยบริการไม่เข้าใจปัญหาของผู้เสียหายและใช้กิริยาวาจาไม่เหมาะสม เพราะจะเป็นการทำให้ผู้รับบริการหมดหนทาง แม้แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือกฎหมายที่มีอยู่ก็ไม่สามารถช่วยผู้ถูกกระทำได้

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น