ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เพิ่งประกาศลดราคาน้ำมันเบนซินแต่แอบขึ้นดีเซลไปไม่ทันไร คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ก็เตรียมคืนความสุขให้คนไทยครั้งใหม่ด้วยการปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีภาคขนส่งและตามด้วยเอ็นจีวี ด้วยเหตุผลเดิมๆ ที่กระทรวงพลังงานและปตท.ใช้กล่าวอ้างเป็นประจำนั่นคือ สุดอั้น และต้องการให้ปรับขึ้นอิงราคาตลาดโลกเพื่อจะได้ใช้กันอย่างประหยัด เพราะถ้าหากยังอุดหนุนให้ราคาต่ำไปจะใช้กันอย่างไม่มีประสิทธิภาพ
ทั้งที่รู้ทั้งรู้ว่าถ้าต้นทุนเชื้อเพลิงค่าขนส่งปรับขึ้นทุกอย่างก็จะถือโอกาสขึ้นราคาตามไปด้วย รถโดยสาร แท็กซี่ นั้นชัดเจนปรับขึ้นค่าโดยสารแน่ ส่วนรถบรรทุกขนส่งสินค้าก็ต้องควักจ่ายค่าเชื้อเพลิงเพิ่มแล้วผลักภาระมายังผู้บริโภคปลายทาง บรรดาพ่อค้าแม่ค้าก็อ้างต่อว่าต้นทุนเพิ่มก็ต้องปรับราคาสินค้า ค่าอาหาร ฯลฯ เลี่ยงไม่พ้นที่จะกระทบกันเป็นลูกโซ่
สำหรับกระแสข่าวปล่อยเรื่องการปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีวีครั้งนี้ มาจากกระทรวงพลังงาน ซึ่งทำเรื่องเสนอไปยัง คสช. ให้ปรับราคาก๊าซแอลพีจีภาคขนส่งตามแผนการเดิมตั้งแต่สมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่จะต้องปรับขึ้นตามเป้าหมายที่จะให้ราคาก๊าซแอลพีจีของทั้งภาคครัวเรือนและภาคขนส่งขึ้นไปสู่ราคาต้นทุนหน้าโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ 24.82 บาทต่อ กก. เท่ากัน
ขณะที่ปัจจุบัน ราคาแอลพีจีครัวเรือนอยู่ที่ 22.63 บาทต่อ กก. ส่วนแอลพีจีภาคขนส่ง ราคาอยู่ที่ 21.38 บาทต่อ กก. การปรับขึ้นในภาคขนส่งครั้งนี้เพื่อให้มีราคาเท่ากับภาคครัวเรือน โดยอาจจะปรับราคาเพิ่มขึ้นทันที1.25 บาทต่อ กก. หรือจะค่อยๆ ทยอยปรับขึ้นเดือนละ 62 สต.ต่อ กก. และไปสิ้นสุดที่ 24.82 บาทต่อกิโลกรัม ตามที่กระทรวงพลังงาน เคยศึกษาไว้ ก็อาจเป็นไปได้ทั้งสองแนวทางขึ้นอยู่กับว่า คสช.จะเคาะออกมาแบบไหน
ส่วนก๊าซเอ็นจีวีนั้น ลุ้นกันมาหลายยก คราวนี้ กระทรวงพลังงาน คาดหมายว่า จะต้องปรับขึ้นสมใจ ปตท. อย่างแน่นอน จากปัจจุบันที่จำหน่ายอยู่ 10.50 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนแท้จริงที่ปตท.เคลมนั้นอยู่ที่ 15-16 บาทต่อกก. แต่อาจจะต้องรอให้ก๊าซแอลพีจีปรับขึ้นไประยะหนึ่งก่อนจึงจะขึ้นราคาเอ็นจีวีตามไป ไม่เช่นนั้นประชาชน จะคลายความสุขหันมาทุกข์ใจขัดกับคำสัญญาของคสช.แทน
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็ยังเป็นเพียงกระแสข่าว เพราะหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ยังไม่เออออตามที่กระทรวงพลังงาน เสนอขึ้นไป อีกอย่างเรื่องนี้ต้องกับมาเข้าสู่กระบวนการใหม่หลังจากที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่แล้ว ดังนั้นการจะปรับราคาก๊าซแอลพีจีภาคขนส่งหรือไม่ อย่างไร ต้องรอการตัดสินใจจากนายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน ว่าจะให้ปรับขึ้นทีเดียวเลยหรือไม่
ทั้งนี้ วันที่ 5 ก.ย. 2557 เป็นวันแรกที่นายณรงค์ชัย เข้ามาทำงานที่กระทรวง ซึ่งในโอกาสนี้ นายอารีพงศ์ ภู่ชะอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เตรียมเสนอประเด็นเร่งด่วนต่อนายณรงค์ชัย คือ การเสนอเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 การปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน ก๊าซแอลพีจี และก๊าซเอ็นจีวี และการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ (พีดีพี) ฉบับใหม่ หรือแผนพีดีพี 2015 ระยะ 21 ปี (พ.ศ. 2558-2579)
ส่วนข่าวดีที่มาพร้อมกับข่าวร้ายที่แน่ๆ ก็คือ การปรับลดราคาก๊าซแอลพีจีภาคอุตสาหกรรม ประจำเดือน ก.ย. 2557 ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ประกาศปรับลดลงมาอยู่ที่ 29.33 บาทต่อกิโลกรัม จากเดือน ส.ค. 2557 ที่อยู่ระดับ 30.07 บาทต่อกิโลกรัม หรือลดลง 0.74 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากราคาแอลพีจีตลาดโลกปรับลดลงมาอยู่ระดับ 761 ดอลลาร์ต่อตัน จากเดิมราคา 800-900 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งเป็นการปรับลดลงครั้งที่สองในรอบปี นับตั้งแต่เดือนช่วงเดือน ส.ค. 2556 ถึง ก.ค. 2557 ที่ สนพ. ให้ตรึงราคาแอลพีจีภาคอุตสาหกรรมไว้ที่ราคาเพดานสูงสุด 30.13 บาทต่อกก. มาโดยตลอด โดยจะประกาศราคาทุกต้นเดือน
ความจริงแล้วเรื่องราคาก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีวีในภาคครัวเรือนและขนส่ง เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมากในระยะหลัง แต่การแก้ไขปัญหาก็ยังย่ำอยู่กับที่ด้วยแนวคิดและคำ ข่มขู่แบบเดิมๆ คือถ้าจะให้อุดหนุนกันต่อก็ต้องไปควักเอาเงินกองทุนน้ำมันมาโป๊ะส่วนต่างราคาให้กับปตท.ผู้ผูกขาดขายก๊าซเอ็นจีวีและผู้ผลิตและผู้ค้าแอลพีจีรายใหญ่ จากนั้นเมื่อเงินกองทุนน้ำมันลดน้อยลงก็ไปรีดเอาจากผู้ใช้น้ำมันเบนซินมาเติมเข้าไปไม่ให้กองทุนน้ำมันติดลบ หรือถ้าไม่เช่นนั้นก็จะต้องปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีวีตามราคาตลาดโลกเสียแต่โดยดี เรียกว่าเป็นวงจรอุบาทว์ที่ดำเนินตามนโยบายและการออกแบบของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่ทำกันมาเป็นกิจวัตรมานมนาน
หนทางออกไปจากกับดักนี้จะทำอย่างไร มีข้อถกเถียงและข้อเสนอหลายออปชั่น ซึ่งเวลานี้เป็นโอกาสอันดีที่ คสช. จะพิจารณาไตร่ตรองปัญหานี้อย่างรอบคอบรอบด้านและมีคำอธิบายให้ประชาชนยอมรับได้ เพราะแนวทางอุดหนุนแบบเดิมๆ อย่างที่เคยทำมานั้น กำลังถูกตั้งคำถามดังขึ้นเรื่อยๆ และเกี่ยวพันกันไปในหลายเรื่อง เพราะระบบได้ออกแบบมาให้มีความซับซ้อนเพื่อซุกซ่อนเอากำไรให้เครือปตท.
อย่างเช่นที่เพิ่งถกกันกลางเวทีทั้งสองฝ่ายระหว่างภาคประชาชนกับตัวแทนกระทรวงพลังงานและบมจ.ปตท.เมื่อเร็วๆ นี้ ในประเด็นก๊าซแอลพีจี ก็คือ ภาคประชาชนเรียกร้องให้กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยเฉพาะที่อยู่ในเครือปตท. เป็นผู้นำเข้าหรือจ่ายค่าก๊าซแอลพีจีในราคาตลาดโลกเพราะเป็นผู้ใช้มากขึ้นตามลำดับและซื้อจากโรงแยกก๊าซฯ ของปตท.ในราคาถูก เพียง 19 บาทต่อกก. กระทั่งมาเบียดเบียนกลุ่มผู้ใช้ที่เป็นภาคครัวเรือนและภาคขนส่งจนไม่พอใช้ หนำซ้ำสองกลุ่มหลังนี้รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ยังต้องควักเงินจ่ายเข้ากองทุนน้ำมันมากกว่ากลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่จ่ายเงินเข้ากองทุนฯ แค่ 1 บาทต่อกก.อีกด้วย
เสียงของประชาชนเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ บนฐานความคิดที่ว่า ทรัพยากรน้ำมันและก๊าซฯ เป็นสมบัติเจ้าคุณปู่ที่ตกทอดมาถึงลูกหลาน ดังนั้นประชาชนคนไทยจึงเป็นเจ้าของ ทรัพยากรและมีสิทธิ์ที่จะได้ใช้ในราคาที่ย่อมเยา และก๊าซฯที่มีอยู่ของไทยก็เพียงพอสำหรับการใช้ของประชาชน ไม่ใช่จะต้องให้ไปจ่ายแพงเท่าราคาตลาดโลก ซ้ำยังถูกรีดเงิน เข้ากองทุนน้ำมันอีกด้วย แต่ตรรกะที่เอาประชาชนเป็นที่ตั้งไม่ได้อยู่ในความคิดของรัฐบาลและนักวางแผนด้านพลังงานของประเทศไทยเลยแม้แต่น้อย
มิหนำซ้ำ กระทรวงพลังงานและฝ่ายกลุ่มทุน ยังเรียกร้องให้ภาคประชาชนไปนึกย้อนดูว่าเหตุไฉนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีโดยเฉพาะในเครือปตท. ต้องได้รับการเกื้อหนุน เพราะนี่เป็นนโยบายของรัฐบาลมาตั้งแต่ยุคโชติช่วงชัชวาลที่เอาก๊าซฯ ขึ้นมาจากอ่าวไทย เข้าโรงแยกก๊าซฯ และป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สำคัญคือปิโตรเคมี แล้วพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ
ตามคำโฆษณาก็คือ เมื่อเศรษฐกิจของชาติเติบโตจากการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีก๊าซฯ เป็นพลังงานขับเคลื่อน ประชาชนก็จะได้รับอานิสงค์อยู่ดีกินดีตามทฤษฎีไหลรินลงล่าง (Trickle-Down Effect) หรือภาษาชาวบ้านอาจเรียกว่าทฤษฎี “กินน้ำใต้ศอก” ก็ได้ ซึ่งเวลานี้พิสูจน์แล้วว่า ไม่เป็นความจริง เพราะเกือบ 40 ปีที่มีการโฆษณาดังกล่าว ประชาชนยังหน้าแห้งหนำซ้ำมลพิษยังท่วมเมืองเป็นของแถมที่ไม่มีใครอยากได้อีกต่างหาก ที่ร่ำรวยขึ้นก็มีแต่กลุ่มทุนโดยเฉพาะเครือปตท.ซึ่งได้รับการเกื้อหนุนตั้งแต่สมัยเป็นรัฐวิสาหกิจเต็มร้อยจนมาถึงปัจจุบันที่เป็นรัฐวิสาหกิจในคราบบริษัทมหาชน
เรื่องขึ้นหรือไม่ขึ้นราคาก๊าซฯ ยังเกี่ยวพันถึงกองทุนน้ำมัน ที่มีข้อเสนอว่าควรยุบเลิกไปเสียเพราะไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้น้ำมันที่ถูกเก็บภาษีเข้ากองทุนฯเพื่อเอามาอุดหนุนผู้ใช้ก๊าซฯ อีกทั้งเป็นการนำเงินกองทุนมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ของการตั้งกองทุนฯที่ตั้งขึ้นเพื่อพยุงหรือรักษาระดับราคาน้ำมันช่วงที่มีการผันผวน รวมทั้งเรื่องที่ว่ากองทุนน้ำมันจัดตั้งขึ้นและดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ทำหนังสือถึงหัวหน้าคสช. เมื่อเดือนมิ.ย. 2557 ให้ยกเลิกกองทุนดังกล่าว แต่เรื่องก็เงียบหายไปจนบัดนี้
ประเด็นฮอตที่มาพร้อมกับเรื่องการปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีอีกเรื่องก็คือ การจับกุม “ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน” จำนวน 8 คน เมื่อวันที่ 2 ก.ย. ที่ออกเดินเท้าจากพื้นที่ อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อมุ่งหน้าเข้าสู่ อ.กาญจนดิษฐ์ และ อ.เมืองสุราษฎร์ธานี โดยนายทหารพระธรรมนูญ จังหวัดทหารบกสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สารวัตรทหาร ได้เข้าควบคุมตัว นายโอภาส ตันติฐากูร อดีตนักวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นายประวีณ จุลภักดี ผู้ประสานงานเครือข่ายขาหุ้นฯ สุราษฎร์ธานี อาจารย์มหาวิทยาลัยสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วยสมาชิกเครือข่ายขาหุ้นฯ ไปควบคุมตัวที่จังหวัดทหารบกสุราษฎร์ธานี ค่ายวิภาวดี โดยทหารอ้างว่า กระทำผิดตามประกาศ และคำสั่งของ คสช. ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาเดียวกับที่เครือข่ายขาหุ้นฯ จำนวน 11 คน ถูกควบคุมตัวไปที่ค่ายเสนาณรงค์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2557 ที่ผ่านมา
การถูกควบคุมตัวคราวนี้ นายประวีณ จุลภักดี ประกาศเจตนารมณ์ว่า ยินดีจะให้ทหารควบคุมตัวจนครบ 7 วัน โดยไม่มีเงื่อนไข และขออดอาหารเพื่อลดการใช้พลังงานในการดำเนินชีวิตจนกว่าจะได้รับการปล่อยตัวอีกด้วย ขณะที่เครือข่ายขาหุ้นฯ ยังยืนยันจะเดินรณรงค์ให้ความรู้เรื่องพลังงานต่อจนถึงกรุงเทพฯ ตามเป้าหมายเดิมแม้จะมีอุปสรรคถูกขวางจากทางทหารก็ตาม
นอกจากนั้น ยังมีกระแสข่าวเรื่องการเจรจาเขตทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ในโอกาสที่ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงการต่างประเทศ ยกคณะผู้บัญชาการเหล่าทัพและตัวแทนหลายกระทรวงไปเยือนกัมพูชาเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2557 เนื่องเพราะในการเดินทางครั้งนี้มีนายคุรุจิต นาครทรรพ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในฐานะรักษาการปลัดกระทรวงพลังงาน ร่วมขบวนไปด้วย
แต่เรื่องนี้ พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก รีบออกมาสยบข่าวทันควันว่า การไปเยือนกัมพูชาเป็นเพียงการไปกระชับความสัมพันธ์ ไม่ได้มีการพูดคุยกันถึงเรื่องแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล และไม่ได้หยิบยกเรื่องพลังงานขึ้นมาพูดคุยเป็นพิเศษแต่อย่างใด
ขณะที่นายคุรุจิต นาครทรรพ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน แบะท่าว่า การพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา ที่ยังไม่ได้ข้อยุติ คาดว่าหลังการเยือนกัมพูชา ทางกระทรวงการต่างประเทศ จะตั้งคณะบุคคลเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการที่มีอยู่เดิม เพื่อเริ่มต้นการเจรจาซึ่งจะมีผู้แทนของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติร่วมอยู่ด้วย ซึ่งเป็นท่าทีสะท้อนชัดว่ากรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระเหี้ยนกระหือรือมากน้อยเพียงใด ทั้งการเร่งเปิดสัมปทานปิโตรเลียมใหม่ครั้งที่ 21 และการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในเขตทับซ้อนไทย-กัมพูชา
กระแสเรียกร้องปฏิรูปพลังงานที่ร้อนแรงขึ้นตามลำดับ กลายเป็นเผือกร้อนที่ คสช. และรัฐบาลทหาร ต้องตัดสินใจด้วยความรอบคอบ และที่สำคัญคือต้องฟังความรอบด้าน เพราะไม่เช่นนั้นอาจส่งผลให้ คสช.และรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสื่อมความนิยมและประชาชนไม่เชื่อมั่นในคำสัญญาจะคืนความสุขถ้วนหน้าอีกต่อไป