xs
xsm
sm
md
lg

ควบคุมสื่อ...จุดเปราะบาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โสภณ องค์การณ์
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์

อีกไม่กี่วันรัฐบาล “ประยุทธ์ 1” จะได้เข้าไปในทำเนียบฯ เริ่มงานอย่างจริงจัง เผชิญกับความท้าทายและพิสูจน์ตัวเองว่ามีคุณค่าเพียงพอสำหรับการบริหารกิจการบ้านเมืองซึ่งมีปัญหาหมักหมมยาวนาน เป็นพิษเรื้อรังจากการเมืองสามานย์ชั่วร้ายเลวทรามต่ำช้า

ผู้นำรัฐบาลต้องแสดงให้ประชาชนทั้งแผ่นดินเห็นว่าความกล้าหาญ สติปัญญา ความรู้ ความสามารถและเหนือกว่าอื่นใด ต้องให้อยู่ได้อย่างปราศจากข้อครหาว่ามีพฤติกรรมทุจริต คอร์รัปชั่น ตามคำสัตย์ปฏิญานที่ให้ไว้ในการรับภารกิจยิ่งใหญ่

ความเสี่ยง ความกล้าหาญในการทำรัฐประหารเป็นเพียงฉากแรกเท่านั้น จากนี้ไปการจะรักษาอำนาจไว้ขึ้นอยู่กับการยอมรับ ความศรัทธาของประชาชนหลากหลายระดับ ยิ่งกว่าการไต่เส้นลวด การขี่หลังเสือ ไม่ใช่ทำเพียงระยะสั้นๆ เพราะต้องให้สำเร็จภารกิจที่อาสาเข้ามาทำ และรู้ด้วยว่า ถ้าพลาดต้องประสบชะตากรรมไม่พึงประสงค์

หัวหน้ารัฐบาลซึ่งเป็นทั้งหัวหน้าคณะรักษาความสงบและผู้นำกองทัพบก ได้เป็นคนแรกซึ่งนับควบถ่าง 3 เก้าอี้สำคัญของอำนาจ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความจำเป็นว่าต้องมีอย่างเต็มที่ การจะอยู่ให้ได้จากนี้ไป นอกจากผลงานแล้ว ยังมีปัจจัยหลายประการ

นั่นคือการรับสถานการณ์ต่างๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และด้านอื่นๆ

ประเด็นสำคัญ ท้าทายความสามารถและอำนาจอย่างยิ่งของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ซึ่งพยายามจะทำให้สำเร็จนั่นคือการควบคุม จำกัด สิทธิเสรีภาพของประชาชน และการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชน โดยกฎอัยการศึกมีอำนาจกฎหมายเต็มที่

เป็นความพยายามซึ่งรัฐบาลหลายคณะไม่กล้าทำ นับตั้งแต่ 14 ตุลา 2516!

กลุ่มยังเติร์ก จปร. 7 มี 42 กองพันพยายามทำรัฐประหารในเดือนเมษายน 2524 ได้ควบคุมปิดกั้นข่าวสาร สั่งให้สื่อสิ่งพิมพ์ต้องผ่านการตรวจสอบก็ทำไม่ได้ เช่นเดียวกันกับรัฐบาลพล อ. สุจินดา จะมีเพียงรัฐบาลหอยในปี 2519 เท่านั้นที่เข้มงวด แต่ก็อยู่ได้ไม่เต็ม 1 ปี เพราะปัญหาความน่าเชื่อถือ เป็นเผด็จการกระจอก ภาพลักษณ์เน่าเกินทน

ยิ่งในยุคโซเชียลมีเดีย มีสารพัดสื่อ ส่งข้อความถึงกันเร็วกว่าการกระพริบตา รัฐบาลพล อ. ประยุทธ์ ยังกล้าคิดที่จะทำโดยฝืนธรรมชาติของคนไทย ซึ่งพูดกันแบบง่ายๆ ว่าทำอะไรตามใจคือไทยแท้ มีความอดทนสั้น ไม่ชอบการกดดันบังคับเข้มข้น

พูดกันง่ายๆ ว่าคนไทยมีปัญหาเรื่องวินัยนั่นเอง รักง่าย เบื่อง่าย ไม่ชอบลำบาก ดังจะเห็นว่าในยุคคอมมิวนิสต์มีกระแสพลังขยายตัวแรงนั้น ความล้มเหลวของระบอบคอมมิวนิสต์เกิดที่ประเทศไทย ก่อนการล่มสลายในรัสเซียและยุโรปตะวันออกเสียอีก

เพียงรู้ว่าระบอบคอมมิวนิสต์มีระเบียบจัด มีการจัดการแบบคอมมูน คนไทยก็ไม่เอาแล้ว! แม้กระทั่งยุครัฐบาลถนอม-ประภาส มีกฎเข้มในการควบคุมสื่อ นั่นเป็นเพียงกฎหมายที่ตราไว้ ในความเป็นจริง สื่อรายงานเหตุการณ์ แสดงความเห็นอย่างเข้มข้น

“กูไม่กลัวมึง” เป็นคำประกาศเปี่ยมพลังของสื่อมีจิตวิญญานรับใช้บ้านเมือง!

ก่อนหน้านี้สังคมโลก โดยเฉพาะสื่อต่างประเทศยอมรับว่าถ้าไล่มาบนแผนที่โลก นับจากอิหร่าน ผ่านมาอินเดีย ข้ามเอเซียตะวันออกเฉียงไต้ไปจนถึงญี่ปุ่น ประเทศไทยมีเสรีภาพของสื่อมวลชนมากที่สุด และเป็นอย่างนี้มาหลายทศวรรษ แม้มีรัฐบาลทหาร

มีเพียงยุคระบอบทักษิณเท่านั้น ภาพของสื่อมวลชนในประเทศไทยเริ่มมัวซัว เพราะมีคำเปรียบเทียบระหว่าง “สื่อแท้ สื่อเทียม สื่อเฉพาะกิจเป็นขี้ข้ารับใช้นักการเมือง ทรยศต่อวิชาชีพสื่อ ทรยศประชาชน” เมื่อคนนอกวงการมาเป็นสื่อกำมะลอ จอมปลอม

เงินมหาศาลในระบอบทักษิณนอกจากจะจ้างผีโม่แป้งได้แล้ว ยังซื้อสื่อกะหรี่ให้มาเป็นกระบอกเสียง บิดเบือนข้อมูลข่าวสาร คนเคยทำสื่อหันมารับใช้นักการเมืองเพื่อเงินก้อนใหญ่ ตำแหน่งทางการเมืองโดยไร้ยางอาย และยังนึกว่าเป็นความโก้เก๋อีกด้วย

พวกสื่อเทียม สื่อเฉพาะกิจรับใช้การเมืองจึงไม่ใช่สื่อแท้จริง ไร้จิตวิญญาน ความกล้าหาญในการต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิเสรีภาพ การแสดงออกในด้านความคิดเห็นเพื่อการรับรู้ของประชาชน ดังนั้นจึงไม่ดิ้นรนทำหน้าที่สื่อเมื่อถูกควบคุม ปิดกั้นโดยอำนาจรัฐ

ด้วยเหตุนี้เอง คสช. จึงใช้กฎอัยการศึก และธรรมนูญการปกครองกำหนดบทควบคุมสื่อทุกประเภท เหมือนการพยายามปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ และทวนกระแสความต้องการของคนทั่วไป โดยน่าจะมีหลักคิดที่ว่า “เกลียดข้าไม่เป็นไร ขอให้เกรงกลัวก็พอ”

คงได้ผลในระยะแรก แต่เริ่มมีผลร้ายของกฎอัยการศึกเห็นได้ชัดคือฝรั่งมังค่าขี้กลัวคำว่า “รัฐประหาร” “กฎอัยการศึก” เลี่ยงไม่เดินทางมาประเทศไทย ทำให้โรงแรมระดับหรู 5 ดาวไม่มีฝรั่งเข้าพัก มีแต่กลุ่มทัวร์จากจีน เวียดนาม และกลุ่มอาเซียน

จึงน่าจะมีการผ่อนผัน ยกเลิกกฎอัยการศึกในบางพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว!

การไปควบคุมกลุ่ม “ขาหุ้น” กลุ่มเรียกร้องให้มีการปฏิรูปพลังงาน สกัดกั้นการแสดงความคิดเห็นในงานสัมนา แม้ไม่เกี่ยวกับการเมือง ก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นความหวาดผวาว่าการมีสิทธิเสรีภาพด้านสื่อ การแสดงความคิดเห็นเป็นกลุ่มบนถนนนั้นมีพลังจริง

ดังนั้น การใช้อำนาจควบคุมสื่อจึงไม่ใช่ความกล้าหาญ แต่เป็นความกลัว! อันที่จริง รัฐบาลประยุทธ์น่าจะแยกแยะ “สื่อแท้” และ “สื่อเทียม” และแยก “จัดการ” ได้ถ้ามีพฤติกรรมมิใช่เป็นสื่อมืออาชีพ แต่เป็นเพียงกลุ่มกระบอกเสียงรับใช้การเมืองสามานย์

การเหมารวมว่า “สื่อแท้” และ “สื่อเทียม” ต้องถูกควบคุมเหมือนกันหมด เท่ากับเป็นการขาดความสามารถในการแยกแยะ ไม่ต่างจากนโยบายปรองดองให้คนดีกับคนชั่วอยู่คละเคล้ากัน ปราศจากความกล้าหาญในการแยกว่าใครรักชาติ ใครมุ่งร้ายชาติ

เอาเถอะ เมื่อรัฐบาลพล อ. ประยุทธ์ให้เหตุผลว่าประชาชนและสื่อต้อง “เสียสละ” ลดระดับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกให้บ้านเมืองสงบ ให้ คสช. และรัฐบาลทำงานโดยราบรื่น ปราศจากการขัดขวาง วิพากษ์วิจารณ์เชิงลบ... ช่วงนี้ทั้งประชาชนและสื่อคงต้องยอมไปก่อนตามคำขอ เมื่อกระแสความนิยมยังพอไปได้

เป็นการยอมเพื่อเปิดโอกาสให้ คสช. และรัฐบาลบริหารบ้านเมืองโดยสุจริต ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง...แต่ก็เริ่มมีคำถามและข้อสงสัยว่าตั้งแต่การรัฐประหาร รับผิดชอบบ้านเมืองกว่า 3 เดือน กล้าประกาศหรือไม่ว่านโยบาย การแต่งตั้งบุคคลต่างๆ ไม่มีนอกไม่มีใน ไม่เห็นแก่ประโยชน์เฉพาะกลุ่มเพื่อนพ้องน้องพี่จริงหรือ

เห็นกันอยู่ชัดๆ หรือว่าประชาชนตาฝาด...เข้าใจผิด? ถ้าคิดดี ทำดีเพื่อบ้านเมือง มีอะไรต้องหวาดกลัวสื่อ หรือการแสดงออกของประชาชนคนดี



กำลังโหลดความคิดเห็น