xs
xsm
sm
md
lg

แอร์พอร์ตลิ้งค์การันตีปลอดภัย โต้ภาพโซเซียลนานแล้ว-แก้ไขแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“แอร์พอร์ตลิ้งค์”ยันระบบปลอดภัย ซ่อมบำรุงตามตามมาตรฐานของผู้ผลิต โต้ภาพในโซเชียลนานแล้ว เผยได้ปรับแก้และเฝ้าระวังตลอดเวลา พร้อมเตรียมแผนจ้างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านตรวจสภาพและแนะนำช่วงซ่อมใหญ่ ระบุผู้โดยสารไม่กังวล ใช้บริการวันละ 5.4 หมื่นคน เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10 % ต่อปี

พล.อ.อ.คำรบ ลียะวณิช รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทรถไฟฟ้าร.ฟ.ท.จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ เปิดเผยว่า งานซ่อมบำรุงใหญ่ (Overhaul) รถทั้ง 9 ขบวนนั้น ตามคู่มือซ่อมแผนการบำรุงระบบ หรือ Maintenance plan OPM 035 (คู่มือการซ่อมบำรุงทั้งระบบ เพื่อให้พร้อมใช้กับการให้บริการ) จะเริ่มดำเนินการขบวนแรกโยยึดตามสภาพการวิ่งใช้งานครบที่ 1.2 ล้านกิโลเมตร และยืดออกไปได้อีก 10% หรือที่ 1.32 ล้านกิโลเมตร ซึ่งในปัจจุบัน ระยะทางวิ่งเฉลี่ยของขบวนรถไฟฟ้าทุกขบวนอยู่ที่ 1.2 ล้านกิโลเมตร โดยระยะวิ่งมากสุดที่ขบวนรถไฟฟ้า Express Line ที่ 1.28ล้านกิโลเมตร โดยมีงานซ่อมบำรุงใหญ่ 4 รายการหลัก ได้แก่ Bogie , Brake and Pneumatic, Traction motor, V-mount โดยคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย  (ร.ฟ.ท.) มีมติมอบหมายให้บริษัทเป็นผู้ดำเนินการประกวดราคาด้วยวิธีทางอิเลกทรอนิกส์ (E-Auction) ภายใน 102 วัน จำนวนเงิน 385.94 ล้านบาท ซึ่งจะต้องมีการเตรียมอะไหล่ให้เพียงพอ สำหรับใช้ในเวลา 10-12 เดือน

ทั้งนี้ บริษัทมีแผนรองรับก่อนเริ่มซ่อมบำรุงใหญ่ โดยแผนกระบบตู้รถไฟฟ้าได้เริ่มทำการซ่อมบำรุงใหญ่ (Minor overhaul) ไปบางส่วนแล้ว นอกเหนือจากการซ่อมบำรุงรักษาเชิงป้องกัน เช่น การเปลี่ยนล้อใหม่ เปลี่ยนลูกปืนล้อใหม่ เปลี่ยนจานเบรก เปลี่ยนระบบกันสะเทือนหลัก เปลี่ยนอะไหล่ของระบบแหนบรับไฟฟ้า (Pantograph)

ขณะเดียวกัน ได้เตรียมจ้างผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยเหลือและให้คำแนะนำเพื่อทำการเดินรถให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยก่อนที่จะเริ่มทำการซ่อมบำรุงใหญ่ เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้ผลิตตัวรถ จะเข้ามาช่วยตรวจสภาพและให้คำแนะนำเกี่ยวกับระบบตัวรถ และชุดแคร่ (Bogie) เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มซ่อมบำรุงใหญ่ , ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้ผลิตระบบเบรก , ผู้เชี่ยวชาญระบบตู้รถไฟฟ้า

และ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องความปลอดภัย เพื่อประเมินสภาพขบวนรถและตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของระบบ วิเคราะห์ความเสี่ยง รวมถึงการทำบันทึกความร่วมมือ กับบันทึกความเข้าใจกับมหาลัยของรัฐ เพื่อให้มีการจ้างเข้ามาตรวจสอบคุณภาพการวิ่ง (Riding Comfort) และความปลอดภัยในการวิ่ง (Riding Safety) ของขบวนรถไฟฟ้า รวมทั้งการตรวจสอบสภาพทางวิ่ง โดยเป็นการวัดค่าความสั่นสะเทือน และค่าความเร่งในแนวแกน เพื่อตรวจสภาพการวิ่งของขบวนรถไฟฟ้าที่ความเร็วต่าง ตามมาตรฐาน UIC518 ซึ่งเป็นการตรวจสอบเหมือนกับการตรวจรับขบวนรถใหม่ การวัดค่าแบบนี้เป็นที่ยอมรับกันในระดับสากล

พล.อ.อ.คำรบ กล่าวว่า หากมีการตรวจพบสภาพระบบตู้รถไฟฟ้าที่ไม่ปลอดภัย จะไม่ปล่อยขบวนรถไฟฟ้าขึ้นวิ่งให้บริการเด็ดขาด ซึ่งกรณีที่เป็นภาพข่าวในเฟซบุ๊ก และ Social Media โดยอ้างว่ารถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ไม่ได้รับการซ่อมบำรุงนั้น กรณีภาพรอยสึกชำรุดที่ผิวหัวราง (ด้านข้าง) บนทาง ก่อนถึงประแจสับหลีกที่สถานีหัวหมากนั้น เป็นภาพที่เกิดขึ้นนานมากแล้ว

และได้มีการดำเนินการตรวจร่วมกับเชี่ยวชาญจากทางบริษัท Humburg-Consult ตั้งแต่ช่วงเดือนพ.ย.2556 พร้อมทั้งทำการแก้ไข และสั่งลดความเร็วรถช่วงก่อนเข้าประแจตัวนี้ให้เหลือ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตั้งแต่เริ่มตรวจพบเหตุจนถึงปัจจุบัน และทำการเฝ้าระวังตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งถึงขณะนี้ยังไม่พบการขยายตัวของรอยชำรุดเพิ่มขึ้นจากเดิม

ส่วนกรณีสปริงคลิปเหล็กที่หักไป (ของเครื่องยึดเหนี่ยวราง) ใกล้ช่วงทางโค้งสถานีลาดกระบังนั้น ได้ทำการเปลี่ยนคลิปเหล็กเป็นตัวใหม่เรียบร้อยนานแล้ว ใช้งานได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้โดยสารแอร์พอร์ตลิ้งค์ในขณะนี้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10% ต่อปี (City Line) จากเดิม 5 หมื่นคนต่อวัน เพิ่มขึ้นเป็น 5.4 หมื่นคนต่อวัน และตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2557 เป็นต้นไป จะนำรถไฟฟ้า Express Line ที่ให้บริการเส้นทาง มักกะสัน-สุวรรณภูมิ-มักกะสัน ไปวิ่งเป็นขบวนเสริม ตั้งแต่เวลา 06.00-10.00น. จากสถานีหัวหมาก มาสถานีพญาไท ส่งผลให้เพิ่มความถี่ในการให้บริการประมาณ 8 นาที เพื่อให้รองรับต่อผู้โดยสารได้เพียงพออีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น